HomeBrand Move !!เจาะไอเดีย “Bilibili” แพลตฟอร์มอนิเมะที่โตด้วยกลยุทธ์ “Community First”

เจาะไอเดีย “Bilibili” แพลตฟอร์มอนิเมะที่โตด้วยกลยุทธ์ “Community First”

แชร์ :

bilibili

อาจเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอออนดีมานด์ที่ชื่อแปลกสักนิดสำหรับ Bilibili (ออกเสียงว่าบิลิบิลิ) น้องใหม่อายุ 2 ปีในตลาดไทย แต่สำหรับในจีนแล้ว พวกเขาเกิดและเติบโตมายาวนาน โดยเปิดตัวตั้งแต่ปี 2009 ในฐานะแพลตฟอร์มด้าน ACG (ย่อมาจาก Anime – Comic – Game) ที่มีแฟนประจำเหนียวแน่น และปัจจุบัน 65% ของผู้ใช้งาน Bilibili ที่สมัครไว้ตั้งแต่ปี 2009 ก็ยังคงเล่นอยู่ (อ้างอิงจากบทสัมภาณ์คุณ Chen Rui ซีอีโอของ Bilibili จาก Pandaily)

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Bilibili บทพิสูจน์พลังของคนรักอนิเมะ

mikoto misaka bilibili

Mikoto Misaka ตัวเอกจาก A Certain Scientific Railgun จุดกำเนิดของ Bilibili

จุดเริ่มต้นของ Bilibili มาจากความชื่นชอบของผู้ก่อตั้งอย่างคุณซูอี (Xu Yi) ที่มีตัวละครในดวงใจคือ มิโคโตะ มิซากะ (Mikoto Misaka) ตัวเอกจากอนิเมะเรื่อง A Certain Scientific Railgun และชื่อ Bilibili ก็มาจากความสามารถพิเศษของตัวละครดังกล่าวเช่นกัน

ในช่วงแรกของ Bilibili เป็นการเติบโตในลักษณะของเว็บไซต์สำหรับคนที่ชื่นชอบอนิเมะ ก่อนจะเปลี่ยนมาสู่การเป็นแพลตฟอร์มด้าน VDO on Demand เมื่อเดือนมกราคม 2010 และใช้ชื่อ Bilibili อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ได้เติบโตเปรี้ยงปร้างในทันใด โดยในจุดนี้ คุณตะวัน หรือ กัน ซิ่น ฮั่น (Gan Xinhan) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารประจำประเทศไทย ของ Bilibili ได้เล่าย้อนให้ฟังถึง Bilibili ในช่วงเริ่มต้นว่า

“ช่วงเริ่มต้น (2009 – 2010) ของบริษัท เราไม่เคยมองว่าต้องทำเป็นบริษัทใหญ่ เพื่อหารายได้จากอนิเมะให้มาก ๆ แต่เรามีลักษณะคล้ายคอมมูนิตี้สำหรับให้คนมาพูดคุยเกี่ยวกับอนิเมะที่ชอบกันเท่านั้น”

เมื่อ Bilibili พบซีอีโอที่ “ใช่”

การเติบโตของ Bilibili ในทุกวันนี้ นอกจากผู้ก่อตั้งอย่าง Xu Yi แล้ว อีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันก็คือคุณเฉิน ยุย (Chen Rui) นักธุรกิจในแวดวงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีของจีน โดยเขายอมรับว่าตัวเองนั้นก็เข้ามารับชมอนิเมะบนแพลตฟอร์มของ Bilibili  อยู่บ่อยครั้ง จนนำไปสู่การพูดคุยกันกับ Xu Yi และเข้ารับตำแหน่ง CEO ของ Bilibili เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014

ภายใต้การบริหารของ Chen Rui เขาได้วางกลยุทธ์ไว้ว่า ต้องให้ความสำคัญกับคอมมูนิตี้เป็นอันดับแรก หรือ Community First ซึ่งทำให้ Bilibili มีการลงทุนซื้ออนิเมะลิขสิทธิ์ที่มีคุณภาพสูงมามากมาย และนั่นทำให้วัยรุ่นจีนให้ความสนใจเข้ามาใช้บริการในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งในจุดนี้ คุณตะวันได้กล่าวเสริมให้เห็นภาพมากขึ้นว่า

“วัยรุ่นในจีนมองว่า บริษัทไม่หาเงินจากคนที่ชอบอนิเมะ ซึ่งเขามองว่านี่คือความจริงใจ และทำให้วัยรุ่นทั่วประเทศจีนต่างพากันเข้ามาที่แพลตฟอร์มของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ”

คุณตะวัน หรือ กัน ซิ่น ฮั่น (Gan Xinhan) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารประจำประเทศไทย ของ Bilibili

คุณตะวัน หรือ กัน ซิ่น ฮั่น (Gan Xinhan) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารประจำประเทศไทย ของ Bilibili

สร้างจุดต่างด้วยการเปิดพื้นที่ User Generated Content

นอกจากการเป็นแพลตฟอร์ม VDO on Demand แล้ว สิ่งที่ทำให้ Bilibili แตกต่างจากคู่แข่งในตลาดเดียวกันคือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างคอนเทนต์และอัปโหลดขึ้นมาบนแพลตฟอร์มได้ด้วยหรือที่เรียกว่าคอนเทนต์ประเภท UGC (User Generated Content)

ข้อมูลจาก PanDaily ระบุว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ Bilibili มีครีเอเตอร์ที่อัปโหลดคอนเทนต์ขึ้นแพลตฟอร์มทั่วโลกรวมกัน 3.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 75% ส่วนตัวเลขคอนเทนต์ที่มีการอัปโหลดขึ้นบนแพลตฟอร์มนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 12.6 ล้านชิ้นต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 63%

สำหรับประเทศไทย คุณตะวันเผยว่า ปัจจุบัน Bilibili มี Monthly Active Creators มากกว่า 8,000 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยในการโพสต์อยู่ที่ 3 – 4 คลิปต่อเดือน และหากเป็นครีเอเตอร์ระดับท็อปจะมีทักษะในการทำคลิปที่สูงมากด้วย

สาเหตุที่ทางแพลตฟอร์มเปิดให้มีคอนเทนต์แบบ UGC นอกเหนือจากการเป็น VDO on Demand มาจากความเข้าใจหัวอกคนชอบอนิเมะด้วยกัน โดยคุณตะวันกล่าวว่า หลายคนไม่ได้ต้องการอะไรมาก แค่อยากมีส่วนร่วมกับอนิเมะเรื่องที่ชอบ หรือแค่ทำคลิปออกมาแล้วมีคนชื่นชม แค่นี้พวกเขาก็มีความสุขมากแล้ว

“เราพบว่ามีครีเอเตอร์ UGC (User Generated Content) หลายคนที่ชอบพากษ์เสียงอนิเมะ เราก็เคยจัดกิจกรรม พาครีเอเตอร์ไปเยี่ยมชมสตูดิโอเลยว่า นักพากษ์มืออาชีพทำงานกันอย่างไร และให้เขาลองพากษ์อนิเมะจริง ๆ นอกจากนั้น ทางแพลตฟอร์มเองก็อยากทำเป็นอนิเมะพากษ์ไทยเหมือนกัน เราเลยมองว่า กิจกรรมนี้จะเปิดไปเรื่อย ๆ ถือเป็นการทดลองอย่างหนึ่ง เพราะเราก็เข้าใจคนที่เป็นแฟนคลับ เขาย่อมอยากมีความเกี่ยวข้องกับ (อนิเมะ) เรื่องนี้บ้าง ในฐานะแพลตฟอร์ม เราจึงมองว่า เราควรสร้างโอกาส สร้างอาชีพให้เขาเข้าสู่วงการนักพากษ์มืออาชีพได้ด้วย”

“ในแพลตฟอร์มเรามีครีเอเตอร์มากมายที่ทำคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ โดยใช้ทักษะการพากย์เสียงประกอบกับความชื่นชอบในอนิเมะ เราก็มองว่า ปกติเขาก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากฝั่งไหน แค่มีคนชอบดู เขาก็ปลื้มแล้ว เราก็กำลังมองว่า จะมีโอกาสดึงเขาเข้ามาในทีมแปลของเราได้ไหม เราอยากทดลอง อยากมีเป้าหมาย อยากให้เราเป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งมั่นลงไปถึงระดับโปรดักชัน ลงไปในทุกส่วนของอุตสาหกรรมนี้” คุณตะวันกล่าว

Bilibili ก้าวเข้าตลาดหุ้นสหรัฐ

การเติบโตของ Bilbili มาถึงจุดที่ต้องเข้าตลาดหุ้น โดยพวกเขาทำมันสำเร็จในเดือนมีนาคม 2018 กับการไปปรากฏชื่ออยู่ในตลาด Nasdaq ของสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การจับมือกับสตูดิโอชื่อดังต่าง ๆ ทั่วโลกในเวลาต่อมา ซึ่งทำให้คอนเทนต์ในแพลตฟอร์มมีความเข้มแข็งมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการเติบโตของ Bilibili ในปี 2022 ที่พบว่าไตรมาสแรกของปี 2022 พวกเขามียอดผู้ใช้งานรายเดือน (The average monthly active users) อยู่ที่ 294 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีผู้ใช้งานแบบจ่ายเงินรายเดือนถึง 27.2 ล้านคน และมีรายได้ 5,054 ล้านหยวน หรือประมาณ 25,265 ล้านบาท

ส่วนในไตรมาส 2  ของปี Bilibili มีผู้ใช้งานรายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 305.7 ล้านคน ส่วนรายได้สุทธิลดลงเล็กน้อยเหลือ 4.9 พันล้านหยวน (ประมาณ 24,842 ล้านบาท) แต่ในด้านผู้ใช้งานแบบจ่ายเงินรายเดือนพบว่าเพิ่มขึ้นเป็น 27.5 ล้านคน และยังเป็นการเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2021 ถึง 32% เลยทีเดียว ส่วนผลประกอบการไตรมาส 3 จะมีการแถลงในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

แพลตฟอร์มที่มีคนเยอะ “สร้างสรรค์ได้มากกว่า”

เมื่อหันมาดูโมเดลการสร้างรายได้ของ Bilibili จะพบว่ามาจากหลายช่องทาง หรืออาจเรียกว่าเตรียมตะกร้าไว้หลายใบ ไม่ได้โฟกัสไปที่รายได้จากค่าโฆษณาแต่เพียงอย่างเดียว เห็นได้จากบริษัทมีการสร้างเกมโมบายล์ และทำรายได้จากธุรกิจดังกล่าว 1,046.2 ล้านหยวน รวมถึงมีรายได้จากธุรกิจ VAS (Value-added services เช่น การไลฟ์บรอดแคสต์ ฯลฯ) อีก 2,103 ล้านหยวน รายได้จากค่าโฆษณา 1,158 ล้านหยวน, รายได้จากอีคอมเมิร์ซ 601 ล้านหยวน (ตัวเลขจากไตรมาส 2 ของปี 2022)

“การสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมอนิเมะจะไม่ได้มาจากการโฆษณาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถต่อยอดไปได้อีกหลายธุรกิจ เราทำไลฟ์ได้ เราทำเกมได้ แล้วยังสามารถนำเทคโนโลยีอนิเมชันไปประยุกต์เรื่องทำภาพยนตร์ได้อีกมาก นี่คือการต่อยอดของแพลตฟอร์ม” – คุณตะวันกล่าว

สร้างจุดต่างในไทย ด้วยการ “ไร้โฆษณา”

สำหรับประเทศไทย Bilibili ยังไม่มีโครงสร้างด้านการหารายได้เหมือนในตลาดโลก ส่วนหนึ่งเพราะทางแพลตฟอร์มเพิ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการในปี 2019 ซึ่งถือว่าเป็นการใช้ช่วงเวลาตอนนี้ในการสำรวจตลาด สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค และปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของคนไทยให้เร็วที่สุด

แต่สิ่งหนึ่งที่ทางแพลตฟอร์มมองว่าสามารถสร้างความแตกต่างได้แล้วก็คือ การเป็นแพลตฟอร์มที่มีอนิเมะลิขสิทธิ์ให้เลือกรับชมมากกว่า 1,500 เรื่อง ซึ่งคุณตะวันบอกว่า Bilibili เป็นแพลตฟอร์มที่มีอนิเมะมากที่สุดในบรรดาแพลตฟอร์ม VDO on demand ที่ทำตลาดอยู่ในขณะนี้ โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมบนแพลตฟอร์ม ส่วนใหญ่คืออนิเมะชื่อดังแห่งยุคอย่าง Spy x Family, Demon slayer, One piece แต่ก็มีคอนเทนต์ประเภทอื่น ๆ เช่น คอนเทนต์ด้านเกม การพากษ์เสียงอนิเมะ คอสเพลย์ ที่ได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ ทางแพลตฟอร์มยังไม่เคยถอดอนิเมะเรื่องใด ๆ ออก และไม่มีแผนจะใส่ “โฆษณา” ลงมาให้การรับชมเสียอรรถรสแต่อย่างใด โดยปัจจุบัน ค่าเฉลี่ยของผู้ใช้งาน Bilibili ในไทยพบว่า มีการเข้ามาชมคอนเทนต์ขั้นต่ำ 3 – 4 ตอนต่อวัน และทางแพลตฟอร์มยังมีอนิเมะหลายเรื่องที่หาไม่ได้จากแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย

bilibili

ในฐานะที่เป็นแพลตฟอร์มด้านอนิเมะ ผู้บริหารเองก็คงต้องมีอนิเมะในดวงใจอยู่บ้าง ซึ่งสำหรับคุณตะวัน เขาได้เผยว่า 3 อนิเมะเรื่องโปรดก็คือ นารูโตะ สวรรค์ประทานพร และ Spy x Family

“ปัจจุบัน คอนเทนต์ของ Bilibili สองในสามมาจากญี่ปุ่น และส่วนที่เหลือมาจากจีน ซึ่งพบว่ามีคนไทยให้ความสนใจและยอมรับอนิเมชันจากจีนมากขึ้น เช่น เรื่องสวรรค์ประทานพร นอกจากนั้น เรื่องที่เราดีใจก็คือ ตัวเลข Daily active user ของเราในปี 2022 เติบโตขึ้นจาก 2021 ประมาณ 50% ซึ่งคนที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่าแพลตฟอร์มของเราจะมีความหลากหลายมากขึ้นโดยอัตโนมัติ เหมือนที่เกิดขึ้นในจีน ที่เมื่อมีคนเข้ามามาก ๆ ก็จะมียูสเซอร์อัปโหลดคอนเทนต์เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ทำอาหาร สัตว์เลี้ยง ฯลฯ เพิ่มเข้ามา ด้วยเหตุนี้ กลยุทธ์ในปีหน้า เราจะขยาย ecosystem ให้หลากหลายมากขึ้น โดยจะยังโฟกัสในคอนเทนต์ประเภท ACG เป็นหลัก” คุณตะวันกล่าวปิดท้าย


แชร์ :

You may also like