HomeBrand Move !!ถอดรหัส “ไทยเบฟ” บริหารพนักงาน 63,000 คนอย่างไร ให้เป็นผู้นำในอาเซียน 

ถอดรหัส “ไทยเบฟ” บริหารพนักงาน 63,000 คนอย่างไร ให้เป็นผู้นำในอาเซียน 

แชร์ :

หลังจากกลุ่มไทยเบฟประกาศถึงความพร้อมในการขับเคลื่อน Business Plan ครั้งใหม่ “Vision 2025” ที่จะเริ่มต้นนับจากปีงบประมาณ 2020 (1 ต.ค.2019 – 30 ก.ย.2020) นอกจากยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจที่ต้องการเป็นผู้นำธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในอาเซียนแล้ว “ไทยเบฟ” ยังกำหนดแผนพัฒนาบุคลากรกว่า 63,000 คนในระยะยาวไปจนถึงปี 2050  ด้วยเชื่อว่าบุคลากรเป็นทุนสำคัญที่ยิ่งลงทุนยิ่งสร้างการเติบโต

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ด้านธุรกิจผู้นำเครื่องดื่ม 5 ประเทศอาเซียน 

ภายใต้ Vision 2020  ที่เดินหน้าเข้าสู่ช่วงปีสุดท้าย ภายใต้การนำของ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเบียร์ ทำให้กลุ่มไทยเบฟ สามารถปักธงเป็นผู้นำในตลาดอาเซียนได้สำเร็จ  ครองมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเครื่องดื่มสูงสุดใน 5 ประเทศอาเซียน เริ่มตั้งแต่ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมาร์ และเวียดนาม

จากการเข้าซื้อกิจการใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์  ซื้อบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ (F&N) มาเลเซีย ซื้อกิจการบริษัท เฟรเซอร์แอนด์นีฟ เบอร์ฮาร์ด ส่วนในเมียนมาร์ ได้ซื้อกิจการบริษัท Myanmar Distillery หรือสุราแบรนด์ Grand Royal และเวียดนาม ซื้อบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น (ซาเบโก) หรือที่เรียกกันว่า เบียร์ไซ่ง่อน ผู้ผลิตเบียร์อันดับ 1 ของเวียดนาม

พร้อมทั้งการมองโอกาสในการขยายตลาดไปเป็นอาเซียน+6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ทำให้ไทยเบฟต้อง Transformation หลายด้าน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึง บุคลากรซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ 

เรื่องของคน” ต้องมองยาว 30 ปี

ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

จากคีย์เวิร์ด อาเซียน ของไทยเบฟ ภายใต้ Vision 2020 ที่สามารถยึดตำแหน่ง “ผู้นำ” ตลาดเครื่องดื่มได้แล้วใน 5 ประเทศ และกำลังจะก้าวต่อไปด้วย Vision 2025  ฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนธุรกิจ คือ “บุคลากร” 

ดร.เอกพล สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัจจุบันกลุ่มไทยเบฟ มีพนักงานกว่า 63,000 คน แบ่งเป็น บุคลากรไทย 48,000-49,000 คน ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติ  จากการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจเครื่องดื่มและการลงทุนธุรกิจอาหาร ทำให้จำนวนบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แบ่ง ออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจูเนียร์ที่เรียกว่า Spring หรือ Stream ระดับกลาง River และกลุ่มผู้บริหารระดับสูง Ocean ซึ่งในกลุ่มนี้มีสัดส่วนผู้บริหารชาวอาเซียน 25% 

การประกาศวิสัยทัศน์ล่าสุดของ คุณฐาปน ได้ย้ำว่าหากเป็นเรื่องธุรกิจไทยเบฟวางแผนครั้งละ 5 ปี  ต่อไปคือ Vision 2025 แต่ถ้าหากเป็นเรื่องคน ขอมองยาวไปถึงปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า นับระยะเวลาตั้งแต่พนักงานจบการศึกษาและทำงานกับไทยเบฟตั้งแต่วันแรกจนถึงวัยเกษียณ!

จึงได้เตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรตามแผนที่เรียกว่า “Human Capital” โดยมองว่าทรัพยากรบุคคลถือเป็นทุนที่ยิ่งลงทุนยิ่งเติบโต แนวทางการพัฒนาคนยึด “คุณค่าหลัก” หรือ  ThaiBev Global Values สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไทยเบฟ 3 ประการ ได้แก่ Collaboration การร่วมกันผสานพลัง, Creating Values การสร้างสรรค์คุณค่า และ Caring for Stakeholders การเอาใจใส่ต่อผู้เกี่ยวข้อง 

หลักคิดของ ThaiBev Global Values เกิดจากการประชุมของผู้บริหารกว่า 300 คน จนได้เป็น 3 คุณค่าหลักซึ่งเป็นเสมือนเข็มทิศนำทางในการทำธุรกิจของไทยเบฟ โดยถอดรหัสมาจากความสำเร็จของท่านประธาน เจริญ สิริวัฒนภักดี และคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี จากการที่ไทยเบฟมีพันธมิตรที่ดี ความสามารถในการสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา รวมถึงการใส่ใจผู้เกี่ยวข้องเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ

ตั้ง “WARM TEAM” เพิ่มแรงจูงใจทำงาน 

เป้าหมายการบ่มเพาะศักยภาพบุคลากรของไทยเบฟ เพื่อสร้าง WAR TEAM ประกอบด้วย W-Willing มีความตั้งใจ มุ่งมั่นในการทำงาน ยึดความสำเร็จมาสู่องค์กรเป็นตัวตั้ง, A-Able ability พนักงานมีความรู้ความสามารถ เรียนรู้งานได้ และ R-Readiness ความพร้อมในการทำงานในตลาดต่างประเทศ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปใน Vision 2025 ได้เพิ่มอีกหนึ่งคุณสมบัติใหม่เข้ามา M-Motivated แรงจูงใจ กลายเป็น “WARM TEAM” แทน

“ต้องยอมว่ามีพนักงานที่คุ้นชินกับการอยู่อาศัยในประเทศไทย เพราะเป็น Comfort Zone สิ่งสำคัญที่ไทยเบฟต้องทำคือการแปลงวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นอาเซียน เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าไปทำงานในต่างประเทศ แต่เป็นการทำงานที่เปรียบเสหมือนบ้านในอาเซียน”

ต้อง Upskill และ Reskill ตลอดเวลา

สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ของการบริหารบุคลากร Vision 2025  มาจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ทำให้ Skill ที่มีอยู่อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป การ Upskill และ Reskill เป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้

“พนักงานกลุ่มเด็กจบใหม่ในวันนี้ มองไปอีก 30 ปีเขายังอยู่กับเรา แต่สภาพการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี จะเปลี่ยนแบบพลิกหน้ามือ จึงต้องเตรียมการให้พนักงาน Upskill ในเรื่องที่สามารถทำได้ดี ให้ทำได้เก่งยิ่งขึ้น และการ Reskill ไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด เพื่อให้พนักงานประสบความสำเร็จทั้งปัจจุบันยาวไปจนถึงปี 2050”

เปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับทุก Gen

ปัจจุบันพนักงานของไทยเบฟมีอายุเฉลี่ย 30 ปี การอ้าแขนรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานมากขึ้น ทำให้โครงสร้างองค์กรของไทยเบฟ, F&N และเสริมสุข มีพนักงานทุกวัยทั้ง Gen Y และ Gen Z รวมกัน 55-60% ส่วนโออิชิ มีสัดส่วนของ Gen Y และ Gen X รวมกัน 90% 

“จะเห็นว่าไทยเบฟมีความยูนีค เมื่อ 5 ปีก่อน ตอนที่ผมเข้ามาทำงานที่ไทยเบฟปีแรก Gen X เป็นผู้นำองค์กร และยังมีอิทธิพลของคนรุ่น Baby Boomers อยู่ แต่ก็ค่อยๆ ลดลง จากการที่ไทยเบฟให้ความสำคัญกับดูแลคนทุก Gen”

แต่เมื่อพูดถึงการทำงานร่วมกันก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วัฒนธรรมขององค์กรที่มีขับเคลื่อนด้วยแนวคิด 3C คือ Collaboration, Creating Values และ Caring for Stakeholders ทำให้ครอบครัวไทยเบฟค่อนข้างให้เกียรติกัน ทั้งผู้ใหญ่และการเปิดรับความคิดเห็นของรุ่นน้อง

มุ่งสู่องค์กรนวัตกรรม 

หากถามว่าวันนี้ กลุ่มไทยเบฟสามารถเติบโตได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือยัง ดร.เอกพล ตอบทันทีว่า ยังไม่ทัน แต่ไทยเบฟเป็นหนึ่งในองค์กรที่ปรับตัวเร็ว และมีความตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนให้ทัน สิ่งที่ไทยเบฟมองว่า ตามทันได้ยากคือ นวัตกรรม ที่มักมาจากองค์กรขนาดเล็ก ซึ่งการมีเทคโนโลยี In-House เป็นของตัวเองทั้งหมดแทบจะเป็นไปได้ยาก ดังนั้นในการทรานฟอร์มตัวเอง ไทยเบฟ จึงต้องเรียนรู้ที่จะจับมือกับพาร์ทเนอร์รายเล็กมากขึ้น

“ยุคนี้ดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนธุรกิจ ดิจิทัลจึงต้องหลอมรวมอยู่ใน Mindset และ Skill ของบุคลากรทุกระดับ เพราะไม่ว่าบริษัทจะมีเทคโนโลยีล้ำหน้าขนาดไหน แต่ถ้าคนไม่นำไปใช้ หรือใช้ได้ไม่ดีพอ ก็จะไม่เกิดประสิทธิผล ดังนั้น ไทยเบฟ จึงต้องทำทั้งสองขา ทั้งการวางรากฐานเรื่องของบุคลากร และเทคโนโลยีไปพร้อมกัน”

นอกจาก C asean ที่เป็นจุดเชื่อมโยงและตัวเร่งให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรโดยเร็วแล้ว ไทยเบฟยังมี Digital Academy เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองที่เปิดให้บุคลากรได้เข้ามาเรียนรู้ รวมถึงมีแพลตฟอร์ม Beverest ซึ่งเป็นระบบ Cloud System ที่ช่วยส่งเสริมและติดตามการพัฒนาบุคลากรทั้งกลุ่ม ซึ่งมี Beverest Connect และ Beverest Live ฟีเจอร์ช่วยเอื้อการทำงานอีกด้วย

รวมถึงให้ความสำคัญกับ Data Scientist และ AI ที่จะพัฒนานำระบบ Facial Recognition มาใช้ในการทำงาน ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกับพันธมิตรในระดับโลก เช่น IBM SAP โดยในช่วงที่ผ่านมาได้นำทีมผู้บริหาร 20 คนไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เวลาในการเรียนรู้และศึกษาเทคโนโลยีอย่างเต็มที่

ทั้งหมดนี่คือสิ่งที่ กลุ่มไทยเบฟ จัดวางไว้ในแผนระยะยาว 30 ปี เพื่อให้ภาพของการเป็นผู้นำกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารในระดับอาเซียนเกิดขึ้นชัดเจน  และบรรลุ Vision 2025  ที่ต้องการเป็น Best Employer ในระดับอาเซียน


แชร์ :

You may also like