HomeBRAND HERITAGEย้อนตำนาน 10 เรื่องของ “ดุสิตธานี” ในวันที่โบกมือลา 5 มกราคม 2562

ย้อนตำนาน 10 เรื่องของ “ดุสิตธานี” ในวันที่โบกมือลา 5 มกราคม 2562

แชร์ :

วันนี้ (5 มกราคม 2562) โรงแรมดุสิตธานี(Dusit Thani) มีกำหนดปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเวลา 14.00 น. หลังจากประกาศแผนปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม หรือมิกซ์-ยูส (Mixed-Use Development) โรงแรมระดับ 5 ดาว ยุคแรกๆ ของประเทศไทยแห่งนี้ กลายเป็นตำนานที่มีเรื่องเล่าขานมากมาย และนี่คือ 10 เรื่องในความทรงจำ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. โรงแรมดุสิตธานี ก่อตั้งโดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เริ่มต้นดำเนินกิจการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 เป็นอาคารทรงสามเหลี่ยม 22 ชั้น หลังจากทำโรงแรมปริ๊นเซสมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สถานที่คับแคบเกินไป ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ที่อยากดำเนินธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีบริการต่างๆ ครบถ้วน รวมทั้งเศรษฐกิจของกรุงเทพฯในตอนนั้นก็กำลังขยาย “สีลม” จึงกลายเป็นย่านธุรกิจที่น่าจับตามอง เพื่อต่อเติมความฝันของตัวเองให้สุด ท่านผู้หญิงถึงกับต้องขายโรงแรมปริ๊นเซสเพื่อนำเงินมาลงทุนก่อสร้างโรงแรมมดุสิตในปีพ.ศ. 2509 ก่อนที่ในเวลาต่อมาเมื่อธุรกิจโรงแรมในเครือดุสิตเข้มแข็งแล้ว ครอบครัวของท่านผู้หญิงก็รื้อฟื้นแบรนด์ “ปริ๊นเซส” ขึ้นมาอีกครั้ง

2.  เดิมพื้นที่แห่งนี้ในอดีต คือ บ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ในวันเปิดโรงแรมดุสิตธานี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยเสด็จด้วย

3. บุคคลสำคัญระดับโลกที่เคยเข้าพักที่โรงแรมแห่งนี้ มีทั้งเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ผู้นำประเทศ ศิลปิน นักร้อง นักธุรกิจ อาทิเช่น นายกรัฐมนตรีมากาเรต แทชเชอร์ ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน หรือแม้แต่ วิทนี่ย์ ฮูสตัน เฉินหลง กระทั่งนักร้องวัยรุ่นอย่าง ดงบังชินกิ Got7 ก็เคยใช้บริการที่นี่มาแล้ว รวมทั้งใช้เป็นที่พักเก็บตัวมิสยูนิเวิร์สครั้งล่าสุดที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ

4. โรงแรมดุสิตธานี ออกแบบโดย Yozo Shibata ท่านผู้หญิงชนัตถ์ พบเขาที่โตเกียว โดยประทับใจผลงานการออกแบบ Hotel Okura ที่เขาเป็นหนึ่งในทีมงาน รวมทั้งประสบการณ์การออกแบบ New Otani Hotel โรงแรมสูง 17 ชั้น ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในญี่ปุ่นขณะนั้น และเมื่อโรงแรมดุสิตธานีสร้างเสร็จก็กลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทยในเวลานั้นเช่นกัน

5. พื้นที่ไฮไลต์ของโรงแรมแห่งนี้ เช่น “ห้องนภาลัย บอลรูม” ห้องจัดเลี้ยงที่หรูหรา ถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน หรืองานประชุมสำคัญๆ “บับเบิ้ล” ดิสโก้ เธค ที่เก๋กู๊ดที่สุดในยุคนั้น นักร้องดังๆ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น Diva ตัวแม่รุ่นใหญ่ ของวงการตอนนี้ ถ้าจะได้รับการยอมรับจริง ต้องการันตีด้วยการผ่านเวทีในดิสโก้ เธค แห่งนี้ และยังมี “ห้องอาหารเบญจรงค์” ร้านอาหารไทยที่นำเอาเมนูอาหารไทยที่ผ่านการคัดสรรค์แล้วมานำเสนออย่างพิถีพิถัน

6.นอกเหนือจากบริการต่างๆ ที่ “ดุสิตธานี” มีเพื่อรองรับลูกค้าแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็น “โรงเรียน” ที่หล่อหลอมวัฒนธรรมการทำงานในภาคบริการ จนกระทั่งเป็นต้นกำเนิดของ “วิทยาลัยดุสิตธานี” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2536 เพื่อสอนหลักสูตรการโรงแรม หลังจากนั้นได้ร่วมมือกับ “เลอ กอร์ดอง เบลอ” สถาบันสอนศิลปะการทำอาหารที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เปิดสอนการประกอบอาหาร มีทั้งหลักสูตรมืออาชีพ หลักสูตรระยะยาว- สั้น และเปิดสอนกับบุคคลทั่วไปที่สนใจศิลปะการทำอาหารด้วย

7.กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 1-5 ของประเทศไทยที่ยังคงดำเนินการอยู่ในตลาดหลักทรัพย์จนถึงปัจจุบัน คุณชนินทธ์ โทณวณิก ลูกชายคนโตของท่านผู้หญิง เล่าว่า เพราะว่าในตอนนั้นโปรเจ็กท์เช่นนี้นับว่าใช้เม็ดเงินลงทุนสูงมาก จึงอาศัยการระดมทุนจากเพื่อนฝูง ในวันที่ลงเสาเอกและประชุมผู้ถือหุ้น มีเพื่อนของท่านผู้หญิงนับร้อย เข้าร่วมประชุม ดังนั้น DTC จึงเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทแรกๆ ของไทย ตั้งแต่ปี 2518

8.ถึงแม้ว่าจะเป็นโรงแรมของ “คนไทย” ที่บริหารงานโดย “คนไทย” ระดับชั้นนำของประเทศ แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมและยุคสมัยเป็นโจทย์สำคัญสำหรับโรงแรมระดับ 5 – 6 ดาวในสมรภูมิการแข่งขันปัจจุบัน เมื่อโรงแรมในระดับเดียวกันมีพื้นที่ห้องราว 40 ตารางเมตรขึ้นไป แต่ที่ดุสิตธานีมีขนาดห้องเพียง 29-32 ตารางเมตรเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามตกแต่งหรือทุบห้องเพื่อขยายให้ใหญ่ขึ้น แต่ด้วยผังการก่อสร้างก็ไม่ได้เอื้ออำนวย ทางทีมผู้บริหารจึงต้อง “ตัดใจ” ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากแฟนๆ ทั้งไทยและเทศ ที่อยากจะเก็บความทรงจำของพวกเขาเอาไว้ แล้ว “ตัดสินใจ” เดินหน้า…

9. ปัจจุบัน เครือดุสิตธานี ถือหุ้นโดยครอบครัวของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ราว 49% ส่วนผู้ถือหุ้นอันดับ 2 คือกุล่มเซ็นทรัล ที่ 22% จึงเป็นที่มาของ ก้าวต่อไป “ดุสิตธานี” ที่ดินบริเวณหัวมุมถนนสีลมแห่งนี้ จะถูกพัฒนาเป็น Mixed-Use Development ซึ่งเป็นโปรเจ็กท์ร่วมกับ เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เป็นโครงการมูลค่า 3.67 หมื่นล้าน

10.  สำหรับแนวทางการออกแบบโครงการใหม่ ตามที่ คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC ได้เปิดเผยรายละเอียดของโครงการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 เอาไว้ว่า “ตั้งแต่ที่เราประกาศเรื่องโครงการนี้ไปเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว เราก็ได้รับเสียงตอบรับและความคิดเห็นที่เป็นบวกมากมายจากลูกค้า ในขณะเดียวกัน ลูกค้าเองก็แสดงออกถึงความเสียดายและยังสอบถามมาว่า เรามีแผนการที่จะนำเอกลักษณ์และความโดดเด่นของโรงแรมในปัจจุบันไปสู่โรงแรมแห่งใหม่ได้อย่างไร จุดนี้เองที่ทำให้เราตัดสินใจให้เวลากับการออกแบบโครงการให้มากขึ้น เนื่องจากเราต้องทำด้วยความรอบคอบ ใส่ใจ และพิถีพิถันในรายละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อให้การออกแบบโครงการนี้ตอบโจทย์ความต้องการทั้งด้านงานอนุรักษ์และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำพื้นที่สีเขียวรอบโครงการเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวของสวนลุมพินี  การเชื่อมจราจรทุกระนาบไม่ว่าจะเป็นใต้ดิน บนดิน หรือลอยฟ้า เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่นในย่านนี้”

การเก็บเอาเอกลักษณ์และความทรงจำของ “ดุสิตธานี” เอาไว้ ก็เช่น แผนการที่จะนำเอาเสาเอกหนัก 5 ตัน 2 ต้น รวมทั้งผนังปูนขนาดใหญ่ที่มีลวดลายจิตกรรมตกแต่งแสดงออกถึงความเป็นไทย ไปใช้ในโครงการใหม่ที่กำลังจะก่อสร้าง โดยโครงการนี้ จะประกอบไปด้วย อาคารที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า และแน่นอนว่า “โรงแรม” ซึ่งหมายถึง “โรงแรมดุสิตธานี” โฉมใหม่ นั่นเอง


แชร์ :

You may also like