HomeBrand Move !!จอใหญ่ + On Demand 2 ความฟีเวอร์ที่ดันตลาดทีวีโตสุดในรอบ 5 ปี

จอใหญ่ + On Demand 2 ความฟีเวอร์ที่ดันตลาดทีวีโตสุดในรอบ 5 ปี

แชร์ :

นับว่าอยู่ในจังหวะที่โอกาสหลายๆ อย่างในตลาดขณะนี้ล้วนเป็นใจให้ตลาดทีวีเติบโตได้สูงมากเป็นประวัติการณ์ในรอบ 4-5 ปีเลยทีเดียว หลายๆ คนเดาถูกว่าเป็นเพราะอยู่ในช่วงฤดูกาลแข่งขันบอลโลก ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญจริงๆ เพราะตัวเลขของตลาดทีวีหลังกลางเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นมา หรือว่าหลังจากฟุตบอลโลกเปิดฉาก ตลาดทีวีก็เติบโตได้แบบพุ่งพรวดมากถึง 25% ทีเดียว จากการเติบโตในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้จะเติบโตเฉลี่ยที่มากกว่า 10% เท่านั้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

และแม้ว่าฟุตบอลโลกจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดันการเติบโตของทีวีในปีนี้ แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่เหตุผลเดียวที่ทำให้ตลาดทีวีขยายตัวได้สูงมากขนาดนี้ เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่แล้วเมื่อราว 4 ปีก่อน ในปีนั้นตลาดทีวีก็เติบโตได้เพียงแค่มากกว่า 10% เท่านั้น

“โลกของจอใหญ่” ขับเคลื่อนตลาดทีวี 

คุณจักรกฤษณ์  กีรติโชคชัยกุล ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสบริหารสินค้า บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปีนี้ตลาดทีวีถือว่าเติบโตได้โดดเด่นมากที่สุดในรอบหลายปีจากหลายปัจจัยบวก โดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลโลกทำให้หลายคนอยากจะเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่ เพื่ออรรถรสในการรับชมเกมฟุตบอลที่มากขึ้น และสิ่งสะท้อนที่ชัดเจนคือ Growth Rate ของตลาดทีวีที่พุ่งขึ้นหลังจากเริ่มเปิดฉากฟุตบอลโลก จากที่เติบโตได้ราวๆ 10% จนถึงปัจจุบันการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 25% แล้ว จากมูลค่าตลาดรวมทีวีที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดทีวี โดยเฉพาะความนิยมของผู้บริโภคในการดูทีวีจอขนาดใหญ่มากขึ้น สังเกตุได้ทั้งจากสัดส่วนและการเติบโตของทีวีที่ขนาด 50 นิ้วขึ้นไป กลายเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ขับเคลื่อนตลาด โดยสัดส่วนทีวีที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 50 นิ้วขึ้นไป มีขนาดใหญ่เป็นครึ่งหนึ่งของตลาดแล้ว รวมทั้งเป็นกลุ่มที่ยังสามารถรักษาการเติบโตไว้ได้อยู่ โดยเฉพาะจอขนาดใหญ่เกิน 60 นิ้วขึ้นไป สามารถเติบโตได้มากกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว

ทั้งนี้ หากแยกสัดส่วนและการเติบโตของเซ็กเม้นต์ทีวีที่แบ่งตามขนาดของจอภาพ จะมีรายละเอียดดังนี้

ขนาดจอเล็กกว่า 32 นิ้วลงมา สัดส่วนในตลาด  20% ตลาดไม่เติบโตในเชิงมูลค่า

ขนาดจอ  40-50 นิ้ว สัดส่วนตลาด 30% ตลาดไม่เติบโตในเชิงมูลค่า

ขนาดจอ 50 นิ้วขึ้นไป สัดส่วนตลาด 40% ในเชิงมูลค่าเติบโตได้มากกว่า 40%

ขนาดจอ 60 นิ้วขึ้นไป สัดส่วนตลาด 10% ในเชิงมูลค่าเติบโตได้มากกว่า 100%

“หากพิจารณาเซ็กเม้นต์ทีวีในตลาดจะพบว่า การเติบโตส่วนใหญ่มาจากกลุ่มจอใหญ่เป็นหลัก ขณะที่จอต่ำกว่า 40 นิ้วลงมา อาจจะเติบโตในแง่จำนวนเครื่องที่ประมาณ 10% แต่ในเชิง Value ไม่มีการเติบโต ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเองเมื่อต้องการเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่ก็จะมองหาขนาดที่ใหญ่ขึ้น ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีจอภาพที่พัฒนามากขึ้นโดยเฉพาะเทคโนโลยี 4K ที่จะให้คุณภาพที่ดีกว่า Full HD ประกอบกับขนาดจอที่จะสามารถรองรับเทคโนโลยี 4K ได้อย่างมีประสิทธิภาพจะเริ่มต้นตั้งแต่จอขนาด 50 นิ้วขึ้นไป ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตัดสินใจขยับมาเลือกสินค้าในกลุ่มที่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ดีมากกว่า ทำให้เทคโนโลยี 4K ในตลาดทีวีเติบโตมาสู่ระดับที่เป็น Main Stream แล้ว เพราะขณะนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งของทีวีในตลาดปัจจุบันต่างใช้เทคโนโลยี 4K เป็นส่วนใหญ่ หลังจากเริ่มแนะนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาในตลาดประเทศไทยเมื่อราว 4-5 ปีที่แล้ว”  

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกในเรื่องของระดับราคาในตลาด ที่มักจะมีโปรโมชั่นต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ดีขึ้น โดยเฉพาะระดับราคาเฉลี่ยของทีวีที่มีจอภาพขนาด 50-60 นิ้วขึ้นไป ซึ่งราคาขยับลงมาจากเดิมถึง 30-50% เช่น จอขนาด 50-59 นิ้ว ที่มีราคาเฉลี่ย 2 หมื่นกว่าบาท จากเดิมมีราคามากกว่า 3 หมื่นบาท ขณะที่จอภาพขนาด 60 นิ้วขึ้นไป จะมีราคาเฉลี่ย 5-6 หมื่นบาท จากเดิมมีราคาประมาณ 8-9 หมื่นบาท ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ยังส่งผลให้ระยะเวลาในการเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่ หรือรอบในการซื้อเพื่อทดแทนเครื่องเดิมเร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย โดยปัจจุบันผู้บริโภคจะเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่ประมาณ 5 ปี จากที่ก่อนหน้าระยะเวลาในการเปลี่ยนเครื่องใหม่จะอยู่ที่ราว 7-10 ปี

พฤติกรรมคนดูทีวีปัจจุบัน เน้น On Demand

ไม่เพียงแค่การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เท่านั้น ที่ส่งผลให้คนอยากเปลี่ยนทีวีเร็วขึ้น แต่พฤติกรรมในการเสพคอนเทนต์ของคนในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเช่นกัน จากที่ก่อนหน้า คนจะซื้อทีวีมาเพื่อดูโปรแกรมตาม Free TV หรือเพื่อมารองรับโปรแกรมต่างๆ ตามระบบบอกรับสมาชิกที่มี เนื่องจากทีวีที่มีการทำตลาดอยู่ในขณะนั้น ยังไม่มีความ Intelligence หรือยังไม่ฉลาดมากเท่ากับทีวีในปัจจุบัน ที่สามารถโหลดโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ มาไว้ในเครื่องได้

แต่ปัจจุบัน การเติบโตของ Smart TV ที่มีทางเลือกในการชมรายการต่างๆ ได้ตามใจ ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลือกเสพคอนเทนต์แบบ On Demand หรือเลือกโปรแกรมที่อยากดูตามความสนใจของตัวเอง โดยดูโปรแกรมตามการออกอากาศของฟรีทีวีน้อยลง เช่น คนที่ชื่นชอบเรื่องรถ ก็เลือกที่จะดูรายการรีวิวรถยนต์ต่างๆ ทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของทีวีที่มีอยู่ในตลาดขณะนี้จะเป็นกลุ่ม Intelligence TV เป็นหลัก และคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อผู้บริโภคมีการเปลี่ยนทีวีเครื่องใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ใช้ Smart TV ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาเป็นการซื้อ Smart TV มากขึ้น เพราะสามารถเลือกโปรแกรมที่ต้องการดูได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการเติบโตจะเป็นไปในทิศทางเช่นเดียวกับการเติบโตของทีวี 4K ที่ในปัจจุบันสัดส่วนขยายได้มากกว่า 50% แล้ว จากเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้าที่ยังมีสัดส่วนในตลาดที่ราว 20-30% เท่านั้น

มือถือหมดมุขขาย ทำตลาดรวมทรงตัว 

สำหรับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ในฐานะหนึ่งช่องทางสำคัญของสินค้าในกลุ่มนี้ เพาเวอร์มอลล์ฉายภาพการเติบโตโดยรวมว่ายังอยู่ในลักษณะทรงตัว เนื่องจาก ตลาดใหญ่อย่างมือถือซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% ของตลาดไม่มีการเติบโต เนื่องจากไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทำให้ลูกค้าสนใจได้มากนัก ส่วนใหญ่จะแข่งกันที่ฟังก์ชั่นในการถ่ายภาพและเรื่องของดีไซน์ต่างๆ เป็นหลัก

ขณะที่ตลาดเครื่องปรับอากาศซึ่งมีขนาดใหญ่ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าก็ไม่เติบโตเช่นกัน จากสภาพอากาศที่ผ่านมาที่ไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตของกลุ่มเครื่องปรับอากาศมากนัก มีเพียงตลาดทีวี และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางกลุ่มเท่านั้นที่เติบโตได้ดีในรอบหลายปี เช่น ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า แต่เชื่อว่าโดยภาพรวมตลาดทั้งหมดที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 2.3 -2.4 แสนล้านบาท จะยังสามารถรักษาการเติบโตไว้ได้ที่ราว 3% จากกำลังซื้อในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ที่ยังมีกำลังซื้อที่ดีอยู่ในตลาด ประกอบกับการกระตุ้นตลาดของบรรดา Retailer และแบรนด์ต่างๆ ที่นำเสนอสินค้าใหม่ๆ เข้ามาสู่ตลาดอยู่เสมอซึ่งจะช่วยกระตุ้นดีมานด์และการเติบโตได้เป็นอย่างดี

“ขณะที่การเติบโตของเพาเวอร์มอลล์ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาด โดย 5 เดือนที่ผ่านมา เติบโตที่ 6% เนื่องจาก การให้ความสำคัญกับการนำเสนอสินค้าที่เป็นนวัตกรรม เพื่อเจาะตลาดที่ยังมีกำลังซื้อทั้งในกลุ่มทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งกลุ่มคอมพิวเตอร์ที่แม้ตลาดจะนิ่งๆ แต่เรายังคงเติบโตได้ดี โดยเชื่อว่าทั้งปีจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 5% ขยับเพิ่มจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 3-4% จากการให้ความสำคัญกับการทำตลาดภายใต้งบ 5% ของยอดขาย เพื่อจัดแคมเปญกระตุ้นตลาด โดยจะเน้นใช้กลยุทธ์ที่ทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดีภายในสโตร์ หรือสร้างประสบการณ์ต่อสินค้าแต่ละชิ้น เพื่อกระตุ้นให้ได้ยอดขายที่เกิดจาก Real Demand อย่างแท้จริง มากกว่าการซื้อจากโปรโมชั่น เพื่อเป็นกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันยอดขายจากเพาเวอร์ มอลล์ สามารถทำสัดส่วนได้ราว 20% ของยอดขายรวมทั้งกรุ๊ป และเป็นหนึ่งใน Top 3 ของแผนกที่ทำยอดขายสูงสุดให้กับทางกลุ่มเดอะมอลล์”   

ล่าสุด เพาเวอร์ มอลล์ ใช้งบกว่า 120 ล้านบาท จัดแม็กเน็ตอีเวนท์ของแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่าง POWER MALL ELECTRONICA SHOWCASE ระหว่าง 22 มิ.ย. – 15 ก.ค. 2561 เพื่อนำเสนอนวัตกรรมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและไอที จากแบรนด์ชั้นนำมากกว่า 200 แบรนด์ ที่ตอบโจทย์ Consumer Trend ทั้งในเรื่องของ Healthy, Design, Energy Saving มารวบรวมไว้ภายในงานเดียว พร้อมสินค้านวัตกรรมเพื่อให้ได้สัมผัสก่อนใคร อาทิ นวัตกรรมทีวี 8K เครื่องแรกของประเทศจากชาร์ป, ทีวีพานาโซนิค OLED 65 นิ้ว ที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมฮอลีวู้ด,  แอลจี วอลเปเปอร์ทีวี OLED ที่บางเพียง 4 มิลลิเมตร, รวมทั้งสินค้าในกลุ่มไอที กล้องถ่ายภาพ และรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รุ่นใหม่ล่าสุดจาก Storm พร้อมอำนวยความสะดวกด้วยรายการโปรโมชั่นพิเศษตลอดงาน และบริการผ่อน 0% จากบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ โดยคาดว่าจะทำยอดขายตลอดกาจัดงานได้ไม่ต่ำกว่า 410 ล้านบาท


แชร์ :

You may also like