HomeInsightJobsDB เผย 10 สายงานที่ตลาดต้องการมากที่สุด พร้อมเคล็ดลับมัดใจคนทำงาน Gen X-Y-Z

JobsDB เผย 10 สายงานที่ตลาดต้องการมากที่สุด พร้อมเคล็ดลับมัดใจคนทำงาน Gen X-Y-Z

แชร์ :

บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เผยแนวคิดเพื่อสร้างความพร้อมให้ตลาดการจ้างงานในไทยโตทันสภาพการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมเพื่อการสรรหาว่าจ้าง รวมถึงการเปลี่ยนผ่านของสังคมคนทำงานสู่ยุคมิลเลนเนียล พร้อมแนะองค์กรควรเลือกใช้โซลูชั่นที่เหมาะสมเพื่อการสรรหาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คุณนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้บริหารและฝ่ายบุคคลขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย นอกจากจะต้องปรับการบริหารองค์กรให้สอดคล้องกับยุคที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแล้ว ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านของกลุ่มคนทำงานเจนมิลเลนเนียลที่ทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภารกิจของ “ฝ่ายบุคคล” หรือ HR ที่แต่เดิมมีหน้าที่หลักๆ ในการสรรหาพนักงานที่เหมาะสมตอบโจทย์ทุกแผนกงานขององค์กรได้อย่างรวดเร็วแล้วยังต้องวางแผนรับความท้าทายใหม่ๆ อาทิ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร

โดยความท้าทายที่ชัดเจนที่สุด ณ เวลานี้ คือการทำความเข้าใจมนุษย์งานกลุ่มใหม่ที่มีทัศนคติและมุมมองความคิดที่แปลกใหม่และแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ โดยสิ้นเชิง

จากสถิติโครงสร้างของแรงงานไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเดือน เม.ย. 2560 พบว่า มีผู้ที่มีความพร้อมเข้าสู่ระบบงาน (รวมนักศึกษาจบใหม่) จำนวน 37.89 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 37.09 ล้านคน ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานในปีนี้มี 4.73 แสนคน ซึ่งมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายบุคคลยังไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสเข้าสู่สายงาน ซึ่งเทียบได้ครึ่งต่อครึ่งของจำนวนผู้มีงานทำ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดทักษะที่ตรงกับสายงานที่ตลาดงานต้องการ

จากฐานข้อมูลของจ๊อบส์ดีบี ประเทศไทยของปี 2559 และปี 2560 เพื่อเปรียบเทียบ 10 สายงานที่ตลาดต้องการมากที่สุด พบว่าปีนี้ “งานไอที” มาเป็นอันดับ 1 เหตุผลที่ทำให้สายงานนี้เป็นที่ต้องการของตลาดมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันองค์กรต่างๆ นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในองค์กร ทำให้เกิดการเติบโตของสายงานนี้

อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลของจ๊อบส์ดีบี ประเทศไทย ระหว่างเดือน ม.ค. – เม.ย. 2560 พบว่า ตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่ “สายงานด้านไอที” และ “วิศวกรรม” เป็นสายงานที่ขาดแคลนผู้สมัครงานสูงถึง 43% และ 29% ตามลำดับ

เหตุผลที่ทำให้ขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ เนื่องจากปัจจุบันคนไทยเรียนสาขาไอทีน้อย และนิยมเรียนสาขาที่จบการศึกษาง่าย กว้างๆ ไม่เฉพาะทาง และไม่ศึกษาความต้องการของตลาดงาน ขณะที่ตลาดงานต้องการผู้ที่จบสาขาเฉพาะทาง เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ บัญชี ไอที วิศวกรรม

และอีกหนึ่งสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดสูง คือ “การตลาดดิจิทัล” เป็นสายงานใหม่ที่ปัจจุบันหลายองค์กรโฟกัสมากขึ้น และต้องการคนมาทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ด้วยความที่ปัจจุบันมีเพียง 1 – 2 มหาวิทยาลัยเปิดสอนหลักสูตรนี้ ทำให้บุคลากรในสายงานนี้ยังน้อย ขณะที่งานในสายนี้ยังเป็นที่ต้องการมาก

ส่วนปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาจบใหม่ยังคงว่างงาน เป็นเพราะความต้องการด้านรายได้สูงเกินประสบการณ์ และต้องการทำงานในองค์กรใหญ่ รวมทั้งยังขาดทัศนคติเชิงบวกต่อการทำงาน

 

กลยุทธ์มัดใจพนักงาน Gen X-Y-Z พร้อมเผยปัจจัยทำให้พนักงานมีความสุข

หลายองค์กร มักจะพบว่าในบริษัทประกอบด้วยคนหลายรุ่น ทั้ง Gen X, Gen Y ไปจนถึง Gen Z ที่เพิ่งจบการศึกษา และกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะฉะนั้นการบริหารองค์กรยุคนี้ จึงต้องทำความเข้าใจคุณลักษณะของพนักงานทั้ง 3 Generations

“Gen X” (คนที่เกิดระหว่างปี 2506 – 2526/ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) เป็นกลุ่มคนที่มุ่งทำงาน เพื่อพัฒนาทักษะความสามารถ และแสวงหาโอกาสการเติบโตในสายงานอยู่เสมอ แต่คนรุ่นนี้ก็ไม่ได้มองว่าต้องทำงานองค์กรไหนองค์กรเดียวไปตลอดชีวิตเหมือนกับคนรุ่น Baby Booomers เพราะคนกลุ่มนี้มองว่าการเติบโตในสายอาชีพในสถานที่ทำงานแห่งเดียว เป็นความคิดล้าสมัย

เพราะฉะนั้นวิธีที่จะบริหาร และรักษาะพนักงานกลุ่มนี้ องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาพนักงาน ด้วยการส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในสายอาชีพ

“Gen Y” (คนที่เกิดระหว่างปี 2525 – 2548/ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย) เป็นคนที่เติบโตในยุคอินเทอร์เน็ต และมีความเป็นตัวของตัวเองสูง หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นช่วงวัยของการเริ่มต้นในหลายๆ ด้าน เช่น ชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว ซึ่งงานที่คนกลุ่มนี้ต้องการคือ งานที่มีความหมาย เช่น งานที่มีส่วนช่วยพัฒนาสังคมโดยรวมให้ดีขึ้น และมีเป้าหมายที่ท้าทาย

“Gen Z” (คนที่เกิดระหว่างปี 2547 – ปัจจุบัน) เป็นมนุษย์เทคโนโลยี ที่ขณะนี้กำลังทยอยเข้าสู่ตลาดงาน คาแรกเตอร์ของคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่กลุ่มคนที่ภักดีกับองค์กร และชอบให้องค์กรพิจารณาผลงานจากฝีมือจริงๆ ไม่ใช่ตามระบบอาวุโส ขณะเดียวกันมุมมองต่อสถานที่ทำงาน ไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถทำงานได้ทุกที่

เนื่องจากทั้งกลุ่ม Gen Y และ Gen Z เติบโตในยุคดิจิทัล จึงมีคาแรกเตอร์และความต้องการคล้ายกัน แม้รายได้จะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกสมัครงานของผู้หางาน แต่คนกลุ่มนี้ยังพิจารณายื่นใบสมัครโดยอาศัยปัจจัยอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การออกแบบสถานที่ทำงาน, ทำเลที่ตั้งของบริษัท, ระยะทางและระยะเวลาในการเดินทางมาทำงาน, สิ่งอำนวยความสะดวก, สวัสดิการที่มีความยืดหยุ่น และวัฒนธรรมองค์กร

เพราะฉะนั้นในการบริหารคนกลุ่มนี้ ผู้บริหาร และ HR ต้องให้พื้นที่และโอกาสกับคนกลุ่มนี้ในการแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นคนที่มีความคิดเป็นของตัวเองสูง จึงควรให้โอกาสในการให้พวกเขาได้ปล่อย “ของ” อย่างเต็มที่

ผลวิจัยครั้งนี้ยังได้เจาะลึกถึงปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีความสุข ทั้งกลุ่มเด็กจบใหม่ และพนักงานที่มีประสบการณ์การทำงานแล้ว รวมทั้งปัจจัยที่ทำให้พนักงานมีความสุขลดลง

 

 

HR 4.0 เปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

โจทย์หินของแต่ละองค์กรที่จะต้องปรับตัว และเรียนรู้การบริหารงานอย่างไรเพื่อให้ HR ในองค์กรที่มีพนักงานอยู่ร่วมกันหลากหลาย Generation ได้ดึงเอาศักยภาพของพนักงานมาใช้ในงาน และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ผู้บริหารและ HR เองจำเป็นต้องก้าวให้ทันโลก และทำความเข้าใจกับคนในยุคต่างๆ อย่างถ่องแท้

“ด้านการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของ HR ต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและเปิดรับนวัตกรรมเพราะ Internet of Things (IoTs) จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทั้งการสื่อสารในองค์กร การสรรหาพนักงาน รวมถึงวิธีการทำงานและสถานที่ทำงาน ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการเติบโตของ Digital Workplace การเติบโตของ Mobile Technology

ทำให้รูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนแปลงจาก work-life balance เป็น weisure time ซึ่งรูปแบบการทำงานดังกล่าวจะไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างโลกการทำงานและโลกส่วนตัว เช่น พนักงานใช้สื่อโซเชียลในเวลาทำงานและติดต่อเรื่องงานผ่านโปรแกรมแชทเมื่ออยู่บ้าน การเชื่อมโยงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นเช่นนี้ ทำให้ HR แสดงบทบาทสำคัญในการเป็นคู่คิดทางธุรกิจ และมีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์เพื่อการเติบโตขององค์กร เพราะ HR มีหน้าที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สูงขึ้น ที่สำคัญคือต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่เสมอ”

จ๊อบส์ดีบี ยังได้เผยผลการสำรวจแนวโน้มการหางานในปัจจุบัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 – มกราคม 2560 พบว่า 65% ของผู้ประกอบการใช้เว็บไซต์หางานเป็นช่องทางหลักในการค้นหาผู้สมัคร ขณะที่ 74% ของผู้หางานและสมัครงานผ่านเว็บไซต์หางาน โดย 3 ช่องทางสมัครงานที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ สื่อออนไลน์ (74%) ติดต่อผ่านผู้ประกอบการโดยตรง (34%) และการบอกต่อ (26%)

ขณะที่พฤติกรรมการค้นหางานของผู้หางาน ในปัจจุบันผู้หางานเลือกสมัครงานผ่านโฆษณาประกาศงานมากขึ้น โดย 67% ของผู้หางานในประเทศไทยใช้โทรศัพท์มือถือในการค้นหางานเป็นหลัก ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้สมัครงานผ่านโทรศัพท์มือถือสูงถึง 51% ในทางกลับกัน 33% และ 49% ของผู้หางานค้นหาและสมัครงานผ่านคอมพิวเตอร์

 

คนนิยมหางาน-สมัครงานผ่านแพลตฟอร์มมือถือ

ทุกวันนี้ “สมาร์ทโฟน” กลายเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉลี่ยคนเราเข้าอินเทอร์เน็ตบนแพลตฟอร์มมือถือ 6.2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ “Gen Y” อยู่ที่ 53.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ด้วยเหตุนี้เองทำให้ปัจจุบันผู้หางานส่วนใหญ่ จะหางานและสมัครงานผ่านมือถือมากขึ้น เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตที่คนนิยมสมัครงานผ่านคอมพิวเตอร์

 

Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

 


แชร์ :

You may also like