HomeBrand Move !!ลาซาด้าเปิดตัวแม่ทัพรับ 11.11 เผยโฉม “Lazada Logistic” ศูนย์คัดแยกไฮเทคที่รับพัสดุได้ 2 ล้านชิ้นต่อวัน

ลาซาด้าเปิดตัวแม่ทัพรับ 11.11 เผยโฉม “Lazada Logistic” ศูนย์คัดแยกไฮเทคที่รับพัสดุได้ 2 ล้านชิ้นต่อวัน

แชร์ :

ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ “ลาซาด้า” (Lazada) เปิดตัวอีกหนึ่งแม่ทัพรับการแข่งขันปลายปี กับพื้นที่ให้บริการโลจิสติกส์ย่านบางนาภายใต้ชื่อ “ศูนย์คัดแยกสินค้าเทพารักษ์” ขนาด 35,000 ตารางเมตร ที่รองรับการคัดแยกพัสดุได้สูงสุดถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ภายในพื้นที่ดังกล่าว มาพร้อมเทคโนโลยีล่าสุดจากลาซาด้า ไม่ว่าจะเป็นสายพานขนาดใหญ่ พร้อมระบบอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยกล้อง AI ซึ่งหากเปรียบเทียบกับคลังสินค้าที่บริษัทเคยเปิดให้เยี่ยมชมเมื่อปี 2019 จะเห็นได้ว่าคลังสินค้าแห่งใหม่นี้ มาพร้อมประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มีเทคโนโลยีที่แม่นยำมากขึ้น และรองรับการจัดส่งสินค้าได้รวดเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คุณณัฎฐพล เกรียงชัยเวทย์ รองประธานอาวุสโสฝ่ายโลจิสติกส์ ของลาซาด้า โลจิสติกส์ ประเทศไทย เผยว่า ศูนย์คัดแยกสินค้าดังกล่าวเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยความสามารถของศูนย์คัดแยกสินค้าแห่งนี้ทำให้ตัวเลขในการคัดแยกพัสดุของลาซาด้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านชิ้นต่อวัน (ตัวเลขรวมของศูนย์คัดแยกทั้งหมด 3 แห่งที่ลาซาด้ามีในปัจจุบัน นั่นคือที่เทพารักษ์ สุขสวัสดิ์ และฉะเชิงเทรา)

หนึ่งในไอเท็มที่พบมากขึ้นในศูนย์คัดแยกสินค้าแห่งใหม่นี้ก็คือกล้อง AI ที่มีการติดตั้งและสแกนบาร์โค้ดของตัวสินค้าตลอดเส้นทาง ซึ่งผู้บริหารของลาซาด้าเผยว่า ตัวกล้องที่ติดตั้งอยู่ในหลาย ๆ จุด ทำให้ระบบสามารถสแกนพัสดุได้ไม่ว่าพัสดุจะถูกวางบนสายพานในรูปแบบใด (แม้จะคว่ำบาร์โค้ดลงก็ยังสามารถสแกนได้ เพราะได้ติดตั้งกล้องเอาไว้ที่ใต้สายพานด้วยนั่นเอง)

นอกจากนั้น สิ่งที่แตกต่างจากเทคโนโลยีของศูนย์คัดแยกสินค้าที่เคยเปิดตัวเมื่อห้าปีก่อนอย่างเห็นได้ชัดก็คือ การใช้ระบบอัตโนมัติบนสายพานช่วยจัดเรียงพัสดุจนอยู่ในระยะที่เหมาะสมได้เอง โดยหากในช่วงเริ่มต้นของสายพาน มีการวางพัสดุอย่างระเกะระกะ ไม่เป็นระเบียบ เมื่อถูกส่งผ่านไปตามสายพานเรื่อย ๆ จะมีการปรับระยะห่างของพัสดุให้เป็นระเบียบมากขึ้นได้โดยอัตโนมัติ และพนักงานไม่ต้องเข้าช่วยจัดเรียงแต่อย่างใด

พัสดุที่ถูกส่งไปตามสายพานจะถูกสแกนบาร์โค้ด ชั่งน้ำหนัก และแยกไปตามสายพานตามน้ำหนักของกล่อง จากนั้นจะถูกคัดแยกไปตามพื้นที่การจัดส่ง เช่น ย่านบางนา สุพรรณบุรี นครชัยศรี ฯลฯ โดยจะมีถุงพัสดุรองรับ

เมื่อถุงเต็ม (จะมีเซนเซอร์ตรวจจับบริเวณปากถุง) ระบบจะแจ้งให้พนักงานมาปิดปากถุง ก่อนจะส่งถุงพัสดุไปตามรางเหล็กเพื่อนำขึ้นรถบรรทุกไปยัง Hub กระจายสินค้าต่อไป

พัสดุที่ส่งมาตามสายพานจะถูกคัดแยกเพื่อบรรจุลงในถุง (สีขาว) ตามพื้นที่ที่ต้องจัดส่ง

คุณณัฎฐพลกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ระบบอัตโนมัติ ทำให้ลาซาด้าสามารถคัดแยกพัสดุได้อย่างแม่นยำ และจัดส่งได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว รวมถึงช่วยลดแรงกระแทกในกระบวนการคัดแยกซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่พัสดุจะเสียหาย และเพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานด้วย

นอกจากนี้ การมีระบบอัตโนมัติยังทำให้ลาซาด้าสามารถเพิ่มกำลังการคัดแยกได้ในกรณีจัดเมกะแคมเปญซึ่งเป็นช่วงสร้างรายได้สำคัญให้แก่ร้านค้าด้วยนั่นเอง

เปิดตัวบริการส่งเร็วพิเศษ (Priority Delivery)

ด้านคุณเจมส์ มาร์แชนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายโลจิสติกส์ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวเสริมว่า จากความสามารถที่เพิ่มขึ้นของศูนย์คัดแยกสินค้านี้ ทำให้ลาซาด้าสามารถเปิดให้บริการ “ส่งเร็วพิเศษ” (Priority Delivery) อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาได้ด้วย

คุณเจมส์ มาร์แชนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายโลจิสติกส์ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย)

“บริการ “ส่งเร็วพิเศษ” (Priority Delivery) จะทำให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าภายใน 2 วันทำการ หลังจากวันที่ทำการสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้า LazMall หรือ ร้านค้าแนะนำ (LazPick) และผู้ขายมาร์เก็ตเพลสที่เข้าร่วมบริการ โดยไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม ปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 23 จังหวัดสำคัญทั่วประเทศ อาทิ กรุงเทพฯ และปริมณฑล กาญจนบุรี ชลบุรี และ นครราชสีมา เป็นต้น โดยนักช้อปสามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีสัญลักษณ์บริการส่งเร็วพิเศษได้จากหน้าเพจสินค้าหรือเลือกผ่านตัวกรองในหน้าค้นหาสินค้า”

“เราพบว่าลูกค้าที่ได้ใช้บริการส่งเร็วพิเศษมีแนวโน้มที่จะมีความพึงพอใจต่อการซื้อสินค้าชิ้นนั้น ๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการยกเลิกคำสั่งซื้อโดยรวมต่ำลง และทำให้ยอดขายของแบรนด์เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลาซาด้าสามารถขยายบริการส่งเร็วพิเศษได้อย่างต่อเนื่อง คือ การมีศูนย์คัดแยกสินค้าในบริเวณที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย” คุณเจมส์ มาร์แชนท์ กล่าว

ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยตั้งแต่พัสดุเข้ามายังศูนย์คัดแยกสินค้าจนกระทั่งถูกส่งออกไปยังฮับกระจายสินค้านั้นอยู่ที่ 2 ชั่วโมง โดยทางศูนย์คัดแยกสินค้าจะมีการจับเวลาในส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การนำรถเข้ามาจอดรับสินค้าก็มีค่าเฉลี่ยในการจอดที่คันละ 15 นาทีเท่านั้น (รถบรรทุกที่จะเข้ามาจะถูกสแกนทะเบียนรถทุกคัน และคันที่ไม่มีประวัติในฐานข้อมูลจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในศูนย์คัดแยกสินค้าแต่อย่างใด)

หรือในส่วนของพนักงาน ลาซาด้าจะมีการใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูล และทราบล่วงหน้าว่าในแต่ละวันจะมีพัสดุเข้ามาที่ศูนย์คัดแยกเป็นจำนวนเท่าใด ทำให้ลาซาด้าใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจ้างพนักงานได้อย่างถูกต้องด้วย (พนักงานจะมีบัตรพนักงาน และต้องสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนก่อนเข้าพื้นที่คลังสินค้า)

เพิ่มทางเลือกให้ผู้ขายด้วยบริการโลจิสติกส์แบบมัลติแชนแนล

นอกจากนี้ ลาซาด้ามีศูนย์ Fulfillment ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยพื้นที่แห่งนี้ยังเปิดให้บริการโลจิสติกส์แบบมัลติแชนแนลสำหรับร้านค้าในไทยที่ขายบนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ และต้องการให้ Lazada Logistics บริหารจัดการสต็อกสินค้าให้ได้ด้วย

สำหรับบริการด้านโลจิสติกส์แบบมัลติแชนแนล เน้นให้บริการลูกค้าที่มีความจำเป็นต้องบริหารจัดการคำสั่งซื้อจำนวนมาก เช่น กลุ่มแบรนด์ รวมถึงกลุ่มผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซ (eCommerce Enabler) ซึ่งให้บริการด้านระบบบริหารจัดการร้านค้าออนไลน์ให้กับแบรนด์และผู้ขาย แต่อาจมีข้อจำกัดในด้านบริการจัดส่งและไม่มีคลังสินค้าเป็นของตนเอง ก็สามารถนำสินค้ามาฝากไว้ที่ Lazada Logistics  ได้ และหากมียอดคำสั่งซื้อเข้ามา ทาง Lazada Logistics ก็จะบริหารจัดการต่าง ๆ ให้ เช่น หยิบสินค้าจากคลัง – จัดส่ง ฯลฯ โดยบริการในส่วนนี้พบว่าเปิดให้บริการครอบคลุมทั้งกลุ่มที่เป็นและไม่ได้เป็นพันธมิตรของลาซาด้า

อย่างไรก็ดี ทางบริษัทไม่มีการเปิดเผยตัวเลขการลงทุนศูนย์คัดแยกสินค้าแห่งใหม่นี้แต่อย่างใด แต่จากเทคโนโลยีและประสิทธิภาพที่ระบบทำได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้การจัดเมกะแคมเปญปลายปีนี้มีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะในวันที่การแข่งขันเหลือคู่แข่งเพียงไม่กี่ราย ซึ่งการจะครองใจผู้บริโภคได้อาจไม่ใช่ตัวแปรด้านราคาแต่เพียงอย่างเดียว การสร้างความพึงพอใจให้ผู้บริโภค หรือการสร้างความเชื่อมั่นว่าจะได้รับสินค้ารวดเร็วถูกต้องก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับมาร์เก็ตเพลสยุคต่อไปก็เป็นได้

 


แชร์ :

You may also like