HomeFinancialSCB EIC ประเมิน สงครามอิสราเอล-ฮามาส กระทบเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยปี 2567 ไม่มาก หากความขัดแย้งไม่ขยายวง

SCB EIC ประเมิน สงครามอิสราเอล-ฮามาส กระทบเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยปี 2567 ไม่มาก หากความขัดแย้งไม่ขยายวง

แชร์ :

หลังสงครามระหว่าง “อิสราเอล” กับ “ฮามาส” เปิดฉากขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2566 และถึงวันนี้ยังไม่มีทีท่าสงบลง ทำให้คนในแวดวงธุรกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต่างจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2567 อย่างไร? โดย SCB EIC ได้วิเคราะห์เรื่องนี้อย่างน่าสนใจ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้เตรียมพร้อมรับมือได้เท่าทันกับสถานการณ์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หากสงครามขยายวง เสี่ยงฉุดเศรษฐกิจโลกถดถอย

จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาเกือบ 3 เดือน SCB EIC ประเมินว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะอิสราเอลมีความสำคัญในระดับปานกลางต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปาเลสไตน์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกน้อย นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก สงครามครั้งนี้จึงไม่กระทบอุปทานและราคาน้ำมันโลก

แต่ต้องจับตาหากสถานการณ์ลุกลามและสงครามขยายวงกว้าง จนทำให้ประเทศผู้นำในภูมิภาค เช่น อิหร่าน เข้าร่วมสงครามตัวแทน (Proxy war) กรณีนี้ความรุนแรงกระจายไปบริเวณใกล้เคียงมากขึ้น โดยเฉพาะซีเรียและเลบานอนที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มฮามาสสู้รบอิสราเอลโดยตรง จะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันโลกเฉลี่ยในปี 2567 จะเพิ่มเป็น 86.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล คิดเป็น +4.6% รวมถึงส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง -0.2% และอัตราเงินเฟ้อโลกจะเพิ่มขึ้น +0.17%

ในทางกลับกัน หากอิหร่านเข้าร่วมสงคราม โดยตรง จะก่อให้เกิดความรุนแรงกระจายไปในภูมิภาค และส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันโลกในปี 2567 จะปรับขึ้นเป็น 94.3 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรล คิดเป็น +13.6% ทั้งยังอาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกลดลง -0.4% และอัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น +0.54%

พิษสงคราม สะเทือนเศรษฐกิจไทยไม่มาก แต่อาจกระทบแรงงาน และส่งออกไทย

ส่วนเศรษฐกิจไทย SCB EIC ประเมินว่า ผลจากสงครามจะกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยในปี 2567 “ไม่มาก” เช่นกัน เพราะราคาน้ำมันโลกและไทยไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก อีกทั้งอิสราเอลและไทยค้าขายระหว่างกันไม่สูงนัก ขณะที่การค้าไทยกับปาเลสไตน์ไม่ค่อยมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย รวมถึงไทยพึ่งพานักท่องเที่ยวอิสราเอลเพียง 0.9% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ไม่ได้พึ่งพานักท่องเที่ยวปาเลสไตน์ และไทยไม่ได้เป็นฐานการลงทุนของอิสราเอลและปาเลสไตน์

แต่ประเด็นที่น่าห่วงคือ ความรุนแรงในอิสราเอลอาจจะส่งผลกระทบต่อ “แรงงานไทย” เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานสูงเป็นอันดับ 2 รองจากไต้หวัน โดยมีแรงงานจำนวนกว่า 25,000 คน หรือราว 20% ของแรงงานไทยทั้งหมดในต่างประเทศ

นอกจากนี้ หากสงครามรุนแรงยาวนานและกระจายวงกว้างในภูมิภาคตะวันออกกลาง เศรษฐกิจไทยอาจจะได้รับ “ผลกระทบมากขึ้น” ผ่านราคาน้ำมันดิบโลกที่เพิ่มขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านหลายช่องทาง ได้แก่ เงินเฟ้อสูงกดดันการบริโภค ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้น การเติบโตของ GDP ลดลง

ดังนั้น ในภาพรวม SCB EIC ประเมินว่า หากอิหร่านเข้าร่วมในสงครามตัวแทน (Proxy war) เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัวลดลง -0.28% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น +0.19% แต่หากอิหร่านเข้าร่วมสงครามโดยตรง (Direct war) เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวลดลง -0.85% อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น +0.57% เทียบกับกรณีไม่มีสงครามเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ยังอาจกระทบศักยภาพการ “ส่งออก” ของไทยในระยะยาว เนื่องจากที่ผ่านมาไทยได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับซาอุดิอาระเบีย และรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ด้านการค้ากับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วยซาอุดิอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน และโอมาน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (CEPA) กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคได้แสดงความสนใจที่จะจัดทำ FTA หรือ CEPA กับไทยเพิ่มเติม อีกทั้งภาครัฐยังตั้งเป้าให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นฐานในการเข้าถึงตลาดส่งออกในภูมิภาคแอฟริกาต่อไปอีกด้วย

โดยธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ถูกกระทบจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ขณะที่บางกลุ่มได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าก๊าซสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรม (IU) และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (Non-firm SPP) อาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากค่า Ft ปรับขึ้นไม่ทันต้นทุนก๊าซ ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงทางอ้อมจากเศรษฐกิจตะวันออกกลางที่อาจชะลอตัว ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมถ่านหิน การสำรวจและผลิตน้ำมัน ยางพารา น้ำตาล และปาล์มน้ำมันจะได้รับประโยชน์จากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกจึงต้องปรับตัวและเตรียมรับมือให้พร้อมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในปี 2567 ต่อไป

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like