HomeFoods - Lifeกว่าจะมาเป็น CROSS ร้าน Fine Dining ที่จองยากและคิวยาวข้ามปี  กับ บทเรียนทำธุรกิจร้านอาหารให้ปัง

กว่าจะมาเป็น CROSS ร้าน Fine Dining ที่จองยากและคิวยาวข้ามปี  กับ บทเรียนทำธุรกิจร้านอาหารให้ปัง

พลังสองพี่น้องแห่ง "รื่นรส" สู่ CROSS พระราม 3 ร้าน Fine Dining ที่เชื่อมทุกเจเนอเรชันด้วย "อาหารจีนฟิวชันฝรั่งเศส"

แชร์ :

หนึ่งในร้านอาหารที่จองยากที่สุดในชั่วโมงนี้ต้องยกให้  ร้านครอส (CROSS) แห่งย่านพระราม 3  ที่นำเสนออาหารฟิวชันจีน-ฝรั่งเศส ในรูปแบบของ Fine Dining ทำให้เป็นกระแสจนขึ้นแท่นเป็นร้านฮอตเพียงไม่กี่เดือน พร้อมสร้างปรากฏการณ์จองคิวยาวข้ามปี ปัจจุบันครบรอบ 2 ปีแล้ว  Brand Buffet จึงพาไปหาคำตอบว่า อะไรคือสูตรลับที่นำไปสู่ความสำเร็จนั้น กับ คุณไอซ์-ศิวพล และคุณกุณ-กุณฑิกา ปลื้มธีรวงศ์ สองพี่น้องทายาทรุ่นที่ 3 ของภัตตาคารอาหารจีนแต้จิ๋วเก่าแก่อย่าง “รื่นรส” ที่ปลุกปั้นแบรนด์ CROSS แห่งพระราม 3 นี้ขึ้นมาได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

CROSS พลังแห่งสองพี่น้อง

คุณศิวพล เล่าถึงจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จอันมีรากฐานมาจากธุรกิจร้านอาหารที่ส่งต่อมาจากรุ่นอากงว่า ร้านรื่นรสอายุ 47 ปีแล้ว เปิดมาตั้งแต่ปี 2519 พอมาถึงรุ่นหลานต่างคนต่างเติบโต ไปทำงานที่อื่น ต่อมาทั้งคุณศิวพลและคุณกุณฑิกาอยากให้คุณพ่อกับคุณแม่พักผ่อน แต่หลังจากพยายามทำทุกวิถีทางให้ร้านรื่นรสแอคทีฟเหมือนสมัยก่อน ทั้งการเปิดสาขาใหม่ ปรับปรุงเมนูใหม่แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 เลยทำร้านใหม่ขึ้นมาเลย โดยคุณกุณฑิกาลาออกจากงานเพื่อเรียนทำอาหารฝรั่งเศส นำเทคนิคมาผสมผสานกับอาหารจีนที่เชี่ยวชาญอยู่แล้วให้แปลกใหม่และสนุกขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยมีใครนำเสนออาหารประเภทนี้ก่อนในเมืองไทย

คุณไอซ์-ศิวพล – คุณกุณ-กุณฑิกา ปลื้มธีรวงศ์ เจ้าของร้าน Cross

ส่วนตัวคุณศิวพลไม่ได้เป็นเชฟ แต่เป็นคนชอบตระเวนกินอาหาร รู้สูตรอาหาร รู้จักการคัดสรรวัตถุดิบ เพราะคลุกคลีและช่วยเหลืองานร้านอาหารที่บ้านมาตั้งแต่อายุ 10 กว่าขวบ และคิดว่ามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ และจากการที่รู้จักอาหารจีนแบบทะลุทะลวง ทั้งการสรรหาวัตถุดิบ กระบวนการปรุงอาหาร และมีคนคอยซัพพอร์ตเต็มที่  จึงใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์และเป็นแต้มต่อให้ได้ จนกลายเป็นที่มาของร้าน CROSS (ครอส) ซึ่งเป็น Fine Dining ชูจุดเด่นของการเป็นอาหารจีน-ฝรั่งเศส โดยเปิดตัวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565  ในช่วงแรกเปิดแค่ 3 วันต่อสัปดาห์ รับเพียงรอบละ 8 คน เท่านั้น ในราคาคอร์สละสองพันกว่าบาท ปรากฏว่าเกิดการบอกต่อจากนักชิมตัวยง จนคิวแน่นเอี๊ยดถึงทุกวันนี้

 

เคล็ดลับ: ชื่อร้านต้องจำง่าย สื่อความหมายชัดเจน

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การตั้งชื่อร้านให้สั้น ใช้คำศัพท์ง่าย ๆ จำได้ทันที จึงเป็นที่มาของคำว่า CROSS ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษพยางค์เดียว เห็นแล้วจำได้ เข้าใจง่ายทันที และสื่อความหมายถึงการข้ามผ่านเจเนอเรชั่น และอีกความหมายคือการนำอาหารจีนกับอาหารฝรั่งเศสที่ต่างขั้วแต่รวมจุดเด่นไว้ได้อย่างลงตัว สร้างความแตกต่างกลายเป็นคอนเซ็ปต์ที่ชวนลิ้มลอง

“เรามี Know-How เรื่องอาหารจีนมานานมาก เชี่ยวชาญในการทำอาหารจีนแต้จิ๋ว เพราะมีรากเหง้ามาจากซัวเถาซึ่งเป็นพื้นที่ติดทะเล รู้จักวัตถุดิบอย่างกระเพาะปลา เป๋าฮื้อ และหูฉลาม เป็นอย่างดี ถึงเราอยู่ในกะลามาตลอดชีวิต แต่เรารู้จักทุกซอกทุกมุมในกะลาใบนี้ เราตุ๋นแพะได้โคตรดี แต่เอาไปทำอย่างอื่นไม่เป็นเลย สิ่งที่เราจะได้กลเม็ดเคล็ดลับจากที่อื่นคือ การกินกับไปเรียน หลังจากน้องสาวเรียนจบกลับมา ได้พื้นฐานด้านอื่นที่เราไม่เคยรู้มาก่อนจากอาหารฝรั่งเศสซึ่งเป็นรากฐานอาหารทุกประเภท พอมาประกอบกับอาหารจีนแต้จิ๋วที่เราช่ำชองอยู่แล้ว จึงกลายเป็นเมนูที่ว้าว แปลกใหม่ และสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า จนกลายเป็นกระแสปากต่อปากในที่สุด”

 

การกินคือการลงทุน เพื่อส่งต่อความสุขให้กับลูกค้า

เมื่อต้องการนำเสนอสิ่งที่แตกต่าง จึงต้องให้ความสำคัญกับการเปิดประสบการณ์การกินตามร้านดังทั่วโลก เพราะถือว่าการกินเป็นการจ่ายเงินลงทุนเพื่อซื้อประสบการณ์และนำมาต่อยอดในธุรกิจตัวเอง คุณศิวพลจึงลงทุนกับอาหารอย่างหนัก มื้อละแสนก็ยอมจ่ายมาแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือการนำเมนูหลายอย่างที่อร่อยถูกปากมาพัฒนาต่อในแบบฉบับของตัวเอง

คุณศิวพลบอกเพิ่มเติมอีกว่า ความต่างที่ชัดเจนอีกประการของ CROSS ว่าเป็นร้านที่รวมทุกวัยในครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน “เรามีลูกค้าทุกเจนเนอรเรชัน ทั้งอาม่าอากง พ่อแม่ และลูก รวม 3 เจนเนอเรชันนั่งอยู่ใน Fine Dining ร้านเดียวกัน  ผมไปกินมาหลายที่ น้อยร้านมากที่จะรวมคนหลากวัยไว้ได้ด้วยกัน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นหรือวัยทำงาน การที่เราจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเอกลักษณ์ได้อยู่หมัด ทำให้เป็นแรงบันดาลใจในการทำร้านต่อ อยากให้พวกเขาได้มากินแล้วส่งพลังบวกให้เรา เราก็ส่งพลังบวกต่อให้ลูกค้ารอบต่อไป วนไปแบบนี้เรื่อย ๆ ทำให้ร้านนี้อบอวลไปด้วยความสุข เพราะด้วยตัวเงินไม่ได้ใช่สาระสำคัญอะไร เนื่องจากเราขายคอร์สละ 2,888++ บาทต่อหัว เฉลี่ยรับได้เดือนละ 600 คน รายได้แค่ 2 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น หักต้นทุนแล้วเหลือไม่กี่แสนบาท แต่ต้องทำทุกวัน เช้าจรดค่ำ”

 

Fine Dining ไม่จำเป็นต้องอยู่ทำเลทอง… ทำเลดีที่แท้จริง ต้องมีที่จอดรถ

เมื่อได้คอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน ลำดับถัดมาที่จะต้องคำนึงถึงและความสำคัญเป็นอย่างมากคือ “ทำเล” หากเป็น Fine Dining ร้านอื่น ๆ อาจจะเลือกเปิดร้านในโรงแรม 5 ดาว หรือย่านทำเลทองที่คลาคล่ำไปด้วย Fine Dining อย่างทองหล่อ พร้อมพงษ์ สาทร ซึ่งอาจจะไม่มีที่จอดรถ หรือที่จอดรถน้อย จนต้องให้บริการ Valet parking และมีราคาแพง แต่สำหรับ CROSS คิดต่างออกไป จึงเลือกเปิดที่ “โครงการบางกอกสแควร์ พระราม 3”

“วันที่เรามาติดต่อขอเช่าที่นี่ มีแต่คนไปต่อคิวขอออก เราเป็นรายเดียวที่ไปขอเช่า ผมอยากได้ที่ตรงนี้ แต่ต่อรองว่าขอยังไม่จ่ายค่าเช่านะ ขอมัดจำไว้ก่อน 3 เดือน อย่าเพิ่งคิดค่าเช่า แต่เรายังไม่เปิดอะไร เราเลือกที่นี่เพราะมีที่ที่จอดรถดี กว้างขวาง ส่วนใหญ่เขาจะเช่าเป็นสำนักงาน เพราะค่าเช่าไม่แพง ที่จอดรถฟรี แถมอยู่ไม่ไกลใจกลางเมือง จากสาทรและสุขุมวิทมาที่นี่แค่ 10 นาที จะลงทางด่วนบางโคล่ก็สะดวก ที่สำคัญยังใกล้ร้านรื่นรสด้วย ทำให้เราประหยัดต้นทุนในการสต็อกวัตถุดิบ”

เมื่อถามถึงปัจจัยที่นำพาให้ร้าน CROSS ประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว คุณศิวพลและคุณกุณฑิกาบอกว่า มี 6 องค์ประกอบสำคัญดังนี้
1.จอดรถสะดวก
2.ร้านสะอาด
3.แอร์เย็น ห้องน้ำสะอาด
4.รสชาติดีตั้งแต่คำแรกที่ตักอาหารเข้าปาก 
5.
เชฟสนุกสนาน มีคำแนะนำต่าง ๆ ให้กับลูกค้า พนักงานใส่ใจ บรรยากาศดี
6.จ่ายเงินแล้วคุ้มค่า ไม่แพงเมื่อเทียบกับสิ่งต่าง ๆ ที่ได้รับ

ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ 90% เป็นคนไทย เพราะต้องจองผ่าน LINE SHOPPING ในขณะที่ต่างชาติจะรู้จักร้าน CROSS จากการที่เพื่อนคนไทยพามา

 

ลองผิด ลองถูก กว่าจะรังสรรค์เป็นอาหารจานเด็ด

CROSS นำเสนอรูปแบบอาหารที่เชื่อมโยงกับอาหารจีน แต่ใช้เทคนิคหรือวัตถุดิบฝรั่งเศสต่าง ๆ มาใช้ ให้ดูน่าสนใจขึ้น รสชาติอาหารจะออกสไตล์จีนมากกว่าฝรั่งเศส แต่หน้าตาและการตกแต่งหาเค้าเดิมของอาหารจีนไม่เจอ แต่วิธีการเสิร์ฟก็เรียงตามตำรับโต๊ะจีน โดยเริ่มจากออเดิร์ฟ ซุป จานหลัก และข้าว ก่อนจะปิดท้ายด้วยของหวาน

คุณศิวพล ยกตัวอย่างเมนูที่ทำในช่วงแรกอย่างฟัวกราส์ที่กินกับเกี่ยมช๊ายและจิ๊กโฉว่ ซึ่งดูหัวมังกุท้ายมังกรแต่กลับเข้ากันดี
“ฟังดูมั่วมากนะ แต่ผมเคยกินตับไก่ย่างคู่กับขนมปังบริยอช มีอาจาดเป็นน้ำจิ้ม อร่อยมาก พอกลับมาถึงร้านตัวเอง ก็เปิดตู้เย็น เปิดครัวทำตอนนั้นเลย เอาตับบดมากินกับของดอง คิดว่าผักดองจีนก็น่าจะใช้ได้เหมือนกัน ลองหั่นหลาย ๆ แบบ กินกับขนมปังบริยอชที่แฟนผมทำ ตับห่านมีอยู่แล้วก็เอามาเซียร์ (จี่บนกระทะที่มีความร้อนสูงมากในเวลาอันสั้น) ส่วนซอสถ้าฝรั่งเศสจะเสิร์ฟบัลซามิก อ้าว! จีนก็มีจิ๊กโฉว่เป็นน้ำส้มสายชูเหมือนกัน ก็น่าจะใช้ได้ ไอเดียของเราก็จะประมาณนี้ ทดลองไปเรื่อย ๆ ที่ทิ้งไปก็เยอะ อย่ากเผือกทอดก็ทิ้งไปอย่างต่ำ 400 ลูก เพราะผมอยากให้ข้างในนุ่ม แต่ไม่มีใครทำแบบนั้นมาก่อน ส่วนใหญ่กรอบนอกแต่ไม่นุ่มใน เหมือนโครเกต์ (มันฝรั่งบดสอดไส้ชุบแป้งขนมปังทอด) เอามาทำเป็นเผือกทอด แทนที่จะเป็นไส้มันฝรั่ง แต่กว่าจะทำได้ก็ใช้เวลานานมาก เพราะถ้าอุณหภูมิน้ำมันไม่ดี น้ำมันจะเจาะไส้ทะลัก ปีแรกเราเสิร์ฟเมนูไม่ได้เลย แต่วันนี้ขนาดเรารู้แล้วว่าจะต้องทำยังไง ยังต้องทอดทดสอบก่อน 1 ลูกเสมอ ต่อให้ส่วนผสมถูกต้องสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าอุณหภูมิผิดนิดเดียวก็ระเบิด แตก เละ เสิร์ฟไม่ได้”

สำหรับตัวอย่าง Signature Tasting Menu ของร้าน CROSS ในราคา 2,888++ บาท จะยกทัพมาแบบจัดเต็มทั้งไข่ตุ๋นปูไข่ ซุปหูฉลามทรัฟเฟิล, เผือกทอดไส้แพะตุ๋นผงกระหรี่, สลัดหน่อไม้ทะเล มะม่วงซัลซ่า,ตับห่านครีมหนำเลี๊ยบ ซอสทับทิมจีน, ซุปไก่แก่กระเพาะปลาสด, ปลาเก๋าแดงทอด ซอสไวน์ขาวซีอิ๊ว, กุ้งลายเสือ ซอสต้นหอมจีน, สเต็กซี่โครงหมู ตุ๋นบักกุ๊ตเต๋, ข้าวอบเป๋าฮื้อเม็กซิโก, คาเปลลินี เป๋าฮื้อจีน ผัดซอสซีฟู๊ดหม่าล่า, รังนกตุ๋นน้ำใบเตยเลมอน, โมจิไอศกรีมงาดำ และวิปครีมน้ำขิง โดยเมนูของร้าน CROSS จะเปลี่ยนทุก 6 เดือน (ทุกเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม)

 

ฝึกฝนให้เข้มข้น วางระบบให้ดี

หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญในการทำธุรกิจ Fine Dining ให้ประสบความสำเร็จคือการบริการ ซึ่งเบื้องหลังคือพนักงานในทุกตำแหน่ง แม้ร้านอื่นอาจจะเลือกจ้างพนักงานที่มีทักษะ แต่สำหรับ CROSS นี่เป็นอีกเรื่องที่มองต่าง

“เราเกิดมาจากร้านแมส ไม่ใช่ Fine Dining แต่แรก เราใช้คนงาน Non-Skill เป็นหลักแล้วนำมาเทรน  เราชอบแรงงานแบบนี้ อันดับแรกเพราะค่าแรงถูก แต่เขาจะทำงานได้ตามทักษะที่เขามีเท่านั้น ซึ่งเรามองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะถ้าเขาทำไม่ได้แสดงว่าเราสอนเขาไม่ดี แต่ถ้าเราสอนได้และเขาทำเป็นแล้ว  ข้อดีคือเขาจะไม่เปลี่ยนอะไรเลย เพราะเขาทำไม่เป็น ซึ่งนั่นจะทำให้อาหารของเราคงคุณภาพในทุกด้านไว้ได้  เหมือนการถ่ายรูปที่เราตั้งค่าทุกอย่างในกล้องไว้อย่างที่เราต้องการ  แล้วบอกให้เขากดชัตเตอร์แค่นั้นพอ แต่ปัญหาคือเราต้องซื้อกล้องที่ดี ต้องจัดแสงให้ดี ผมเลยซื้อเครื่องครัวและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีราคาค่อนข้างแพง เช่น ซื้อเตาตัวละแสนใช้ทอดตับห่าน ตั้งเวลาไว้ 58 วินาที เปิดเตา หมุนมาที่ 170 องศา หยิบตับห่าน 6 ชิ้นมามาวาง กดตั้งนาฬิกาจับเวลา นาฬิกาหยุดปุ๊บ กลับด้านปั๊บ ทำแบบนี้ 4 ครั้ง เขาก็จะทำแบบนี้ทุกวันซ้ำ ๆ กัน พอทำได้เขาก็ภูมิใจ ทั้ง ๆ ที่เขาอาจจะไม่รู้ว่าเกิดจากอุปกรณ์หรืออะไรก็ตาม แต่ก็ทำให้เขามั่นใจในการทำงาน”

 

 

คุณศิวพล เชื่อว่าโปรดักท์ทำให้ธุรกิจดี แต่ระบบทำให้ธุรกิจแข็งแรง “ยิ่งถ้าไม่มีระบบเลย ร้านจะเจ๊ง งานจะโหลดกับคนที่ทำอาหารเป็น จนเบิร์นเอาท์ และยกธงขาวไปเลย การทำอาหารอย่าใช้ความรู้สึกวัด อย่าเชื่อตัวเอง ให้เชื่อเครื่องมือโดยเฉพาะสำหรับคนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร”

“ลูกค้าตั้งใจมากิน อะไรที่ปรุงด้วยรสมือ เราปรุงเอง ที่เหลือก็ให้พนักงานทำตามสูตร ทุกวันนี้เราไม่ได้เป็นคนทำทุกอย่างแล้ว ยกเว้นช่วงแรก ๆ ที่เปิดร้าน เทสต์รันสองสามรอบ ทำกระบวนการต่าง ๆ ให้จบ พนักงานทุกคนมีหน้าที่ตัวเอง ถึงเวลาไหนใครทำอะไรบ้าง เพราะอาหารจีนทุกจานควรจะเสิร์ฟร้อน ไม่เหมือนอาหารฝรั่งเศสที่เสิร์ฟเย็นไปเกือบทั้งคอร์สแล้ว อาหารทุกจานเราจะถูกเซ็ทบนเคาน์เตอร์ ทำทุกอย่างให้จบไม่เกิน 2 นาที มีคนงาน 5 คนในการเข้าคิว ตักซอสเสร็จแล้วลงปลา ลงปวยเล้ง จนจบกระบวนการ เพื่อให้จานยังคงร้อนอยู่ในขณะที่เสิร์ฟ และเราต้องมีแผนสำรองเป็นโซลูชันที่สองให้เขา เพื่อช่วยให้พนักงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้” คุณศิวพลอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพว่า

ถ้าเราจะรวยแบบโคตรๆ ต้องพึ่งระบบเท่านั้น ต่อให้โปรดักท์ดีแค่ไหนก็ตาม คุณก็จะแค่มีฐานะระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้รวยอู้ฟู่ หรือแค่คิดระบบก็ได้ ก็มีโอกาสรวยมหาศาลเช่นกัน



จับตาอนาคตของ CROSS

คุณศิวพล เสริมต่อถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตว่า “บอกทุกคนตลอดว่าถ้าเมื่อไหร่ที่หมดสนุก ก็แค่ปิด เพราะไม่ได้เป็นธุรกิจที่ทำเงินมากขนาดนั้น แต่ทุกวันนี้ยังสนุกอยู่ ตื่นโดยไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก มีความสุขในการทำงานทุกวัน อยากคิดเมนูใหม่ ๆ อยากบริการลูกค้า อยากให้ความรู้สึกนี้อยู่ไปนาน ๆ ก็จะเปิดต่อไปเรื่อย ๆ  และยังมีไอเดียเต็มหัวไปหมด อนาคตอาจจะทำให้แมสขึ้นในทางใดทางหนึ่ง แต่ยังคงยึดมั่นใน Core value ที่เป็นตำนานของเรา คือ ความเป็นอาหารจีน ซึ่งอาจจะเป็นอาหารจีนฟาสต์ฟู๊ดก็ได้ เช่น  ก๋วยเตี๋ยว ราดหน้า ข้าวผัด ทานไวๆ เป็นต้น เพราะความเป็นจีนสามารถเชื่อมโยงกับสตอรี่ของทั้งสองคนได้ง่ายกว่า

 นอกจากคุณกุลยังแย้มแผนเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันราคาอาหารคอร์สละ 3,388++ บาท ในรูปแบบปกติ  และเร็วๆนี้เตรียม  CROSS ในรูปแบบใหม่ คือ แบบพรีเมี่ยมที่เน้นวัตถุดิบที่ดีขึ้นอีก  พร้อมกับรักษาคุณภาพอาหารที่ได้มาตรฐานแบบเดิม รวมไปถึงการเพิ่มรอบ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าใหม่ๆที่อยากมาลองชิม   

 

มือใหม่อยากทำร้านอาหาร  ศึกษา-วางแผน-พัฒนาตนเอง 

สุดท้ายเชฟทั้งสองได้ให้คำแนะนำสำหรับคนที่อยากทำร้านอาหารว่า ก่อนทำธุรกิจร้านอาหารต้องศึกษาตลาดที่จะเข้าไปทำให้ถ่องแท้  เพื่อสร้างความแตกต่างและอยู่รอดในตลาด  พร้อมกับต้องวางแผนและบริหารคนและค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม  รวมไปถึงพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

“สิ่งแรกที่ต้องทำคือ “ศึกษาตลาด” ที่เราจะทำ  พร้อมกับค้นหาแนวทางอาหารที่ไม่ซ้ำคนอื่น พยายามคิดทำสิ่งใหม่ๆและต้องพัฒนาตัวอย่างอยู่ตลอดเวลา  สำหรับคนที่มองว่าทำธุรกิจร้านอาหารไม่ยาก  หากได้ลองก้าวเข้ามาทำแล้ว จะรู้ว่าเป็นงานที่ไม่ง่าย  มันเป็นงานที่ไม่มีวันหยุดเพราะวันที่ทุกคนหยุด คือ วันที่เราต้องทำงาน และทุกอย่างคือต้นทุนแล้วก็เป็นต้นทุนที่มีวันหมดอายุด้วย เช่น วัตถุดิบอาหารถ้าลูกค้าน้อย ขายไม่ดี ของไม่สดเอามาใช้ทำอาหารก็ไม่ดี ต้องเอาไปทิ้งก็คือต้นทุนที่เสียไป ไม่เหมือนของใช้อย่างเสื้อผ้าที่วันนี้ไม่ขายก็เก็บไว้ขายพรุ่งนี้ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องวางแผนและศึกษาตลาดให้ดีก่อนที่จะเริ่มลงมือทำ มองหาข้อผิดพลาดอยู่เสมอหาทางแก้ไข และมองหาสิ่งใหม่ๆ แล้วพัฒนาอยู่เสมอเช่นกัน”

 

เมนูต่างๆ

เมนูต่างๆ

 

 


แชร์ :

You may also like