HomeBrand Move !!กสทช. เห็นชอบ ยกเลิกกฎ Must Have 7 รายการกีฬา ปลดล็อกซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์กีฬาหารายได้

กสทช. เห็นชอบ ยกเลิกกฎ Must Have 7 รายการกีฬา ปลดล็อกซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์กีฬาหารายได้

แชร์ :

ที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษวันที่ 23 มีนาคม 2566 ได้พิจารณาเรื่อง เห็นควรยกเลิกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือกฎ Must Have

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สาระสำคัญของกฎ Must Have คือ กำหนดให้ 7 รายการกีฬาสำคัญ เผยแพร่ทางฟรีทีวี (ทีวีดิจิทัล) เพื่อให้ประชาชนรับชมฟรี ดังนี้

1. การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)
2. การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games)
3. การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games)
4. การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)
5. การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)
6. การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games)
7. การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games)

กฎ Must Have เป็นประกาศที่กำหนดให้รายการกีฬา 7 ประเภท ดังกล่าว หากมีผู้ได้รับสิทธิให้นำมาออกอากาศในประเทศไทย ต้องนำทั้ง 7 รายการ มาเผยแพร่ผ่านฟรีทีวี (ทีวีดิจิทัล) เป็นอันดับแรก และจะมีผลต่อเนื่องทำให้ทั้ง 7 ประเภทรายการแข่งขัน ก็จะถูกนำสัญญาณไปออกอากาศผ่านระบบดาวเทียม เคเบิล และ IPTV ภายใต้ กฎ Must Carry

โดยที่ประชุม ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง ยกเลิกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555  หรือ กฎ Must Have

โดยให้สำนักงาน กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป เพื่อนำความเห็นที่ได้มาประกอบการพิจารณาก่อนออกประกาศ โดยมีระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปเวลา 30 วัน  ก่อนที่จะออกประกาศยกเลิกกฎ Must Have

ที่มากฎ Must Have และปัญหา

ที่มาของกฎ Must Have มาจากกรณี “ยูโรจอดำ” ในปี 2555 ที่ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ได้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2012 โดยเผยแพร่ทางฟรีทีวี ช่อง 3 ช่อง 5 และช่อง 9 (ต้องรับชมผ่านเสาก้างปลา) แต่ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่รับชมฟรีทีวีผ่านกล่องดาวเทียม ซึ่ง GMM กำหนดให้ดูผ่านกล่องดาวเทียม GMM Z ทำให้กล่องรับสัญญาณอื่นๆ ไม่สามารถดูได้ หรือ “จอดำ”

กลุ่มผู้บริโภคจึงไปฟ้องศาลแพ่ง เรียกร้องให้ GMM ปล่อยสัญญานให้เผยแพร่ฟรีทุกช่องทางทั้ง ฟรีทีวี เคเบิล และกล่องดาวเทียม ไม่จำกัดสิทธิเฉพาะกล่อง GMM Z และแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

โดยคำพิพากษาของศาลให้ GMM ชนะ เพราะกฎหมายคุ้มครองผู้ถือลิขสิทธิ์ (กฎหมายลิขสิทธิ์เหนือกว่า Must Have)

จึงเป็นที่มาของการแก้ปัญหา “จอดำ” ของ กสทช. ด้วยการออกกฎ Must Have กำหนดให้รายการกีฬา 7 ประเภท 1.ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2. กีฬาซีเกมส์ 3. กีฬาเอเชียนเกมส์ 4. อาเซียนพาราเกมส์ 5. เอเชียนพาราเกมส์ 6. กีฬาโอลิมปิก 7. กีฬาพาราลิมปิก ซึ่งเป็นรายการที่คนไทยมีโอกาสเข้าร่วมแข่งขัน หากใครซื้อลิขสิทธิ์มาต้องเผยแพร่ทางฟรีทีวี (ทีวีดิจิทัล)

โดยมีประกาศอีกฉบับคือประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศนท์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ปี 2556 หรือ Must Carry กำหนดทุกแพลตฟอร์มที่ได้รับใบอนุญาต จาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี (ทีวีดิจิทัล) ไปออกอากาศทุกแพลตฟอร์ม “ห้ามจอดำ”

ผลจากกฎ Must Have และ Must Carry ทำให้ไม่มีเอกชนซื้อลิขสิทธิ์กีฬา 7 ประเภท โดยเฉพาะรายการที่ได้รับความนิยมอย่าง ฟุตบอลโลก เพราะไม่สามารถนำไปหารายได้เชิงธุรกิจได้ เช่น การขายแพ็คเกจรับชม ต้องนำมาออกอากาศฟรีทีวี เห็นได้ว่าช่วงหลังเมื่อไม่มีเอกชนซื้อลิขสิทธิ์ ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนงบประมาณ เช่น การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022

อีกทั้งยังเจอปัญหาเจ้าของลิขสิทธิ์ขายแพงกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ต้นทุนสิทธิ์รายการกีฬาสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเจ้าของลิขสิทธิ์รู้ว่ามีเงื่อนไขกฎ Must Have ที่กำหนดให้ต้องซื้อมาออกอากาศทางฟรีทีวีด้วย ไม่สามารถซื้อแยกแพลตฟอร์มได้ จึงกลายเป็นปัญหาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ยกเลิก Must Have แต่ Must Carry ยังอยู่

การที่ กสทช. มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกกฎ Must Have ก็คือ หากมีผู้ไปซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬา 7 ประเภท มาเผยแพร่ ไม่จำเป็นต้องซื้อลิขสิทธิ์มาออกอากาศทางฟรีทีวี (ทีวีดิจิทัล) ก็ได้ คือ จะซื้อลิขสิทธิ์เพื่อเผยแพร่เฉพาะช่องทางเคเบิลทีวี หรือออนไลน์ เพื่อเก็บค่าสมาชิก หรือ ค่าแพ็คเกจ รับชมก็ได้ แบบนี้จะทำให้สามารถแยกซื้อเฉพาะช่องทาง ทำให้ต้นทุนค่าลิขสิทธิ์ลดลง

แต่ปกติกีฬาบางรายการ เช่น โอลิมปิก ฟุตบอลโลก เจ้าของลิขสิทธิ์จะกำหนดให้มีการเผยแพร่ผ่านฟรีทีวีบางส่วน หรือกำหนดชั่วโมงถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี ซึ่ง กสทช. ยังมีกฎ Must Carry บังคับใช้อยู่

ดังนั้นในกรณีนี้ หากมีผู้ซื้อลิขสิทธิ์ รายการกีฬาที่เจ้าของลิขสิทธิ์ กำหนดให้ต้องออกทางฟรีทีวี (บางส่วน) ก็ต้องนำไปเผยแพร่ทางฟรีทีวี ในทุกช่องทางเช่นกัน โดยเผยแพร่บางส่วนตามที่ซื้อลิขสิทธิ์มา และส่วนที่เหลือสามารถนำไปหาประโยชน์หรือรายได้จากการขายแพ็คเกจหรือสมัครสมาชิกรับชมได้

รูปแบบนี้จะทำให้ผู้ซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาที่มีผู้สนใจรับชม อย่าง ฟุตบอลโลก สามารถหารายได้หลายช่องทาง เช่น การให้ดูฟรีบางส่วนทางฟรีทีวี เพื่อหารายได้จากโฆษณา และขายแพ็คเกจเพิ่มเติมหากต้องการดูทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามกลไกการตลาดนั่นเอง


แชร์ :

You may also like