HomeBrand Move !!ชำแหละ “ยูนิโคล่” ไม่ใช่ Fast Fashion แต่เป็น “ร้านสะดวกซื้อเสื้อผ้า” เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ

ชำแหละ “ยูนิโคล่” ไม่ใช่ Fast Fashion แต่เป็น “ร้านสะดวกซื้อเสื้อผ้า” เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศ

แชร์ :

Photo Credit : Fast Retailing

เมื่อมองภาพภายนอกคนส่วนใหญ่จะมอง “ยูนิโคล่” คือแบรนด์ Fast Fashion หรือแบรนด์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เน้นความถี่ในการออกสินค้าใหม่ และขายในราคาเข้าถึงง่าย แต่ถ้าเจาะลึกโมเดลธุรกิจของ “ยูนิโคล่” ไม่ได้เป็นเพียงแค่ “Fast Fashion” แต่แท้จริงแล้วคือ “ธุรกิจร้านค้าปลีกเสื้อผ้า” ที่ผลิตและจำหน่าย “เสื้อผ้าแบรนด์ของตนเอง” (Private Brand) ที่ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ปี 1984 และวันนี้กลายเป็น Global Brand ที่ขยับไปสู่การเป็น “ร้านสะดวกซื้อเสื้อผ้า” ไปแล้ว !!

ADFEST 2024


Santos Or Jaune
Photo Credit : Fast Retailing

ทำไมถึงบอกว่า “ยูนิโคล่” ถึงเป็นร้านสะดวกซื้อเสื้อผ้า ?!? นั่นเพราะ…

1. คอนเซ็ปต์ และปรัชญา “LifeWear” หมายความว่า เสื้อผ้าของ “ยูนิโคล่” จะเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันในทุกวันของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย ในระดับราคา “เข้าถึงง่าย” (Affordable Price) ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับสินค้าที่จำหน่ายใน Convenience Store ที่เน้นจำหน่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน ราคาสบายกระเป๋า

เพราะฉะนั้นสังเกตได้ว่าสินค้าของ “ยูนิโคล่” มีความหลากหลาย เน้นดีไซน์เรียบ ไม่หวือหวา เพื่อให้สวมใส่ได้ในทุกวัน และสามารถนำไป Mix & Match ได้ง่าย โดยจะมีทั้งคอลเลคชั่นทั่วไป และคอลเลคชั่นพิเศษที่เป็นการทำ Collaboration กับดีไซเนอร์ชื่อดัง เพื่อสร้างสรรค์สินค้าพิเศษ

นอกจากนี้อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยสร้าง Value Added ให้กับแบรนด์ “ยูนิโคล่” คือ “Innovation” ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้า Fleece, Heattech ที่เป็นกลุ่มสินค้ายอดนิยมตลอดกาลของยูนิโคล่, AIRism เสื้อผ้าระบายความร้อนได้ดี สำหรับเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีภูมิอากาศร้อน รวมทั้งกลุ่มสินค้า Ultra Light Down และ DRY-EX

Photo Credit : Facebook Uniqlo Thailand

2. เพิ่มจำนวนสาขา (Physical Store) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เพราะตามหลักการธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ คือ การปูพรมสาขาให้อยู่ใกล้ผู้บริโภคมากที่สุด เพื่อสร้างเครือข่ายสาขา และความสะดวกให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้า

ปัจจุบัน “ยูนิโคล่” มีสาขาทั่วโลก 1,900 สาขาใน 19 ประเทศ แบ่งเป็นตลาดญี่ปุ่น 850 สาขา และอีก 1,050 สาขาอยู่นอกประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในจำนวนสาขานอกญี่ปุ่น อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมออสเตรเลีย 175 สาขา และปีนี้มีแผนขยายทั่วอาเซียน 40 สาขา

นั่นหมายความว่าการเติบโตของ “ยูนิโคล่” ทั่วโลกในขณะนี้ มาจากตลาดนอกญี่ปุ่นเป็นหลัก ขณะที่ Store Format ของ “ยูนิโคล่” แบ่งเป็นสองรูปแบบหลัก คือ 1. เปิดช้อปในศูนย์การค้า และ 2. Roadside Store หรือ ร้านในทำเลติดถนน

สำหรับในประเทศไทย “ยูนิโคล่” เข้ามาเปิดตลาดเมื่อปี 2554 สาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิล์ด จากนั้นเดินหน้าขยายสาขาเข้าไปตามศูนย์การค้าต่างๆ ทั่วประเทศ กระทั่งเวลานี้มี 35 สาขา และในปี 2561 ช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนนี้ เตรียมเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัล มหาชัย, เซ็นทรัล พิษณุโลก และอีก 1 สาขา นำโมเดล “Roadside Store” ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในญี่ปุ่น, เกาหลี และไต้หวัน มาเปิดครั้งแรกในไทย และในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เหตุที่เลือกไทยเปิดโมเดล Roadside Store” เป็นที่แรกในอาเซียน เนื่องจากตลาดไทยมีการเติบโตอย่างเข้มแข็ง และจากปีที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้เปิดสาขาจำนวนมาก แต่นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เราพยายามขยายสาขาให้มากขึ้น ทั้งขยายไปตาม Shopping Mall และมองทำเลใหม่ที่มีโอกาสจะขยายในรูปแบบ Roadside Store เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจยูนิโคล่ในไทย” คุณโอกุริ โทโมโยชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าถึงเหตุผลเปิดร้านรูปแบบใหม่ในไทย

ทั้งนี้ สาขาแรกของ Roadside Store ตั้งอยู่บนถนนพัฒนาการ 58 ปากซอยโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ขนาดพื้นที่ 1,440 ตารางเมตร มีที่จอดรถรองรับได้ 50 – 60 คัน และด้วยความเป็นสาขาในรูปแบบ Stand Alone จึงมีพื้นที่มากพอที่จะนำเสนอสินค้าครบทุกกลุ่มของยูนิโคล่ ครอบคลุมทั้งสินค้าสำหรับผู้ชาย ผู้หญิง ไปจนถึงสินค้าสำหรับเด็ก เช่นเดียวกับสาขาเซ็นทรัลเวิล์ด ซึ่งเป็นสาขาใหญ่ในศูนย์การค้าที่มีความครบวงจรของสินค้า

เหตุผลที่เลือกทำเลถนนพัฒนาการ เนื่องจากในย่านดังกล่าวมีทั้งที่อยู่อาศัย และมีโรงเรียน ทำให้มีจำนวนประชากรมากถึง 700,000 คน และเป็นถนนจากกรุงเทพฯ ตะวันออก ที่เข้าไปยังใจกลางเมืองได้

3. บรรยากาศช้อปปิ้งในสาขา เสมือนการเดินซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์ฺเก็ต – ร้านสะดวกซื้อ ใครที่เดินเข้า “ยูนิโคล่” จะสังเกตเห็น “ตะกร้าช้อปปิ้ง” ที่จัดเตรียมไว้ให้กับลูกค้า ตั้งแต่ทางเข้า และจุดต่างๆ ภายในร้าน เพื่อให้ลูกค้าสะดวกในการถือสินค้า เฉกเช่นเดียวกับเวลาที่เราเข้าไปซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อทั่วไป

4. E-Commerce ปิดช่องว่างในโลเกชั่นที่ยังไม่มีสาขายูนิโคล่ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคตลอด 24 ชั่วโมง เปิดให้บริการในไทยเมื่อปี 2016 โดยสินค้าจำหน่ายในออนไลน์ ครบทุกกลุ่มสินค้าทั้งสินค้าเด็ก และผู้ใหญ่

โดยเป้าหมายของ “ยูนิโคล่” ต้องการสร้าง “Seamless Shopping Experience” ให้กับลูกค้าผ่านทั้งช่องทางแบบ Physical Store และ Online Shopping ควบคู่กัน

Photo Credit : Facebook Uniqlo Thailand

5. ทำโปรโมชั่นราคา กระตุ้นการซื้อ และเพิ่มความถี่การซื้อ จะเห็นได้ว่าการทำโปรโมชั่นราคาของยูนิโคล่ ฉีกกฎจากเทศกาลเซลล์สินค้าแฟชั่นที่จะทำโปรโมชั่นลดราคาเป็นช่วงๆ ของปี เช่น กลางปี, ปลายปี

การทำโปรโมชั่นของยูนิโคล่ เพื่อดึงความสนใจผู้บริโค พร้อมทั้งกระตุ้นการซื้อ และเพิ่มความถี่ในการซื้อ ทั้งในกลุ่มลูกค้าเดิม และขยายฐานลูกค้าใหม่ กลยุทธ์นี้ไม่ต่างจากธุรกิจค้าปลีกเช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ ที่มีโปรโมชั่นใหม่ๆ และสินค้าเด่นมาดึงดูดผู้บริโภคตลอดเวลา

Photo Credit : Facebook Uniqlo Thailand

“ความถี่ในการซื้อสินค้าของลูกค้าแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการขยายสาขา ทั้งเปิดร้านในศูนย์การค้า และการเปิดรูปแบบ Roadside Store รวมทั้งให้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ จะทำให้ลูกค้ามีโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าของ “ยูนิโคล่” ได้มากขึ้น และตอบโจทย์ด้านความสะดวกให้กับลูกค้า เพราะเราต้องการเป็น “LifeWear Brand” ที่เข้าไปอยู่กับคนไทย 69 ล้านคนทั่วประเทศ” คุณโอกุริ โทโมโยชิ ให้สัมภาษณ์ถึงการสร้างความสะดวกในการช้อปปิ้ง เพื่อให้สินค้าของยูนิโคล่อยู่กับคนไทยทั่วประเทศ

จากคำตอบของผู้บริหารยูนิโคล่ข้างต้น ตอกย้ำให้เห็นว่าปัจจุบัน “ยูนิโคล่ ประเทศไทย” เดินทางมาอยู่ในช่วง “Growth Stage” ที่ต้องเร่งเครื่องสร้างการเติบโตทั้งด้านจำนวนสาขาแบบ Physical Store และช่องทางออนไลน์ ควบคู่ไปกับการนำเสนอสินค้า ภายใต้จุดแข็งด้านนวัตกรรม ดีไซน์เรียบ และราคาเข้าถึงง่าย เพื่อทำให้สินค้าของยูนิโคล่เข้าไปอยู่ในตู้เสื้อผ้าของคนไทยทั่วประเทศ

 


แชร์ :

You may also like