HomeDigitalทำไม Tech Company ในสหรัฐอเมริกาเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก และใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ

ทำไม Tech Company ในสหรัฐอเมริกาเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก และใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ

แชร์ :

microsoft

จากการเลย์ออฟพนักงานสายการบิน พนักงานในธุรกิจค้าปลีก และอีกหลากหลายสาขาในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 เมื่อช่วงปี 2020 ที่ส่งผลให้โลกต้องหมุนเข้าสู่ดิจิทัล หนึ่งในอาชีพที่ถูกมองว่าปลอดภัยมากที่สุดอาจเป็นอาชีพในสาขาเทคโนโลยีที่พบว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของ Hybrid Work  หรือ eCommerce เพื่อพาผู้ใช้งานเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ดี มาถึงวันนี้ ภาพที่เกิดขึ้นอาจทำให้หลายคนไม่เชื่อสายตา เมื่อการเลย์ออฟพนักงานได้เริ่มรุกล้ำเข้ามาถึงพื้นที่ทองคำอย่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อย เห็นได้จากการออกมาประกาศเลย์ออฟพนักงานของบริษัทชื่อดังจำนวนมาก เช่น Meta, Twitter, Snap, Amazon, Salesforce ฯลฯ ก่อนจะตามมาด้วย 2 บริษัทระดับบิ๊กโฟร์ เช่น Alphabet – Microsoft ที่ประกาศเลย์ออฟพนักงานหลักหมื่นคนติด ๆ กัน

ข้อมูลจาก Crunchbase ระบุว่า มีพนักงานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกากว่า 46,000 คนที่ถูกเลย์ออฟในช่วงต้นปี 2023 ที่ผ่านมา ซึ่งตัวเลขนี้ได้รวมการเลย์ออฟพนักงานของ Microsoft จำนวน 10,000 คน และการเลย์ออฟของ Alphabet บริษัทแม่ของ Google อีก 12,000 คนเอาไว้แล้ว ส่วนในปี 2022 พบว่ามี Tech Company ทั้งที่อยู่ในตลาดหุ้นและยังเป็นระดับสตาร์ทอัพของสหรัฐอเมริกา เลย์ออฟพนักงานไปมากกว่า 107,000 ตำแหน่งด้วยเช่นกัน

มีการวิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักของปรากฏการณ์นี้มาจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้หลายบริษัทเลือกใช้นโยบายรัดเข็มขัดในระดับเข้มข้น เช่น กรณีของ Twitter ที่มีการเลย์ออฟพนักงานออกครึ่งหนึ่งทันทีที่ Elon Musk เข้ามาบริหาร หรือกรณีของ Meta ที่เคยประกาศว่าจะลงทุนใน Metaverse 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนจะลดการลงทุนลงเหลือ 6,000 – 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐในเวลาต่อมา และมีการเลย์ออฟพนักงานร่วมด้วย

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ มีการพบตัวเลขเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของสหรัฐอเมริกาที่ลดลงเป็นครั้งแรก (เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022) โดยในช่วงเวลานั้น พบว่ามีผู้บริหารของ Y Combinator เคยออกมาเตือนบรรดาบริษัทและธุรกิจสตาร์ทอัพเอาไว้แล้วว่า เศรษฐกิจขาลงนั้นกำลังมา โดยมีการคาดการณ์ว่าช่วงเวลาที่แย่ที่สุดน่าจะมาถึงใน 6 – 12 เดือนข้างหน้า หรือก็คือช่วงเวลานี้นั่นเอง

ปัจจัยที่ 3 ที่นำไปสู่การเลย์ออฟกันอย่างต่อเนื่องก็คือมูลค่าหุ้นในตลาดที่เราจะเห็นกันว่า หลายบริษัทมีมูลค่าหุ้นลดลงอย่างน่าตกใจ เช่น Tesla, Twitter, Netflix และ Meta ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple, Microsoft, Qualcomm ที่เจ็บตัวน้อยที่สุดจากปี 2022 ก็ยังมีมูลค่าหุ้นลดลงถึง 25.49%, 27.34% และ 37.44% เช่นกัน

เมื่อเกิดการเลย์ออฟ ใครบ้างที่ได้รับผลกระทบ

layoff

ในกรณีของคนทำงาน มีผลสำรวจชิ้นหนึ่งจาก Revelio Labs พบว่า 72% ของพนักงานสายเทคโนโลยีที่ถูกเลย์ออฟนั้นสามารถหางานใหม่ได้ใน 3 เดือน และกว่าครึ่งได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งคนที่รับพนักงานเหล่านั้นไปก็ไม่ใช่ใคร แต่คือบริษัทในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ก่อนหน้านี้ ยากจะแย่งชิงตัวพนักงานสายเทคโนโลยีมาได้นั่นเอง

ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเลย์ออฟของบริษัทเทคโนโลยีตัวจริงอาจเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะเมื่อ Tech Company เหล่านี้เลิกจ้างพนักงาน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเช่าออฟฟิศอีกต่อไป

เช่นเดียวกับบรรดาบ้านเช่า ที่นักวิจัยมองว่า ราคาค่าเช่าบ้านในย่านที่บริษัทเทคโนโลยีกระจุกตัวกันหนาแน่นมีแนวโน้มจะลดลงในเร็ว ๆ นี้ รวมถึงการซื้อขายบ้านที่พบว่า บ้านระดับพรีเมียมในสหรัฐอเมริกามียอดขายลดลงเช่นกัน

เลือกได้ไหม ที่จะไม่เลย์ออฟ

อย่างไรก็ดี ในมุมของนักวิชาการ มีความเห็นจากศาสตราจารย์ Jeffrey Pfeffer แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่น่าสนใจ โดยเขาระบุว่า บางทีการเลย์ออฟของบริษัทต่าง ๆ นี้อาจเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ และต่อให้หางานใหม่ได้เร็วจริง แต่สภาพจิตใจของพนักงานที่ถูกเลย์ออฟก็ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของบริษัทอยู่ดี

“เมื่อมีบางบริษัทเลิกจ้างพนักงาน ก็จะเริ่มมีบริษัทอื่น ๆ ทำตาม ซึ่งผลการศึกษาพบว่า การเลย์ออฟสามารถเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตายได้ถึง 2 เท่า และการเลย์ออฟไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับบริษัทได้ อีกทั้งยังทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม เนื่องจากต้องจ่ายชดเชยให้กับพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ที่สำคัญ การกระทำดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับพนักงานที่เหลืออยู่ด้วย ”

ศาสตราจารย์ Jeffrey Pfeffer ยังได้ยกประโยคดังของอดีตซีอีโอ Procter and Gamble อย่าง A.G. Lafley ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการชิงตลาดจากคู่แข่งก็คือตอนที่คู่แข่งเหล่านั้นเริ่มเลย์ออฟพนักงาน เพราะนั่นหมายความว่า คู่แข่งกำลังลดประสิทธิภาพในการให้บริการ ลดการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ลงนั่นเอง พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษาหลังจากเหตุการณ์ 911 ที่ธุรกิจการบินของสหรัฐอเมริกาได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเกิดการเลย์ออฟพนักงานเป็นจำนวนมาก โดยมีเพียงสายการบิน Southwest บริษัทเดียวที่ตัดสินใจไม่เลิกจ้างพนักงาน ซึ่งในท้ายที่สุด พบว่า สายการบิน Southwest สามารถชิงส่วนแบ่งตลาดของสายการบินอื่น ๆ มาได้สำเร็จ เนื่องจากยังสามารถรักษาระดับการให้บริการเอาไว้ได้ตามความคาดหวังของลูกค้า

ส่วนเหตุการณ์ที่บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาเลย์ออฟพนักงานอย่างกว้างขวางจะเข้ากันได้กับบริบทที่ ศาสตราจารย์ Jeffrey Pfeffer ยกขึ้นมาเปรียบเทียบหรือไม่นั้น อาจเป็นเรื่องที่ต้องรอการพิสูจน์

Source

Source

Source

Source

Source

Source

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like