HomeBrand Move !!TDRI – KTC มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 66 โตดีกว่าครึ่งปีแรก ดันทั้งปีโต 3.5% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง

TDRI – KTC มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 66 โตดีกว่าครึ่งปีแรก ดันทั้งปีโต 3.5% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง

แชร์ :

เกือบครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยดูจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี เพราะตั้งแต่ต้นปีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องเผชิญกับราคาสินค้าและบริการต่างๆ ขยับขึ้นต่อเนื่อง ผสมกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตถดถอย ทำให้ครึ่งปีแรกของไทยยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ จึงน่าจับตามองต่อว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2566 จะเป็นอย่างไร? ธุรกิจไหนจะเติบโต ธุรกิจไหนจะซบเซา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Brand Buffet ได้สรุปมุมมองจาก ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) และคุณชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส กลุ่มการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ในงานเสวนา KT FIT Talks ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ “เศรษฐกิจและธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคครึ่งปีหลังปี 2566” มาเล่าให้ฟัง พร้อมแนวทางการปรับตัวที่น่าสนใจ

ชี้ “ท่องเที่ยว-ส่งออก” ดัน ศก.ครึ่งปีหลังโตกว่าครึ่งปีแรก

แม้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกจะมีความไม่แน่นอนจากแรงกดดันจากหลายปัจจัย แต่ ดร.กิริฎา มองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะ “เติบโต” สูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว โดยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามามากกว่าครึ่งปีแรก โดยธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 29 ล้านคน รวมถึงการส่งออกน่าจะขยายตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าไปที่จีนได้มากขึ้น

“เมื่อการท่องเที่ยวและการส่งออกเติบโตขึ้น จะทำให้การจ้างงาน การบริโภคของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น โดยตอนนี้การบริโภคของไทยสูงกว่าก่อนโควิดแล้ว ดังนั้น กำลังซื้อของคนไทยในครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้ตลอดทั้งปีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ 3.5% สูงกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 2.6%”

4 ปัจจัยท้าทายเศรฐกิจไทยครึ่งปีหลัง 

แต่ถึงกระนั้น ดร.กิริฎา มองว่า ยังมีความเสี่ยงหลายปัจจัยที่ต้องระวังเพราะอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ช้า ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจโลกเติบโตช้า โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียง 2.1% ขณะที่สหรัฐฯ เติบโตที่ 1.1% ส่วนสหภาพยุโรปเติบโตเพียง 0.4% และญี่ปุ่นเติบโตไม่ถึง 1% เพราะฉะนั้น ความต้องการสินค้าและบริการคงมีไม่มาก ทำให้การส่งออกไปยังตลาดหลักๆ เหล่านี้อาจได้รับผลกระทบ ยกเว้นประเทศจีนเป็นประเทศเดียวที่มีการคาดการณ์กันว่าจะเติบโตมากกว่า 5%

“สาเหตุที่เศรษฐกิจเติบโตช้ามาจากตัวเลข “เงินเฟ้อ” อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อคนลดลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการณ์ว่าปีที่แล้วเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ที่ 8.7% ส่วนปีนี้อยู่ที่ 7% ถึงแม้ตัวเลขเงินเฟ้อจะปรับลดลง แต่ราคาสินค้าอาจไม่ปรับลงมาเท่ากับช่วงโควิดแล้ว อีกทั้งยังมาเจอวิกฤตการณ์ธนาคาร ส่งผลเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารลดลง”

นอกจากเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าแล้ว ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่ยังอยู่ในระดับสูงนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด โดยปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 87% ของ GDP อาจจะทำให้การจับจ่ายของผู้บริโภคไม่ “หวือหวา” โดย 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนคือ กู้เพื่อซื้อบ้าน แต่ที่น่าสนใจคือ 2 ใน 3 เป็นการกู้ซื้อรถและสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้น “ค่าแรง” ในระดับสูง เพราะอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจ ทำให้มีกำไรน้อยลง ก็อาจจะลงทุนน้อยลง ตลอดจนการจัดตั้งรัฐบาลที่ยังไม่มีความแน่นอน หากจัดตั้งรัฐบาลช้ากว่ากำหนดไป 1 เดือนอาจจะกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน แต่หากจัดตั้งล่าช้าไปถึง 5-6 เดือน นักลงทุนอาจจะไม่รอและหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน

ยอดสินเชื่อยังพุ่งต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับ คุณชุติเดช มองว่า สถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการบริโภคในครัวเรือนและการลงทุนทำธุรกิจมากขึ้น รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว และภาพรวมของอุตสาหกรรมบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา เคทีซีสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์จากโควิด-19 ทำให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว และเมื่อมีการเปิดประเทศ ได้ส่งให้การเดินทางท่องเที่ยวขยายตัวและสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น

อีกทั้งเคทีซีได้วางแผนกลยุทธ์การรุกตลาด เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ โดยได้ออกบัตรเครดิตเพื่อการท่องเที่ยว 2 ใบคือ บัตรเครดิต อโกด้า มาสเตอร์การ์ด และบัตรเครดิตเจซีบี อัลติเมท อีกทั้งได้คัดสรรสิทธิพิเศษหลายรูปแบบในทุกหมวดใช้จ่ายที่สำคัญ จำเป็นและคาดว่าจะได้รับความนิยม เช่น สิทธิพิเศษด้านการท่องเที่ยว สิทธิพิเศษในหมวดร้านอาหารเพื่อผู้ที่หลงใหลในรสชาติอาหารทุกกลุ่มความต้องการ สิทธิพิเศษด้านน้ำมันและประกัน สิทธิพิเศษด้านสุขภาพและความงาม เป็นต้น”

“เราเชื่อว่าด้วยสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น จะเอื้อประโยชน์ให้ทุกพอร์ตสินเชื่อของเคทีซีขยายตัว และมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งธุรกิจร้านค้ารับชำระเติบโต ทั้งจากภาคอุปสงค์ในไทยที่ขยายตัว จากการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ต้นทุนการเงินของบริษัทฯ ยังคงสามารถรองรับการเติบโตตามเป้าหมายได้ โดยเคทีซีตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจในปี 2566 ดังนี้ กำไรสูงกว่า 7,079 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 15% เกินแสนล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเติบโต 10% พอร์ตสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เติบโต 7% ยอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,000 ล้านบาท และ NPL น้อยกว่า 1.8% ซึ่งเป็นอัตรา NPL ในปี 2022”

แนะบริหารความเสี่ยง-หารายได้หลายทาง กระจายความเสี่ยง

จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายปัจจัย ทำให้ ดร.กิริฎา แนะว่า ผู้ประกอบการต้องรู้จักบริหารความเสี่ยงด้านต้นทุน แต่อีกสิ่งที่มีความสำคัญพอๆ กันคือ การหารายได้ หลากหลายช่องทางเพื่อกระจายความเสี่ยง ทั้งการใช้เทคโนโลยีใหม่ หรือเกาะตามเทรนด์ที่เป็นความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคไทยและตลาดโลก โดยมองว่าธุรกิจที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่องตามเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังคือ ธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจโปรตีนที่มาจากพืช ยานยนต์ไฟฟ้า และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่วนธุรกิจที่น่าจะซบเซา คือธุรกิจที่ถูก Disrupt จากเทคโนโลยี


แชร์ :

You may also like