HomeInsightบทวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ค่าใช้จ่ายต่อทริปลด สวนทางตัวเลขคนมาเที่ยวเพิ่ม หรือนักท่องเที่ยวไม่ค่อยใช้จ่ายในไทยแล้ว?

บทวิเคราะห์ Krungthai COMPASS ค่าใช้จ่ายต่อทริปลด สวนทางตัวเลขคนมาเที่ยวเพิ่ม หรือนักท่องเที่ยวไม่ค่อยใช้จ่ายในไทยแล้ว?

แชร์ :

การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการพยุง GDP ประเทศไทยไตรมาสล่าสุดที่ผ่านมา โดยตัวเลขรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 5.8% ขณะที่ในแง่จำนวนเพิ่มขึ้น 7.2% แต่ภายใต้ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น กลับพบว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปในรูปเงินบาทของนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับลดลง -1.3% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นการสะท้อนว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ค่อยใช้จ่ายในไทยแล้วหรือไม่ 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ใช้จ่ายต่อหัวลด ไม่ได้แปลว่านักท่องเที่ยวจ่ายน้อยลง

ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ และ คุณจารุวรรณ เหล่าสัมฤทธิ์ นักวิจัยจาก Krungthai COMPASS วิเคราะห์ผ่านงานวิจัย “คนต่างชาติเที่ยวไทยเพิ่ม แต่ใช้จ่ายต่อทริปลดลง…หรือนักท่องเที่ยวไม่ค่อยใช้จ่ายในไทยแล้ว?” โดยระบุว่า ค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง หากจะมองเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายในประเทศไทยลดน้อยลงก็อาจไม่ผิดนัก แต่หากจะฟันธงชัดเจนว่าเป็นสาเหตุหลักเลยก็คงจะไม่ถูกต้องทั้งหมดเช่นกัน เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้

โดยเฉพาะไตรมาส 3 ของปี 2019 ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น​ 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น แม้นักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายในสกุลเงินประเทศตัวเองเท่าเดิม แต่การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น ก็มีส่วนทำให้ประเทศมีรายได้ในรูปเงินบาทน้อยลง​ และเมื่อเทียบกับ​สถิติที่ผ่านมา จะพบว่าค่าเงินบาทมีความสัมพันธ์กับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปอยู่พอสมควร กล่าวคือ ถ้าค่าเงินบาทแข็งขึ้น การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในรูปเงินบาทก็มักจะลดลงด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อดูค่าใช้จ่ายต่อทริปในรูปของดอลลาร์ฯ จะพบว่าจริงๆ แล้วนักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้นด้วยซ้ำ โดยการใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปในรูปดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นถึง 5.95% เมื่อเทียบปีต่อปี สะท้อนว่านักท่องเที่ยวต่างชาติยังยินดีที่จะควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มขึ้น​ในการมาเที่ยวไทย เพียงแต่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้รายได้ที่แปลงกับมาเป็นเงินบาทน้อยลง แต่หากดู​​การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักจากจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ยังมีการใช้จ่ายต่อทริปผ่านดอลลาร์ฯ เพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งสะท้อนว่าการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวไม่ได้ตกลงแต่อย่างใด

กลุ่มจ่ายหนัก ลดจำนวนลง

สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่เดินทางเข้ามาในไทย ประกอบด้วย จีน มาเลเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ ลาว และญี่ปุ่น โดยนักท่องเที่ยวจาก 6 ประเทศนี้​ มีสัดส่วนเกือบ 60% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ​ส่วนประเทศที่เดินทางเข้ามาเติบโตเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ลาว เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แต่ส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายต่อทริปน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่คนละ 1,600 ดอลลาร์ฯ ​มีเพียงนักท่องเที่ยวจีนที่ยังเติบโตดีท้ังแง่ของจำนวนผู้เดินทางเข้ามา และมีค่าใช้จ่ายต่อทริป 1,700 ดอลลาร์ฯ เหนือกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ขณะที่นักท่องเที่ยวจากอินเดีย ลาว เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายต่อทริปไม่สูง​​และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั้งสิ้น

ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายต่อทริปสูงก็มาเที่ยวไทยลดลง โดยประเทศที่มาไทยลดลงมากที่สุด 5 กลุ่ม​ คือกลุ่มประเทศจากยุโรป ตะวันออกกลาง กัมพูชา ออสเตรเลีย และฮ่องกง โดยพบว่า สาเหตุของการมาเที่ยวไทยน้อยลง มาจากปัจจัยในประเทศมากกว่าแค่เรื่องค่าเงินเพียงอย่างเดียว โดยนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงกว่าค่าเฉลี่ยมากที่ประมาณ 2,600 และ 2,300 ดอลลาร์ฯ ต่อคนต่อทริป ตามลำดับ

“จากตัวเลขอาจกล่าวได้ว่า แม้การแข็งค่าขึ้นของบาทจะทำให้การใช้จ่ายต่อทริปในรูปเงินบาทของนักท่องเที่ยวลดลง แต่จากการที่นักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงต่อทริปมาไทยน้อยลง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่กดดันการเติบโตของยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยโดยรวมอยู่ ประกอบกับนักท่องเที่ยวบางชาติ ที่แม้จะมีการใช้จ่ายต่อทริปสูง แต่ก็มาจากการอยู่ในไทยเป็นเวลาที่นาน เช่น นักท่องเที่ยวยุโรปมักพำนักในไทยนานถึง 17 วัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อทริปที่สูง แต่หากคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายต่อวันจะอยู่ที่ 4,200 บาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าใช้จ่ายต่อวันเฉลี่ยที่มีค่าเกือบ 5,300 บาทต่อวันอย่างมาก”​

ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเอเชียหลายๆ ชาติที่เข้ามาไทยเป็นจำนวนมาก แม้จะใช้จ่ายต่อทริปไม่สูง แต่เมื่อดูค่าใช้จ่ายเป็นรายวันจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาก โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่มีภาพลักษณ์เป็นนักช้อปตัวยง มีค่าใช้จ่ายต่อวันถึง 6,800 บาทต่อวัน อินเดีย 6,200 บาทต่อวัน เกาหลีใต้​ 5,800 บาทต่อวัน เป็นต้น ส่วนกลุ่มประเทศจากตะวันออกกลาง ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายต่อทริปที่สูงที่สุดและสูงกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก พบว่า การที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาไทยลดลง เนื่องจาก ปัญหาราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้น สาเหตุหลักที่ทำให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายต่อทริปของนักท่องเที่ยวลดลงในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญมาจากเรื่องเงินบาทแข็งค่า​เป็นหลัก ขณะที่นักท่องเที่ยวเองยังใช้จ่าย​เพิ่มขึ้นอยู่ ส่วนธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์ในช่วงนี้เป็นกลุ่มที่เน้นการขายสินค้าให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะสินค้า Wish list ของคนจีน เนื่องจากยังเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายต่อวันสูง​และเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ประเด็นที่ยังต้องให้ความสนใจต่อไป​คือ แนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออกกลางที่มาไทยลดลงเช่นนี้ จะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหน และธุรกิจโรงแรมตลอดจนธุรกิจโรงพยาบาลที่มีรายได้จากผู้พัก​ long stay และผู้เข้ามารักษาตัวในไทยจำนวนไม่น้อย จะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใดในปี 2020 ที่จะถึงนี้

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand 


แชร์ :

You may also like