มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจจาก Adobe เกี่ยวกับ Creator Economy ที่เติบโตมากเป็นประวัติการณ์ โดยพบว่าในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้น มีครีเอเตอร์หน้าใหม่เข้าร่วมใน Creator Economy มากถึง 165 ล้านคน และประเทศที่มีการเติบโตอย่างน่าจับตาก็คือสหรัฐอเมริกา, บราซิล, เกาหลีใต้ และสเปน ส่งผลให้ปัจจุบัน โลกมีครีเอเตอร์แตะ 303 ล้านคนแล้วเรียบร้อย
การศึกษาดังกล่าวมีชื่อว่า Future of Creativity ที่ทำการสำรวจความเห็นของครีเอเตอร์ออนไลน์ประมาณ 9,000 คนในเดือนพฤษภาคม 2565 จาก 9 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สเปน ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และบราซิล โดยสก็อต เบลสกี้ ผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ และรองประธานบริหาร Adobe Creative Cloud เผยถึงสาเหตุของการเติบโตที่สูงมากนี้มาจากแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ทั่วไป, solopreneur,เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ฯลฯ และการมีเครื่องมือที่รองรับการสร้างคอนเทนต์ให้เข้าถึงได้มากขึ้น
สำหรับประเทศที่มีครีเอเตอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากที่สุดจากรายงานชิ้นนี้ได้แก่
- บราซิล : ประมาณ 73 ล้านคน
- สหรัฐอเมริกา : ประมาณ 34 ล้านคน
- เกาหลีใต้ : ประมาณ 11 ล้านคน
- สเปน : ประมาณ 10 ล้านคน
ครีเอเตอร์หน้าใหม่เป็นชาว Millennials สูงสุด
เมื่อแบ่งกลุ่มครีเอเตอร์ออกมาตามช่วงอายุ พบว่า เป็นกลุ่ม Millennials สูงสุดที่ 42% รองลงมาคือ Gen X 31% กลุ่ม Gen Z 14% และ BabyBoomers 14%
อย่างไรก็ดี ในจำนวนนี้มีเพียง 14% ของคอนเทนต์ครีเอเตอร์เท่านั้นที่เป็น Influencers และในบรรดา Influencers นั้น ก็มีเพียง 50% ที่มีรายได้ระดับ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ขึ้นไป
แม้ตลาดจะมีการเติบโตสูง แต่รายงานจาก Adobe ชิ้นนี้ก็สะท้อนได้ดีว่า งานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นรายได้หลักสำหรับคนส่วนใหญ่ โดยครีเอเตอร์ 6 ใน 10 คนมีงานประจำอยู่แล้ว แต่กระนั้น อาชีพครีเอเตอร์ก็เป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ สำหรับคนกลุ่ม Gen Z และ Millennials ที่ไม่ค่อยสนใจงานในอาชีพแบบเดิม ๆ
สุขจากการสร้างคอนเทนต์
สิ่งที่ Adobe พบอีกข้อจากผลการศึกษานี้ และน่าจะเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยก็คือ ความสุขจากการสร้างผลงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยพบว่า ครีเอเตอร์ที่สร้างคอนเทนต์มากกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นั้นยอมรับว่าตัวเองรู้สึกมีความสุข ตรงกันข้ามกับการใช้งานโซเชียลมีเดีย ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า การเป็นเพียงผู้ใช้งาน (โซเชียลมีเดีย) จะได้รับผลกระทบแง่ลบจากการใช้โซเชียลมีเดียกลับมาแทน
อย่างไรก็ดี อินฟลูเอนเซอร์ราว 50% ยอมรับว่า การใช้โซเชียลมีเดียหรือการสร้างโซเชียลคอนเทนต์มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตของเขามากกว่าการฟังเพลง (31%), การออกกำลังกาย (30%) และการออกไปสัมผัสกับธรรมชาติในที่กลางแจ้ง (27%)