HomeBrand Move !!คุยเรื่องการ์ตูนกับ “บก.วุฒิ” ถึงอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตของ “สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ”

คุยเรื่องการ์ตูนกับ “บก.วุฒิ” ถึงอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตของ “สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ”

แชร์ :

หากย้อนอดีตไปเมื่อ 20 – 30 ปีก่อนหน้า ภาพของแผงหนังสือในชุมชนเป็นสิ่งที่คนไทยให้ความคุ้นเคย และมักแวะเวียนไปหาหนังสือเล่มโปรดกันเป็นกิจวัตร ซึ่งหนึ่งในแบรนด์ที่ปรากฏอยู่บนแผงหนังสือเหล่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมมีชื่อของ “วิบูลย์กิจ” ปรากฏอยู่ด้วยในฐานะขวัญใจคนรักการ์ตูน หลายคนวนเวียนอยู่ที่แผงหนังสือทุกสัปดาห์เพื่อรอว่าหนังสือการ์ตูนเล่มโปรดของตัวเองจะวางแผงแล้วหรือยัง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แน่นอนว่า ในวันที่แผงหนังสือ และร้านหนังสือหดหายไปเรื่อย ๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อคนในอุตสาหกรรมไม่มากก็น้อย Brandbuffet ซึ่งได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณวรวุฒิ วรวิทยานนท์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ และคุณวรวุฒิได้แบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า

“จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราอ่านหรือที่เราเรียกติดปากกันว่าหนังสือการ์ตูนนั้น เขาเรียกว่า นิยายภาพ ทางฝรั่งก็มีคำเรียกเฉพาะว่าคอมมิค (Comic) หรือทางญี่ปุ่นก็เรียกว่ามังงะ (Manga) ซึ่งก็คือภาพที่นำมาเรียงร้อยเป็นนิยาย มีความละเอียดลึกซึ้งในแง่ของเนื้อหา ประเทศไทยในอดีตก็เคยมีความเฟื่องฟูเรื่องนิยายภาพมาก แต่พอสื่อจากญี่ปุ่นเข้ามา มีไอ้มดแดง ฯลฯ ความต่อเนื่องตรงนี้ก็ขาดไป”

คุณวรวุฒิ วรวิทยานนท์ บรรณาธิการสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ

“สำหรับภาพรวมของนิยายภาพ หรือที่เราเรียกกันทุกวันนี้ว่าการ์ตูนเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก อย่างการ์ตูนดังในยุคก่อนอาจไม่ได้ลงลึกในเนื้อหามากนัก มีแค่สูตรสำเร็จที่พัฒนาฮีโร่ให้เก่งขึ้นเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับการ์ตูนทุกวันนี้ที่มีการลงลึกในรายละเอียด อย่าง DOCTOR K ที่ผู้วาดต้องวาดเส้นเลือดหัวใจให้เป็นเส้นเลือดหัวใจ วาดภาพอาการป่วยต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ ซึ่งมันลึกซึ้งมาก และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ จนกลายเป็นคุณหมอในยุคปัจจุบันนี้ได้หลายคน”

“หรืออย่างการ์ตูนเรื่องผ่าพิภพไททัน (Attack on Titan) ก็มีเรื่องของสังคม ประชาธิปไตย แทรกอยู่เช่นกัน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้เขียนดราก้อนบอลถึงไม่สามารถแจ้งเกิดผลงานชิ้นใหม่แบบดราก้อนบอลได้อีกในปัจจุบัน เพราะมันคือสูตรสำเร็จของความนิยมในช่วงเวลาหนึ่งที่ผ่านมาไปแล้ว”

กลุ่มผู้อ่านเลือกซื้อมากขึ้น

ไม่เฉพาะเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไป อีกสิ่งหนึ่งที่พบก็คือพฤติกรรมของกลุ่มผู้อ่านที่ บก.วุฒิ ให้ทัศนะว่า “เขายังอ่านอยู่ แต่เปลี่ยนวิธีการอ่านจากที่เป็นเล่มก็ลดน้อยลง เมื่ออ่านเป็นเล่มน้อยลง การซื้อก็น้อยลงตามไปด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าคนอ่านทุกวันนี้เลือกซื้อมากขึ้น ซื้อเฉพาะเรื่องที่สนใจจริง ๆ”

เมื่อถามต่อถึงหนังสือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจในตอนนี้ อาจเป็นชื่อที่หลายคนร้องอ๋อ นั่นคือ โคนัน, ผ่าพิภพไททัน (Attack on Titan) และคินดะอิจิ เพียงแต่คำว่าขายดีในทุกวันนี้เป็นคนละภาพกับคำว่าขายดีเมื่อในอดีตไปแล้ว

“ในภาพรวม เราขายสินค้าสองรูปแบบคือหนังสือการ์ตูนที่เป็นรูปเล่ม กับหนังสือการ์ตูนดิจิทัลที่เป็น e-Book ซึ่งเราพบว่า โคนันยังเป็นเรื่องที่ขายดีอยู่ ส่วนผ่าพิภพไททันก็เหมือนมีกระแสจากการทำเป็นอนิเมะ และภาพสวยมาก ก็อาจเป็นเหตุผลให้ขายดีขึ้น แต่ถ้าเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ต้องยอมรับว่าต่างกันมาก ตอนนี้ทุกอย่างลดลงมาหมด หรืออาจเรียกได้ว่ายอดขายลดลง 50% ได้เลยทีเดียว”

เมื่อถามต่อว่ายุคเฟื่องฟูขายดีระดับไหน คุณวรวุฒิเล่าว่า สมัยก่อนขายได้เป็นจำนวนที่สูงมาก เล่มที่ได้รับความนิยมสูง ๆ ก็ขายได้เกือบแตะหลักแสนเล่ม ขณะที่ปัจจุบัน เล่มที่ขายดีอาจอยู่ที่หลักพัน หรือไม่ก็หลักหมื่นต้น ๆ

“เมื่อก่อนการ์ตูนที่เราจำหน่ายก็มักเป็นแนวผู้ชาย (แต่ปัจจุบันเราแยกแบบนี้ไม่ได้แล้ว เพราะเนื้อหามีความหลากหลายมากขึ้น) ในยุคนั้นเนื้อหาแนวแอคชั่น ไซไฟ แฟนตาซี สืบสวนสอบสวน ก็คือหนึ่งในเนื้อหาที่ได้รับความนิยม ยกตัวอย่างเช่น GTO, เรียกข้าว่าอีกา, Fairy Tail, คินดะอิจิ, Doctor K, ก้าวแรกสู่สังเวียน, ล่าอสุรกาย ซึ่งในสมัยนั้น วิบูลย์กิจออกการ์ตูนสัปดาห์ละสามวัน จันทร์ – พุธ – ศุกร์ แต่ตอนนี้ ถ้าเป็นรูปแบบหนังสือลดเหลือสัปดาห์ละครั้ง ก็ถือว่าน้อยลงไปเยอะ ส่วนบนออนไลน์ยังออกสัปดาห์ละ 3 ครั้งอยู่”

ส่วนเรื่องของราคาที่ปรับตัวขึ้นมีผลต่อการซื้อที่ลดลงหรือไม่นั้น คุณวรวุฒิมองว่า “ถ้าเรามองตามหลักความเป็นจริง สมัยก่อนหนังสือการ์ตูนราคา 35 บาท ราคาข้าวหนึ่งจานในยุคนั้นก็ 10 – 15 บาท ปัจจุบันราคาหนังสือการ์ตูนอาจอยู่ที่ 90 บาท ราคาข้าวปัจจุบันก็ขึ้นมาอยู่ที่ 45 – 50 บาทเช่นกัน คือในความรู้สึกของคนที่บริโภคมาตั้งแต่อดีตอาจจะรู้สึกว่าแพงขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องปกติของทุก ๆ อย่างที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ มันก็ผันแปรไปตามวัตถุดิบที่เปลี่ยนแปลงไป ต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปครับ”

รุกสู่ออนไลน์ กับผลตอบรับที่ต้องใช้เวลาบ่มเพาะ

แอปพลิเคชัน Vibulkij

นอกจากผลิตหนังสือการ์ตูนแบบรูปเล่มแล้ว ปัจจุบัน ธุรกิจหนังสือดิจิทัล (e-Book) ของวิบูลย์กิจก็เดินเข้าสู่ปีที่ 5 แล้วเช่นกัน (เริ่มทำเมื่อปี 2557) โดยมีแอปพลิเคชัน Vibulkij เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งคุณวรวุฒิได้เล่าย้อนถึงการเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เราเริ่มต้นทำออนไลน์เข้าปีที่ห้าแล้วก็จริง แต่ผลตอบรับแบบก้าวกระโดดเพิ่งมาเห็นในช่วงสองปีหลังนี้เองครับ ซึ่งเรามองว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง คือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มันเป็นของใหม่ และมันก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมผู้อ่าน ซึ่งตอนนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ก็ยังไม่เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงมากนัก มันเลยทำให้ในช่วงแรก ๆ ที่เราทำค่อนข้างกระท่อนกระแท่น”

เมื่อถามต่อว่าในยุคแรกนั้น ทีมงานท้อใจหรือไม่กับผลตอบรับที่เกิดขึ้น คุณวรวุฒิเผยว่า “เราไม่ได้ท้อ เพราะเรามองว่า ทุกสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับรูปแบบใหม่มันต้องใช้เวลา คือเราศึกษาแล้วว่ามันมีความไม่พร้อมหลาย ๆ อย่าง”

“จริง ๆ เราเริ่มต้นแนวทางการทำดิจิทัลมาก่อนหน้านั้น ประมาณ 6 – 7 ปีได้ (ช่วงปี 2549 – 2556 ก่อนจะเริ่มสตาร์ทจริง ๆ ในปี 2557) ซึ่งในยุคนั้น แพลตฟอร์มแบบในปัจจุบันยังไม่เกิดสักเจ้าเลย ไม่มีใครรู้จัก Ookbee, Meb แต่เราก็พยายามทำ ซึ่งเราได้พูดคุยกับพาร์ทเนอร์หลายราย เช่น แพลตฟอร์มของทางฝั่งอเมริกา ซึ่งก็พบว่าไม่ตอบโจทย์พฤติกรรมคนไทย เพราะรูปแบบการชำระเงินไม่เอื้ออำนวย (เนื่องจากต้องจ่ายด้วยบัตรเครดิตเท่านั้น) อีกทั้งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของเราในตอนนั้นก็คือวัยรุ่น ที่ยังไม่พร้อมจะมีบัตรเครดิต ฉะนั้น อุปสรรคในการชำระเงินมันจึงมีมากกว่าปัจจุบันเยอะครับ”

“อีกหนึ่งธุรกิจที่เราได้เคยคุยก็คือ ธุรกิจเกมออนไลน์ ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีความพร้อมมากที่สุดในยุคนั้น เราก็ได้ทดลองกับเขา แล้วก็เอาไปเสนอแผนกับพาร์ทเนอร์ – เจ้าของลิขสิทธิ์ของญี่ปุ่น แต่ก็ต้องยอมรับว่า e-Book ยังเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย และเงื่อนไขของทางต่างประเทศเขาก็ยังไม่พร้อม หมายถึงญี่ปุ่นที่เราถือลิขสิทธิสิ่งพิมพ์ของเขาอยู่”

“แต่พอมาในปีที่สามช่วงปลายปี (ราวปี 2560) ความพร้อมของผู้บริโภคเริ่มมา และสภาพแวดล้อมก็เอื้ออำนวยมากขึ้น ทั้งในแง่แพลตฟอร์ม ความเร็วอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดคือความสะดวกสบายในการชำระเงิน เราจึงได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งสภาพแวดล้อมแบบปัจจุบันนี้ สำหรับผมมองว่า ดิจิทัลคอนเทนต์มีโอกาสเติบโตสูงมากนะ และ e-Book ก็เป็นหนึ่งในนั้น เพียงแต่ e-Book อาจไม่ได้เป็นคอนเทนต์ที่มีขนาดใหญ่มาก เหมือนดนตรีอะไรแบบนั้น ตลาดเราไม่ได้ใหญ่เท่าเขา”

70% ของคอนเทนต์เป็น e-Book แล้ว

คุณวรวุฒิเผยว่า ปัจจุบัน คอนเทนต์ของวิบูลย์กิจราว 70% อยู่ในรูปแบบดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 30% อาจมีอุปสรรคในการจัดการ เช่น อาจเป็นผลงานที่เก่าเกินไปแล้ว ไม่มีต้นฉบับที่สมบูรณ์มากพอ ทำให้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกพอสมควร

“คอนเทนต์ที่พร้อมก็คือไปอยู่เป็น e-Book หมดแล้ว ส่วนที่เป็นรูปเล่มก็ยังออกอยู่ เล่มต่อต่าง ๆ ก็ยังพิมพ์จำหน่ายตามปกติ แต่จำนวนผลิตน้อยลง ความต่อเนื่องยังมีอยู่ หรือมีบางเล่มที่อาจจะออก e-Book ก่อน แล้วตัวเล่มตามหลัง รวมถึงอาจมีรูปแบบพิเศษ เช่น มีความเป็นคอลเล็คชั่นมากขึ้น หรือมีของแถมหากสั่งซื้อล่วงหน้าออกมา ซึ่งในจุดนี้ก็มีทำเป็นระยะกับหนังสือการ์ตูนบางเรื่องที่สามารถทำได้ และทางต่างประเทศอนุญาตให้ทำ เพราะทุกอย่างต้องขออนุญาตหมด และทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย มีค่าลิขสิทธิ์เพิ่มเป็นเงาตามตัว ซึ่งจะทำให้ราคาหนังสือผันแปรไปด้วย”

“ลิขสิทธิ์มีผลเกี่ยวข้องกับหลายอย่าง ยกตัวอย่างหนังสือการ์ตูน เราซื้อลิขสิทธิ์หนังสือการ์ตูนก็จริง แต่ลิขสิทธิ์ให้เราแค่พิมพ์จำหน่ายในรูปแบบหนังสือหรือสิ่งพิมพ์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ สิ่งอื่น ๆ ที่จะเข้ามาผนวก จะต้องไม่ให้เกินไปจนกลายเป็นกลุ่มสินค้า Merchandising (ยกตัวอย่าง สินค้ากลุ่ม merchandising เช่น เสื้อผ้า ตุ๊กตา ปากกา ดินสอ ฯลฯ เป็นต้น)”

รู้จักผู้อ่านผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

ปัจจุบัน แพลตฟอร์มที่วิบูลย์กิจใช้เป็นช่องทางในการนำเสนอประกอบด้วย แอปพลิเคชัน Vibulkij, Meb, Comico, Ookbee, iReader และในอนาคตมีแผนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคมนี้จะเริ่มนำไปวางจำหน่ายบน Fictionlog อีกหนึ่งแพลตฟอร์ม ซึ่งเมื่อเข้าสู่ช่องทางดิจิทัล สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือข้อมูลที่ไหลเข้ามา และนี่คือสิ่งที่วิบูลย์กิจมองเห็น และแชร์ให้เราได้ทราบ

“จากภาพรวมของกลุ่มผู้อ่าน เราพบว่า กลุ่มลูกค้าของเราก็คือกลุ่มผู้ใหญ่ที่อ่านการ์ตูนมาตั้งแต่สมัยอดีต ปัจจุบันมีกำลังซื้อแล้ว มีอุปกรณ์ดิจิทัลพร้อมแล้ว มีช่องทางในการจ่ายเงินที่สะดวกแล้ว และที่บ้านอาจไม่มีพื้นที่เก็บหนังสือมากนัก คนกลุ่มนี้ก็เลยหันกลับมาซื้อการ์ตูนที่พวกเขาประทับใจอีกครั้งในรูปแบบ e-Book โดยการ์ตูนที่ขายดีก็คือ e-Book แนวคลาสสิค เช่น การ์ตูนเรื่องดัง ๆ ในอดีตแบบครบชุด จะขายดีมาก” คุณวรวุฒิเล่า

“ส่วนที่ว่ากลุ่มลูกค้าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เราพบว่าพอ ๆ กันทั้งสองเพศ คือการ์ตูนที่เราทำอยู่ แทบไม่มีการ์ตูนตาหวานเลย แต่ว่าพอเป็นการ์ตูนผู้ชายแอคชั่น มันก็มีความร่วมสมัยกับปัจจุบัน คืออ่านได้ทั้งผู้หญิงผู้ชาย เพราะเรื่องสนุก วาดออกมาพระเอกก็หล่อ ๆ ผู้ชายอ่านได้เพราะมีความแอคชั่น เช่น ผ่าพิภพไททัน ซึ่งจะเห็นได้ว่า ยุคที่ยังมีงานคอสต์เพลย์ คนที่มาร่วมกิจกรรม ทั้งหญิงชายก็สามารถแต่งตามตัวละครในเรื่องนี้ได้อย่างกลมกลืน”

“ข้อดีของ e-Book เมื่อเทียบกับหนังสือคือ หนังสือเราจะเห็นแค่หน้าปก ต้องฉีกถุงพลาสติกถึงจะรู้ว่าข้างในเป็นอย่างไร แต่พอเป็นดิจิทัล ลูกค้าสามารถเข้าไปดูตัวอย่างได้ ลองอ่านได้ถึง 20% ของเล่มเลย คนที่จะซื้อก็จะได้เห็นการเล่าเรื่อง ลายเส้น และตัดสินใจได้ว่าจะซื้อดีไหม นอกจากนั้น การเป็นดิจิทัลยังทำให้มีโอกาสแนะนำผู้อ่านให้ซื้อเรื่องอื่น ๆ ที่เขาน่าจะสนใจได้ด้วย ไม่ต่างจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งอื่น ๆ ที่พอเราดูเรื่องนี้จบ ระบบก็จะไปดึงเรื่องที่ใกล้เคียงกัน หรือแนวเรื่องที่คิดว่าเราน่าจะชอบมาแนะนำต่อ”

เน้นสร้างประสบการณ์ดี หนีเว็บเถื่อน

สำหรับเว็บเถื่อน หรือการแชร์การ์ตูนตอนใหม่ล่าสุดที่พบเกลื่อนกลาดในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ ในอดีตอาจเป็นปัญหาสำหรับคอนเทนต์แบบมีลิขสิทธิ์ แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าปัญหาต่าง ๆ จะไม่ได้อยู่ใน “สถานะ” เดิมอีกต่อไปแล้ว ซึ่งในจุดนี้คุณวรวุฒิให้ทัศนะว่า

“ไม่ว่าเราจะป้องกันแค่ไหนเขาก็หาช่องทางได้อยู่ดี เพราะมันเป็นอาชีพของเขา ดังนั้น เมื่อมองจากจุดนี้ ส่วนของการดำเนินการตามกฎหมายก็ดำเนินการไป แต่สิ่งที่เราเห็นชัดเจนมากก็คือ คนที่ไปบริโภคสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ส่วนใหญ่แล้ว เขาไม่ได้ซื้อ ทั้งจากความพร้อมและพฤติกรรม เขาจึงอาจไม่ใช่คนที่จะเป็นลูกค้าเราในเวลานี้”

“สิ่งที่เราทำต่อไปก็คือ เราต้องหันมาโฟกัสที่ลูกค้าของเรา ทำอย่างไรให้เขามีความสะดวกมากที่สุด ทำอย่างไรให้เขาได้รับผลงานที่รู้สึกคุ้มค่า สนุก อ่านได้อย่างมีคามสุข นั่นคือทำแพลตฟอร์มให้เอื้อกับเขา ให้เขามีคลังหนังสือในมือตัวเอง มีการเปิดอ่านที่สมบูรณ์กว่า มีการจัดเก็บไว้ในแอปที่สะดวกต่อการเปิดอ่าน เข้าไปดูเมื่อไรก็ได้ สิ่งเหล่านี้ตอบโจทย์กลุ่มผู้อ่านเราได้มากกว่า”

“ไม่ต่างกับ Netflix เวลาที่เราอยู่กับเขา มันมีความสะดวก มีความสมบูรณ์ในแง่ของคุณภาพ ความต่อเนื่อง การนำเสนอ แค่เราเข้าไปในนั้น เราก็ไม่มีเวลาไปหาของเถื่อนแล้ว”

อย่างไรก็ดี คุณวรวุฒิยอมรับว่า อาจมีลูกค้าบางส่วนที่ไปเว็บเถื่อนเพราะอยากได้ความเร็ว แต่จากที่ทีมงานวิบูลย์กิจมีการสำรวจเองก็พบว่า บางครั้ง ความเร็วก็ไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้าเสมอไป

“เราเคยทดลองแล้วว่า แม้เราจะเร็วเท่าญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ตอบโจทย์เพราะผู้บริโภคของเรา เขาไม่ใช่กลุ่มคนที่จะเสียเวลาไปเสิร์ชหาเว็บเถื่อนตั้งไม่รู้กี่เว็บ และยอมให้มีโฆษณาอะไรไม่รู้เด้งขึ้นมา (เช่น การพนัน, ยาเสพติด หรืออุปกรณ์ทางเพศ) ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมันรบกวนผู้อ่าน จริง ๆ คงต้องบอกว่า เราพบแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายเราเป็นใคร เขาคือคนที่อ่านกับเรามาตั้งแต่อดีต ดังนั้นการให้ประสบการณ์การอ่านที่ดีกับเขา ไม่ให้มีอะไรไปรบกวนการอ่านของเขาได้ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

ก่อนจากนั้น คุณวรวุฒิ หรือ บก.วุฒิที่หลายคนคุ้นเคยยังได้ฝากถึงแฟน ๆ นักอ่านการ์ตูนในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยว่า “ขอบคุณที่ยังมีความรักในการอ่านหนังสือการ์ตูนอยู่ และถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอ่านจากหนังสือไปสู่ดิจิทัล ผมก็มองว่ามันแค่เปลี่ยนรูปแบบสื่อไปเท่านั้น หรือแม้แต่ของสำนักพิมพ์อื่น ๆ เราก็อ่านของเขา เพราะเราก็ไม่สามารถทำทุกเรื่องได้”

ขอบคุณที่ยังชื่นชอบ แม้จะมีสื่ออื่น ๆ เข้ามาในชีวิต แต่ ณ ช่วงเวลาหนึ่งที่เรามีความสุขในการอ่าน ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี สิ่งที่อยากฝากอีกข้อก็คือ เราเชื่อว่าคนอ่านรุ่นใหม่เขาไม่ได้โตมากับหนังสืออย่างเดียว เขาโตมากับสิ่งที่อยู่ในมือเขา เพราะฉะนั้นเราจะเอาความคิดของเรา สิ่งที่เราโตขึ้นมา ไปตัดสินเขาไม่ได้ ต้องเข้าใจเขา หัวใจมันก็ย้อนกลับไปที่ผลงานว่า สามารถสร้างความประทับใจได้มากน้อยแค่ไหน คนก็อาจไปกังวล หรือติดแค่รูปแบบ แต่เขาลืมไปว่าหัวใจคือคอนเทนต์ คือสิ่งที่อยู่ในนั้น ทั้งที่เป็นอักษร หรือภาพ ซึ่งหากเราให้ความสำคัญในจุดนี้ การ์ตูน หรือชื่อที่แท้จริงว่า นิยายภาพ จะเป็นสิ่งที่อยู่ได้ตลอดไปไม่มีวันตายแน่นอนครับ” คุณวรวุฒิกล่าวปิดท้าย


แชร์ :

You may also like