HomeInsightห่วงหนุ่มสาววัยทำงาน! หลังผลวิจัย พบติดเค็มหนัก 55% ติดปรุง เน้นอร่อย

ห่วงหนุ่มสาววัยทำงาน! หลังผลวิจัย พบติดเค็มหนัก 55% ติดปรุง เน้นอร่อย

แชร์ :

พริกน้ำปลา ติดเค็ม ผลวิจัย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ มีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และค่ารักษาพยาบาลแต่ละโรคยังสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองกันมากขึ้น ซึ่งนอกจากการออกกำลังกายเป็นประจำแล้ว “อาหารการกิน” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ใช่แค่เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ หลากหลาย และครบ 5 หมู่เท่านั้น ทว่าอาหารเหล่านี้ยังต้องไม่ “เค็ม” จัดด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในแต่ละวัน เคยลองคิดเล่นๆ กันไหมว่า คุณบริโภคเกลือหรือน้ำปลากี่ช้อนชา และทราบหรือไม่ว่า หากบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 กรัมต่อวัน ต่อเนื่องนานๆ จะส่งผลต่อสุขภาพมากแค่ไหน? ด้วยเหตุนี้ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) และ “ไวตามินส์ คอนซัลติ้ง แอนด์ รีเสิร์ช” จึงร่วมกันสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมในการบริโภคอาหารของคนไทยผ่านระบบออนไลน์ Buzzebees panel ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 400 คน ซึ่งครอบคลุมกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อเข้าถึงอินไซต์และนำมาเป็นกลยุทธ์สื่อสารการตลาดได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น

“คนทำงาน” ติดกินเค็มมากสุด  

เครื่องปรุงรส ไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา น้ำตาล เกลือ ซีอิ้ว และซอสต่างๆ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน เพราะอุปนิสัยหนึ่งของคนไทยนั้น ติดการ “ปรุง” เพื่อเพิ่มรสชาติอาหารให้กลมกล่อม แต่ถ้าเติมรสเค็มในปริมาณพอเหมาะ ไม่เพียงรสชาติอาหารจะอร่อยกลมกล่อมแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย แต่ผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารรสเค็ม กลับพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ 58% ติดอาหารรสเค็ม แต่พยายามหลีกเลี่ยง เพราะรู้ว่าการกินเค็มไม่ดี ส่วนคนที่พยายามลดเค็มโดยไม่ปรุงเพิ่ม หรือไม่กินอาหารรสเค็มเลย มีสัดส่วนอยู่ที่ 27% เท่านั้น

เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ พบข้อมูลน่าสนใจว่า คนอายุ 18-39 ปี หรือคนทำงาน เป็นกลุ่มที่ติดปรุงหรือเพิ่มน้ำจิ้มเป็นประจำ มีสัดส่วนถึง 19.2 % เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องทำงานและกินข้าวนอกบ้าน ขณะที่เมื่อพิจารณาตามภาค พบว่า ภาคที่มีการกินอาหารรสเค็มมากที่สุดคือ ภาคเหนือ 28% รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18% ตามด้วยภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล 12%

ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจพฤติกรรมการทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน พบว่า คนส่วนมาก คิดเป็น 55% ยังติดปรุงอาหารโดยเน้นรสชาติและความอร่อยเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงาน ส่วนคนที่พยายามเลี่ยงการใส่น้ำปลาอยู่ที่ 34% และไม่ปรุงอาหารด้วยเครื่องปรุงเลย อยู่ที่ 6% โดยกลุ่มที่ไม่ปรุงเลย ส่วนใหญ่เป็นคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

“กินข้าวนอกบ้าน” ทำคนทำงานติดปรุงเค็ม กินเค็ม – กินอาหารแปรรูป       

เมื่อเจาะลึกมาที่พฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้าน ผลสำรวจในครั้งนี้ พบว่า มีผู้บริโภค 25% เท่านั้น ที่สั่งลดความเค็มลง ส่วนอีก 73% จะรับประทานตามรสชาติของร้านอาหารนั้นๆ ทั้งยังมักปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำปลา

หากแยกตามประเภทอาหาร จะพบว่า อาหารประเภทก๋วยเตี๋ยว 79% คนมักปรุงน้ำปลาเพิ่มตั้งแต่น้อยกว่า 1 ช้อนชา จนถึงมากกว่า 1 ช้อนชา เช่นเดียวกับการใส่พริกน้ำปลา น้ำจิ้ม 90% มีการปรุงเพิ่ม มีแค่ 10% เท่านั้นที่ไม่ใส่พริกน้ำปลา และน้ำจิ้มเลย ส่วนแกงจืด น้ำซุป 70% ของผู้บริโภค มีการซดตั้งแต่ครึ่งถ้วยไปจนถึงหมดถ้วย และ 2% ไม่ซดแกงจืดเลย ในขณะที่อาหารประเภทยำ ส้มตำ 63% ของผู้บริโภคมีการซดน้ำยำบ้าง หรือซดครึ่งถ้วย และ 29% ซดหมดถ้วยทุกครั้ง

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความถี่ในการรับประทานอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ รวมถึงขนมขบเคี้ยวประเภทปลาเส้น และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พบว่า คนนิยมรับประทานอาหารเหล่านี้ประมาณ 4 ครั้งต่อเดือน หรือเฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง โดยคนกรุงเทพฯ นิยมรับประทานอาหารแช่แข็งและขนมขบเคี้ยวมากกว่า ส่วนคนต่างจังหวัดนิยมรับประทานไส้กรอก ลูกชิ้น และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากกว่า

แต่ที่น่าสนใจคือ กลุ่มวัยรุ่นนิยมรับประทานอาหารเหล่านี้ค่อนข้างสูง และรับประทานมากขึ้นเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป จากนั้นจะค่อยๆ ลดปริมาณการกินลงเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป  โดยอาหารที่มีปริมาณโซเดียมสูงในความคิดของกลุ่มตัวอย่าง อันดับ 1 คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อันดับ 2 ขนมกรุบกรอบ ปลาเส้น ตามด้วยพริกน้ำปลา ซอส น้ำจิ้ม ไส้กรอก อาหารฟาสต์ฟู้ด ก๋วยเตี๋ยวน้ำ และอาหารมีโซเดียมน้อยที่สุดคือ เค้ก และขนมปัง

ขณะเดียวกัน การวิจัยในครั้งนี้ ยังสอบถามถึงพฤติกรรมการอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์ ผลสำรวจพบว่า 75% มีการอ่านฉลาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงาน และเกือบ 90% ยอมรับว่า ปริมาณโซเดียมบนบรรจุภัณฑ์มีผลอย่างมากต่อการซื้อสินค้า ทั้งยังกลัวว่าหากบริโภคอาหารที่มีโซเดียมมากจะส่งผลต่อร่างกาย โดยวิธีที่คนนิยมลดการกินโซเดียมในอาหาร 3 อันดับแรกคือ

1.ไม่ใส่ผงชูรส 37%

2.หลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป และหมักดอง 30%

3.ไม่เติมเกลือและน้ำปลาเพิ่มลงในอาหาร 28%

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like