HomeBrand Move !!ยักษ์ชนยักษ์ธุรกิจร้านกาแฟ! กลุ่มเจมาร์ทปั้น “Rabb Coffee” โมเดลแฟรนไชส์ ท้าชน “Café Amazon”

ยักษ์ชนยักษ์ธุรกิจร้านกาแฟ! กลุ่มเจมาร์ทปั้น “Rabb Coffee” โมเดลแฟรนไชส์ ท้าชน “Café Amazon”

แชร์ :

ไม่ว่าจะไปที่ไหนของเมืองไทย เวลานี้จะเห็น “ร้านกาแฟสด” อยู่ทุกที่ ตั้งแต่ร้านขนาดกลาง-เล็ก ที่เจ้าของลงทุนและบริหารจัดการเอง ไปจนถึงเชนร้านกาแฟของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ทำให้ปัจจุบันตลาดร้านกาแฟในไทย มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 เซ็กเมนต์หลักตามระดับราคาโดยเฉลี่ย ประกอบด้วย ระดับราคา 100 บาทขึ้นไป ในเซ็กเมนต์นี้ มี “Starbucks” ครองตลาด / ระดับราคา 50 – 55 บาท เซ็กเมนต์นี้มี “Café Amazon” ยึดตลาด / ระดับราคา 25 บาท เซ็กเมนต์นี้มีกลุ่มทุนค้าปลีกรายใหญ่อย่าง “ซีพีออลล์” ที่สร้างแบรนด์ “All Café” เป็นจุดบริการเครื่องดื่มกาแฟในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ถึงแม้จะหันไปทางไหน ก็เจอแต่ร้านกาแฟ หากทว่าตลาดนี้ยังมี “โอกาสธุรกิจ” ด้วยเหตุนี้เองเมื่อปลายปีที่แล้ว “เจเอเอส แอสเซ็ท” (Jas Asset) บริษัทในเครือกลุ่มเจมาร์ท เข้าซื้อกิจการร้าน Specialty Coffee “คาซ่า ลาแปง” (Casa Lapin) พร้อมจัดตั้ง “บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด” (Beans & Brown) โดยแผนในอนาคตต้องการผลักดันบริษัทนี้ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี (2561 – 2563) มีรายได้แตะระดับ 1,000 ล้านบาท

บุกธุรกิจกาแฟ เร่งขยาย 250 สาขาใน 3 ปี

แผนธุรกิจของ “Jas Asset” ในปี 2561 บุกธุรกิจร้านกาแฟ ภายใต้ 2 แบรนด์ ได้แก่

1. “Casa Lapin” ร้านกาแฟที่วางตำแหน่งเป็น Specialty Coffee ปัจจุบันมี 6 สาขา ตั้งเป้าเปิดเพิ่ม 50 สาขา โดยล่าสุดเปิดสาขาที่ The Street และในเดือนมีนาคมนี้เตรียมเปิด Flagship Store ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ขนาด 180 ตารางเมตร ภายในให้บริการ Slow Bar, Donut Bar และเครื่องดื่ม Non-Alcohol เมนูต่างๆ

โมเดลการขยายสาขาของ “Casa Lapin” ไม่ได้ใช้รูปแบบแฟรนไชส์ แต่ใช้รูปแบบเปิดสาขาเอง และจับมือกับพาร์ทเนอร์ โดยพาร์ทเนอร์เป็นผู้ลงทุน พร้อมทั้งหาทำเลเปิดร้าน ขณะที่ Beans & Brown จะเข้าไปบริการจัดการร้าน

นอกจากนี้ได้บริษัทในเครือกลุ่มเจมาร์ท “บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด” (JVC) ที่ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงิน มาเป็นผู้พัฒนาแอปพลิเคชันของ Casa Lapin เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการทำระบบ CRM

2. “Rabb Coffee” เป็นอีกแบรนด์ของ “Beans & Brown” ที่เข้ามาเสริมทัพธุรกิจร้านกาแฟ โดยจะใช้โมเดลขยายสาขาด้วย “แฟรนไชส์” ราคาเริ่มต้น 1 ล้านบาท ไปจนถึง 3 – 4 ล้านบาท โดยเตรียมเปิด Flagship Store ที่บีทีเอสศาลาแดง และภายในปีนี้ ตั้งเป้าเปิด 30 สาขา ขณะที่ภายใน 3 ปี (2561 – 2563) ตั้งเป้ามี 200 สาขาทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ขณะที่เซ็กเมนต์ของ “Rabb Coffee” อยู่ในตลาดเดียวกับ “Café Amazon” ที่ขายในราคาโดยเฉลี่ย 50 – 55 บาท เน้นเจาะคนเมือง ตอบโจทย์ความรวดเร็ว และสร้างความแตกต่างด้วยกาแฟรสชาตินุ่ม และดีไซน์ร้าน-สินค้า

นั่นเท่ากับว่าภายใน 3 ปีนับจากนี้ กลุ่มธุรกิจกาแฟของ “Beans & Brown” ทั้งสองแบรนด์จะมีสาขารวมกัน 250 แห่ง โดยมี Casa Lapin เจาะตลาดร้านกาแฟพรีเมียม และ Rabb Coffee เจาะตลาดแมสทั่วไป

“เราต้องการให้คนที่ซื้อ Café Amazon เปลี่ยนมาซื้อ Rabb Coffee ซึ่งมีจุดเด่นในด้านรสชาติกาแฟนุ่ม และเราดึง Taste จาก Casa Lapin ไปสู่ร้าน Rabb Coffee ซึ่งเป็นกาแฟในเมือง ขยายออกไปยังต่างจังหวัด” คุณสุพจน์ วรรณา ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) อธิบายเพิ่มเติม

ใช้พลัง Synergy สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

อย่างไรก็ตามเมื่อดูจำนวนสาขาของ “Rabb Coffee” ตั้งเป้า 200 สาขาใน 3 ปี เทียบกับสาขาของ “Café Amazon” ที่ปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 2,000 สาขา และตั้งเปิดภายใน 3 ปีจะมี 3,000 สาขา ถ้าดูจำนวนสาขาแล้ว เป็นตัวเลขที่แตกต่างหลายก้าว

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ “Jas Asset” มั่นใจว่า “Rabb Coffee” จะสามารถท้าชน “Café Amazon” ได้อย่างสูสี คือ การนำเอา Know How เชี่ยวชาญด้านกาแฟจาก “Casa Lapin” มาปรับใช้กับ “Rabb Coffee” ขณะเดียวกันการใช้โมเดลขยายแฟรนไชส์ จะมีสองบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท คือ “เจ ฟินเทค” (Jfintech) และ “เอสจี แคปปิตอล” (SG Capital) ซึ่งให้บริการด้านสินเชื่อ จะนำเสนอสินเชื่อเงินลงทุนสำหรับผู้สนใจเปิดแฟรนไชส์ร้าน Rabb Coffee

นอกจากนี้ ในการเร่งสปีดขยายสาขา จำเป็นอย่างยิ่งต้องเตรียมความพร้อมเรื่อง “บุคลากร” โดยเฉพาะบาริสต้า ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจร้านกาแฟ โดยในไตรมาส 1 ปี 2561 มีแผนตั้ง “Barista Academy” เพื่อผลิตบาริสต้าเข้าสู่ร้านกาแฟ ตั้งเป้า 1,000 คนภายใน 3 ปี โดยในศูนย์อบรมแห่งนี้จะเป็นทั้งโรงเรียนสอน รวมทั้งจัด Workshop และเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านกาแฟ

ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ต้องพึ่งพา “เทคโนโลยี” เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น ในส่วนนี้มี “JVC” อีกหนึ่งบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท มาเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีให้โดยเฉพาะ

“ร้านกาแฟ ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจรีเทล ที่เราสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจในเครือเจมาร์ทได้อย่างแน่นอน เพราะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ จึงมีโอกาสที่จะส่งต่อลูกค้า และนำเสนอสินค้า-บริการของกลุ่มเจมาร์ทร่วมกันให้กับลูกค้าได้” คุณสุพจน์ ฉายภาพการผนึกกำลังระหว่างบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท

นี่จึงทำให้การรุกธุรกิจร้านกาแฟ ภายใต้บริษัท “Beans & Brown” เป็นจิ๊กซอว์หนึ่งของการดึงคนให้เข้ามาอยู่ใน Business Ecosystem ของกลุ่มเจมาร์ท


แชร์ :

You may also like