ดร.ศราวุธ คงยัง นักวิจัยกลุ่มนวัตกรรมการผลิตยั่งยืน
ในวันที่เรามี LLM มากมายให้เลือกใช้งาน การมีอีกหนึ่ง LLM สัญชาติไทยอย่าง “Pathumma LLM” (ปทุมมา แอลแอลเอ็ม) ผลงานการพัฒนาของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อาจช่วยให้แอปพลิเคชัน AI ที่พัฒนาขึ้นนั้น เข้าใจบริบทและสามารถโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยมากยิ่งขึ้น
“Pathumma LLM” (ปทุมมา แอลแอลเอ็ม) เป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาของ ดร.ศราวุธ คงยัง นักวิจัยกลุ่มนวัตกรรมการผลิตยั่งยืน และทีมวิจัยเนคเทค โดยมาพร้อม 3 ความสามารถหลัก ได้แก่
- Text LLM สำหรับประมวลผลภาษาไทย
- Vision LLM สำหรับวิเคราะห์และเข้าใจภาพ
- Audio LLM สำหรับจดจำและตอบสนองต่อเสียงภาษาไทย
ที่สำคัญระบบถูกพัฒนาเป็นแบบ Open Source โดยเปิดให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่สนใจเข้ารับชมเทคโนโลยีดังกล่าว และร่วมแลกเปลี่ยนกับทีมวิจัยได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“Pathumma LLM” ช่วยงานอย่างไร
สำหรับการเข้ามาของ “Pathumma LLM” พบว่า สามารถช่วยงานด้านการประมวลผลคำถาม และคำสั่งจากข้อความ การแปลงเสียงเป็นข้อความ และการวิเคราะห์ภาพ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน เช่น การให้บริการแชตบอตในภาครัฐหรือเอกชน การถอดความจากเสียงในการประชุม หรือการสร้างคำบรรยายภาพในงานวิจัย โดยล่าสุดหน่วยงานรัฐอย่างรัฐสภา นำไปใช้ประโยชน์แล้ว เพื่อให้บริการข้อมูลกับประชาชนที่ขอใช้บริการต่าง ๆ รวมถึงการสรุปประชุมสำคัญของสภา สรุป (ร่าง) กฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านสภา เป็นต้น
ส่วนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับการพัฒนา Pathumma LLM คือ จะช่วยให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ที่มีความแม่นยำและสอดคล้องกับการใช้ภาษาไทยและบริบทของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการสอบถามข้อมูลหรือการสืบค้นข้อมูลในแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงการใช้งานในองค์กรภาครัฐที่ต้องการปกปิดข้อมูล เช่น ธนาคาร หรือสถานพยาบาล
ดร.ศราวุธ กล่าวด้วยว่า สำหรับทิศทางในอนาคต ทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาโมเดลพื้นฐาน (Foundation Model) ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปี 2568 นี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการรองรับข้อมูลและทำให้ Pathumma LLM มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการให้บริการแก่ภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาให้ Pathumma LLM กลายเป็น “Agentic AI” ผู้ช่วย AI อัจฉริยะ ที่สามารถคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจได้อย่างอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและบริการให้กับผู้ใช้ในอนาคต