HomePR NewsSCB EIC ชี้ตลาดบ้านหรูปี 66 โตไม่หวือหวา สุขาภิบาลทำเลยอดฮิต

SCB EIC ชี้ตลาดบ้านหรูปี 66 โตไม่หวือหวา สุขาภิบาลทำเลยอดฮิต

แชร์ :

ในช่วงวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมชะลอตัว แต่ “ตลาดบ้านหรู” กลับเป็นเซ็กเม้นต์ที่เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จึงได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อย ทำให้ความต้องการบ้านหรูเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความต้องการอยู่อาศัยของลูกค้ากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับขนาดพื้นที่ใช้สอย ทำเลที่อยู่อาศัย และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของบ้าน ประกอบกับอุปทานในตลาดที่ยังมีอยู่น้อย จากการที่ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการ และข้อจำกัดในการหาที่ดินขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาโครงการ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แล้วทิศทาง “ตลาดบ้านหรู” หลังสถานการณ์ COVID คลี่คลาย จะเป็นอย่างไร? ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดบ้านหรู พร้อมแนวทางสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภคไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ตลาดบ้านหรูในภาพรวม : ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 หน่วยเปิดขายใหม่มีการชะลอตัวในปี 2564 แต่กลับมาเพิ่มขึ้นมากในปี 2565 โดยในระยะต่อไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ “ชะลอ” ลงจากปีที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการจะเปิดโครงการอย่างระมัดระวังมากขึ้น จากการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ในส่วนของหน่วยขาย ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างสม่ำเสมอในระยะต่อไป ทำให้หน่วยเหลือขายสะสมยังไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2563 และมีแนวโน้มที่จะยังทรงตัวอยู่ในระดับเดิม หรืออาจเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ตลาดบ้านหรูในทำเลยอดนิยม : ในปี 2565 ทำเลที่มีการซื้อขายสูงสุด ได้แก่ สุขาภิบาล 2 และสุขาภิบาล 3 คิดเป็น 15% ของหน่วยขายได้ของตลาดบ้านหรูทั้งหมด รองลงมาเป็นตลิ่งชันคิดเป็น 11% ลำดับถัดมาเป็นพัฒนาการ ที่รวมกรุงเทพกรีฑาเข้าไปในพื้นที่คิดเป็น 10% ศรีนครินทร์-อุดมสุขคิดเป็น 7% และบางนา-ตราดคิดเป็น 5% ในส่วนของทำเลที่มีอัตราการขยายตัวของหน่วยขายได้โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2562-2565 สูงที่สุด ได้แก่ ศรีนครินทร์-อุดมสุขอยู่ที่ 82%CAGR รองลงมา ได้แก่ สุขาภิบาล 2 และสุขาภิบาล 3 อยู่ที่ 75%CAGR และพัฒนาการ (กรุงเทพกรีฑา) อยู่ที่ 23%CAGR

ทั้งนี้ ทำเลยอดนิยมส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นทำเลที่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมากนัก สามารถเดินทางเข้าถึงได้สะดวกด้วยรถไฟฟ้า และทางด่วน นอกจากนั้นยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกค่อนข้างมาก ทั้งสนามบินนานาชาติ โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ รวมถึงโรงเรียนนานาชาติชั้นนำ ขณะที่ทำเลฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ตลิ่งชัน รวมถึงพื้นที่คาบเกี่ยวโซนราชพฤกษ์ เริ่มส่งสัญญาณการขยายตัวมากขึ้นในระยะต่อไป โดยมีทางด่วน และถนนวงแหวนรอบนอกเชื่อมต่อเขตเมือง รวมถึงมีขยายตัวของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และโรงเรียนนานาชาติในพื้นที่มากขึ้น

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ซื้อ และผู้ประกอบการ

  • ผู้ซื้อ : ในช่วงปัจจุบันยังเป็นโอกาสที่ดีในการตัดสินใจซื้อ จากระดับราคาที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก และควรพิจารณาเลือกผู้พัฒนาโครงการจากประสบการณ์ และผลงานที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัย
  • ผู้ประกอบการ : จากต้นทุนก่อสร้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้พัฒนาโครงการควรบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อรักษาอัตรากำไร รวมถึงพิจารณาการแข่งขันในบางพื้นที่ที่อาจมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ที่คำนึงถึงการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม และนำเทคโนโลยี Smart home ใหม่ ๆ มาปรับใช้

แชร์ :

You may also like