HomeCSRโรงเรียนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่ อีกหนึ่งโมเดลสร้างความยั่งยืนของ กลุ่มเซ็นทรัล

โรงเรียนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่ อีกหนึ่งโมเดลสร้างความยั่งยืนของ กลุ่มเซ็นทรัล

แชร์ :

กลุ่มเซ็นทรัล ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง CSV (Creating Share Value) ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัลทำ” เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมต่อทั้งภาคสังคม ชุมชน และธุรกิจ โดยไม่ได้มองแค่กำไรในการดำเนินธุรกิจ แต่มองถึงโอกาสในการตอบแทนหรือทำสิ่งดีๆ กลับคืนให้สังคมหรือผู้คนโดยรอบมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า พนักงาน รวมไปถึงทุกๆ ภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละช่วงของการดำเนินธุรกิจ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ภายใต้โครงการ “เซ็นทรัลทำ”  จะเป็นแกนหลักสำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อร่วมสร้างสังคมที่ยั่งยืนของทั้งกลุ่มเซ็นทรัล และประกอบไปด้วยหลากหลายโมเดลในการพัฒนาที่ล้วนแต่ช่วยสร้างความเข้มแข็ง และทำให้ชุมชนต่างๆ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยเฉพาะโมเดลล่าสุดอย่าง โครงการโรงเรียนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่อย่างยั่งยืน ที่อยู่ในมิติของการพัฒนาคน เน้นไปที่เรื่องของการศึกษา ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปถ่ายทอดให้กับโรงเรียนประชารัฐที่ผ่านเกณฑ์สำหรับนำร่องโครงการ  9 โรงเรียน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง 2 โรงเรียน, ภูเก็ต 1 โรงเรียน, นครศรีธรรมราช 1 โรงเรียน, กระบี่ 3 โรงเรียน และตรัง 2 โรงเรียน โดยครอบคลุมจำนวนนักเรียนประมาณ 2,000 คน และครูอีก 180 คน

ขณะที่ขั้นตอนในการดำเนินงาน ทางกลุ่มเซ็นทรัลได้ร่วมมือกับเบทาโกรหนึ่งในเครือข่ายธุรกิจที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องของการเลี้ยงไก่ไข่เป็นอย่างดี ได้เป็นผู้เข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการมอบความรู้ในการเลี้ยงไก่ไข่ จัดอบรม วางระบบและช่วยตรวจสอบคุณภาพต่างๆ รวมทั้งมีสัตวบาลมาคอยดูแลและตรวจโรคอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับก่อสร้างทั้ง 9 โรงเรือน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้างโรงเรือน, พันธุ์ไก่เบื้องต้น 100 ตัว และอาหารไก่ตลอด 4 เดือนแรก รวมเงินกว่า 1,800,000 บาท

สำหรับโครงการโรงเรียนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่เป็นโมเดลที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนให้กับโรงเรียนอย่างเห็นได้ชัด เพราะช่วยให้โรงเรียนมีไก่ไข่เลี้ยงได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรองบจากหน่วยงานหรือองค์กรใด ทำให้โรงเรียนสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง จากเงินหมุนเวียนที่ได้จากจำนวนไข่เฉลี่ย 34,000 ฟองต่อปี รวมทั้งเมื่อไก่ปลดระวางหลังอายุครบ 14 เดือน ก็สามารถนำไปขายได้เช่นกัน โดยจะมีเงินทุนหมุนเวียนในโรงเรียนไม่ต่ำกว่า 73,000 บาท เพื่อนำไปซื้อไก่ล็อตใหม่และอาหารได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเมื่อได้ที่ปรึกษาอย่างเบทาโกร ทำให้มีระบบการเลี้ยงในโรงเรียนอย่างถูกสุขลักษณะ ทำให้ได้ไข่ที่สะอาดสำหรับบริโภค รวมทั้งไก่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ อีกด้วย

คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า  คุณครูและเด็กๆ ที่เข้าร่วมในโครงการโรงเรียนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่ จะได้รับรับประโยชน์และสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ทั้งการต่อยอดโมเดลที่ได้จากการเรียนรู้ในโครงการไปใช้กับเรื่องอื่นๆ เช่น ปลูกผัก ปลูกข้าว เลี้ยงปลา โดยเอางบประมาณอาหารกลางวันของทางโรงเรียนมาซื้อของที่ปลูกหรือเลี้ยงเอง เพื่อสร้างเป็นความยั่งยืน รวมทั้งสามารถเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้จากการปฏิบัติตามองค์ประกอบ 2 ห่วง  3 เงื่อนไข 4 มิติ  เช่น เกิดความรู้ในการเลี้ยงไก่ไข่ มีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา ใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์ สามารถแบ่งปันความรู้ที่ได้จากโรงเรียนต่อยอดไปสู่ครอบครัว รวมทั้งสามารถนำไข่ที่ได้ไปแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้ด้วย

“กลุ่มเซ็นทรัลยังมีแผนในการนำร่องโรงเรียนพอเพียงเลี้ยงไก่ไข่เพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ไปอีก 4 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือ กลางและตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สระบุรี เชียงใหม่ อุดรธานี และอุบลราชธานี เพื่อหวังสร้างรากฐานทางกระบวนการความคิด ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตามเจตนารมย์ของกลุ่มเซ็นทรัลในการมุ่งมั่นพัฒนาสังคมให้เติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป”

เน้นสร้างคุณค่าร่วมผ่าน 4 เสาหลัก

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด  กล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจไม่สามารถโฟกัสแค่เรื่องผลกำไร โดยไม่มองถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม หรือแม้แต่การทำ CSR แบบเดิมๆ ที่อาจจะเน้นแค่การบริจาคต่างๆ ซึ่งอาจไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะภาคธุรกิจถือเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแต่ละชุมชนและเป็นกลุ่มที่มีพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาต่างๆ เพราะมีทั้งกำลังคนและทรัพยากร จึงควรเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการแสดงบทบาทและช่วยขับเคลื่อนการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในมิติต่างๆ เพื่อให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น

ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัลนับเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงประชาชนจำนวนมาก และมีกำลังที่จะเข้าไปช่วยเหลือเติมเต็มความต้องการต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาภายใต้แนวคิด “เซ็นทรัลทำ” โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบที่ทางกลุ่มเข้าไปดำเนินธุรกิจหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสังคมนั้นๆ โดยจะโฟกัสการพัฒนาผ่าน 4 เสาหลัก ที่เชื่อว่าจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชมุชนและผู้คนพื้นที่ ประกอบด้วย การพัฒนาคน, การพัฒนาวัตถุ, การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น

“การดำเนินธุรกิจของเซ็นทรัลทำให้มีโอกาสได้รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นได้อยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งการที่มีเครือข่ายหลากหลายกลุ่มทั้งภาคธุรกิจ กลุ่มผู้นำชุมชน หรือหน่วยงานภาครัฐ ทำให้สามารถเกิดการต่อยอดเพื่อร่วมมือกันสร้างคุณค่าร่วมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งสร้างความร่วมแรงร่วมใจกันของพนักงานและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพนักงานภายในองค์กร ตามนโยบาย Centrality ที่สะท้อนถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันของกลุ่มเซ็นทรัลได้อย่างชัดเจนอีกด้วย”

ด้านคุณพิชัย  กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “เซ็นทรัลทำ” เริ่มมีทิศทางที่มีความชัดเจนและดูมีพลังในการขับเคลื่อนมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นโอกาสให้เซ็นทรัลสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ หรือความเชี่ยวชาญต่างๆ โดยเฉพาะในการทำธุรกิจเพื่อสร้างความแข็งแรงไปสู่ผู้คนในสังคม เช่น การทำความเข้าใจตลาด เข้าใจลูกค้า การคำนวนต้นทุน ระบบลอจิสติกส์ต่างๆ หรือหากในบางเรื่องที่ทางกลุ่มเซ็นทรัลไม่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็จะมีเครือข่ายต่างๆ เข้ามาคอยให้การสนับสนุน รวมทั้งสามารถต่อยอดไปสู่โครงการใหม่ๆ เพิ่มเติมในอนาคต เท่ากับเพิ่มโอกาสในการกระจายความแข็งแรงและการพัฒนาให้ขยายวงกว้างออกไปมากขึ้น

“กลุ่มเซ็นทรัลให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายการพัฒนาให้เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการใช้เครือข่ายธุรกิจหรือร้านในเครือเป็นช่องทางในการช่วยเหลือหรือรับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งธุรกิจ SME ในท้องถิ่น โดยพยายามให้ทุกๆ เอ้าท์เล็ตของกลุ่มเซ็นทรัลมีสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นประมาณ 10% หรือมีพืชผักปลอดสารพิษของเกษตรกร 15-20% โดยจะคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก รวมทั้งพยายามแนะแนวทางในการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและเหมาะสมกับสภาพตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการต่างๆ สามารถทำธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งและสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”


แชร์ :

You may also like