HomeBrand Move !!4 เหตุผล ‘เซ็นทรัล’ เปิดโมเดล Delco ‘มิสเตอร์ โดนัท – อานตี้ แอนส์’ ขยายสาขาเข้าชุมชน-ปั๊มน้ำมัน

4 เหตุผล ‘เซ็นทรัล’ เปิดโมเดล Delco ‘มิสเตอร์ โดนัท – อานตี้ แอนส์’ ขยายสาขาเข้าชุมชน-ปั๊มน้ำมัน

แชร์ :

CRG Delco Model_Mister Donut and Auntie Anne’s

ภูมิทัศน์ของธุรกิจร้านอาหารในไทย กำลังเปลี่ยนไปจากอดีตที่ต่างมองว่าทำเลดี มักต้องขยายไปกับศูนย์การค้า เพราะเป็นแหล่งรวมผู้คนมาพักผ่อน และช้อปปิ้ง แต่ด้วยความที่พฤติกรรมผู้บริโภคในทุกวันนี้ ต้องการความสะดวกสบายมาเป็นอันดับหนึ่ง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ประกอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยี และยิ่งมาเจอกับสถานการณ์ COVID-19 เป็นตัวเร่งให้เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้บริโภค และธุรกิจร้านอาหาร ที่นอกจากบริการ Dine-in แล้ว ต้องพัฒนาโมเดลธุรกิจรองรับ Delivery และ Take Away

อย่างล่าสุด “บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด” หรือCRG” เปิดตัวโมเดลใหม่ “เดลโก้ (Delco)” เพื่อขยายโลเคชั่นการเปิดสาขาใหม่นอกศูนย์การค้า ในรูปแบบโมบายล์สโตร์ (Mobile Store) ประเดิมด้วย 2 แบรนด์ใหญ่คือ “มิสเตอร์ โดนัท” (Mister Donut) และ “อานตี้ แอนส์” (Auntie Anne’s) ชิมลางเปิดตัวร้านแรกที่สถานีบริการน้ำมันย่านนวมินทร์ พร้อมมีแผนกระจายสาขาจำนวน 25 สาขา ภายในปี 2564

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ CRG จากที่ผ่านมารุกขยายไปกับศูนย์การค้า และอาคารสำนักงานในย่านทำงานต่างๆ วันนี้มาพัฒนาสาขาแบบ Delco หรือสาขาขนาดเล็ก นั่นเพราะ

1. โอกาสการเติบโตของธุรกิจเชนร้านอาหาร ไม่จำกัดแค่ในศูนย์การค้า หรือค้าปลีกสมัยใหม่เซ็กเมนต์ต่างๆ เท่านั้น แต่ยังมีโลเกชั่นที่มีศักยภาพอีกมากที่อยู่นอกพื้นที่ศูนย์การค้า เช่น สถานีบริการน้ำมัน และย่านชุมชน

การขยายสาขาออกนอกศูนย์การค้า ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคกว้างขึ้น และสร้างโอกาสการขายที่มากขึ้น ส่งผลต่อการเติบโตด้านยอดขายตามมา

เนื่องจากการเปิดสาขาในศูนย์การค้า หรือ Modern Trade ต่างๆ มีข้อจำกัดด้านช่วงเวลาการเปิดให้บริการที่ต้องอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับศูนย์การค้า หรือ Modern Trade แต่การขยายไปในโลเคชั่นที่หลากหลาย จะทำให้ร้านอาหารมีความยืดหยุ่นด้านเวลาการให้บริการที่มากขึ้น

อย่างสาขา Delco ของมิสเตอร์ โดนัท และ อานตี้ แอนส์ สาขาแรกที่สถานีบริการน้ำมันย่านนวมินทร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ 07.00 – 20.00 น.

คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด มองว่าจุดแข็งของโมเดล Delco เป็นการขยายโลเคชั่นที่สามารถไปตามย่านต่างๆ ที่เป็นทำเลเป้าหมาย โดยจะเน้นตามปั๊มน้ำมัน แหล่งชุมชนใหญ่ และพื้นที่รอบนอก เพื่อการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น อีกทั้งยังออกแบบให้ดูสดใส ทันสมัย และดึงดูดสายตา ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มโอกาสการขายได้ดียิ่งขึ้น

CRG Delco Model_Mister Donut and Auntie Anne’s

คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด

2. รองรับการเติบโตของบริการ Delivery และ Take Away

นอกจากบริการ Dine-in หรือรับประทานภายในร้านแล้ว การทำธุรกิจร้านอาหารแทบจะทุก Category ในทุกวันนี้ ต้องมีบริการ Delivery และ Take Away กลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้แล้ว ถึงแม้ทั้งสองบริการดังกล่าว มีในไทยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ผู้คนหันมาใช้บริการ Delivery และ Take Away มากขึ้น เพราะตอบโจทย์ความสะดวก

เพราะฉะนั้นเมื่อ Delivery และ Take Away กลายเป็น Now Normal ไปแล้ว ทำให้บรรดาร้านอาหาร ต่างปรับรูปแบบร้าน หรือพัฒนาสาขารูปแบบใหม่ ให้รองรับสองบริการนี้ได้มากขึ้น

อีกจุดประสงค์หนึ่งที่ CRG พัฒนาโมเดล Delco เพื่อให้สาขาขนาดเล็กเหล่านี้ เป็น Network ในการรองรับทั้งบริการ Delivery และ Take Away สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อกลับเอง

เหตุผลที่เลือกเปิดสาขา Delco กับแบรนด์ “มิสเตอร์​ โดนัท” และ “อานตี้ แอนส์” ก่อน เนื่องจากในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ยอดการสั่ง Delivery ของทั้ง 2 แบรนด์ เติบโตจากปีที่แล้วมากกว่า 300% ดังนั้น จึงได้วางเป้ายอดขายรวมกว่า 500 ล้านบาทในปี 2564

CRG Delco Model_Mister Donut and Auntie Anne’s

3. เน้นความคล่องตัว และความเร็วในการขยายสาขา

การทำธุรกิจทุกวันนี้ ยิ่งการแข่งขันสูง “ความคล่องตัว” และ “Speed” ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ และการรักษาคุณภาพ

โมเดล Delco ตอบโจทย์เรื่องความคล่องตัว และความเร็วในการขยายสาขาใหม่ ภายใต้งบลงทุนไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับการเปิดสาขารูปแบบ Full-service

สำหรับสาขา Delco ของ CRG ใช้งบลงทุนต่อสาขาอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท โดยในช่วงแรกลงทุนไปกว่า 30 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนการขยายสาขา

ปัจจุบันเปิดแล้ว 1 สาขา คือ ที่ปั๊ม ปตท. นวมินทร์ โดยตั้งเป้าเปิดสาขาจำนวน 10 สาขาภายในปี 2563 และเป็น 25 สาขา ภายในปี 2564

นอกจากนี้ ในปี 2564 จำนวนสาขาใหม่ของแบรนด์มิสเตอร์ โดนัท กว่า 50% ที่จะเปิดให้บริการ จะเป็นร้านในรูปแบบ Delco Model อีกด้วย

CRG Delco Model_Mister Donut and Auntie Anne’s

4. Touch Point สื่อสารแบรนด์เข้าถึงชุมชน – Customize เมนูตามโลเคชั่นสาขา

ถึงแม้ Delco จะเป็นสาขาขนาดเล็ก แต่ในความเล็กที่กระจายสาขาอยู่ตามโลเคชั่นต่างๆ กลับมามีพลังในการเป็น Touch Point สื่อสารแบรนด์ตรงถึงผู้บริโภคในทำเล หรือย่านนั้นๆ ได้เห็น และได้รับรู้สินค้า – โปรโมชั่นใหม่ที่แบรนด์กำลังโปรโมท และเกิดการ Remind แบรนด์

ขณะเดียวกันทำให้แบรนด์ Customize เมนูอาหารตามโลเคชั่นสาขาต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในย่านนั้นๆ

อย่างร้าน Delco มิสเตอร์ โดนัท และ อานตี้ แอนส์ มีการปรับเมนูที่จำหน่ายที่ร้าน Delco ให้เหมาะสมกับรูปแบบการบริการ เนื่องจากเป็นร้านที่ให้บริการในรูปแบบ Take away และ Delivery 100% อาทิ มิสเตอร์ โดนัท เน้นเมนูอาหารเช้ามากขึ้น เช่น แซนด์วิช ครัวซอง อาหารรองท้อง ส่วนอานตี้ แอนส์ เน้นเมนูช่วงบ่ายหรือช่วงค่ำซึ่งเป็น mix & match ในรูปแบบ bucket party เหมาะสำหรับการแชร์กันในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน รวมทั้งเมนู signature อย่างเครื่องดื่มเลมอนเนด ในรูปแบบบรรจุขวดและ party size

สำหรับแผนการตลาดหลังเปิดตัว ผู้บริหาร CRG กล่าวว่า เน้นการโปรโมททั้ง Offline และ Online โดย Offline ที่สาขาจะโปรโมทโดยใช้สื่อป้าย J-flag, cut out, leaflet แจก เพื่อให้คนที่มาใช้บริการที่ปั๊มทราบว่ามีร้านของเรามาเปิด ส่วนช่องทาง Online มีการโปรโมทผ่านทาง Social Media อาทิ twitter, instagram, facebook โดยใช้ geographic เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าบริเวณพื้นที่รอบๆ ได้รับทราบข่าวสารของร้าน รวมทั้งการให้ข้อมูลสินค้าหรือโปรโมชั่นต่างๆ

CRG Delco Model_Mister Donut and Auntie Anne’s


แชร์ :

You may also like