HomeDigitalจับตา 3 เทรนด์เด่นธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน พร้อมคาดมูลค่าทะลุ 3.1 ล้านล้านบาท ในปี 2025

จับตา 3 เทรนด์เด่นธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน พร้อมคาดมูลค่าทะลุ 3.1 ล้านล้านบาท ในปี 2025

แชร์ :

Sea (Group) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อาทิ การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และ แอร์เพย์ (AirPay) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน ชี้เทรนด์อีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่น่าจับตามองในปี 2562 พร้อมคาดการณ์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นธุรกิจดาวเด่น และคาดว่าจะสามารถทำยอดขายได้มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2025

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ดร.สันติธาร เสถียรไทย Group Chief Economist Sea (Group) กล่าวว่า ปี 2561 ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ดีของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซท่ีแนวโน้มการเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองในมุมบวกว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียนน่าจะยังเติบโตได้อย่างแข็งแรงต่อในปี 2562 สวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจโลก ที่หลากหลายมุมมองจากนักเศรษฐศาสตร์สำนักต่างๆ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงในปีนี้ จากปัจจัยต่างๆ  เช่น สงครามการค้าระหว่างประเทศ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ขณะที่รายงานจากกูเกิ้ล (Google) และเทมาเส็ก (Temasek) ระบุว่า อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 62% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้ยอดขายทั้งหมด (GMV) มีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.1ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025  จากปัจจัยบวกที่เกื้อหนุน ทั้งการที่ผู้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นผ่านทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟน การลงทุนจากภาคเอกชนและรัฐเพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์ของอีคอมเมิร์ซ

บวกกับการที่ยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีสัดส่วนอยู่เพียง 3-5% ของยอดขายจากการค้าปลีกทั้งหมด นับว่ายังมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับประเทศจีนและสหรัฐอเมริกาที่สัดส่วนยอดขายอีคอมเมิร์ซสูงถึง 20% และ 10% ตามลำดับ ทำให้ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก

แต่หากมองเจาะลึกลงไปอีกขั้นจะพบว่า สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ “รูปแบบ” ของการขยายตัวและการพัฒนาของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมอย่างมหาศาลเช่นกัน

โดยมี 3 เทรนด์ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย

1. ปรากฎการณ์ ‘Experiential ecommerce’ หรือ การที่อีคอมเมิร์ซกลายเป็นเรื่องของคนซื้อ ประสบการณ์ไม่ใช่แค่ซื้อของ – คล้ายกับการไปห้างสรรพสินค้า

ซึ่งในปัจจุบันความต้องการของผู้ใช้อีคอมเมิร์ซไม่หยุดอยู่เพียงแค่การซื้อสินค้าที่ตนเองต้องการ แต่ยังชอบที่จะค้นพบสินค้าใหม่ที่ตนไม่เคยรู้จักมาก่อน มองหาความเพลิดเพลินจากการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และพอใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับเพื่อนและผู้คนในแวดวงของตนเองอีกด้วย ผู้บริโภคอาจเข้าแอปพลิเคชันโดยที่ยังไม่มีสินค้าที่อยากซื้ออยู่ในใจ แต่เข้ามาเพื่อมองหาสินค้าและข้อเสนอที่น่าสนใจจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและสอบถามข้อมูลจากผู้ขายเมื่อพบสินค้าที่ตนเองสนใจ

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) บวกกับบิ๊กดาต้า เพื่อให้รู้จักผู้บริโภคและสามารถปรับสินค้าแนะนำที่แต่ละคนจะเห็นจึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังเข้าแอปพลิเคชันมาเพื่อเล่นมินิเกม เช่น เกมตอบคำถามแบบในเกมโชว์ ที่ดำเนินรายการโดยดาราที่เราคุ้นเคย เพื่อชิงรางวัลได้เป็นส่วนลดไปใช้ในการช้อปปิ้งต่อได้ ที่สำคัญผู้เล่นยังสามารถเข้าไปเล่นร่วมกับเพื่อนไปพร้อมๆกัน เป็นกิจกรรมไม่ได้ทำคนเดียวแต่มีมิติของสังคมผสมเข้าไปด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพรมแดนระหว่างการช้อปปิ้ง แวดวงสังคม และความบันเทิงจางหายไป ทำให้ตัวชี้วัดความสำเร็จของอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ปัจจัยที่เมื่อก่อนนักวิเคราะห์อาจไม่สนใจเช่น “ระยะเวลา” ที่ผู้คนใช้บนแอปพลิเคชันก็ได้กลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

2. อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มกลายเป็น เพื่อนคู่คิดภาคดิจิทัล” สำหรับผู้ขายออฟไลน์ 

เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กำลังได้รับบทบาทใหม่ทางธุรกิจ ที่มากกว่าแค่ ‘ช่องทางจำหน่ายออนไลน์’ แต่ได้กลายเป็นเพื่อนคู่คิดของแบรนด์ออฟไลน์ต่างๆ โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ดาต้า คาดการณ์ความต้องการผู้บริโภค ช่วยนำเสนอแนวทางการโฆษณาและทำการตลาด โปรโมชั่น รวมไปถึงแก้ปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ การชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นอีกด้วย

แม้ผู้ค้าปลีกต่างๆจะเห็นความสำคัญของตลาดออนไลน์มานานแล้วสิ่งที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนก็คือ ร้านและแบรนด์ออฟไลน์ทุกเจ้าไม่จำเป็นต้องเปิดและลงทุนเงินมหาศาลในการสร้างร้านออนไลน์ของตนเองจากศูนย์เพราะสามารถหันมาจับมือใช้บริการของอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี้ได้

เทรนด์นี้ได้เกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงที่ผ่านมาแบรนด์ที่ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ อาทิ ‘Miniso’ ในสิงค์โปร ‘Nestle’ ในมาเลเชีย และ ‘Big C’ ในประเทศไทย ได้เปิดร้านในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อพัฒนาบริการให้ผู้บริโภค

3. อีคอมเมิร์ซ เปิดประตูสู่ผู้บริโภคและผู้ขายใหม่ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสามารถช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ กลุ่ม micro-entrepreneurs และ SME สามารถเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ได้กำจัดพื้นที่อยู่แค่ตลาดท้องถิ่นที่ผู้ประกอบการรายย่อยนั้นดำเนินการอยู่ อีกทั้งยังสร้างโอกาสให้กับแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ให้เข้าถึงกลุ่มตลาดใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ตลาดหลักดั้งเดิมของแบรนด์นั้นๆ อีกด้วย

ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของช้อปปี้ (Shopee) ได้ทำงานร่วมกับธุรกิจจำหน่าย ‘ปลาร้า’ แห่งหนึ่งซึ่งปกติจะพบข้อกำจัดด้านการจัดส่งและการเข้าถึงลูกค้า หลังจากได้เปิดช่องทางออนไลน์ SME รายนี้สามารถเพิ่มยอดขายได้ถึง 2 เท่าในเวลา 3 เดือน จนสุดท้ายติดลมบนพัฒนาจนกลายเป็นผู้ส่งออกไปต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์

แต่ความสำเร็จเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะยังมี SME จำนวนมากที่ไม่คุ้นกับการใช้อีคอมเมิร์ซ โดยการศึกษาของ Bain & Company ชี้ให้เห็นว่าแม้วิสาหกิจขนาดย่อมส่วนใหญ่ของไทยเห็นประโยชน์ของการขายออนไลน์มีไม่ถึง 50% ที่ได้ทำจริง การร่วมมือกันระหว่างอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มและรัฐบาลในการจัดคอร์สอบรมเพื่อช่วยให้ร้านค้าเหล่านี้ใช้อีคอมเมิร์ซได้เต็มที่อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

สุดท้ายไม่ใช่เพียงฝั่งผู้ขายเท่านั้นที่จะเชื่อมเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคที่อาจอยู่ในถิ่นที่ไม่ค่อยมีร้านค้าปลีกให้เลือกมากนักก็สามารถใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อให้ได้สินค้าโดยเฉพาะของจำเป็นที่ต้องการได้ โดยข้อมูลของช้อปปี้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองหลวง ได้กลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสำคัญมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“กล่าวโดยสรุปคือ อีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยเปรียบเสมือนยังอยู่ใน “วัยเยาว์” ที่ไม่เพียงเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่มีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการอยู่ตลอด ต้องลองมาจับตาดูว่าเทรนด์ที่น่าจับตาในปี 2562 ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงอยู่ในช่วงตลาด ‘Sunrise’ และมีการเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างต่อเนื่องนี้จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ ในภาพกว้าง รวมทั้งเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอย่างไรบ้าง” ​

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like