HomeInsightโควิดไม่สะเทือนตลาดสองล้อ Krungthai COMPASS เผย 7 เดือนแรก โต 13.7% พร้อมไขคำตอบทำไมตลาดมอเตอร์ไซค์มาแรงท่ามกลางวิกฤต

โควิดไม่สะเทือนตลาดสองล้อ Krungthai COMPASS เผย 7 เดือนแรก โต 13.7% พร้อมไขคำตอบทำไมตลาดมอเตอร์ไซค์มาแรงท่ามกลางวิกฤต

แชร์ :

ในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดมอเตอร์ไซค์ในประเทศไทยอยู่ในภาวะซึมหนัก โดยยอดขายหดตัวถึง 11.8% จากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัวจากโควิด-19 แต่มาปีนี้กลับพบว่า ตลาดมอเตอร์ไซค์เป็นเซ็กเม้นต์ที่โตแรง จากข้อมูลพบว่า ใน 7 เดือนแรก ตลาดนี้ขยายตัว 13.7% ขณะที่ยอดขายรถยนต์ 7 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 9.7% หลังจากหดตัวสูงที่ 21.4% ในปีก่อน การเติบโตของ “ตลาดสองล้อ” มาจากปัจจัยอะไร มาเจาะลึกเรื่องนี้กันให้ชัดจากบทวิเคราะห์ของ Krungthai COMPASS

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ตลาดสองล้อฟื้นตัวในรอบ 5 ปี 

หากย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีก่อนเกิดโควิด-19 ตลาดมอเตอร์ไซค์มียอดขายสูงสุด 1.8 ล้านคันในปี 2560 ก่อนจะชะลอต่อเนื่องจนถึงปี 2563 โดยผู้ประกอบการหลายราย ยอมรับว่าตลาดเริ่มอิ่มตัวจากยอดจดทะเบียนสะสมที่อยู่สูงราว 21 ล้านคัน ส่งผลให้สัดส่วนการครอบครองมอเตอร์ไซค์ต่อประชากรอยู่ระดับสูง และการที่ตลาดเริ่มอิ่มตัว ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายปรับทิศทางการตลาดโดยให้น้ำหนักกับตลาดมอเตอร์ไซค์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า อย่างมอเตอร์ไซค์ที่มีขนาด 250 ซีซีขึ้นไป ทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ของไทยเติบโตขึ้นสวนทางกับตลาดมอเตอร์ไซค์หลักที่เริ่มชะลอลง

โดยทั้งประเทศ 7 เดือนแรก ขยายตัว 13.7% หลังจากหดตัว 11.8% ในปีก่อน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทั้งประเทศ 7 เดือนแรก ขยายตัวเพียง 9.7% หลังจากหดตัว 21.4% ในปีก่อน การขยายตัวของยอดขายมอเตอร์ไซค์จึงไม่ได้มีสาเหตุจากปัจจัยจากฐานต่ำในปีก่อนเพียงอย่างเดียว แต่สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดมอเตอร์ไซค์เมื่อเทียบกับตลาดรถยนต์

 

สำหรับการเติบโตของตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้มาจากภูมิภาคเป็นส่วนใหญ่ จากยอดจดทะเบียนรถใหม่ป้ายแดงในช่วง 7 เดือนแรกของปี ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ใหม่ในส่วนภูมิภาคเติบโตถึง 16.9% ในขณะที่เป็นการเติบโตในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพียงแค่ร้อยละ 5.8% การเติบโตของยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ต่ำกว่าในภูมิภาค ทำให้สัดส่วนยอดจดทะเบียนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อเทียบกับทั้งประเทศลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน

 

เมื่อเจาะลึกในแต่ละภาค จะพบว่า ภาคอีสานเป็นเพียงภาคเดียวที่ฟื้นตัวกลับมาเทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โดยอยู่ที่ 97% ขณะที่ภาคเหนือมีระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ประมาณ 97% ส่วนภาคอื่นๆ ยังมียอดจดทะเบียนในระดับที่ต่ำกว่าพอสมควร โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่คาดกันว่าจะได้รับผลบวกจากการบริการขนส่งสินค้าในยุค New Normal แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น

“เกษตรกร” ปัจจัยหนุนดันยอดสองล้อโตสวนตลาด

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ในภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นมาได้จนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เหตุผลสำคัญมาจาก รายได้เกษตรกรในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้มีผลต่อตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ เพราะตลาดมอเตอร์ไซค์พึ่งพาตลาดต่างจังหวัดมากกว่า 70% ทำให้ตลาดขึ้นอยู่กับรายได้เกษตรกรค่อนข้างมาก และด้วยรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีก่อนก็มีผลทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ขยายตัวไปด้วย

โดยรายได้เกษตรกรคำนวณจากดัชนีราคาสินค้าเกษตรกร และดัชนีผลผลิตเกษตรในแต่ละช่วงเวลา ในปี 2564 ราคาสินค้าเกษตรหลักอย่างข้าวหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ราคาอ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ปรับตัวสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ในด้านผลผลิต พบว่า ยางพาราและมันสำปะหลังมีผลผลิตที่ขยายตัวดีขึ้น แต่อ้อยกลับมีปริมาณผลผลิตที่ลดลงทำให้เกษตรกรที่เพาะปลูกอ้อยเป็นหลักอาจไม่ได้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้นมากนัก

 

สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังและยางพาราเป็นจำนวนมาก กระจุกตัวในภาคอีสานมากที่สุด เมื่อวิเคราะห์ภาพรายจังหวัด พบว่า หลายจังหวัดที่มียอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนในปีนี้ สูงกว่ายอดจดทะเบียนเฉลี่ยรายเดือนในช่วง 5 ปีก่อนโควิด และอีกหลายจังหวัดที่เกือบจะเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เป็นจังหวัดที่มีการปลูกพืชอย่างมันสำปะหลัง ยางพาราเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปีนี้มีราคาและผลผลิตที่ขยายตัวสูง สอดคล้องกับดัชนีรายได้เกษตรกรในปีนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากมันสำปะหลังและยางพาราเป็นหลัก โดยจังหวัดเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในภาคอีสานมากที่สุด และเป็นสาเหตุให้ยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ในภาคอีสานเพิ่มสูงขึ้นมาได้จนเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

ดังนั้น การเติบโตของตลาดมอเตอร์ไซค์ในปีนี้จึงไม่ได้รับอานิสงส์จากกิจกรรม On Demand Delivery มากนัก แม้ว่าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ยกเว้นนครปฐม) รวมทั้งจังหวัดหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาคจะมีกิจกรรม On Demand Delivery มากกว่าจังหวัดอื่นในภาค แต่กลับไม่ได้มียอดจดทะเบียนฟื้นตัวกลับมาเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19

แล้วในอนาคต On Demand Delivery จะช่วยขับเคลื่อนตลาดมอเตอร์ไซค์ได้หรือไม่?

ด้วยวิถี New Normal ตลาด On Demand Delivery ยังมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง Euro Monitor คาดการณ์ว่า ตลาด Food Delivery ที่มีสัดส่วนสูงในตลาด On Demand Delivery ในไทยจะเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2565-2567จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ประมาณ 10.7% สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค New normal ที่ใส่ใจต่อสุขอนามัย ทำให้คาดว่าถึงแม้ภาครัฐจะทยอยผ่อนปรนมาตรการการทานอาหารในร้าน แต่ Food Delivery ยังคงเติบโตได้

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

เมื่อตลาด On Demand Delivery เติบโต จึงส่งผลต่อความต้องการไรเดอร์ และทำให้ตลาดมอเตอร์ไซค์ได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย จากข้อมูลยอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์รายจังหวัด พบว่า ตลาดมอเตอร์ไซค์ของไทยยังมีสัดส่วนอยู่ในภูมิภาคมากกว่า 70% และขับเคลื่อนจากรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยค่อนข้างมาก แต่ Krungthai Compass มองว่า ในอนาคตตลาด On Demand Delivery ที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อเนื่อง จะขยายขอบเขตไปในภูมิภาคมากขึ้นตามลำดับ ทำให้ความต้องการไรเดอร์มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนั้น คุณสมบัติเบื้องต้นที่แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ต้องการ คือ ผู้ที่มาสมัครเป็นไรเดอร์ต้องมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ก็จะส่งผลดีต่อตลาดมอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้น ซึ่งรายงานเรื่อง “ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวนสภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์แพร่ ระบาดของโควิด-19“ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่ารายได้เฉลี่ยของไรเดอร์ทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 18,000 บาทต่อเดือน หักต้นทุนค่าน้ำมัน ค่าสึกหรอ ค่าอินเตอร์เน็ต เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน จะเหลือเงินประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน

โดยรายได้หลังหักต้นทุนนี้อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถผ่อนชำระค่างวดของมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะสมกับไรเดอร์ (ไม่เกิน 150 ซีซี และเป็นเกียร์อัตโนมัติ) ซึ่งอยู่ในช่วง 2,035-4,207 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 13.6-28.1% ของรายได้หลังหักต้นทุนโดยเฉลี่ย นอกจากนั้น แพลตฟอร์มหลายแห่ง เช่น Robinhood Grab ยังมีการสนับสนุนสินเชื่อพิเศษในการซื้อจักรยานยนต์ที่อาจทำให้ภาระต่อเดือนในการซื้อมอเตอร์ไซค์ลดลงได้อีกด้วย

จึงต้องจับตากันต่อว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ “ไรเดอร์” จะช่วยดันยอดขายตลาดสองล้อให้พุ่งทะยานต่อเนื่องได้แค่ไหน แต่นาทีสมรภูมิตลาดสองล้อก็คึกคักและร้อนแรงอย่างมาก


แชร์ :

You may also like