HomeInsightสสส. เปิด Insight พฤติกรรมการกินคนไทย ชี้ คนทำงาน “ติดหวาน” มากขึ้น 14% เพิ่มความหวานในเครื่องดื่มสูงขึ้น

สสส. เปิด Insight พฤติกรรมการกินคนไทย ชี้ คนทำงาน “ติดหวาน” มากขึ้น 14% เพิ่มความหวานในเครื่องดื่มสูงขึ้น

แชร์ :

sweet สสส

แม้กระแสรักสุขภาพและการรับประทานเพื่อสุขภาพจะเป็นเทรนด์มาแรงในช่วงหลายปีมานี้ แต่ในยุคที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันรอบด้าน ทั้งการทำงาน และสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับความสุขจากการกินอาหารกันมากขึ้น โดยเน้นรสชาติถูกปาก กับเมนูที่ถูกใจ โดยเฉพาะขนมหวานๆ และเครื่องดื่มเย็นๆ เพื่อเติมความสดชื่นให้กับร่างกาย แต่ความสดชื่นแบบนี้อาจอยู่กับร่างกายไม่นาน และหากบริโภคอาหารที่มีรสหวานเกินพอดี อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมาได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ดังนั้น เพื่อเข้าถึงอินไซต์และนำข้อมูลมาใช้ในการวางกลยุทธ์เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) และ “ไวตามินส์ คอนซัลติ้ง แอนด์ รีเสิร์ช” ได้ร่วมกันสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมในการบริโภคอาหารของคนไทยผ่านช่องทางออนไลน์ Buzzebees Panel ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 400 คน ซึ่งครอบคลุมกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยพบพฤติกรรมการกินหวานของคนไทยที่น่าสนใจ ดังนี้

คนไทย “ติดหวาน” ในเครื่องดื่ม 16% เติมน้ำตาลในเครื่องดื่ม 4 ช้อนชาขึ้นไป

หากนึกถึง “ความหวาน” หลายคนคงนึกถึงน้ำตาล ซึ่งแน่นอนว่า คงหนีไม่พ้นขนมหวานหรือเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล ยิ่งช่วงหน้าร้อน แถมเจองานเครียดๆ ถ้าได้กินอะไรหวานๆ เย็นๆ ยิ่งช่วยให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า แต่ในขณะเดียวกัน หากบริโภคน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา เป็นเวลานานๆ อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ในระยะยาว

จากผลสำรวจพบว่า หากทำอาหารกินเองที่บ้าน กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ปรุงรสหวาน และกลุ่มที่ปรุงรสหวานปกติ มีสัดส่วนพอๆ กัน โดยผู้หญิงค่อนข้างกังวลเรื่องความหวานมากกว่าผู้ชาย แต่ถ้าแยกตามช่วงอายุ กลับพบว่า คนที่ไม่ลดหวานเลย และเน้นความอร่อยเป็นหลักคือ กลุ่มคนทำงาน (18-39 ปี) มีสัดส่วนอยู่ที่ 57% เพราะต้องทำงานนอกบ้าน จึงต้องกินข้าวนอกบ้าน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงจะกังวลเรื่องรูปร่าง เวลาทำอาหารที่บ้านจึงพยายามลดความหวานลง

ในขณะที่พฤติกรรมการรับประทานนอกบ้านหากแยกตามประเภทอาหาร เริ่มจากก๋วยเตี๋ยว พบว่า 77% ของผู้บริโภคมักจะเพิ่มน้ำตาล โดยคนที่เติมมากกว่า 1 ช้อนชา ส่วนใหญ่เป็นคนที่ออกมาทำงานนอกบ้าน ส่วนคนที่ไม่เติมน้ำตาลเลย มีสัดส่วนแค่ 23% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิง

เช่นเดียวกับเครื่องดื่ม น้ำหวาน ชากาแฟ คนส่วนใหญ่ยังคงไม่ลดความหวาน โดย 51% ยังดื่มปกติตามที่ร้านชงมาให้ มีสั่งไม่หวานหรือลดความหวานประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งเป็นกลุ่มสูงวัย ขณะที่อีก 14% มักเพิ่มความหวาน โดยเฉพาะ “คนทำงาน” จะเพิ่มความหวานมากกว่ากลุ่มอื่นๆ และมีสัดส่วนถึง 18% มักเติมน้ำตาลตั้งแต่ 4 ช้อนขึ้นไป เหตุเพราะเหนื่อยล้าจากการทำงาน จึงต้องการเครื่องดื่มที่มีความหวาน

ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน วิธีลดหวานยอดนิยม

ผลสำรวจ ยังพบว่า ป้ายแนะนำระดับความหวานที่เคาน์เตอร์เครื่องดื่ม “มีผล” ต่อการลดปริมาณความหวานของผู้บริโภคร้อยละ 33 ขณะที่ 42% ทำให้ลังเล แต่ยังเลือกระดับความหวานปกติอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงกังวลในเรื่องรูปร่าง และรู้สึกกลัวหากบริโภคอาหารที่มีรสความหวานมากเกินไปจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

โดยวิธีที่คนนิยมลดความหวาน อันดับแรกคือ ดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลม 35% รองลงมาคือ ไม่เติมน้ำตาลในอาหาร 34% ตามด้วย การอ่านฉลากโภชนาการดูระดับน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อ 32% กินผลไม้สดแทนน้ำผลไม้หรือขนม 30% เลือกรับประทานของว่างที่หวานน้อย 27% และ ดื่มเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนความหวาน 22%

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงฉลากทางเลือกสุขภาพ พบว่า ผู้บริโภค 79% เคยเห็น และยอมรับว่าค่อนข้างมีผลต่อการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ถึง 80% โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นและวัยทำงาน

จะเห็นได้ว่า กลุ่มคนวัยทำงานเป็นกลุ่มที่น่าห่วงมากที่สุด ซึ่งการหาสิ่งจูงใจที่จะมาทดแทน เช่น การดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลม อาจจะทำได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้ลดการกินหวานลง


แชร์ :

You may also like