HomeBrand Move !!“เซ็นทรัล” เข้าถือหุ้นใหญ่ธุรกิจร้านชานมไข่มุก-ขนม “Brown Café” ต่อจิ๊กซอว์ Brand Portfolio Strategy

“เซ็นทรัล” เข้าถือหุ้นใหญ่ธุรกิจร้านชานมไข่มุก-ขนม “Brown Café” ต่อจิ๊กซอว์ Brand Portfolio Strategy

แชร์ :

CRG - Brown Cafe

กลยุทธ์สำคัญของการเป็นผู้เล่นใน Food Chain Industry คือ ต้องมี “Brand Portfolio” ที่แข็งแกร่ง เพราะเป็นหัวใจที่ตอบโจทย์ “การเติบโตด้านผลประกอบการ” ขององค์กร ขณะเดียวกันเพิ่มโอกาส “เข้าถึงผู้บริโภค” หลากหลายกลุ่ม และเข้าไปอยู่ใน “ช่วงเวลาของการรับประทานอาหาร” ของผู้บริโภค ไม่ว่าจะมื้อหลัก หรือมื้อรอง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“CRG” (Central Restaurants Group) ในกลุ่มเซ็นทรัล คือ หนึ่งใน Major Player ของธุรกิจร้านอาหารในไทย ซึ่งล่าสุด “โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)” หรือ “CENTEL” ได้มีมติให้ “บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ CENTEL ถือหุ้น 100% เข้าลงทุนใน “บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด” ดำเนินธุรกิจจำหน่ายของหวาน เบเกอรี และเครื่องดื่มภายใต้ชื่อ “บราวน์ คาเฟ่” (Brown Café)

โดย CRG ได้ลงทุนซื้อหุ้นสามัญของ “บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด” จากผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 18,952 หุ้น และซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกเป็นจำนวน 28,976 หุ้น ซึ่งภายหลังจากซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้ว CRG จะถือหุ้นใน บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด ทั้งสิ้นจำนวน 47,928 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 65 – 70 ล้านบาท

การลงทุนครั้งนี้ CRG ชี้แจงว่าผลประโยชน์จะได้รับคือ ผลตอบแทนจากการดำเนินงาน และการขยายการลงทุนไปในธุรกิจผลิต และจำหน่ายอาหาร ของหวาน เบเกอรี่ และเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ Brown Café ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจร้านอาหารของ CRG

ทั้งนี้ “บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด” ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหาร ของหวาน เบเกอรี่ และเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ “บราวน์ คาเฟ่” (Brown Café) ปัจจุบันมี 11 สาขา โดยเป็นสาขาที่บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท เป็นเจ้าของเองจำนวน 10 สาขา และเป็นสาขาที่ให้สิทธิ์ในการบริหาร (Franchise) 1 สาขา และเมื่อไม่นานนี้ ได้มีการเซ็นสัญญาให้สิทธิ์การบริหารกับผู้ประกอบการร้าน Brown Café ในประเทศมาเลเซีย

Brown Café

หากวิเคราะห์เหตุผลการตัดสินใจเข้าถือหุ้นใหญ่ในบราวน์ ดีเซิร์ท ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลักคือ

1. เป็นไปตามยุทธศาสตร์ธุรกิจ “CRG” ที่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Brand Portfolio เพราะเป็นหัวใจที่ตอบโจทย์“การเติบโตด้านผลประกอบการ”ขององค์กร ขณะเดียวกันเพิ่มโอกาส “เข้าถึงผู้บริโภค” หลากหลายกลุ่ม และเข้าไปอยู่ใน “ช่วงเวลาของการรับประทานอาหาร” ของผู้บริโภค ไม่ว่าจะมื้อหลัก หรือมื้อรอง

จากก่อนหน้านี้ CRG มีแบรนด์มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut), อานตี้ แอนส์ (AUNTIE ANNE’S), เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch), ชาบูตง (Chabuton),ไอศกรีมโคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery), เดอะ เทอเรส (The Terrace), โยชิโนยะ (Yoshinoya), โอโตยะ (Ootoya), เทนยะ (Tenya), คัตสึยะ (Katsuya)

นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้วได้เปิดแผนสร้างแบรนด์ของตนเอง (Own Brand) อีก 4 แบรนด์ นำร่องด้วยแบรนด์อร่อยดี เจาะตลาดสตรีทฟู้ด, แบรนด์สุกี้เฮ้าส์

ขณะที่ล่าสุด “Brown Café” จะเป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญในการเติมเต็ม Brand Portfolio Strategy

2. ธุรกิจคาเฟ่ และเบเกอรี่ เป็นตลาดใหญ่ที่ใครๆ ก็อยากเข้ามา! ในภาพรวมธุรกิจร้านอาหารกว่า 400,000 ล้านบาท พบว่าเซ็กเมนต์ธุรกิจคาเฟ่ และธุรกิจร้านเบเกอรี่ เป็นสองตลาดใหญ่ โดยธุรกิจคาเฟ่ มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 26,000 ล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจร้านเบเกอรี่ มีมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท

Brown Cafe

3. มีหลายแบรนด์ เพื่อ Match เข้ากับโลเกชั่นที่หลากหลาย ในตลาด Food Chain Industry การขยายสาขาธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ต่างๆ ในปัจจุบัน มีการพัฒนาในหลาย Store Format เพื่อให้มีรูปแบบสาขาหลากหลาย โดยไม่จำกัดเฉพาะในศูนย์การค้าเท่านั้น แต่ต้องสามารถขยายไปตามโลเกชั่นต่างๆ เช่น ศูนย์การค้า, อาคารสำนักงาน ฯลฯ ดังนั้นการมีแบรนด์ที่หลากหลาย ย่อมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ในการนำแบรนด์ที่มีอยู่ในพอร์ตฯ ไป match เข้ากับโลเกชั่นต่างๆ และสอดคล้องกับกลุ่มผู้บริโภคในโลเกชั่น หรือในโซนนั้นๆ

4. พลัง Synergy สร้างฐานข้อมูลลูกค้า ด้วยความที่กลุ่มเซ็นทรัลมีธุรกิจต่างๆ ในเครือจำนวนมาก จึงสามารถใช้ความได้เปรียบตรงนี้ในการทำ Synergy ร่วมกัน

เช่น กรณีร้านอาหารในเครือ CRG สามารถสะสมคะแนน และแลกคะแนน “The 1” ได้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมองเห็น Customer Journey การใช้จ่ายของลูกค้า นำไปสู่การเก็บฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละคนได้อย่าง Personalization เพราะฉะนั้นยิ่งมีหลายแบรนด์ธุรกิจร้านอาหาร ก็ยิ่งทำให้ “กลุ่มเซ็นทรัล”​ ได้ฐาน Customer Data มากขึ้นตามมา

5. เพิ่มความหลากหลายอาหารและเครื่องดื่มบนแพลตฟอร์ม Delivery ปัจจุบัน “CRG” พัฒนาแพลตฟอร์ม Delivery ของตนเอง ทั้งรูปแบบ Call Center เบอร์ 1312 และรูปแบบแอปพลิเคชัน 1312 ที่ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้แบบ Multi-brand Ordering ดังนั้นการถือหุ้นใหญ่ใน Brown Café ต่อไป “CRG” อาจนำแบรนด์นี้มาอยู่ในบริการ Delivery ของกลุ่ม CRG ก็เป็นไปได้ เพื่อทำให้เมื่อผู้บริโภคเข้ามาสั่งอาหารแล้ว สามารถเลือกอาหาร และเครื่องดื่มได้หลากหลาย ตอบโจทย์การรับประทานใน Occasion ต่างๆ

Brown Café

 

Photo Credit: Facebook Brown Café


แชร์ :

You may also like