HomeBrand Move !!สะท้อนภาพรวมโลกคริปโต 2021 ผ่าน 8 เหตุการณ์สำคัญ “ไทย-เทศ”

สะท้อนภาพรวมโลกคริปโต 2021 ผ่าน 8 เหตุการณ์สำคัญ “ไทย-เทศ”

แชร์ :

shutterstock_crypto

ก่อนจะจบปี 2021 กันไปในเร็ว ๆ นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคริปโตถือเป็นอีกหนึ่งวงการที่สร้างสีสันให้กับโลกตลอดทั้งปี เห็นได้จากการเสิร์ชหาที่ทำสถิติใน Google Search กันเป็นประวัติการณ์ เราจึงขอรวบรวมเหตุการณ์เด่น ๆ ในรอบปีนี้ของวงการคริปโตมาฝากกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. 6 เหรียญคริปโตมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทะลุ 10,000%

จากรายงานของ Nasdaq.com ระบุว่า ในปี 2021 ซึ่งมูลค่าของเหรียญคริปโตมีความผันผวนอย่างมากนั้น มีอยู่ 6 สกุลเงินที่มีมูลค่าเติบโตขึ้นมากถึง 10,000% ได้แก่

  • Gala (GALA) เติบโตขึ้นกว่า 46,700%
  • Axie Infinity (AXS) เติบโตขึ้นกว่า 18,300%
  • The Sandbox (SAND) เติบโตขึ้นกว่า 15,000%
  • Polygon (MATIC) เติบโตขึ้นกว่า 13,800%
  • Terra (LUNA) เติบโตขึ้นกว่า 10,900%
  • Solana (SOL) เติบโตขึ้นกว่า 10,700%

2. อาชญากรย่ามใจ โจรกรรมคริปโต 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

มีฝั่งบุญก็มีฝั่งบาป เพราะปี 2021 การก่ออาชญากรรมบนโลกคริปโตก็เกิดขึ้นอย่างหนักเช่นกัน โดยข้อมูลจาก Chainalysis เผยว่า มีเหรียญดิจิทัลถูกขโมยมากถึง 7,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 258,288 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 81%

สำหรับรูปแบบการฉ้อโกงที่พบมากที่สุดคือ Rug Pull ที่นักพัฒนาอาจสร้างจุดเด่นบางอย่างเพื่อดึงดูดเงินของนักลงทุนเข้ามาในโปรเจ็กต์ของตนเอง และในท้ายที่สุด เมื่อนักลงทุนเข้ามามากพอ นักพัฒนาก็อาจใช้ข้ออ้างเช่น ระบบขัดข้อง ฯลฯ เพื่อปิดการทำงาน และหอบเงินของนักลงทุนหนีหายไปในกลีบเมฆ ซึ่งกลโกง Rug Pull นี้ครองส่วนแบ่งของการฉ้อโกงในโลกคริปโตปี 2021 ไว้ถึง 37% คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขณะที่ปี 2020 การทำ Rug Pull มีส่วนแบ่งเพียง 1% เท่านั้น) โดยหนึ่งในการทำ Rug Pull ที่หลายคนยังจำได้ดีก็คือเหรียญ Squid Game นั่นเอง

3. เอลซัลวาดอร์ยอมรับเงินคริปโตชาติแรกของโลก

shutterstock_bitcoin crypto

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประเทศเอลซัลวาดอร์ได้บังคับใช้กฎหมายอนุญาตให้บิทคอยน์ เป็นสิ่งที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจเริ่มมีการปรับตัวกันอย่างคึกคัก กับการรับชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ด้วยบิทคอยน์

นโยบายของรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยังทำให้ประชาชนในประเทศสามารถจ่ายภาษี ชำระค่าสาธารณูปโภค จ่ายซื้อสินค้าและอาหาร ฯลฯ ด้วยเงินคริปโตได้ นอกเหนือจากเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐที่เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ

อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์หลักของนโยบายดังกล่าว อาจเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชาวเอลซัลวาดอร์ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศและส่งเงินกลับมา (เช่น ไปทำงานที่สหรัฐอเมริกา) เพราะจะลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินไปได้เยอะมาก และทำให้ประเทศมีอิสระในนโยบายทางการเงินของตัวเองมากขึ้นแทนที่จะต้องผูกพันกับนโยบายทางการเงินของสหรัฐอเมริกาไปเสียทั้งหมด

สิ่งที่ตามมาคือแบรนด์ดังอย่าง Starbucks, Pizza Hut และ McDonald’s ได้ขานรับนโยบายของรัฐบาลทันทีด้วยการประกาศรับบิทคอยน์ในการจ่ายชำระค่าอาหารในเอลซัลวาดอร์ ขณะที่แพลตฟอร์มอย่างทวิตเตอร์ก็มีผู้คนในเอลซัลวาดอร์จำนวนมากทวีตเกี่ยวกับการใช้บิทคอยน์ซื้ออาหารในเชนต่าง ๆ ออกมามากมาย

4. ตู้ Bitcoin ATM กำลังกระจายไปทั่วโลก

shutterstock_bitcoin atm

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการเปิดเผยข้อมูลจาก Coin ATM Radar ระบุว่า ตู้เอทีเอ็มที่รองรับสกุลเงินคริปโต (บิทคอยน์) นั้น กำลังเติบโตขึ้นทั่วโลก โดยมีการใช้งานแล้วมากกว่า 30,000 ตู้ใน 76 ประเทศทั่วโลก และเราสามารถนำเงินสดไปแลกเป็นเงินคริปโตได้จากตู้เหล่านี้

ประเทศที่มีตู้เอทีเอ็มดังกล่าวมากที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ที่มีการติดตั้งแล้วกว่า 26,000 แห่ง และยังมีแบรนด์ค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Walmart จับมือกับ Coinstar ติดตั้งตู้ Bitcoin ATM 200 แห่งตามสาขาของวอลมาร์ททั่วสหรัฐฯ ด้วย

ส่วนในสหภาพยุโรปมีการติดตั้งตู้ดังกล่าวเพียง 1,300 กว่าแห่งเท่านั้น และในละตินอเมริกา พบว่า ประเทศโคลอมเบียถือว่ามีตู้คริปโตเอทีเอ็มมากที่สุด โดยมีถึง 46 ตู้

5. ตำแหน่งงานของวงการคริปโตพุ่ง 118%

shutterstock_bitcoin mining

อาชีพในอุตสาหกรรมคริปโตกลายเป็นอาชีพที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปีนี้ โดยส่วนหนึ่งมาจากจำนวนเหรียญที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปี 2013 โลกมีเพียง 33 สกุลเงิน แต่ในปี 2021 เรามีเกือบ 6,000 สกุลเงินคริปโตไปแล้วเรียบร้อย

การเติบโตนี้ทำให้นักพัฒนาเป็นที่ต้องการตัวขององค์กรต่าง ๆ มากขึ้นทุก ๆ ปี โดยมีการเปรียบเทียบตัวเลขกันของทาง TechRepublic พบว่า เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2021 ตัวเลขประกาศรับสมัครงานในสายคริปโตและบล็อกเชนเพิ่มขึ้น 118% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2020

นอกจากนั้น รูปแบบการทำงานของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่บริษัทต้องการก็ช่างเข้ากับสถานการณ์เหลือเกิน เพราะส่วนหนึ่งบอกว่า พวกเขาจะปรับตัวเองให้กลายเป็น Remote-First Company (เช่นกรณีของ Coinbase) นั่นก็คือทำงานจากระยะไกลได้แล้วนั่นเอง

6. Jack Dorsey ผู้บริหารบิ๊กเทคผันตัวบุกโลกคริปโต

jack dorsey

Jack Dorsey อดีตซีอีโอ Twitter

ในความจริงจังของบรรดาผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ต้องยอมรับว่า Jack Dorsey อดีตซีอีโอทวิตเตอร์ (Twitter) คือบุคคลที่ให้ความสำคัญกับโลก Crypto เป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งความหลงไหลในโลก Crypto ของเขาเป็นที่รับรู้กันมานานแล้ว และเขาก็คือหนึ่งในคนที่เชื่อว่าเงินคริปโตจะเป็นสกุลเงินหลักของโลกในอนาคต

Jack Dorsey ยังเป็นซีอีโอคนแรก ๆ ที่อนุญาตให้พนักงาน Twitter ไม่ต้องเข้าออฟฟิศอีกต่อไปหลังจากเจอวิกฤติไวรัส Covid-19 ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้าย ๆ กับบริษัทในวงการคริปโตที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้า

แต่ไม่ใช่แค่พนักงาน Twitter ที่ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เพราะล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา Jack Dorsey ก็ตัดสินใจไม่เข้าออฟฟิศเช่นกัน ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งซีอีโอ Twitter ไปแล้วเรียบร้อย โดยบอกว่า Twitter พร้อมแล้วที่จะเดินต่อไปโดยไม่ต้องมีผู้ก่อตั้งเป็นซีอีโอ ส่วนใครที่ต้องการหาตัวเขานั้น ถ้าไม่อยู่ที่อีกหนึ่งบริษัทของเขาอย่าง Block (ชื่อเดิมคือ Square) เขาก็คงอยู่กับบิทคอยน์นั่นเอง

7. การจับมือของ Bitkub กับ SCB X

scb x bitkub

เพราะคู่แข่งในโลกข้างหน้ามีแต่ยักษ์ใหญ่ แถมรุกได้อย่างรวดเร็ว ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล บริษัทไทยที่ต้องการก้าวไปสู่การเป็น Tech Company ก็ต้องเร่งเครื่องในการเพิ่มศักยภาพตัวเอง และต้องหาพันธมิตรที่เหมาะสม ซึ่งในปีที่ผ่านมา การประกาศลงทุนของยานแม่อย่าง SCB X ใน Bitkub เพื่อเข้าถือหุ้น 51% ด้วยมูลค่ารวม 17,850 ล้านบาท ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี นอกจากการลงทุนครั้งนี้ ทาง SCB X ยังมีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้านต่าง ๆ ผ่านโมเดลทางธุรกิจรูปแบบใหม่ร่วมกับ Bitkub เพื่อวางรากฐานในการเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตต่อไปด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ บทวิเคราะห์ Bitkub Effect : ดีลหมื่นล้านปั้นยูนิคอร์นคริปโต แรงบันดาลใจรอบใหม่สตาร์ทอัพไทย | Brand Buffet)

8. แบรนด์ดังไทยไม่ตกขบวน รุกตลาดคริปโต

ศุภลักษณ์ อัมพุช

ศุภลักษณ์ อัมพุช

นอกจากดีลยักษ์ใหญ่ของกลุ่ม SCB X เพื่อปรับตัวสู่โครงสร้างทางการเงินของโลกใหม่กันแล้ว จะเห็นได้ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มมีแบรนด์ใหญ่จำนวนมากแสดงความสนใจในโลก Crypto มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัล รีเทล ที่ส่งเงินดิจิทัลในชื่อ “C-Coin” ให้พนักงานในบริษัท 80,000 คนได้ทดลองใช้ รวมถึงมีแผนจะขยายการใช้ C-Coin นี้กับลูกค้าทั่วไปด้วย

ในส่วนของคู่แข่งอย่างเดอะมอลล์กรุ๊ปเอง ก็ได้จับมือกับ Bitkub เปิดรับเงินคริปโตในการชำระค่าสินค้าและบริการแล้วด้วย โดยรองรับเหรียญคริปโตทั้งสิ้น 7 ตัว เช่น KUB, BTC, ETH, USDT, XRP, XLM และ JFIN นอกจากนี้ ยังมีการนำ NFT เข้ามาเพิ่ม Foot Traffic ให้กับศูนย์การค้าด้วย เช่น การแจก NFT Card ที่มีรางวัลพิเศษเฉพาะแก่ผู้ที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในศูนย์การค้าเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หากเป็นโลกในอดีต หลายคนคงเห็นภาพเดียวกันที่ว่า จะมีเฉพาะแบรนด์ดังที่มีเงินมากพอเท่านั้นจึงจะเข้าถึงเทคโนโลยีทางการเงินที่ทันสมัยได้ แต่สำหรับยุคนี้ ภาพเหล่านั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะไม่ใช่แค่เซ็นทรัลกรุ๊ป หรือเดอะมอลล์กรุ๊ปที่ยอมรับคริปโตในศูนย์การค้า แต่วงหมอลำ “เสียงอีสาน” ก็สามารถทำได้ไม่แตกต่างกัน โดยทางวงประกาศรับเหรียญคริปโต ETH, BNB, USDT และ BUSD จ่ายแทนค่าบัตรคอนเสิร์ตได้แล้ว

แน่นอนว่า ในปี 2022 ที่กำลังจะมาถึงย่อมมีอีกหลายความเปลี่ยนแปลงของวงการ Crypto อยู่ไม่น้อย ทั้งในเรื่องมูลค่าที่ผันผวนจนรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องกำไม้บรรทัดในมือให้แน่น ๆ การเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ของ Meta ที่หลายคนคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 หรือการตัดสินใจรับเงินบิทคอยน์ของประเทศเอลซัลวาดอร์ จะนำไปสู่การเจริญรอยตามของประเทศอื่น ๆ หรือไม่ หรือแม้กระทั่งประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนจะขยับตัวอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ ฯลฯ แต่ทั้งหมดทั้งมวล ขอให้ปี 2022 เป็นปีแห่งโอกาสของทุกคนค่ะ 

ข้อมูลอ้างอิง

Do You Own Any of These 6 Cryptos That Have Gained Over 10,000% This Year? | Nasdaq

Revenue from crypto scams spike 81% to a near-record $7.7 billion in 2021, says Chainalysis | Currency News | Financial and Business News | Markets Insider (businessinsider.com)

Cryptocurrency and blockchain jobs listings skyrocket in 2021 – TechRepublic

10 2022 Predictions From PwC’s Henri Arslanian (coindesk.com)

 


แชร์ :

You may also like