HomeBrand Move !!เปิดพอร์ตฯ ร้านอาหาร “โออิชิ” ปั้นแบรนด์ใหม่ พร้อมรุกตลาด QSR – Casual Dining – Fine Dining

เปิดพอร์ตฯ ร้านอาหาร “โออิชิ” ปั้นแบรนด์ใหม่ พร้อมรุกตลาด QSR – Casual Dining – Fine Dining

แชร์ :

oishi_group_restaurant

เมื่อเอ่ยถึง “ร้านอาหารบุฟเฟต์ญี่ปุ่น” หนึ่งในชื่อที่คนไทยส่วนใหญ่นึกถึง และรู้จักคือ “โออิชิ” เพราะด้วยความที่อยู่ในตลาดมายาวนาน และถือเป็นผู้ขยายตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยให้กว้างขึ้น กระทั่งทุกวันนี้ “อาหารญี่ปุ่น” ขยายไปในระดับ Mass Market ไปแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ภูมิทัศน์ของธุรกิจร้านอาหาร พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในวันนี้ เมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แตกต่าง และเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ธุรกิจอาหารต้อง Rethink เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ที่หลากหลาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ “กลุ่มธุรกิจอาหารโออิชิ กรุ๊ป” จึงต้องปรับตัวรอบด้าน หนึ่งในนั้นคือ การเสริมความแข็งแกร่งของ Brand Portfolio กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น ให้ครอบคลุมทั้งร้านอาหารบริการด่วน (QSR : Quick Service Restaurant), ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining), ร้านอาหารระดับบน (Fine-Dining) และบริการ Delivery ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ทุกเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ Mass, Premium Mass ไปจนถึง Premium

 

สำรวจ 12 แบรนด์ร้านอาหารในเครือโออิชิ มีอะไรบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร ?!

กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น

Premium ราคา 1,000 บาทขึ้นไป

  1. ซาคาเอะ (SAKAE): ชาบู-ชาบู และสุกี้ญี่ปุ่น ปัจจุบันมี 1 สาขา
  2. โฮว ยู (HOU YUU): อาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับขนานแท้ (Authentic Japanese) ปัจจุบันมี 2 สาขา
  3. โออิชิ แกรนด์ (Oishi Grand): บุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น ระดับพรีเมียม ปัจจุบันมี 1 สาขา
HOU YUU

ร้านอาหารญี่ปุ่น HOU YUU (Photo Credit : Facebook HOU YUU)

Premium Mass ราคา 700 บาทขึ้นไป

  1. โออิชิ อีทเทอเรียม (Oishi Eaterium) มี 9 สาขา
  2. โออิชิ บุฟเฟต์ (Oishi Buffet) มี 10 สาขา

ทั้งนี้โออิชิ อีทเทอเรียม กับโออิชิ บุฟเฟต์ แตกต่างกันที่คอนเซ็ปต์แบรนด์ ราคา และเมนูอาหารของโออิชิ อีทเทอเรียม มีราคาสูงกว่า และรายการอาหารหลากหลายกว่า

  1. นิกุยะ (Nikuya by Oishi) เป็นยากินิกุตำรับโอซาก้า ปัจจุบันมี 11 สาขา

Oishi Eaterium

Mass ราคาไม่เกิน 500 บาท

  1. ชาบูชิ (Shabushi By Oishi) ปัจจุบันมี 158 สาขา
  2. โออิชิ ราเมน (Oishi Ramen) เมนูเส้น ปัจจุบันมี 53 สาขา
  3. คาคาชิ (Kakashi by Oishi) เมนูข้าวหน้าสไตล์ญี่ปุ่น เปิดให้บริการ 22 สาขา

ทั้งนี้โออิชิ ราเมน และ คาคาชิ จัดอยู่ในกลุ่มร้านอาหารบริการด่วนสไตล์ญี่ปุ่น (QSR) ให้บริการเมนูอาหารจานเดี่ยว ตอบโจทย์ความรวดเร็ว และความสะดวก

กลุ่มร้านขนมญี่ปุ่น

  1. โอโยกิ (OYOKI) ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ และเครื่องดื่ม มี 2 สาขา
OYOKI-Oishi

แบรนด์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ และเครื่องดื่ม OYOKI

บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน (Home Delivery)

  1. โออิชิ เดลิเวอรี่ (Oishi Delivery) ผ่านเบอร์ 1773 สั่งออนไลน์เว็บไซต์ oishidelivery.com
  2. โออิชิ คิทเช่น (Oishi Kitchen) เป็นโมเดล Cloud Kitchen รวมร้านอาหารในเครือโออิชิ เพื่อให้บริการลูกค้าสั่งผ่านแอปฯ ฟู้ดเดลิเวอรี่
Oishi Kitchen

โมเดล Cloud Kitchen ภายใต้แบรนด์ Oishi Kitchen เพื่อให้บริการเดลิเวอรี่โดยเฉพาะ

 

Spin-off Brands” สร้างแบรนด์ใหม่ เพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้บริโภค

ท่ามกลางการแข่งขันธุรกิจร้านอาหารรุนแรงมากขึ้น ผู้บริโภคมีหลายกลุ่ม หลายเซ็กเมนต์ มีทางเลือกมากมาย ขณะเดียวกันโลเกชั่นของร้านมีหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายในศูนย์การค้า หรือค้าปลีกสมัยใหม่เสมอไป

เพราะฉะนั้นเพื่อเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการรับประทานของผู้บริโภค ขณะเดียวกันสามารถนำแบรนด์ใน Portfolio ไป Match กับโลเกชั่นที่แตกต่างกันได้ และขยายการเติบโตของ Portfolio กลุ่มธุรกิจร้านอาหารโออิชิ กรุ๊ป จึงได้ใช้กลยุทธ์ Spin-off Brands”

นั่นคือ การสร้างแบรนด์ใหม่ ทั้งร้านอาหาร และร้านขนมหวาน เพื่อเพิ่มโอกาสการขาย และเข้าถึงผู้บริโภคหลายกลุ่ม เจาะเซ็กเมนต์ใหม่ และจับกลุ่มเป้าหมายใหม่

จาก Brand Portfolio ทั้ง 12 แบรนด์ ภายใต้กลยุทธ์ Spin-off ปัจจุบันมี 3 แบรนด์

โฮว ยู (HOU YUU) แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น ระดับพรีเมียม ปัจจุบันมี 2 สาขา

โอโยกิ (OYOKI) แบรนด์ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ปัจจุบันมี 2 สาขา

ซาคาเอะ (SAKAE) แบรนด์ชาบู-ชาบู และสุกี้ญี่ปุ่น ระดับพรีเมียมล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

SAKAE

 

ทำความรู้จัก “ซาคาเอะ” โมเดลร้านอาหารญี่ปุ่นพรีเมียม A La Carte “เน้นเร็ว – วัตถุดิบจากต่างประเทศ – ใช้พนักงานน้อย แต่มีประสิทธิภาพ”

สำหรับแบรนด์ใหม่ล่าสุด “ซาคาเอะ” เป็นชาบู-ชาบู และสุกี้ญี่ปุ่นแบบ A La Carte เจาะตลาดพรีเมียม เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายระดับบน และกลางเป็นหลัก

การสร้างแบรนด์ “ซาคาเอะ” จะเติมเต็ม Brand Portfolio ร้านอาหารญี่ปุ่นในเซ็กเมนต์พรีเมียมให้กับโออิชิ กรุ๊ป ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้ ที่เป็น Meat Lover จะแสวงหาร้านอาหารที่มีเนื้อคุณภาพดีนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งวัตถุดิบเด่นในร้านซาคาเอะ คือ เนื้อวากิว ระดับ A4, เนื้อวากิว ระดับ F1 และเนื้อซาคาเอะ ซิกเนเจอร์ หรือเนื้อส่วนสันคอวัว

นอกจากนี้ รูปแบบการให้บริการของ “ซาคาเอะ” เป็นโมเดลที่ได้รับความนิยมในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น เนื่องจากมีประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการภายในร้าน และการออกแบบประสบการณ์ลูกค้า โดยภายในร้าน โต๊ะเป็นรูปแบบเคาน์เตอร์ แบ่งเป็น 3 Ring คือ Ring A มี 28 ที่นั่ง, Ring B 20 ที่นั่ง และ Ring C 20 ที่นั่ง และเป็นหม้อชาบู/สุกี้หม้อเดี่ยวแต่ละที่นั่ง

SAKAE

ขณะเดียวกันเน้น Efficiency คือ พนักงานให้บริการลูกค้าไม่จำเป็นต้องมีเยอะ โดยโต๊ะ 1 Ring มีพนักงานประจำเพียง 2 คน เท่ากับว่าทั้งร้านมี 3 Ring ใช้พนักงานประจำเคาน์เตอร์ ให้บริการลูกค้า 6 คนเท่านั้น และมี Runner ทำหน้าที่ส่งของให้อีก 1 คน นั่นหมายความว่าภายในร้าน มีพนักงานให้บริการลูกค้าประมาณ 7 คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับโมเดลร้านชาบู หรือร้านอาหารทั่วไปแบบเดิมๆ ต้องใช้พนักงานไม่ต่ำกว่า 15 – 20 คนต่อร้าน

โมเดลการออกแบบร้านลักษณะนี้ ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าในด้านความสะดวก ความง่ายในการรับประทาน และความเร็ว ในขณะที่ทางร้าน ได้ความคล่องตัวของการให้บริการ และการบริหารจัดการภายในร้านที่มีประสิทธิภาพ

SAKAE

จาก Brand Portfolio กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ ตอบโจทย์ใน 5 เรื่องสำคัญคือ

  1. เติมความหลากหลาย ตั้งแต่ร้านอาหารบริการด่วน (QSR), ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining), ร้านอาหารระดับบน (Fine-Dining) และบริการจัดส่งถึงบ้าน
  2. ครอบคลุมตั้งแต่เซ็กเมนต์ Mass, Premium Mass ไปจนถึงตลาด Premium
  3. สามารถนำแบรนด์ เข้าไปอยู่ในทุกช่วงเวลาของการรับประทานอาหารของผู้บริโภค ทั้งมื้อหลัก (Meal) และมื้อรอง (Light Meal) ในแต่ละวัน
  4. ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม หลายระดับ
  5. มีโมเดล 24 ชั่วโมง ได้แก่ ชาบูชิ 24 ชั่วโมงที่สามย่านมิตรทาวน์, โออิชิ ราเมน x คาคาชิ 24 ชั่วโมงที่เดอะ สตรีท รัชดา ทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง

SAKAE

“โออิชิ มีแนวทางเสริมความแข็งแกร่งพอร์ตโฟลิโอ กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่น และขยายธุรกิจให้กว้างขึ้น ภายใต้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุก แกนสำคัญหนึ่งคือ Spin-off Brands เพื่อเพิ่มโอกาสการขาย และเข้าถึงผู้บริโภคได้หลายกลุ่ม ซึ่งเน้นที่การสร้างแบรนด์ใหม่ เจาะตลาดใหม่ เซ็กเมนต์ใหม่ จับกลุ่มใหม่

จากการพัฒนาแบรนด์ซาคาเอะ ส่งผลให้ธุรกิจอาหาร กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิโดยภาพรวมมีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการ และความพึงพอใจของลูกค้าได้หลายกลุ่ม หลากหลายระดับ” คุณไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกลยุทธ์สร้างการเติบโตธุรกิจ

Oishi Group

คุณไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)


แชร์ :

You may also like