HomeHR & Manangementเทรนด์การจ้างงานเปลี่ยนไป! ยุคนี้องค์กรไม่ได้เลือกคนจากความเก่งแล้ว แต่ “ทักษะ” ต้องตรงกับงาน

เทรนด์การจ้างงานเปลี่ยนไป! ยุคนี้องค์กรไม่ได้เลือกคนจากความเก่งแล้ว แต่ “ทักษะ” ต้องตรงกับงาน

แชร์ :

“ตลาดงาน” เป็นหนึ่งในตลาดที่มีการแข่งขันสูงและร้อนแรงไม่แพ้แวดวงธุรกิจ เพราะในยุคที่เทคโนโลยีหมุนไปอย่างรวดเร็ว บวกกับความไม่แน่นอนที่ธุรกิจต้องเจอมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้องค์กรต้องปรับตัวสู่โลกสมัยใหม่มากขึ้น ส่งผลให้คนทำงานต้องปรับตัวตาม จะมีความรู้ในสายงานเดิมเพียงอย่างเดียว คงไม่พอ ต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นในการทำงานรูปแบบใหม่ตลอดเวลา เพราะองค์กรยุคนี้ไม่ได้มองหาคนเก่งในสายงานเท่านั้น แต่หันมาให้ความสำคัญกับ “ทักษะ” ในการเลือกคนมากขึ้น เพื่อให้ได้คนทำงานที่มีศักยภาพที่พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลงและนำพาองค์กรไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

คำถามคือ การเลือกคนทำงานจากทักษะคืออะไร? และทักษะแบบไหนที่องค์กรยุคนี้ต้องการ เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพชัดขึ้น Brand Buffet ชวนมาคุยกับ “คุณดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมเจาะลึกความต้องการของคนทำงานและเทรนด์การทำงานยุคใหม่ในโลกหลังโควิดจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร

ทักษะไม่ตรงกับงาน-เปลี่ยนงานบ่อย โจทย์ใหญ่ที่องค์กรต้องเผชิญ

เพราะ “บุคคลากร” หรือ “คนทำงาน” เป็นทรัพยากรสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า ที่ผ่านมาทุกองค์กรจึงแย่งชิงตัวคนเก่งเข้ามาทำงานกันอย่างดุเดือด เพราะเชื่อว่าการมีคนเก่งจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับองค์กรในระยะยาว แต่หลายปีที่ผ่านมา องค์กรต้องเจอการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ความรู้และความถนัดที่มีอยู่ในสายงานเดิมๆ อาจจะใช้ไม่ได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ประกอบกับคนรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อยกว่าคนยุคก่อน ถ้าสภาพแวดล้อมไม่ตอบโจทย์ ก็พร้อมมูฟออนเลย จึงส่งผลให้โจทย์ใหญ่ขององค์กรยุคนี้อยู่ที่ การหาคนที่มีทักษะตรงกับงาน และเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้

คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด

“คนทำงานรุ่นใหม่ไม่ได้มองเรื่องค่าตอบแทนอย่างเดียว แต่ยังมองถึงสวัสดิการ วัฒนธรรมองค์กร ซึ่งรวมไปถึงวิธีการทำงาน เพื่อนร่วมงาน และ Work Life Balance หากองค์กรตอบโจทย์ในเรื่องเหล่านี้ได้ จะทำให้คนรุ่นใหม่อยากเข้ามาทำงานและอยู่กับองค์กรนาน” คุณดวงพร บอกถึงวิธีมัดใจคนทำงาน และทำให้องค์กรหันมาคัดเลือกคนจาก “ทักษะ” มากขึ้น

คุณดวงพร บอกว่า การจ้างงานยังคงเหมือนเดิม แต่วิธีคัดเลือกคนจะมีขั้นตอนในการพิจารณามากขึ้น เพราะเดิมทีจะมองจากความรู้ความถนัดในสายงาน (Hard Skill) แต่วิธีนี้จะดูทั้ง Hard Skill และ Soft Skill เพราะ Hard Skill เป็นความสามารถในอาชีพนั้นๆ ส่วน Soft Skill ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นประสบการณ์การทำงานหรือทักษะของคนทำงาน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรได้คนที่มีทักษะตรงกับงาน และยังมีทัศนคติแบบเดียวกัน

3 ทักษะที่องค์กรมองหา คนทำงานต้องปรับให้ทัน

เมื่อพูดถึงคำว่า “ทักษะ” เชื่อว่าคนทำงานทุกคนคงได้ยินกันมานานแล้ว และได้ยินบ่อยขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในสมัยก่อนคำว่าทักษะจะเป็นเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ หรือภาษา แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ทุกวันนี้เราสามารถจะทำงานจากที่ไหนก็ได้ เพราะมีอุปกรณ์และช่องทางสื่อสารที่หลากหลายขึ้น ทำให้นิยามของทักษะขยายบริบทไปด้วย โดย “ทักษะทางด้านดิจิทัล” กลายเป็นเบสิก สกิล สำหรับคนทำงานในปัจจุบัน ซึ่งทักษะด้านดิจิทัลนี้ ไม่ได้หมายความว่าเล่นโซเชียลมีเดียได้ แต่หมายถึงการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี ด้วยการนำเอาเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ไม่ว่าจะทำงานในบทบาทไหน การเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่ไม่น่าห่วงเพราะเติบโตมากับดิจิทัล แต่กลุ่มที่น่าห่วงคือ คนทำงานที่มีอายุมาก เพราะคนกลุ่มนี้อยู่กับโลกยุคเก่ามาตลอด แต่ก็จะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งถึงแม้ว่าจะอายุมากขึ้นแต่ปรับตัวตลอด คนกลุ่มนี้จะเป็นที่ต้องการมาก เพราะมีประสบการณ์ และสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็วหรือปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว”

นอกจากทักษะด้านดิจิทัลแล้ว คุณดวงพร บอกว่า ทักษะที่องค์กรมองหาจากคนทำงานยุคใหม่ ยังประกอบไปด้วย 3 ทักษะสำคัญ ได้แก่ 1.Relearn การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็ว หรือเรียนรู้เรื่องใหม่เพื่อให้ตอบความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป 2.Unlearn ลืมทักษะเก่าหรือความรู้เดิมบางอย่างที่ใช้ไม่ได้แล้วในสถานการณ์ปัจจุบันออกไป และพัฒนาทักษะใหม่เข้ามาแทน 3.Adapt to Change ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง เพราะการอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จำเป็นต้องมีทักษะการปรับตัวที่ดี เพื่อตามโลกให้ทันและเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ได้

“คนที่ไม่มีทักษะตอบโจทย์อะไรเลย เป็นกลุ่มที่มีปัญหา คนกลุ่มนี้ต้องเรียนเพิ่มเติมเพื่อให้มีทักษะการทำงานตรงกับที่องค์กรต้องการ ส่วนคนที่มีทักษะหลากหลาย ต้องบอกโลกว่าเราเก่งอะไร ด้วยการอัพเดทโปรไฟล์ให้ชัดเจน เพราะระบบจะช่วยแมชชิ่งงานที่ตรงกับผู้สมัครได้มากขึ้น จากนั้นก็ให้องค์กรรู้มากขึ้นเวลาสัมภาษณ์ เพราะถ้าคนจบแบบเดียวกัน แต่ทำงานมาคนละแบบ ทักษะก็ต่างกัน”

Hybrid Work ยังมาแรง

ไม่เพียงแต่การคัดเลือกคนจากทักษะจะเข้มข้นมากขึ้น คุณดวงพร บอกว่า การทำงานแบบ Hybrid ยังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะมีประโยชน์ต่อองค์กรและคนทำงาน โดยในฝั่งองค์กรสามารถดึงดูด Talent โดยเฉพาะคนทำงานรุ่นใหม่เข้ามาทำงานได้มากขึ้น ทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิผลการทำงานขึ้นด้วย ส่วนคนทำงานก็สามารถ Work Life Baland และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หลังสถานการณ์โควิด หลายองค์กรจึงยังทำงานแบบ Hybrid ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนโควิด

“เราเคยคุยกับเทคคอมพานี 2 แห่ง เขาบอกว่า หาก 2 บริษัท Offer ผลตอบแทนเท่ากัน แบรนด์องค์กรไม่ต่างกันมาก แต่ที่หนึ่งทำงานแบบ Hybrid ส่วนอีกที่ต้องทำงานที่ออฟฟิศ คนทำงานจะเลือกองค์กรที่มีการทำงานแบบ Hybrid เพราะยืดหยุ่นในการทำงาน อีกทั้งเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำให้การทำงานจากที่ไหนก็ได้”

คุณดวงพร บอกว่า แม้ Hybrid Work เป็นเทรนด์การทำงานที่คนรุ่นใหม่มองหา แต่องค์กรที่จะนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ ต้องมีนโยบายการทำงานรัดกุม เพราะหากทำเพื่อดึงดูด Talent จะทำได้ในระดับหนึ่ง และประสิทธิผลของคนทำงานอาจไม่ได้ตามต้องการ จนในที่สุดก็ต้องให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ

งานสายเทค เนื้อหอมตลอดกาล

สำหรับสถานการณ์การจ้างงานตอนนี้ คุณดวงพร บอกว่า ยังอยู่ในสภาวะปกติ แม้สภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เต็มที่ เพราะหลังวิกฤตโควิดมีหลายธุรกิจที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว และโรงแรม ส่งผลให้งานด้านบริการมีการจ้างงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานที่มีฝีมือยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ส่วนบางสายงานที่อาจจะจ้างคนน้อยลง เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจมากขึ้น

ส่วนสถานการณ์การจ้างงานในปี 2567 มองว่า ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยสายงาน “ไอที” ยังเป็นมนุษย์ทองคำที่ตลาดชิงตัว และเป็นสายงานอันดับต้นๆ ที่มาแรง แม้จะมีข่าวบริษัทเทคโนโลยีมีการเลย์ออฟ แต่ธุรกิจก็ยังคงดำเนินการอยู่ อีกทั้งบุคลากรด้านนี้ยังขาดแคลน ส่วนพนักงานขาย และงานบริการลูกค้า ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่อเนื่องเช่นกัน


แชร์ :

You may also like