HomeInsightโควิดทำพฤติกรรมนักดื่มเปลี่ยน! ผลวิจัยชี้นักดื่มไทยยังดื่มเท่าเดิม หันดื่มคนเดียว-ในที่สาธารณะมากขึ้น

โควิดทำพฤติกรรมนักดื่มเปลี่ยน! ผลวิจัยชี้นักดื่มไทยยังดื่มเท่าเดิม หันดื่มคนเดียว-ในที่สาธารณะมากขึ้น

แชร์ :

สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกกว่า 2 ปี ที่ทำให้ทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม งดการเดินทาง และพบปะสังสรรค์ ส่งผลให้พฤติกรรมบางอย่างของผู้บริโภคชาวไทยเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิ้ง การทำงาน จนถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าการสังสรรค์ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเป็นหนึ่งในกิจกรรรมยอดนิยมของนักดื่มชาวไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ดังนั้น เพื่อเข้าใจพฤติกรรมนักดื่มให้มากขึ้น “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) และ “ไวตามินส์ คอนซัลติ้ง แอนด์ รีเสิร์ช” ได้ร่วมกันสำรวจพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์และสังสรรค์ของคนไทยในช่วงโควิด-19 โดยการสำรวจนี้เป็นการสำรวจผ่านช่องทางออนไลน์ของ Buzzebees ระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2565 จากกลุ่มตัวอย่าง 400 คน อายุ 18-40 ปี ชาย 86% หญิง 14% ครอบคลุมกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยพบ 5 เทรนด์ ที่น่าสนใจ ดังนี้

1.โควิดไม่มีผล ลดสังสรรค์ แต่ยังก๊งเท่าเดิม

ในช่วงเวลาที่โควิด-19 ยังระบาดในประเทศไทย แม้จะมีมาตรการห้ามนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ขณะที่ผับบาร์ยังปิดให้บริการ แต่ผลวิจัยบอกเราว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานักดื่มยังคงดื่มแอลกอฮออล์ โดย 39% ของกลุ่มตัวอย่างยังดื่มเท่าเดิม เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ส่วนกลุ่มดื่มน้อยลงอยู่ที่ 36% ขณะที่กลุ่มที่ดื่มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 25% เท่านั้น

เหตุผลหลักที่ทำให้นักดื่มเหล่านี้ดื่มเพิ่มขึ้นคือ มีเวลาว่างมากขึ้นและหาซื้อสะดวกขึ้น เพราะสามารถสั่งออนไลน์ได้ ส่วนผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง เป็นผู้หญิงถึง 44% โดยให้เหตุผลว่าเพราะกลัวเสี่ยงติดโควิด ผับบาร์ปิด และเศรษฐกิจไม่ดี ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย

2.เทรนด์ “ดื่มคนเดียว-ในที่สาธารณะ” เพิ่มขึ้น

เมื่อพูดถึงการสังสรรค์ดื่มแอลกอฮอล์ เรามักจะนึกถึงการสังสรรค์ดื่มกันหลายคน แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างในสถานการณ์ระบาดแบบนี้ ทำให้พฤติกรรมนักดื่มหลายคนเปลี่ยนไป โดยพบเทรนด์การดื่มคนเดียวมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลสำรวจพบว่า 45% ยังเป็นการดื่มคนเดียว และดื่มหลายคน รองลงมา ดื่มหลายคน 39% และดื่มคนเดียว 17% โดยเฉพาะนักดื่มที่เป็นเด็กเพิ่งทำงาน (18-25 ปี) นิยมดื่มคนเดียวมากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ มีจำนวนถึง 21% โดย 25% ของนักดื่มที่นิยมดื่มคนเดียวมาจากภาคเหนือ

โดยแรงจูงใจที่ทำให้นักดื่มวัยเด็กนิยมดื่มคนเดียวมากขึ้น เกิดมาจากแรงกดดันและความเครียด สะท้อนจากผลสำรวจ Mental Health Check In ของกรมสุขภาพจิต พบว่า เด็กวัยรุ่นมีแนวโน้มความเครียดสูงขึ้น ระดับความเครียดในรอบเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสูงกว่าในกลุ่มวัยทำงานถึง 4 เท่า สอดคล้องกับผลสำรวจ THRIVE In New Normal ของไวตามินส์ คอนซัลติ้ง แอนด์ รีเสิร์ช โดยพบว่า วัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่มีความเครียดมาก เนื่องจากโควิด-19 ทำให้พวกเขาเจอเพื่อนน้อยลง บางคนเรียนมหาวิทยาลัยจะขึ้นปี 2 ยังไม่เคยได้เจอเพื่อน เพราะต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ทั้งยังต้องรับรู้ปัญหาที่บ้าน ส่งผลให้รับความเครียดจากพ่อแม่มาด้วย

เมื่อมาดูสถานที่สังสรรค์ของนักดื่ม ส่วนใหญ่ 45% ยังเป็นการดื่มที่บ้านตนเอง บ้านเพื่อน และบ้านญาติ รองลงมา 38% ดื่มที่ร้าน เช่น ร้านอาหาร และร้านอาหารกึ่งผับบาร์ และ 29% หน้าร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น

หากแยกตามกลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ดื่มคนเดียวและดื่มหลายคน ยังดื่มที่บ้านของตนเอง บ้านเพื่อน และบ้านญาติ 45% รองลงมา ดื่มที่ร้านอาหาร และร้านอาหารกึ่งผับบาร์ 38% และหน้าร้านสะดวกซื้อ 29% ส่วนกลุ่มที่ดื่มคนเดียว ส่วนใหญ่ยังเป็นการดื่มที่บ้านตนเอง บ้านเพื่อน บ้านญาติ รวมถึงออฟฟิศ และหน้าร้านสะดวกซื้อ 5% ขณะที่ คนที่ดื่มหลายคน 15% ดื่มที่บ้านของตนเอง บ้านเพื่อน บ้านญาติ รวมทั้งร้านอาหาร และร้านอาหารกึ่งผับบาร์ แต่อีก 12% ดื่มในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ริมแม่น้ำ โดยคนต่างจังหวัดเป็นกลุ่มที่นิยมดื่มแอลกอฮอล์ที่พื้นที่สาธารณะมากกว่ากรุงเทพฯ และภาคอื่นๆ

3.“เหล้าขาว” ติดอันดับความนิยม

เมื่อถามถึงแอลกอฮออล์ที่นักดื่มนิยมดื่มมากที่สุดในช่วงโควิด จากผลสำรวจพบว่า 85% ของนักดื่มยังดื่มแอลกอฮอล์เกือบทุกประเภท แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มบ่อย 3 อันดับแรก คือ 1.เบียร์ 2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมดื่ม (RTD) เช่น บรีซเซอร์ สเมอร์นอฟ และมิดไนท์ 3.เหล้าขาว

 

หากแยกตามอายุ จะพบว่า เด็กเพิ่งเริ่มทำงาน มีการดื่มแอลกอฮอล์หลากหลายกว่า ขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 31-40 ปี นิยมดื่มเบียร์มากกว่า ถ้าหากแบ่งแยกตามเพศ พบว่า เพศชายนิยมดื่มหลากหลายกว่าผู้หญิง หลักๆ นิยมดื่มเบียร์ วิสกี้ และไวน์ ส่วนเพศหญิงนิยมดื่มเบียร์มากกว่า ที่สำคัญพบว่า เหล้าขาว ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักดื่มในต่างจังหวัด มีความถี่ในการดื่มสูงถึง 94% ส่วนคนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 62%

4.ไม่ใช่แค่ “เด็ก” แต่ “นักดื่มหญิง” มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากกระแสความนิยมของนักดื่มที่หันมาดื่มคนเดียวมากขึ้น ผลสำรวจในครั้งนี้ ยังพบนักดื่มหญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักดื่มที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ แต่เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ความถี่ในการดื่มจะลดลง นอกจากนี้ นักดื่มหญิงยังนิยมดื่มเหล้าขาวมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

5.นักดื่ม 38% รู้ภัยการเมาแล้วขับ 

การวิจัยครั้งนี้ ยังสอบถามถึงประสบการณ์ลดละเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการระบาดโควิด-19 ผลสำรวจพบว่า 58% เคยลดละเลิกดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยเหตุผลคือ

ต้องการดูแลสุขภาพ 27%

บทบาทหน้าที่การงาน 26%

สุขภาพไม่ดี หรือเจ็บป่วย 24%

แต่หากแยกตามเพศ จากผลวิจัยพบว่า ผู้หญิงมองเรื่องสุขภาพ เศรษฐกิจ และการถือศีลช่วงเข้าพรรษาเป็นปัจจัยในการลดละเลิกดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนผู้ชายจะมองบทบาทหน้าที่การงานและสังคมมากกว่า

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถทำให้เกิดอันตรายกับตัวเองและคนรอบข้างได้ ทั้งยังมีผลเสียต่อสุขภาพ ถ้าแยกตามเพศจะพบว่า เพศหญิงเห็นด้วยกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถทำให้เกิดอัตรายมากกว่าเพศชาย

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like