HomeInsightBluebik เผย 7 เทรนด์การตลาดปี 2022 ที่ธุรกิจและนักการตลาดต้องรู้ เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน

Bluebik เผย 7 เทรนด์การตลาดปี 2022 ที่ธุรกิจและนักการตลาดต้องรู้ เพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน

แชร์ :

ปี 2021 เป็นอีกปีที่หนักหน่วงสำหรับแบรนด์และธุรกิจ จากวิกฤตโควิด-19 ที่กลับมาระบาดซ้ำ กดดันให้ธุรกิจต้อง “ปรับตัว” พลิกวิธีคิดและกลยุทธ์แบบใหม่รับมืออยู่ตลอดเวลา เพื่อพาธุรกิจให้รอด เพราะหากยังทำแบบเดิมๆ ในสถานการณ์ที่มีความผันผวนไม่แน่นอนสูง ธุรกิจคงไปต่อยากอย่างแน่นอน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ดังนั้น ในปี 2022 มีเทรนด์ไหนต้องเกาะติด และกลยุทธ์อะไรที่จะสามารถนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอน คุณสาโรจ เลาหศิริ Head of Marketing Transformation and Marketing Strategy บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้อัพเดทเทรนด์การตลาดในอนาคตเพื่อให้ธุรกิจได้เข้าใจและสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างการเติบโตต่อไป โดยมีทั้งหมด 7 เทรนด์ดังนี้

เทรนด์ 1 : Empathy & Well Delivered

คุณสาโรจ เลาหศิริ Head of Marketing Transformation and Marketing Strategy บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

คุณาสาโรจบอกว่า ในปีหน้าจะเริ่มเห็นแบรนด์ขยับเข้าใกล้การสื่อสารที่มี Empathy มากขึ้น เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สร้างความเสียหายมากมาย ทำให้ผู้บริโภคมี Expectation หรือคาดหวังจากแบรนด์มากขึ้น ซึ่งความคาดหวังที่ว่านี้ ไม่ใช่แค่สินค้าและบริการที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง การสื่อสาร การแบรนด์ดิ้ง และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ ซึ่งผู้บริโภคต้องการความเอาใจใส่และความเข้าใจจากแบรนด์มากขึ้น ดังนั้น การดีไซน์สินค้าและบริการใหม่หลังจากนี้ แบรนด์จึงต้องเพิ่ม Empathize เข้าไป และสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงสิ่งที่แบรนด์ตั้งใจทำ

เทรนด์ 2 : Branding inside out

อีกหนึ่งเทรนด์ที่จะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีหน้าคือ องค์กรจะเริ่มหันกลับมาสร้างแบรนด์จากภายในก่อน โดยเริ่มจากการสร้าง Culture จากคนภายในองค์กรเพื่อให้ทุกคนเห็นก่อน แล้วค่อยสื่อสารออกไปสู่ภายนอก จากที่ผ่านมาเราจะเห็นการสร้างแบรนด์จากภายนอกก่อนแล้วค่อยกลับมาสื่อสารภายในองค์กร เพราะการสร้างแบรนด์จากภายในองค์กรจะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจและรับรู้ตัวตนของแบรนด์อย่างแท้จริง

โดยคุณสาโรจ ได้ยกตัวอย่างให้ฟัง หากองค์กรต้องการเป็น The Best Deliver Service แทนที่จะเริ่มจากพนักงานใส่ใจในการบริการ แต่กลับพัฒนา Chat Bot ออกมาให้บริการก่อน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง Chat Bot อาจไม่ได้ตอบทุกอย่าง เพราะบางเรื่องหรือบางบริการอาจจะต้องอาศัยความเข้าใจมากขึ้น

เทรนด์ 3 : Battle of the Legacy VS the Disruptor

ปี 2565 จะเป็นปีที่แข่งขันดุเดือดระหว่าง The Legacy and Disruptor โดยเหตุผลหลักมาจาก บริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มปรับตัวทันและรู้วิธีที่จะรับมือกับสตาร์ทอัพ หลังจาก 5 ปีที่แล้วยังฝุ่นตลบและไม่รู้ว่าจะแก้เกมอย่างไร โดยองค์กรขนาดใหญ่จะหยิบจุดแข็งที่ดิสรัปเตอร์ไม่มีทั้งในเรื่องขนาดธุรกิจ Data รวมถึงความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์ในธุรกิจมาต่อสู้กับดิสรัปเตอร์

เทรนด์ 4 : Deeper Collaboration

ที่ผ่านมาการ Collaboration เป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และยังเป็นเทรนด์มาแรงอย่างต่อเนื่องในปีหน้า แต่สิ่งที่เพิ่มเติมคือ การ Collaboration จะลงลึกมากขึ้น เพราะการทำธุรกิจในยุคนี้ไม่สามารถทำเองได้ทุกเรื่อง ซึ่งความร่วมมือที่ลงลึกนี้ ไม่ใช่แค่การ Collaboration Product หรือ Collaboration Brand เพื่อให้เกิด Exciting Activity เท่านั้น แต่เป็นการ Joint Venture การ Collaboration Data หรือการแลกเปลี่ยน Marketing Mix ระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้แบรนด์เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคุณสาโรจ ยกตัวอย่าง บริษัท A มีข้อมูลเป็นจำนวนมาก ขณะที่บริษัท B มี Know How ต่างๆ ก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้ หรือกรณี SCBX ที่น่าจะเป็นแรงกระเพื่อมให้หลายองค์กรมองเรื่อง Deeper collaboration มากขึ้น

เทรนด์ 5 : Authenticity to Sensemaking

แบรนด์ต้องแสดงถึงความจริงใจต่อผู้บริโภค จริงๆ แล้วเทรนด์นี้ถูกพูดกันมานานหลายปีแล้ว เนื่องจากการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล ทำให้แบรนด์โกหกผู้บริโภคไม่ได้ แต่คุณสาโรจ มองว่า การเป็นแบรนด์จริงใจอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ยังต้องมาพร้อมกับการสื่อสารอย่างมีเหตุผลด้วย (Make Sense) โดยการสื่อสารอย่างมีเหตุมีผลนั้น ไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์การเป็นแบรนด์ใจดีและมีคุณธรรม แต่ต้องสื่อสารลึกลงไปถึงกิจกรรมขององค์กรทั้งในแง่ธุรกิจ และ CSV เพราะวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้มองแค่แบรนด์แล้ว แต่มองไปถึงกิจกรรมที่องค์กรทำ ดังนั้น หากไม่ Make Sense ก็อาจไม่เกิดผลดีกลับมากับแบรนด์ได้

6.Morality Led Value

แบรนด์จะถูกบีบให้สะท้อนจุดยืนมากขึ้น ซึ่งจุดยืนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการมือง แต่หมายรวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโลก สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ และภาวะโลกร้อน ซึ่งแบรนด์สามารถสร้างคุณค่าเชื่อมโยงไปกับเรื่องเหล่านี้ในหลากหลากมุมมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนที่ผ่านมา

7.Virtual World Building

โลกเสมือนจริง หรือ Virtual World จะเติบโตอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการล็อกดาวน์จากการระบาดของโควิด-19 จึงทำให้เกิดการพัฒนาระบบเพื่อพาตัวเองไปสู่โลกเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็นการประชุมออนไลน์ การจัด Virtual Concert รวมถึงอุตสาหกรรมเกมที่เริ่มนำ VR มาเป็นเครื่องมือคลายเหงาในช่วงโควิดมากขึ้น ทั้งยังจะเริ่มเห็นแบรนด์ต่างๆ สร้าง Virtual Evidence ในโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

สำหรับ Virtual Influencer หรืออินฟลูเอนเซอร์เสมือนที่ถูกสร้างโดย AI ซึ่งตอนนี้กำลังเป็นเทรนด์มาแรงนั้น คุณสาโรจ มองว่า มีแนวโน้มจะเข้ามาดิสรัปวงการ Influencer เนื่องจาก Virtual Influencer ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แถมยังคงความเป็นหนุ่มสาวตลอดเวลา ดังนั้น หากสร้างคาแรกเตอร์ และ Story ของ Virtual Influencer ให้อยู่ในกระแส และมีอิทธิพลทางความคิดอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้ Virtual Influencer เกิดขึ้นมาได้ แต่ในทางกลับกัน หาก Virtual Influencer เป็นแค่ตัวแทนแบรนด์ ไม่ได้มีเรื่องและสร้าง Impact ก็จะกลายเป็น Another Influencer ที่เกิดมาแล้วก็หายไป วันนี้ Influencer จึงต้องปรับตัว ไม่หยุดอยู่แค่ในเซ็กเม้นต์เดิมตลอดไป เพราะวันหนึ่งทุกคนต้องเติบโตขึ้น จึงต้องพัฒนาตัวเองขยายฐานไปในเซ็กเม้นต์ใหม่ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

“วันนี้ปัญหาซับซ้อนขึ้น ขณะที่ทางแก้มีหลากหลายรูปแบบ กลยุทธ์การทำตลาดวันนี้จึงไร้กระบวนท่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือปัญหาที่แต่ละองค์กรเจอ แต่ 3 กลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจยุคนี้ที่แบรนด์ต้องมีเพิ่ม นอกเหนือจากเรื่องของการ Focus, Differentiate, Cost Leadership ก็คือ Speed, Data และ Accessibility” คุณสาโรจ ย้ำถึงกลยุทธ์การตลาดที่แบรนด์ต้องมีในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like