HomeBrand Move !!“เราแมสได้แล้วนะ” YouTube เทียบ Mass Media เข้าถึงทั่วประเทศ และไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มบันเทิง

“เราแมสได้แล้วนะ” YouTube เทียบ Mass Media เข้าถึงทั่วประเทศ และไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มบันเทิง

แชร์ :

นับเป็นเวลากว่า 10 ปี ที่แพลตฟอร์ม YouTube ถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ และเข้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพียง 4 ปี แต่ในแง่ของการเติบโตและการเข้าถึง Users ได้ขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็น VDO Platform อันดับหนึ่งของโลกไปเรียบร้อย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดย คุณเบน คิง  Country Director Google Thailand สรุปข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับ YouTube  Ecosystem จากทั่วโลก ไว้ดังนี้

– ระยะเวลาในการใช้งานบนแพลตฟอร์ม YouTube มีรวมกันกว่า 1 พันล้านชั่วโมงต่อวัน

– ฐานผู้ใช้งานทั่วโลกที่เติบโตมากขึ้น ด้วยจำนวนล็อกอินมากกว่า 1,500 ล้านครั้งต่อเดือน

– มีภาษาท้องถิ่นมากกว่า 80 ภาษา อยู่ใน 90 ประเทศทั่วโลก

– จำนวนคอนเท็นต์ที่ถูกอัพโหลดจากทั่วโลก ทุกๆ นาที ไม่ต่ำกว่า 400 ชั่วโมง

ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับ Top 10 ที่มีผู้ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มยูทูปสูงที่สุดของโลก  ด้วยอัตราการเข้าใช้งานมากกว่า 92-93% จากจำนวน Internet Users ทั้งประเทศที่มีกว่า 46 ล้านคน หรือมีผู้ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มยูทูปไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีกว่า 65 ล้านคน รวมทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าถึงและ Friendly กับทุกกลุ่มทั้ง Users ทั่วไป ผู้ผลิตคอนเทนต์ทั้งขนาดเล็กและบริษัท Broadcasting ขนาดใหญ่ ค่ายเพลง รวมทั้งแบรนด์ต่างๆ และกลุ่ม Advertiser ทั่วไปด้วย

เข้าถึง Users ไม่ต่างจากสื่อแมส

คุณมุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจบันเทิง YouTube ประเทศไทย ให้รายละเอียดเพิ่มเติมโดยอ้างอิงข้อมูลจาก TNS Research ที่ทำการสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2018  โดยฉายภาพความเป็นแพลตฟอร์มสำหรับทุกคนและทุกการใช้งานของ YouTube ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ในเชิง Demographic เพื่อดูประชากรที่อยู่บนยูทูปพบว่า จากจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตมี 75% ที่เข้ามาใช้งานยูทูปทุกวัน และมี 62% ที่เข้ามาใช้งานวันละหลายๆ ครั้ง  ซึ่งในกลุ่ม Daily Active ยังแบ่งตามอายุได้ดังนี้

กลุ่มอายุ 16-24 ปี ที่เข้ามาใช้งานทุกวันมีถึง 85%

กลุ่มอายุ 25 -34 ปี ที่เข้ามาใช้งานทุกวันมีถึง 79%

และในกลุ่มอายุ 35 – 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นหนึ่งกลุ่มที่มีความน่าสนใจ เพราะมีถึง 67% ที่ใช้งานบนยูทูปทุกวัน และใน 50% ของผู้ใช้งานในกลุ่มนี้ ยังเข้ามาใช้งานได้วันละหลายๆ ครั้งอีกด้วย ดังนั้น ไม่ใช่ว่าคนกลุ่มที่มีอายุจะไม่รู้จัก YouTube เพราะเราอาจเคยเข้าใจว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มสำหรับคนรุ่นใหม่เท่านั้น ผลสำรวจชิ้นนี้ จึงสะท้อนได้ว่า ความเชื่อเดิมๆ เช่นนี้ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ส่วนวัตถุประสงค์ในการเข้ามาบนแพลตฟอร์มยูทูป พบว่า 51% ที่เข้ามาเพื่อต้องการรับชมรายการทีวี ไม่ว่าจะเป็นการรับชมย้อนหลังเพราะพลาดขณะออกอากาศ หรืออยากดูซ้ำแม้ว่าจะเคยได้ดูไปแล้ว โดย Heavy Users ในกลุ่มนี้จะมีอายุระหว่าง 25-34 ปี คิดเป็นสัดส่วนที่ 59% และยังเป็นกลุ่มที่จะเกิดการ Switch ไปมาระหว่างสกรีนได้มากที่สุดด้วย

33% หรือ 1 ใน 3 จะเข้ามาเพื่อหาความรู้ใหม่ๆ ทั้งข้อมูลที่อยู่ภายในห้องเรียน และความรู้ทั่วไปที่อยู่นอกห้องเรียน โดยกลุ่มอายุ 16-24 ปี จะเข้ามาใช้งานมากที่สุด ด้วยสัดส่วน 40%

70% ให้ข้อมูลว่าเข้ามาฟังเพลง ยูทูปยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักในการให้ความบันเทิงด้านเสียงเพลงกับคนไทยอยู่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนอายุ 16-34 ปี ด้วยสัดส่วน 77% และอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ตามมาด้วยสัดส่วน 62%

25% หรือ 1 ใน 4 จะเข้ามาเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่สนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีอายุที่เข้ามาใช้บริการนี้ โดยมีกลุ่มอายุ 25-34 ปี ด้วยสัดส่วน 30% และ 35 ปี ขึ้นไป มีสัดส่วน 24%

“ข้อมูลนี้จะสะท้อนได้ว่ายูทูปเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ Users ได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นความบันเทิง ความรู้  ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในรูปแบบของวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็นคอนเท็นต์ในรูปแบบของการสร้างสรรค์ต่างๆ จากเหล่า Creator, Broadcasting หรือ Advertising นอกจากนี้ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งต่อ Passion จากคนๆ หนึ่งไปสูคนอื่นๆ ที่อยู่ในสังคม ที่ได้รับชมเรื่องราวต่างๆ ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ หรือเรื่องราว How to ที่เป็นประโยชน์และสร้างโอกาสให้กับผู้ชมคอนเท็นต์ต่างๆ เหล่านี้”

เทรนด์ผู้ใช้งานต่างจังหวัดมาแรง

ความสามารถในการเข้าถึง Users ได้อย่างทั่วถึงของ YouTube  นอกเหนือจากข้อมูลตาม Demographic ด้านบนแล้ว หากพิจารณาข้อมูลในเชิง Geographic ยังสะท้อนได้ว่ายูทูปไม่ใช่สื่อที่เข้าถึงแต่คนในกลุ่มเมืองเท่านั้น เพราะตามข้อมูลระบุชัดเจนว่า Users ที่อยู่นอกเขตเมืองก็มีการใช้งานบนแพลตฟอร์มยูทูปอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยพบว่า 97% ของคนที่อยู่นอกเขตเมืองใช้ยูทูปผ่านมือถือ คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 93% ทั้งจากราคามือถือที่ถูกลง และความครอบคลุมของการให้บริการสัญญาณอินเตอร์ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มเพื่อหาข้อมูลที่สนใจได้ ขณะที่พฤติกรรมในการใช้งานไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มคนเมือง เพราะเวลาในการเข้ามาใช้งานแต่ละครั้งอยู่ที่ 1 ชั่วโมงกว่าๆ และมีระยะเวลาใช้งานต่อวันที่ประมาณ 2 ชั่วโมงกว่าๆ เท่ากัน

ตัวเลขจาก TNS ยังระบุด้วยว่า คนอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ที่อยู่นอกเขตเมืองกำลังเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มยูทูปมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งเทรนด์จากข้อมูลภายในของยูทปเอง จากการประกาศ Top Trending ทั้งในหมวด Music และ Non-music โดยในหมวดมิวสิคของประเทศไทย 6 ใน 10 เพลง เป็นเพลงลูกทุ่ง ที่มียอดวิวมากกว่า 100 ล้านวิวทุกเพลง

ขณที่ในมุมของกลุ่มผู้สร้างคอนเท็นต์ ที่จะเห็น Creator ที่ได้รับความนิยมในกลุ่ม Local Content ที่เป็นการพูดคุยและสื่อสารเพื่อสร้าง Community แบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น  ครัวบ้านทุ่งกับลุงเด่น ที่เน้นการคุยกับคนในพื้นที่ ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนราย หรือกลุ่มมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ทำคอนเท็นต์ทั้งภาษาไทยและภาษายาวี เพื่อที่จะโปรโมตท้องถิ่นว่าไม่ได้น่ากลัวแบบที่ทุกคนคิด ซึ่งเริ่มมีคอนเท็นต์ในลักษณะเช่นนี้เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มยูทูปมากขึ้น

“เทรนด์ทั้งในมุมของคอนเท็นต์และ Creators ที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวในต่างจังหวัด เริ่มเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงและเติบโตได้อย่างน่าสนใจที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของยูทูป และแม้ว่าพฤติกรรมในการใช้งานจะไม่แตกต่างจากคนเมือง แต่ในแง่ของดีไวซ์ที่คนกลุ่มนี้ใช้เพื่อเข้าถึงวิดีโอแพลตฟอร์มยังมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ดังนั้น เจ้าของคอนเทนต์ต้องคำนึงถึงการผลิตคอนเทนต์ที่ต้องการเข้าถึงคนกลุ่มนี้ ต้องคำนึงถึงขนาดและรูปแบบของคอนเทนต์ให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างประสบการณ์ที่ดีและเพิ่ม Reach กับคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น” 

กับบทบาทเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง  

จากความสามารถในการเข้าถึงคนได้มากกว่า 40  ล้านคนทั่วประเทศ ประกอบกับการเป็นพันธมิตรอย่างใกล้ชิดทั้งในกลุ่ม Broadcasting และ Advertising โดยเฉพาะในกลุ่มแบรนด์ต่างๆ ที่เข้ามาเปิด Official Channel บนแพลตฟอร์มยูทูป เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้าง  Engagement กับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ในปีที่ผ่านมามีแบรนด์ต่างๆ ที่สร้าง Subscriber ได้มากกว่า 1 แสนราย มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 50% ซึ่งจำนวน Subscriber ที่เพิ่มขึ้นเป็นโอกาสที่จะทำให้แบรนด์ต่างๆ มีช่องทางในการได้ Voice of Customer และยังเป็นช่องทางให้แบรนด์ได้คุยกับลูกค้าได้โดยตรง เพื่อสร้าง Connection และ Engagement ที่เพิ่มมากขึ้นได้

ทั้งนี้ ยูทูปยังคงมีความแข็งแรงอย่างมากในคอนเท็นต์รายการทีวี  ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า ยอดวิวรายการทีวีต่างๆ บนช่องทางออนไลน์เกือบ 90% เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มยูทูป โดยเฉพาะปรากฏการณ์ความนิยมละครบุพเพสันนิวาสในช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดวิวของ Official Channel ของช่อง 3 ที่อยู่บนยูทูปมียอดผู้เข้าชมสูงถึง 34.7 ล้านคน ขณะเดียวกันยังสร้างให้เกิด Awareness มากกว่าแค่ในประเทศไปสู่การ Reach ในระดับโลกได้ เพราะปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดในไทยก็จะติด Trending โลก เช่น #บุพเพสันนิวาส ที่ติดคำค้นทั้งใน Facebook และทวิตเตอร์ หรือคอนเทนต์จากรายการ The Mask Singer ในเพลงตราบทุลีดินที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนสามารถติดอันดับ 1  ใน Top Trending ระดับโลกของยูทูป

รวมไปถึงคอนเท็นต์ในกลุ่มเพลงและข่าวที่มีอิมแพ็ค ด้วยยอดวิวหลักร้อยล้านวิว เช่น วง BNK 48 ที่ความแรงของคอนเท็นต์มีสิทธิทำให้ยอดวิวแซงต้นฉบับอย่าง AKB 48 ได้ รวมทั้งคอนเท็นต์ข่าวเรื่องหวย 30 ล้าน ที่มียอดวิวจากทุกๆ สำนักข่าวรวมกันไม่ต่ำกว่า 500 ล้านวิว สะท้อนว่าเมื่อผู้บริโภคเลือกที่จะดูคอนเทนต์ต่างๆ ยูทูปมักจะเป็นช้อยส์แรกๆ ที่ผู้บริโภคจะเลือกเพื่อเข้าถึงคอนเท็นต์เหล่านี้

“ยูทูปยังเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถตอบโจทย์นักการตลาดได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในมิติของการสร้างแบรนด์ทั้ง Awareness, Engagement หรือการสร้างให้เกิด Brand Love ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดเพื่อให้เกิด Impact กับแบรนด์ในมิติต่างๆ รวมทั้งการกระตุ้นให้เกิดการซื้อได้จริง จากการทดลองร่วมกับแบรนด์ชั้นนำ จากการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เก็บอยู่ในระบบของ YouTube รวมทั้งเครื่องมือต่างๆ  ที่เป็นประโยชน์ในการวิเคราะห์ความรู้สึกของผู้บริโภคที่มีต่อคอนเทนต์ของแบรนด์ เพื่อทำความเข้าใจ และรู้ถึงอินไซต์ของผู้บริโภค เพื่อสามารถทำคอนเท็นต์ที่สามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามา Engage เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างมากขึ้น”

สิ่งสำคัญในการทำให้ผู้บริโภคจะ Engage กับแบรนด์ได้ก็ยังอยู่ที่เรื่องของการใส่ Creativity ให้กับคอนเท็นต์ ซึ่งกลุ่ม Creator และ Advertising ของไทยถือว่ามีความแข็งแรง จากจำนวน Channel ต่างๆ ที่ได้ขยับอันดับตามจำนวน Subscriber ที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนได้เป็นอย่างดี โดยกลุ่ม Diamond Button (มีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้าน subscribers) ไทยอยู่อันดับ 3 ของเอเชียแปซิฟิก และอันดับ 1 ในอาเซียน, กลุ่ม Gold Button (มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้าน subscribers) ไทยอยู่อันดับ 2 ของเอเชียแปซิฟิก และอันดับ 1 ในอาเซียน ซึ่งเติบโตจาก 2 ปีที่ผ่านมาถึง 5 เท่าตัว และจะมี 4 ช่องใหม่ๆ ที่ได้ Gold Button เพิ่มขึ้นทุกเดือน, ส่วนกลุ่ม Silver Button (มีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสน subscribers) ไทยเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ด้วยจำนวนมากกว่า 1,200 ช่อง และเติบโตได้มากกว่า 2 เท่าตัวในปีที่ผ่านมา


แชร์ :

You may also like