HomeInsightสรุป 5 ประเด็น เม็ดเงินโฆษณา ปี 2023  Meta แชมป์กวาดงบเกือบ ‘หมื่นล้าน’

สรุป 5 ประเด็น เม็ดเงินโฆษณา ปี 2023  Meta แชมป์กวาดงบเกือบ ‘หมื่นล้าน’

แชร์ :

อัพเดทสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของประชากรไทยสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก ด้วยเวลา 8.06 ชั่วโมงต่อวัน ใช้งานผ่านมือถือ 95.3%  จำนวน 5.05 ชั่วโมงต่อวัน และใช้ผ่านคอมพิวเตอร์ 47.6%  จำนวน 3.01 ชั่วโมงต่อวัน  ส่วนใหญ่ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 73%  ด้วยตัวเลขนี้ทำให้เม็ดเงินโฆษณาสื่อออนไลน์ยังเติบโตได้ต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT และคันทาร์ (ประเทศไทย)  สรุปผลสำรวจมูลค่างบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัล ปี 2023 ไว้ดังนี้

1. ปี 2023 โฆษณาสื่อดิจิทัล มูลค่า 27,481 ล้านบาท เติบโต 7% 

– นับตั้งแต่ DAAT เริ่มจัดเก็บข้อมูลการใช้เม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลในปี 2012 พบว่าเติบโตทุกปี แม้จะเจอวิกฤติต่างๆ อย่างในช่วงโควิดก็ยังเติบโตได้

– โดยสรุปปี 2022 มูลค่า 25,729  ล้านบาท เติบโต 4% (ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 9%) ปัจจัยที่ปีก่อนเติบโตต่ำ เพราะกลุ่มสินค้า FMCG ได้รับกระทบจากเงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงจากราคาน้ำมัน ก๊าซ ค่าไฟฟ้า ขณะที่รัฐบาลให้ตรึงราคาสินค้า อย่าง น้ำดื่ม น้ำอัดลม  กลุ่ม FMCG จึงตัดงบโฆษณาเพื่อนำเงินไปช่วยต้นทุนค่าผลิต

 

– ปี 2023  คาดการณ์โฆษณาสื่อดิจิทัลมีมูลค่า 27,481 ล้านบาท เติบโต 7% 

– แม้ก่อนหน้านี้เม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก จากนั้นชะลอตัวช่วงโควิด  มาปี 2022 เจอปัจจัยลบสงครามรัสเซีย-ยูเครน, เงินเฟ้อ, ราคาน้ำมัน  ล้วนกระทบการใช้เงินโฆษณาของสินค้า และกระทบต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2023 ทำให้หลายธุรกิจยังชะลอการใช้งบโฆษณา เพื่อรอดูสถานการณ์ต่างๆ เช่น จีนเปิดประเทศ แต่ก็มีหลายธุรกิจเริ่มกลับมาใช้งบในไตรมาสแรกเปิดตัวสินค้าใหม่ที่ชะลอไว้ตั้งแต่ปีก่อน

– อีกปัจจัยสำคัญปีนี้ คือการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อ และอาจเห็นโฆษณาสื่อดิจิทัลเติบโตได้มากกว่าที่สมาคม DAAT คาดการณ์ไว้

2. ท็อปไฟว์ธุรกิจใช้งบโฆษณาดิจิทัลสูงสุด ปี 2023

หากดูรายธุรกิจที่ใช้งบโฆษณาสื่อดิจิทัลสูงสุด 5 อันดับแรก เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก สรุปได้ดังนี้

1. ยานยนต์ มูลค่า 2,759 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 14%

2. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มูลค่า 2,723 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 7%

3. สกินแคร์ มูลค่า 2,460 ล้านบาท  ไม่เพิ่มขึ้น

4. กลุ่มสื่อสาร มูลค่า 2,129 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 6%

5. ผลิตภัณฑ์จากนม มูลค่า 1,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%

 

– ที่ผ่านมา “ยานยนต์” เป็นธุรกิจที่ใช้เงินโฆษณาสูงสุดมาตลอดตั้งแต่ปี 2017 แต่ในปี 2022 ตกไปอยู่อันดับ 3 เนื่องจากมีปัญหาการผลิต ขนาดแคลนรถยนต์ที่จะส่งให้ลูกค้า เห็นได้จากต้องการจองรถใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน (ทั้งรถยนต์สันดาปและอีวี) ทำให้การใช้เม็ดเงินโฆษณากลุ่มยานยนต์ลดลงในทุกสื่อ

–  แม้ปี 2022  มีรถอีวีเข้ามาทำตลาดหลายแบรนด์ ยอดจอง 10 เดือนรถอีวี สูงกว่ายอดจองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าปี 2040 รถยนต์ทุกคันน่าจะเป็นรถอีวีแล้ว การเข้ามาของรถอีวีทุกแบรนด์ในปีก่อน ไม่ใช่ว่าทุกคันจะทำตลาดดิจิทัล บางแบรนด์ใช้สื่อนอกบ้าน (OOH) อย่างเดียว ทำให้ยอดใช้จ่ายเงินกลุ่มยานยนต์ปีก่อนตกจากอันดับหนึ่ง

– ปี 2023 คาดการณ์กลุ่มยานยนต์ จะกลับมาสู่เบอร์หนึ่งใช้งบโฆษณาสูงสุด เพราะปัญหาขาดแคลนชิปผลิตรถยนต์ลดลงแล้ว รถยนต์อีวีเริ่มส่งมอบและออกโปรดักท์ในกลุ่มลักชัวรี่มากขึ้น

– ด้านธุรกิจสื่อสารปีนี้งบโฆษณาเติบโต 6% กลุ่มนี้มี 2 ส่วน คือ 1. เครือข่ายมือถือ 2. อุปกรณ์สื่อสาร  ปี 2022 เม็ดเงินลดลงจากแผนการรวมกิจการของ True และ DTAC ทำให้การใช้งบโฆษณาจาก 2 ราย เหลือ 1 ราย  และภาพรวมเหลือ 2 กลุ่มคือ AIS และ True  การแข่งขันที่เหลือ 2 กลุ่มเม็ดเงินจะไม่หวือหวาเหมือน 3 ค่าย  แต่ปี 2023 ยังมองมุมบวกหลังจาก True และ DTAC รวมกันแล้วจะกลับมาใช้งบการสื่อสารแบรนด์จากการรวมกิจการ  เช่นเดียวกับ AIS จะออกมาสื่อสารแบรนด์มากขึ้นตั้งแต่เมษายน  อีกปัจจัยเสริมคือ “ดีไวซ์” จะเห็นค่ายจีนทำตลาดมากขึ้น

 3. Meta (Facebook และ IG) แชมป์กวาดงบโฆษณาดิจิทัล 9,230 ล้าน

หากแยกประเภทสื่อดิจิทัลที่ครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดในปี 2023 (เปรียบเทียบกับปี 2022) สรุปได้ดังนี้

1. Meta (Facebook และ Instagram) มูลค่า 9,230 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 6 %

2. YouTube  มูลค่า 3,812 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 8%

3. Online Video มูลค่า 2,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6%

4. Social  มูลค่า 2,273  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%

5. Creative มูลค่า 1,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%

6. Search  มูลค่า 1,749 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  6%

7. Display มูลค่า 1,694 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12%

8. LINE มูลค่า 1,648 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 12%

9. TikTok Ad มูลค่า 1,196 ล้านบาท  เพิ่มขึ้น 14%

10. Affiliated Marketing  มูลค่า 470 ล้านบาท เพิ่มขึ้น   6%

Meta ครองแชมป์เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แม้จำนวนผู้ใช้ชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีหลัง แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เข้าถึง (reach) ผู้บริโภคทั่วประเทศไทยได้เป็นอันดับหนึ่ง และเป็นแพลตฟอร์มที่มี Active User จำนวนมาก

– โดยมีทั้ง Facebook Instagram Messenger WhatsApp  ทำให้มีช่องทางลงโฆษณาและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย  รวมทั้งการลงโฆษณาเพื่อสร้างยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ทั้ง เว็บไซต์แบรนด์ และ อีมาร์เก็ตเพลส  ปี 2023 นี้ กลุ่ม Meta โกยงบโฆษณาไปได้เกือบ “หมื่นล้าน” 

4. การใช้สื่อเจาะกลุ่ม Gen Z

หากเจาะพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดียของกลุ่ม Gen Z แต่ละแพลตฟอร์มจะมีรูปแบบแตกต่างกันดังนี้

–  Meta เป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้มากที่สุด แต่ก็ชะลอตัวลงเพราะ Gen Z ใช้ Meta ลดลง ส่วนสื่อที่ใช้มากขึ้นคือ YouTube  มาเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อดูคอนเทนท์ ครีเอเตอร์ต่างๆ ตอบโจทย์เรื่องความบันเทิง,การศึกษา, เสริมความรู้, ออกกำลังกาย เป็นต้น

– TikTok ผู้ใช้งานชอบดู Live เพื่อซื้อสินค้า  TikTok Shop นอกจากนี้ยังตามศิลปิน ดารา ที่ชื่นชอบ ฟังเพลงสตรีมมิ่ง เห็นได้ว่าเพลงฮิตต่างๆ  มักมี TikTiok เริ่มต้นจุดกระแส

– Instagram คนทั่วไปใช้โพสต์รูป แต่ Gen Z ใช้ Chat DM

– Twitter ใช้ติดตามดารา ศิลปินเกาหลี พูดคุยกับกลุ่มแฟนคลับด้วยกัน เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับศิลปิน

5. MAAT คาดโฆษณาสื่อออฟไลน์-ออนไลน์ ปีนี้มูลค่า 1.2 แสนล้าน

ด้านสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ประเมินตัวเลขการใช้งบโฆษณาสื่อทุกประเภท (ออฟไลน์และออนไลน์) ปี 2023 เติบโต 4-7% โดยแบ่งเป็น 2 กรณี

1. Worst Case เติบโต 4%  มูลค่าอยู่ที่ 120,600 ล้านบาท โดยสื่อดั้งเดิมที่ยังเป็นบวกคือ ทีวีเติบโต 2-3% สื่อโรงภาพยนตร์ 15-20% ป้ายโฆษณา 10-15%  ส่วนสื่อดั้งเดิมที่ติดลบ คือ วิทยุ -5%  หนังสือพิมพ์ -25% นิตยสาร -35%

2. Best Case เติบโต 7%  มูลค่าอยู่ที่ 120,600 ล้านบาท  สื่อดั้งเดิมที่ยังเป็นบวก คือ ทีวีเติบโต 5-7%  สื่อโรงภาพยนตร์ 20-25%  ป้ายโฆษณา 15-20%  ส่วนสื่อดั้งเดิมที่ติดลบ คือ วิทยุ -3%  หนังสือพิมพ์ -25%  นิตยสาร -35%

โดยตัวเลขคาดการณ์ที่ MAAT ประเมินโดยใช้ข้อมูลรายได้จากบริษัทสื่อทีวี หักส่วนลด Rate Card และการจัดเก็บภาษี e-Service แพลตฟอร์มต่างชาติของกรมสรรพากร เพื่อคำนวณออกมาเป็นมูลค่าเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อที่ใกล้เคียงตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง คาดการณ์ว่าปี 2023  โฆษณาสื่อทีวี จะมีสัดส่วน 40-42% ใกล้เคียงกับโฆษณาสื่อออนไลน์ ที่สัดส่วน 42-45% ของภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณา

เม็ดเงินโฆษณาสื่อปีนี้มีทิศทางดีขึ้นจากเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด แต่อาจจะมีปัจจัย “เงินเฟ้อ” ที่เพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจโลกแย่ลง ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ชะลอใช้งบโฆษณา

การเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อโฆษณายังคงมาจากสื่อออนไลน์เติบโตต่อเนื่อง เสริมทัพด้วยสื่อนอกบ้าน (out-of-home) ที่ได้รับความนิยมที่มากขึ้นจากพฤติกรรมของของผู้บริโภคที่กลับมาใช้ชีวิตปกติ มีการเดินทางและใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมข้างนอกบ้านมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like