HomeBrand Move !!60 ปี ‘การบินไทย’ เริ่มต้นใหม่บนเส้นทาง ยื่นศาลล้มละลาย ‘ฟื้นฟูกิจการ’ แก้หนี้ 2.4 แสนล้าน

60 ปี ‘การบินไทย’ เริ่มต้นใหม่บนเส้นทาง ยื่นศาลล้มละลาย ‘ฟื้นฟูกิจการ’ แก้หนี้ 2.4 แสนล้าน

แชร์ :

ปี 2563 นับเป็นปีสำคัญของ “การบินไทย” กับการก้าวสู่ปีที่ 60 ในฐานะสายการบินแห่งชาติ และความท้าทายของจุดเริ่มต้นใหม่ แก้ปัญหาขาดทุนสะสมกว่า 2.4 แสนล้านบาท เมื่อวันนี้ (19 พฤษภาคม 2563) คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ “การบินไทย” ยื่นศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เส้นทางของสายการบินแห่งชาติ กับสโลแกน “รักคุณเท่าฟ้า” ที่ต้องมาถึงจุด “ฟื้นฟูกิจการ” จากหนี้สะสมกว่า 2.4 แสนล้านบาท ปัญหาการบินไทยที่ต้องอยู่ในวัฏจักรขาดทุนมาต่อเนื่อง มาจากหลายสิ่งอย่าง ทั้งการปรับตัวไม่ทันสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในยุคเปิดเสรีการบิน มีโลว์คอสต์แอร์ไลน์เข้ามาเป็นคู่แข่งจำนวนมาก อีกทั้งยังคุ้นชินกับวัฒนธรรมเดิม การลงทุนซื้อเครื่องบินใหม่เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน ปัจจุบันมีเครื่องบิน 103 ลำ ขณะที่ประสิทธิภาพการดำเนินงานหารายได้จากการขายตั๋วลดลง แต่ค่าใช้จ่ายยังอยู่ในระดับสูง ถึงสิ้นปี 2562 การบินไทยมีพนักงาน รวม 21,367 คน

ที่ผ่านมาการบินไทย ก็อยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการตัวเองอยู่แล้ว จากการเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน  แต่วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก หลายประเทศร่วมทั้งประเทศไทยต้อง “ปิดเมือง” ห้ามสายการบินเข้าออก เพื่อหยุดการแพร่กระจาย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงกระทบหนัก เมื่อสายการบินหยุดบิน ก็ไม่มีรายได้เข้ามา และแม้จะกลับมาบินใหม่ ก็ใช่ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางในช่วงนี้ ดูจากสถานการณ์แล้วฝ่ายบริหารการบินไทยประเมินปี 2563 อาจขาดทุนสุทธิ 59,000 ล้านบาท

ปัญหา “การบินไทย” จึงมาถึงจุดที่ต้องผ่าตัดใหญ่ เพราะธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างหนัก ไม่มีรายได้เข้ามา (ประกาศล่าสุดต้องหยุดบินถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563) แต่มีค่าใช้จ่ายและหนี้ที่ต้องจ่าย การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (19 พฤษภาคม) จึงมีมติเห็นชอบให้การบินไทย ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย

มาถึงจุดที่ยังไงก็ต้องฟื้นฟู…เลือกจบที่ศาล

1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51.03% และเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ในการเสนอแผนฟื้นฟู จึงเป็นบทบาทของ คุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ในฐานะรองนายกฯ กำกับกระทรวงคมนาคม) ส่วนกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้น หรือแหล่งทุน ที่ต้องมาขออนุมัติใช้เงิน

2. ที่ผ่านมาแม้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยก่อนวิกฤติโควิด-19 จะเติบโตมาต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ธุรกิจของการบินไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น 3 ปีย้อนหลัง การบินไทย “ขาดทุน” มาต่อเนื่อง ปี 2560 ขาดทุน 2,107  ล้านบาท  ปี 2561 ขาดทุน  11,625  ล้านบาท  และปี 2562  ขาดทุน 12,042  ล้านบาท  

3. ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562  การบินไทย มีทรัพย์สิน 256,665 ล้านบาท และมีหนี้สินสะสม 244,899 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีหนี้สินหมุนเวียน (หนี้ครบกำหนดจ่ายคืนภายใน  1 ปี นับจากวันกู้) จำนวน 62,636  ล้านบาท ส่วนหนี้ระยะยาว รวม 143,852 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ 74,108  ล้านบาท หนี้ตามสัญญาเช่าเครื่องบิน 46,456  ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาว 23,288  ล้านบาท  ที่สำคัญคือ มีหนี้ถึงกำหนดจ่ายปีนี้ราว 40,000 ล้านบาท  ด้วยตัวเลขนี้ “การบินไทย”จึงกลายเป็นคนป่วย ICU ที่ต้องรักษาด่วน!

4. ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมีการประชุมของ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาการบินไทย มี 2 แนวทาง คือ การฟื้นฟูกิจการเอง (ไม่มีบทบังคับทางกฎหมาย) โดยคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยเสนอแผน 5 ปี  (ปี 2563-2567) หากเป็นแนวทาง การบินไทยต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง 54,000 ล้านบาท โดยกระทรวงคลังต้องค้ำประกันหนี้ จากนั้นต้องเพิ่มทุนอีก 80,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจต่อ แต่แผนนี้เป็นอันตกไป เพราะ Action Plan หารายได้ไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะฟื้นกิจการได้อย่างไร หากใส่เงินเข้าไปอีกจึงมีความเสี่ยงหากไปไม่รอด เพราะกระทรวงคลังเป็นผู้ค้ำประกัน หากต้องใช้หนี้แทนก็มาจากภาษีประชาชน

5. วันนี้ชัดเจนแล้ว การบินไทย ต้องฟื้นฟูด้วยแนวทางยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย  และต้องยื่นศาลสหรัฐอเมริกา ขอฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย บทที่ 11 หรือ Chapter 11  คู่ขนานไปด้วย เพราะไม่เช่นนั้นช่วงที่ฟื้นฟูกิจการ และให้บริการเส้นทางการบินในต่างประเทศ อาจถูกยึดเครื่องบินได้  ดังนั้นต้องดูแลและเจรจากับเจ้าหนี้รายใหญ่กลุ่มลิสซิ่งเครื่องบินด้วย

“ฟื้นฟูกิจการ” ไม่ใช่ “ล้มละลาย”  

การยื่นศาลล้มละลาย เพื่อฟื้นฟูกิจการของการบินไทย  “ไม่ใช่” การล้มละลาย ขายทรัพย์สินใช้เจ้าหนี้ ซึ่งยังมีความเข้าใจสับสนกันอยู่  กรณีนี้เป็นการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการตกลงกันของลูกหนี้และเจ้าหนี้ เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ  ทั้งภาระหนี้และดอกเบี้ยจะถูกหยุดไว้ก่อน และเจ้าหนี้ไม่สามารถฟ้องร้องคดีให้จ่ายหนี้ได้ เพื่อให้โอกาสลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการและหารายได้มาจ่ายเจ้าหนี้ตามแผนที่ตกลงกัน

คุณรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า “การฟื้นฟูกิจการ” (Reorganization) ตามกฎหมายล้มละลาย “ไม่ใช่” การล้มละลายหรือการที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์

แต่เป็นการฟื้นฟูกิจการ เช่นเดียวกับ  Chapter 11 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายล้มละลาย ดังนั้นการฟื้นฟูกิจการกับการล้มละลาย เป็นถนนคนละเส้นคนละสาย อย่างแน่นอน

การฟื้นฟูกิจการ ถือเป็นการรักษาให้กิจการยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ หรือพูดง่าย ๆ ว่า ผู้ยื่นขอให้มีการฟื้นฟูกิจการต้องการรักษาความเป็นกิจการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง (going concern) จะเปิดโอกาสให้มีการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งเจ้าหนี้ภายในและต่างประเทศ และที่ขาดไม่ได้คือ จะเปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาจมีผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกบริษัทมาร่วมดำเนินการ

ขณะที่ การล้มละลายหรือการถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น จะไม่ได้เป็นการทำให้ธุรกิจดำเนินการได้ต่อเนื่อง แต่เป็นการมุ่งไปสู่กระบวนการค้นหาและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อนำมาแบ่งให้กับเจ้าหนี้ โดยการยึดหรืออายัดและนำมาขายทอดตลาด และในขณะที่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี จะเป็นผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้

การบริหารหลังศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ

จุดนี้ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการฟื้นฟูกิจการ คือ เมื่อศาลสั่งรับคำขอฟื้นฟูกิจการ สภาวะการพักการชำระหนี้หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า automatic stay เกิดขึ้นทันทีนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้เพื่อพิจารณาจนถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน

การพักการชำระหนี้ ถือเป็นประโยชน์กับลูกหนี้และเป็นจุดแข็ง เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการไปต่อได้และดูแลสภาพคล่อง (liquidity) ของธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้หรือถูกฟ้องร้อง

เมื่ออยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ หน้าที่ของลูกหนี้ กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จำเป็นของธุรกิจเท่านั้น เพื่อดำเนินการค้าตามปกติต่อไปได้

ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน คือใคร?

ขั้นตอนการฟื้นฟู จะมีการแต่งตั้ง “ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผน” ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและบริหารกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

ผู้ทำแผน หมายถึง ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ โดยจะเป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งตั้งเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ให้อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ และสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของลูกหนี้

ในการเสนอผู้ทำแผน กฎหมายกำหนดให้ทั้งลูกหนี้หรือเจ้าหนี้สามารถเสนอผู้ทำแผนได้ ซึ่งหากศาลเห็นว่าผู้ที่เสนอเป็นผู้ทำแผนยังไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน หรือมีการคัดค้าน ศาลจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้ได้ลงมติในการเลือกผู้ทำแผน

ผู้บริหารแผน หมายถึงผู้จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ กฎหมายให้สิทธิและอำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนโอนไปยังผู้บริหารแผน ตั้งแต่วันที่ผู้บริหารแผนได้รับทราบคำสั่งศาลที่เห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการที่เป็นความตกลงระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เป็นแผนฟื้นฟูกิจการที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผน และศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว

โดยกฎหมายกำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการมีรายละเอียดต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ ประกอบด้วย ขั้นตอนของการฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ การลดทุนและเพิ่มทุน การก่อหนี้และระดมเงินทุน แหล่งเงินทุนและเงื่อนไขแห่งหนี้สินและเงินทุน การจัดการและการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของลูกหนี้ และเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นใด รวมทั้งแนวทางแก้ปัญหาในกรณีขาดสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างการปฏิบัติตามแผน

ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูกิจการ

การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เป็น win – win ทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ถือหุ้น รวมทั้งสังคมด้วย เพราะยังสามารถรักษากิจการให้ดำเนินการได้ตามปกติอย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงต่อการถูกเลิกกิจการ และการถูกฟ้องล้มละลาย ช่วยรักษาการจ้างงาน และที่สำคัญ การฟื้นฟูกิจการจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้มากกว่าการล้มละลาย

นอกจากนี้ การฟื้นฟูกิจการจะเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจปรับโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงาน และแผนการดำเนินธุรกิจด้วย

“การเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการเปรียบเสมือนคนไข้ที่มีอาการป่วยเข้ารับการรักษาตัวเพื่อดูแลรักษาให้หายจากการเจ็บป่วย ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เมื่อคนไข้หายป่วยและมีร่างกายแข็งแรงก็ทำอะไรได้ตามปกติ”

ที่ผ่านมา มีบริษัทหลายบริษัทที่เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเมื่อการฟื้นฟูกิจการสำเร็จ ก็กลับมาเป็นบริษัทที่มีความเข้มแข็งและมีการเติบโต เปรียบได้กับ “ฟ้าหลังฝน” นั่นเอง

ในธุรกิจสายการบิน มีกรณีของ Japan Airlines (JAL) สายการบินแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2553 ก็ต้องยื่นล้มละลาย เพื่อขอฟื้นฟูกิจการจากปัญหาหนี้สินเช่นกัน และในที่สุดก็สามารถกลับมายืนได้อีกครั้ง กระบวนการฟื้นฟูกิจการ “การบินไทย” องค์กรธุรกิจ 60 ปี เป็นสายการบินแห่งชาติที่มีชื่อเสียง ยังมีโอกาสฟื้นได้ จากศักยภาพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ยังไปได้อีกไกล

Photo Credit : facebook ThaiAirways

เส้นทาง “การบินไทย” องค์กร 60 ปี ที่ต้องนับหนึ่งอีกครั้ง

  • ปี 2503 รัฐบาลไทย ได้จัดตั้ง บริษัท การบินไทย  จำกัด เพื่อให้ประเทศไทยมีสายการบินแห่งชาติ  โดยร่วมทุนระหว่าง บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด กับสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์  ซิสเต็ม วันที่ 29 มีนาคม 2503  จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทการบินไทย จำกัด ด้วยทุนแรกเริ่ม 2 ล้านบาท มีบริษัทเดินอากาศไทย จำกัด ถือหุ้น 70% และสายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ ถือหุ้น 30% ซึ่งต่อมาได้โอนหุ้นทั้งหมดให้ บริษัทเดินอากาศไทย ในวันที่ 30 มีนาคม 2520 ทำให้การร่วมทุนสิ้นสุดลง
  • วันที่ 1 เมษายน 2531 รัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รวมกิจการการบินภายในประเทศ ที่บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ให้บริการ เข้ากับกิจการของการบินไทย ทำให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 2,230 ล้านบาท  โดยกระทรวงคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
  • วันที่ 19 กรกฎาคม 2534  การบินไทย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยแปลงกำไรสะสมเป็นทุนจดทะเบียน เพิ่มเป็น 13,000 ล้านบาท  ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562  การบินไทยมีทุนจดทะเบียน 26,989 ล้านบาท  ทุนชำระแล้ว 21,827 ล้านบาท
  • สถานะของการบินไทย มีกระทรวงการคลังและธนาคารออมสิน ถือหุ้นใหญ่รวมกัน 53.16% เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคมนาคม
  • วันที่ 17 ตุลาคม 2556 การบินไทย ได้จัดตั้ง บริษัทไทยสมายล์ แอร์เวย์ จำกัด  ด้วยทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท  เริ่มทำการบินตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2557  เส้นทางในประเทศรวม 10 เส้นทาง  ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2557 เพิ่มเส้นทางระหว่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน จีน ไต้หวัน และอินเดีย
  • ณ วันที่  31 ธันวาคม 2562 การบินไทยและไทยสมายล์  มี จำนวนเครื่องบิน 103 ลำ  แบ่งเป็น เครื่องบินระยะไกลเส้นทางข้ามทวีป 48 ลำ ระยะกลางเส้นทางภูมิภาค 35 ลำ และระยะใกล้ 20 ลำ
  • เส้นทางบินในประเทศ การบินไทยและไทยสมายล์  มีเครือข่ายเส้นทางบินครอบคลุม 82 จุดบิน ใน 31 ประเทศทั่วโลก มี 10 จุดบินในประเทศ การบินไทยมีจุดบินจากกรุงเทพฯ ด้วยความถี่ 108  เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ไทยสมายล์ ความถี่ 247 เที่ยวต่อสัปดาห์
  • เส้นทางบินต่างประเทศ  การบินไทยทำการบินระหว่างประเทศ 775 เที่ยวต่อสัปดาห์  แบ่งเป็นเส้นทางหลักภูมิภาคเอเชีย 634 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  ไปยัง 54 จุดบิน ใน 18 ประเทศ และเส้นทางข้ามทวีป 141 เที่ยวบินต่อสัปดาห์  ไปยัง 18 จุดบิน ใน 13 ประเทศ
  • ปี 2562 การบินไทยและไทยสมายล์ ขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศทั้งสิ้น 6.3 ล้านคน ลดลง 0.7%  คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 16.8% จากจำนวนทั้งหมด 37.3 ล้านคน จาก 18 สายการบิน โดยขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ 17.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.4% เป็นผู้นำตลาดมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด 21.2% จาก 82.9 ล้านคน  อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) 79.1%
  • วันที่ 19 พฤษภาคม 2563  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ “เห็นชอบ” ให้การบินไทย ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยให้พ้นจากการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” แต่งตั้งมืออาชีพเข้ามาบริหารแผน แก้ปัญหาหนี้กว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่แข็งแกร่งอีกครั้ง


แชร์ :

You may also like