HomeHR & Manangementเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว แค่ “เก่ง” อาจยังไม่พอ ต้องมี AQ ทักษะใหม่ที่ทุกอาชีพต้องมี

เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว แค่ “เก่ง” อาจยังไม่พอ ต้องมี AQ ทักษะใหม่ที่ทุกอาชีพต้องมี

แชร์ :

เมื่อพูดถึง “การเปลี่ยนแปลง” หรือ “ปัญหา” แน่นอนว่าไม่มีใครชอบและอยากเจอ แต่ในโลกของการทำงาน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอ 2 สิ่งนี้และนับวันจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่เมื่อเจอแล้วจะ “ปรับตัว” รับมืออย่างไร เพราะยิ่งปรับได้เร็ว จะทำให้เราตามทันโลกที่เปลี่ยนไปได้ แต่หากไม่ปรับหรือไม่ยอมปรับ ต่อให้มีความสามารถและเก่งแค่ไหน ก็อาจตามโลกไม่ทัน แถมปัญหาก็ยังไม่ถูกแก้ไข เมื่อเวลาผ่านไปอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากจะแก้ไขเอาได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเสาะหาคนเข้ามาทำงานเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมองค์กรมักจะมองหาคนที่มี IQ หรือความฉลาดทางสติปัญญามาทำงาน ตอนนี้กลายเป็นการมองหาคนที่มี AQ หรือทักษะในการ “ปรับตัว” เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น เพราะมองว่าหากได้คนที่มีทักษะเหล่านี้เข้ามาอยู่ในองค์กร จะช่วยให้ธุรกิจรับมือและเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตอนนี้หลายๆ คนอาจเกิดความสงสัยว่า AQ คือทักษะอะไร แล้วเราจะสามารถพัฒนา AQ ให้เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ มาทำความเข้าใจทักษะนี้จาก Adecco ไปพร้อมกัน

รู้จัก AQ ทักษะการปรับตัวที่โลกการทำงานยุคใหม่ต้องการ

โดยปกติเวลาเลือกคนเข้าทำงาน องค์กรส่วนใหญ่มักจะนึกถึงความรู้ความสามารถในการทำงาน หรือทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงานนั้นๆ ขณะที่บางองค์กรอาจจะมองเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ เพราะเป็นทักษะที่จะทำให้สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายครั้งธุรกิจต้องเผชิญกับสถานการณ์ไม่คาดคิดโถมเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น การ Disruption ต่างๆ รวมถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 และพฤติกรรมของลูกค้า ทำให้แค่ทักษะ IQ และ EQ อาจยังไม่พอ จำเป็นจะต้องมี AQ เข้ามาเสริมด้วย

เพราะ AQ (Adversity Quotient) คือ ความฉลาดในการแก้ไขปัญหาหรือความสามารถในการปรับตัวรับมือกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ แสวงหาความรู้ใหม่ๆ และสามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทันเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมถึงความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามาตลอดเวลา

AQ กับคน 3 ประเภท

ต้องบอกว่า AQ เป็นทักษะที่ไม่สามารถวัดเป็นคะแนนได้เหมือน IQ แต่หากเปรียบเทียบ “ภูเขา” เป็น “อุปสรรค” ที่ต้องก้าวข้าม เราสามารถจำแนกคนตามระดับ AQ ออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย

1.Quitter หรือกลุ่มคนที่ถอดใจ คนพวกนี้จะมี AQ ต่ำ หากเปรียบปัญหาที่หนักหรือยากลำบากเหมือนยอดเขา คนกลุ่มนี้เมื่อเห็นยอดเขาก็จะบอกตัวเองว่ามันยากเกินไป ไม่มีทางข้ามได้ ปีนไปก็เหนื่อเปล่า ปฎิเสธความท้าทายโดยไม่ลองพยายามเลย คนกลุ่มนี้คือคนที่ไม่คิดจะพัฒนาตัวเอง และจะส่งผลให้องค์กรไม่ก้าวหน้าอีกด้วย

2.Camper คนกลุ่มนี้มี AQ ในระดับปานกลาง เมื่อมองเห็นยอดเขา ก็ยังมีแรงใจและแรงกายที่จะปีนเขา แต่เมื่อทำไปได้สักพักพวกเขาอาจจะเหนื่อยและท้อ ขอแวะตั้งแคมป์พักตั้งหลักก่อน พอได้พักก็อาจจะรู้สึกว่าไม่อยากปีนต่อแล้วและล้มเลิกความตั้งใจไป คนกลุ่มนี้หากอยู่ในองค์กรก็มักจะมีผลงานในระดับกลาง แม้ไม่หนีปัญหาแต่ก็ไม่ท้าทายสิ่งใหม่ๆ อาจเพราะหมดไฟหรือติดอยู่ในคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง ซึ่งหัวหน้าอาจต้องช่วยกระตุ้นอีกแรง โดยอาจมอบหมายงานที่ท้ายมากขึ้น ให้คำชมเพื่อเป็นกำลังใจ และสร้างแรงจูงใจให้กับพวกเขา

3.Climber คนกลุ่มนี้มี AQ ในระดับสูง แม้ยอดเขาจะสูง แต่พวกเขาก็มีเป้าหมายชัดเจน และทำทุกวิถีทางที่จะก้าวข้ามไปให้ได้ รู้จักปรับตัวอดทนและไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก คนกลุ่มนี้หากอยู่ในองค์กรมักจะเป็นคนที่ไม่จำนนต่อปัญหา คอยหาวิธีพัฒนาตัวเองและองค์กรอยู่เสมอ และไม่หยุดพอใจกับความสำเร็จที่ได้รับ จึงเป็นบุคลากรที่มีค่าสำหรับองค์กร

4 วิธีพัฒนา AQ ง่ายๆ ให้ตัวเอง

หลายคนอาจจะคิดว่าการพัฒนา AQ นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะต้องอาศัยระยะเวลาและประสบการณ์อย่างมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว การพัฒนา AQ สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ง่ายๆ โดยมี 4 ขั้นตอน ดังนี้

Listen to your adversity response – ตั้งสติ และฟังปัญหา
ในแต่ละวันเราต้องเจอกับปัญหาต่างๆ มากมาย ดังนั้น เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่เจอปัญหา เราก็หันมาตั้งสติ และลองฟังเสียงตัวเองว่าเราคิดและรู้สึกอย่างไรเมื่อเจอปัญหานั้น ปัญหาตอนนี้คืออะไร และเราอยากเปลี่ยนมันอย่างไร ซึ่งเป็นก้าวแรกของการพัฒนา AQ

Establish Accountability – มีส่วนร่วมกับปัญหา
คนเราเมื่อเจอปัญหาบางทีก็โทษโชคชะตาหรือโทษว่าเป็นเพราะคนอื่น จึงทำให้ละเลยการลงมือแก้ปัญหาไป ดังนั้น บางทีการจะเริ่มต้นแก้ปัญหา เราต้องมองปัญหานั้นเป็นปัญหาของเราก่อนว่าเราเป็นทั้งผู้มีส่วนได้และส่วนเสียจากปัญหานั้น ยกตัวอย่างเช่น หากวันนี้ยอดขายของบริษัทลดลงเพราะสถานการณ์โควิด หากเราไม่ได้อยู่ฝ่ายขายก็อาจจะคิดว่าไม่ต้องพยายามอะไรมากเพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายขาย เราก็จะไม่ลงมือทำอะไรเลย คิดว่าเป็นความโชคร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเราต้องทนไป

แต่หากเรามองปัญหานี้เป็นปัญหาของตัวเอง มองในมุมที่ว่าการที่ยอดขายลดจะส่งผลกระทบกับเรา เช่น ไม่ได้โบนัส ไม่ได้เงินเดือนขึ้น อาจถูกเลย์ออฟ แต่หากยอดขายดีเราก็ได้รับผลพลอยได้ไปด้วย เมื่อคิดแบบนี้เราก็จะมีแรงจูงใจที่จะต่อสู้กับปัญหานี้ ช่วยสนับสนุนฝ่ายขายหรือลงแรงหาวิธีอะไรใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหาเสียก่อน

Analyze the evidence – วิเคราะห์ ทำความเข้าใจปัญหา
บ่อยครั้งที่เราอาจถอดใจล้มเลิกที่จะแก้ไขปัญหาเพราะมันดูยากเกินไป ดังนั้น เพื่อฝึกไม่ให้ถอดใจเร็วไป จึงมีข้อแนะนำว่าให้ลองสำรวจหาหลักฐานก่อนว่ามันเป็นไปไม่ได้จริง หรือมันไม่มีทางแก้แล้วจริงหรือ มีปัจจัยอะไรที่เหนือการควบคุมและปัจจัยอะไรที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเราบ้าง ในข้อนี้คนที่เป็น quitter ก็จะหาเหตุผลสารพัดเพื่อรองรับการถอดใจของตัวเอง แต่หากเป็น climber ก็จะมองหาเหตุผล ความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ ดังนั้น เราจึงควรฝึกคิดตาม mindset ของ climber ให้เป็นนิสัย

Do something – ลงมือแก้ปัญหา
ขั้นตอนสุดท้ายของการฝึก AQ ก็คือการลงมือทำ ลองดูว่ามีอะไรที่เราสามารถทำเพื่อแก้ปัญหาได้บ้าง บางปัญหาที่ดูเหมือนไม่มีทางออก เราอาจต้องเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างก่อนเพื่อให้เห็นลู่ทางในการแก้ไขปัญหา ถ้าวิธีที่ 1 ไม่ได้ผล ก็ลองวิธีที่ 2 หรือ 3 พยายามต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ

เห็นกันแบบนี้แล้ว ลองสำรวจตัวเองกันเลยว่ามี AQ แล้วรึยัง หากยังมาเริ่มพัฒนาทักษะ AQ ให้กับตัวเองกันเลย ส่วนใครที่มีทักษะนี้แล้วก็สามารถพัฒนา AQ เพิ่มขึ้น เพื่อให้มีความพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาได้เช่นกัน


แชร์ :

You may also like