HomeBrand Move !!“ปั๊มน้ำมัน” ยกระดับเป็น “Community Hub” ทำเลทองร้านค้า รับพฤติกรรมผู้บริโภคกิน-ช้อปใกล้บ้าน

“ปั๊มน้ำมัน” ยกระดับเป็น “Community Hub” ทำเลทองร้านค้า รับพฤติกรรมผู้บริโภคกิน-ช้อปใกล้บ้าน

แชร์ :

Gas Station-Community Hub

ในอดีตการเข้าไปใช้บริการ “สถานีบริการน้ำมัน” หรือ “ปั๊มน้ำมัน” ก็เพื่อไปเติมน้ำมัน หรือใช้บริการศูนย์ดูแลรถยนต์ในนั้น แต่ปัจจุบันปั๊มน้ำมันไม่ได้เป็นเพียงจุดเติมน้ำมัน ทำความสะอาดรถ ตรวจสภาพรถ หรือจุดพักเท่านั้น หากแต่ยกระดับเป็น “Community Hub” หรือ “ศูนย์กลางของชุมชน” ด้วยการเติมบริการส่วน Non-oil ร้านค้า และบริการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันเข้ามา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

 

หาคำตอบทำไม “ปั๊มน้ำมัน” กลายเป็นทำเลสุดฮอตของร้านอาหาร – ร้านค้า ?

ก่อนหน้านี้ผู้ให้บริการสถานีน้ำมัน เน้นแข่งกันเป็นจุดแวะพักระหว่างทาง ต่อมาปรับตัวเป็นศูนย์กลางของชุมชน ด้วยการเติมบริการส่วน Non-oil เข้ามา ขณะที่เวลานี้ในยุค COVID-19 จะเห็นว่าพื้นที่ค้าปลีกในปั๊มน้ำมัน กำลังเป็น “ทำเลทอง” ของธุรกิจร้านอาหาร และร้านค้าประเภทต่างๆ นั่นเพราะ

1. ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคกิน-ช้อปใกล้บ้าน

การเกิดขึ้นของ COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ สร้างความเปลี่ยนแปลงด้านไลฟ์สไตล์ของผู้คนต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น และจะออกนอกบ้านเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ไปตลาดสด ไปซูเปอร์มาร์เก็ต/ไฮเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน ร้านสะดวกซื้อ ไปซื้ออาหาร โดยผู้บริโภคจะเน้นไปใช้บริการร้านค้าใกล้บ้าน

ดังนั้น COVID-19 ได้เร่งให้สถานีบริการน้ำมันปรับสู่การเป็น Community Hub ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อตอบรับเทรนด์ และพฤติกรรมผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ใกล้บ้าน มากกว่าจะเดินทางไปยังศูนย์การค้าใหญ่

Cafe-Amazon

2. ยกระดับเป็น Power of Network ตอบโจทย์ความสะดวกครบวงจร

ด้วย Network สาขาสถานีให้บริการน้ำมันของค่ายต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ไม่ว่าถนนสายหลัก – ถนนสายรอง และย่านที่พักอาศัย ใช้การเปิดสถานีทั้งในรูปแบบ COCO (Company Owned, Company Operated) และ DODO (Dealer Owned, Dealer Operated) จึงทำให้ขยายสาขาได้เร็ว และครอบคลุม

บวกกับขนาดพื้นที่ปั๊มน้ำมัน โดยเฉลี่ย 2 – 3 ไร่ เป็นพื้นที่เปิด (Open Space) และแนวราม ซึ่งต่างจากการพัฒนาศูนย์การค้าเป็น Closed Mall และส่วนใหญ่เป็นแนวสูง มีพื้นที่จอดรถ มีทางเข้า-ออกที่สะดวก กระจายตัวอยู่ตามถนนสายหลัก – สายรอง และย่านที่พักอาศัยต่างๆ

นี่จึงเป็นความได้เปรียบด้านทำเล ที่ทำให้ผู้ให้บริการปั๊มน้ำมันแต่ละค่าย ต้องการพัฒนาสถานีให้บริการน้ำมัน ไปสู่การเป็น Power of Network ในด้านต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความสะดวกอย่างครบวงจร

– Retail Network: ให้บริการน้ำมัน และขายสินค้าในชีวิตประจำวัน ผ่านการเปิดร้านสะดวกซื้อ

– Service Point: บริการทั้งเชนร้านค้าของสถานีให้บริการน้ำมันเอง และของผู้ประกอบการ – เชนธุรกิจที่เข้ามาเช่าพื้นที่เปิดสาขานอกศูนย์การค้า และร้านของพาร์ทเนอร์ เปิดหน้าร้านในสถานี

เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ – เครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ บริการด้านการเงิน จุดบริการรับ-ส่งพัสดุ (Drop Point) ให้กับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และบริการ Pick-up Point สำหรับคนที่สั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ แล้วสะดวกมารับสินค้าด้วยตัวเอง

– ช่องทางด้านการตลาด และสื่อสารแบรนด์: นอกจากเป็นช่องทางการขายของร้านค้าต่างๆ ที่ทรงพลังแล้ว ยังเป็นช่องทางด้านการตลาด และสื่อสารสำหรับแบรนด์ – สินค้าที่ต้องการใช้ Network สาขาปั๊มน้ำมัน เป็น Touch Point เจาะแต่ละชุมชน แต่ละโลเคชั่น

Bangchak

 

ปตท. ปั้น “PTT Station” เป็น “Living Community”

หลายปีที่ผ่านมา ปตท. ได้ยกระดับสถานีบริการน้ำมัน PTT ภายใต้แนวคิด “Life Station” ด้วยการพัฒนาสถานีให้บริการให้เป็น “จุดแวะพัก”​ ระหว่างการเดินทาง

แต่ด้วยยุทธศาสตร์รุกขยายสาขา “PTT Station” จากปัจจุบันมีกว่า 2,300 สาขาทั่วประเทศ และมีแผนเปิดปีละ 100 แห่ง ซึงมาพร้อมกับการเร่งสปีดสร้างการเติบโตในกลุ่มธุรกิจ Non-oil เพื่อเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ดังนั้น “ปตท.” จึงปรับบทบาทของสถานีบริการ PTT Station ไม่ใช่เป็นแค่จุดแวะพักเท่านั้น แต่เป็น “Living Community” เพื่อเป็นศูนย์กลางของทุกชุมชน

ภายใน 1 สาขาของ PTT Station จึงครอบคลุมทั้งบริการน้ำมัน สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และบริการ Non-oil เช่น ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ และ Cloud Kitchen

นอกจากพัฒนาสถานี PTT Station ให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนแล้ว ล่าสุด ปตท. ได้ต่อยอดไปสู่การพัฒนา “Community Mall ขนาดเล็ก” ในชื่อ “OR Space” ในคอนเซ็ปต์ค้าปลีกนอกปั๊ม รวมธุรกิจ Non-oil ในเครือปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR และสถานีชาร์จรถ EV มาไว้ในที่เดียว พร้อมด้วยร้านของแบรนด์พันธมิตร โดยเตรียมเปิดตัวช่วงปลายปี 2564 นี้

OR-PTT-Station

 

“บางจาก” รุกโมเดลธุรกิจใหม่ “บางจาก Food Truck” ให้บริการ Grab & Go

ขณะที่ “บางจาก” พัฒนาสถานีบริการน้ำมันด้วยแนวคิด Greenovative Destination เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางที่จะเติมเต็มความต้องการของลูกค้ามากกว่าผลิตภัณฑ์น้ำมันคุณภาพสูง  แต่ยังตอบโจทย์วิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปของผู้บริโภค

ดังนั้นจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน และใช้จ่ายใกล้บ้าน บางจาก จึงรุกโมเดลธุรกิจใหม่ “บางจาก Food Truck” จับมือแบรนด์ชั้นนำเปิดให้บริการในปั๊ม คัดสรรความอร่อยจากเชฟระดับมิชลิน และสินค้าไลฟ์สไตล์มาไว้ในจุดเดียว ให้บริการในรูปแบบ Grab & Go เช่น A&W,  Bar B Q Plaza, Crop-pul, Dairy Queen, Ka nom, Milk Land, อโณไทย by Arno’s, ผัดไทยไฟทะลุ โดยแอนดี้ หยาง เชฟระดับมิชลินชาวไทยคนแรก, QQ โดยเชฟวิลเมนท์ ลีออง กรรมการท็อป เชฟ ไทยแลนด์ รวมทั้งสินค้าไลฟ์สไตล์ ได้แก่  B2S และ Jaymart

ขณะนี้ได้เปิด บางจาก Food Truck แล้วที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก สาขาถนนศรีนครินทร์  และสาขาถนนกาญจนาภิเษก กม.41 โดยเปิดบริการทุกวันเวลาประมาณ 9.30  – 18.30 น. และวางแผนจะขยายอีกกว่า 15 สาขาภายในปีนี้

Bangchak Food Truck

ทั้งนี้โมเดลรถขายของเคลื่อนที่ได้รับความนิยมจากทั้งผู้ประกอบการธุรกิจ SME และแบรนด์ใหญ่ แม้จะเป็นรถขนาดบรรทุกขนาดเล็ก แต่มีจุดเด่นตรงที่เป็นรถเคลื่อนที่ มีความคล่องตัว ยืดหยุ่น ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนไม่สูง แต่สามารถเข้าถึงย่านชุมชน/ที่พักอาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นการที่สถานีบริการน้ำมัน จัดสรรพื้นที่ให้รถขายของเคลื่อนที่มาจอด เพื่อขายสินค้าต่างๆ จึง Win-Win ทั้งสถานีบริการน้ำมัน ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้บริโภค

– สถานีบริการน้ำมัน ได้เติมเต็มความครบวงจรของ และเมื่อมีร้านขายของเคลื่อนที่ที่เป็นของกินของใช้ในชีวิตประจำวันเพิ่มเข้ามา ย่อมช่วยเพิ่ม Traffic ลูกค้าที่มาใช้บริการ

– ผู้ประกอบการ ได้ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว เพราะการเปิดในปั๊มน้ำมัน มีความพร้อมด้านสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น จอดรถ ห้องน้ำ อีกทั้งยังเลือกพื้นที่ให้เหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

– ผู้บริโภค ตอบโจทย์ความสะดวก รวดเร็ว และมีสินค้า-บริการในชีวิตประจำวันที่ครบวงจร

Bangchak Food Truck

 

“ปั๊ม PT” ขยับสู่ “Service Station” ครบวงจร

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ทำให้ “สถานีบริการน้ำมัน PT เติบโต มาจากการใช้โมเดล COCO หรือ Company Owned, Company Operated คือ PTG ลงทุนเปิดสถานีบริการเอง ทั้งปั๊ม และพนักงาน บริษัทเป็นผู้บริหารจัดการทั้งหมด เพื่อทำให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และมีความคล่องตัว นี่จึงทำให้ “PTG” สามารถรุกขยายสาขาสถานีให้บริการได้เร็ว ถึงปัจจุบันมีกว่า 2,000 สถานี ซึ่งแตกต่างจากค่ายอื่น ที่เป็นระบบ Dealer Owned, Dealer Operated เหมือนกับระบบแฟรนไชส์

PTG ไม่ได้มองสาขาสถานีบริการเป็นเพียงแค่ค้าปลีกน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการใช้เครือข่ายสถานีบริการที่เดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง เป็น Power of Network ของการเป็น Service Station ครบวงจรที่เข้าไปอยู่ในชุมชน ตอบโจทย์ทั้งด้านพลังงาน และบริการ Non-oil โดยใช้ความได้เปรียบการมีสาขากระจายอยู่ในทุกอำเภอทั่วไทยในการเข้าถึงผู้บริโภคในชุมชน

PT-Station

ขณะเดียวกันสร้าง “แพลตฟอร์มเชื่อมต่อ” นั่นคือ “บัตรสมาชิก PT Max Cardมีฐานสมาชิกประมาณ 15 ล้านสมาชิก มียอด Active Member 60 – 70% ทำหน้าที่เป็นทั้ง Loyalty Program, เก็บ Big Data และเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือ PT เข้ากับพาร์ทเนอร์​ และลูกค้าสมาชิกผู้ถือบัตร เพื่อหลอมรวมให้มาอยู่บน Business Ecosystem ของ PTG โดยในปี 2564 ตั้งเป้าขยายฐานสมาชิกเป็น 18 ล้านสมาชิก และภายในปี 2568 ต้องการเพิ่มฐานผู้ถือบัตรสมาชิกเป็น 30 ล้านสมาชิก

เมื่อ PTG มี Network สถานีบริการ และฐานสมาชิกบัตร PT Max Card ในระดับ Scale ใหญ่ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ สิ่งที่ตามมาคือ Big Data มหาศาล ซึ่งจะทำให้ PTG ทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่การเป็น Data-Driven Organization เต็มรูปแบบ

PT-Station_PunThai-Coffee

การปรับตัวของ ปตท. บางจาก และ PT ที่พัฒนาสถานีบริการน้ำมันให้เป็น Community Hub แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของ “Retail Landscape” ของไทยในยุค COVID-19 ที่แนวโน้มโมเดลค้าปลีกใกล้บ้าน จะเติบโตมากขึ้น

เนื่องจากตอบรับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค ที่หากเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน อย่างอาหารการกิน ของใช้ต่างๆ ผู้บริโภคเลือกจะใช้จ่ายใกล้บ้านมากกว่าจะเดินทางไปยังศูนย์การค้า หรือค้าปลีกขนาดใหญ่ และเชื่อว่าในยุค Post COVID-19 พฤติกรรมการช้อปใกล้บ้านก็ยังคงอยู่


แชร์ :

You may also like