HomeFinancialสรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจไทยปี 67 แจก Digital Wallet หนุนจีดีพีโตเกิน 5%  

สรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจไทยปี 67 แจก Digital Wallet หนุนจีดีพีโตเกิน 5%  

แชร์ :

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2566 เหลือ 3.1% (เดิม 3.9%) หลังข้อมูลจริงไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาดมากและการส่งออกสินค้าหดตัวแรงต่อเนื่อง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยใกล้เคียงก่อนโควิด การส่งออกจะกลับมาฟื้นตัว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผลักดันจีดีพีโต 3.5%  หากรวมปัจจัยแจกเงินดิจิทัลจะทำให้โตได้เกิน 5%

SCB EIC สรุป 5 ประเด็นสำคัญแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2567 ดังนี้ 

1. เศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง

เริ่มที่เศรษฐกิจโลก ประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวไม่พร้อมกัน (Unsynchronized) ในปี 2566 SCB EIC คาดการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้นเป็น 2.4% และจะทรงตัวใกล้เคียงเดิมหรือราว 2.3% ในปี 2567 แม้ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีกว่าคาด แต่มีแนวโน้มเปราะบางต่อเนื่องถึงปี 2567 จากผลของเงินเฟ้อสูงและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงเงินออมส่วนเกินที่เริ่มหมดลง

ปัจจัยสำคัญเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มชะลอตัวทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการฟื้นตัว ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาโมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นเดิมที่พึ่งพาการลงทุนเป็นหลักได้ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นก่อหนี้ไว้สูงจากการลงทุนในอดีต คาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2567 เติบโต 4.5% หลายประเทศลดการพึ่งพาจีน โดยเฉพาะชาติตะวันตก จากนโยบายแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน

2. จีดีพีไทยเติบโต 3.5%

ปี 2566 EIC ได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปี 2566 ค่อนข้างเยอะ จากเดิม 3.9% เหลือ 3.1% จากข้อมูลจริงไตรมาส 2 จีดีพีต่ำกว่าคาดมากและการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ส่วนปี 2567 มองเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.5% จากการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกฟื้นตัว

แต่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูง (Uncertain) จากแรงกดดันสำคัญ คือเศรษฐกิจจีนเติบโตชะลอลง กระทบการส่งออกไทยบางกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดจีนสูง และเป็นส่วนหนึ่งของ Supply chain จีน รวมถึงผลกระทบต่อการลงทุนจากจีนอาจชะลอลงบ้าง และอาจกระทบกำลังซื้อจากจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย ในกลุ่มคอนโดระดับสูง-ปานกลาง  ทำเลกรุงเทพฯ (ห้วยขวาง รัชดา พระราม9) รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยว

การลงทุนจากจีนในประเทศไทยในธุรกิจบางประเภทยังมีแนวโน้มขยายตัวได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่ต้องการขยายตลาดในอาเซียน เช่น การผลิตรถ EV

3. ท่องเที่ยวหนุนปี 67 ตัวเลขแตะ 38 ล้านคน

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตในปี 2567 คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ปี 2566 คาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน  ปี 2567 อยู่ที่ 38 ล้านคน  (ใกล้เคียงกับก่อนโควิดปี 2562 ที่ทำได้ 39.8 ล้านคน)   โดยนักท่องเที่ยวจีนปีนี้อยู่ที่ 4.8 ล้านคน ส่วนปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.2 ล้านคน จากมาตรการ Free Visa  ทำให้ได้นักท่องเที่ยวตลาดแมสจีน เข้ามาเพิ่มจากกลุ่มกำลังซื้อสูงที่เข้ามาในปีนี้

4. วิกฤติภัยแล้งรุนแรงสุดในรอบ 41 ปี 

หนึ่งในวิกฤติที่ต้องจับตาในปี 2566 – 2567  คือ ผลกระทบภัยแล้ง พบว่าปริมาณฝนในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ ต่ำสุดในรอบ 41 ปี ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั่วประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

วิกฤติภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปี ในหลายพื้นที่ SCB EIC ประเมินความเสียหายขั้นต่ำกับเศรษฐกิจไทยราว 69,000 ล้านบาท (กรณีฐาน)  แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 32,285 ล้านบาท อ้อย 17,880 ล้านบาท ข้าวนาปี 16,070 ล้านบาท และมันสำปะหลัง 2,433 ล้านบาท

แต่หากเป็นกรณีแย่สุดมูลค่าความเสียหายภัยแล้งอยู่ที่ 86,705 ล้านบาท และกรณีดีสุด จะเสียหาย 52,933 ล้านบาท

ภัยแล้งที่ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ข้าวนาปรัง น้ำมันปาล์มและอ้อย มีแนวโน้มปรับลดลงค่อนข้างมาก  ส่งผลให้ผู้บริโภคไทยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารสูงขึ้นราว 35% ของรายจ่ายโดยเฉพาะข้าวคิดเป็น 10% ของค่าใช้จ่ายอาหาร  อย่างไรก็ดีรายได้เกษตรกรในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากผลผลิตที่ลดลงได้ส่วนหนึ่ง

ประเมินว่าภัยแล้ง (กรณีฐาน) จะทำให้จีดีพีไทยลดลง -0.14% ในปี 2566 และ -0.36% ในปี 2567 และเงินเฟ้อสูงขึ้น +0.18% ในปี 2566 และ +0.45% ในปี 2567

5. นโยบายรัฐแจกเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท ดันจีดีพีโต 5-6% 

จากนโยบายรัฐเตรียมแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 วงเงินราว 560,000 ล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยปี 2567 เติบโตเกิน 5% (โตแบบชั่วคราว) แต่สิ่งที่ตามมาคือ ต้นทุนการคลังสูงขึ้นมาก จะทำให้หนี้สาธารณะแตะ 70% ของจีดีพี ในปี 2573 เร็วขึ้น 2 ปี จากเดิมปี 2575

SCB EIC มองนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับ 1. การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมการแข่งขันเพื่อเพิ่มประสิทธิผลจริงของ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ และผลักดันให้ไทยเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจไทยได้รับผลประโยชน์จากการส่งออกสินค้าและบริการมากขึ้นและเพิ่มความสำคัญบนห่วงโซ่อุปทานโลก และ 2. การส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างยั่งยืน ผ่านการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของระบบภาษีที่บิดเบือนแรงจูงใจของภาคธุรกิจและครัวเรือน


แชร์ :

You may also like