HomeBrand Move !!โควิดทำอะไรไม่ได้! เจาะธุรกิจเรือธง OR ร้าน Café Amazon กับแผนเปิดอีก 2,500 สาขา

โควิดทำอะไรไม่ได้! เจาะธุรกิจเรือธง OR ร้าน Café Amazon กับแผนเปิดอีก 2,500 สาขา

แชร์ :

OR cafe amazonถือเป็นหุ้น “มหาชน” ตัวจริง กับการเปิดขาย IPO ของบริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR  เรียกกระแสสนใจจากนักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไปที่ไม่เคยซื้อหุ้นเปิดพอร์ตมาก่อน แห่จองซื้อวันแรก (24 ม.ค.) จนแอปฯ ธนาคารล่ม  หากดูธุรกิจของ OR นอกจากน้ำมันแล้ว กลุ่ม Non-Oil ร้านกาแฟ Café Amazon เป็นอีกเรือธงที่ทำให้ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของหุ้น OR

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

OR บริษัทในเครือ ปตท. บริษัทที่มีมูลค่าใหญ่สุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เสนอขายหุ้น IPO ที่ราคา 16-18 บาท ระหว่างวันที่ 24 ม.ค.-2 ก.พ.2564 ธุรกิจของ OR มี 3 กลุ่มคือ 1.น้ำมัน สถานีบริการ PTT Station 2. Non-oil ค้าปลีก Café Amazon  3.ธุรกิจต่างประเทศ

ธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ปัจจุบันมี 1,968 แห่ง เป็นแพลตฟอร์ม ขยายธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ ทั้งร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่, เซเว่นอีเลฟเว่น, ร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ และร้านกาแฟ Café Amazon ด้วยกลยุทธ์นี้ OR สามารถดึงคนเข้ามาใช้บริการในปั๊มน้ำมัน ปตท. และจับจ่ายในธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ ได้ถึงวันละ 3 ล้านคน ทำให้ครองส่วนแบ่งการตลาดสถานีบริการน้ำมันอันดับ 1 ราว 40% ทิ้งห่างเบอร์ 2 เท่าตัว

cafe amazon or

Café Amazon สาขาเยอะเบอร์ 6 ของโลก เปิดอีก 2,500 แห่ง

ย้อนดูที่มาของร้านกาแฟ Café Amazon แบรนด์ที่ ปตท.เป็นผู้ปลุกปั้นพัฒนาแบรนด์ร้านกาแฟของคนไทยและนำเทรนด์บริโภคกาแฟสดเข้ามาในปั๊มน้ำมัน เริ่มเปิดสาขาแรกในปี 2545 จุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2555 ได้เปิดสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ และเปิดสาขาต่างประเทศแห่งแรกที่ลาว ปัจจุบัน OR ขยายธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและ Café Amazon ไปใน 10 ประเทศ ในกลุ่มอาเซียน ตะวันออกกลาง และจีน

นับถึงวันที่ 30 ก.ย.2563 มีจำนวนร้าน Café Amazon ในประเทศไทย 3,168  สาขา แบ่งเป็น สาขาในปั๊มน้ำมัน 1,934 สาขา  (OR เป็นเจ้าของ 347 สาขา และแฟรนไชส์ 1,587 สาขา) เติบโต 10.5%  และสาขานอกปั๊ม 1,234 สาขา (OR เป็นเจ้าของ 297 สาขาและแฟรนไชส์ 937 สาขา) เติบโต 46%

ส่วนสาขาในต่างประเทศมี 272 สาขา ทำให้ Café Amazon เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย  อีกทั้งยังครองเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 12 ของโลกในแง่ของรายได้ร้านกาแฟ

“คาเฟ่ อเมซอนถือเป็นแบรนด์ที่คนไทยชื่นชอบและภาคภูมิใจกับการก้าวสู่ระดับโลก” คุณจิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ โออาร์ กล่าว

OR cafe amazon

ในปี 2562 Café Amazon มียอดขายกาแฟ 264 ล้านแก้ว ปี 2563 ที่ต้องเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.2563) ทำยอดขายได้ถึง 200 ล้านแก้ว เรียกว่าโควิดก็ทำอะไร Café Amazon ไม่ได้

เป้าหมายการขยายธุรกิจค้าปลีกของ OR หลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ วางแผนในปี 2568 จะมีร้าน Café Amazon จำนวน 5,800 สาขา โดยต้องเปิดให้ได้อีก 2,500 สาขา  (แบ่งเป็นในประเทศไทย 2,100 สาขา โดย 60% อยู่นอกปั๊ม และต่างประเทศ 400 สาขา) เฉพาะในประเทศไทย จาก 3,168  สาขา จะเพิ่มเป็น 5,200 สาขา เติบโตเฉลี่ย 18.3% ต่อปี

Café Amazon ในต่างประเทศจะขยายเพิ่มในกลุ่ม CLMV ซึ่งทำรายได้อันดับ 1 ร้านกาแฟในกัมพูชา ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออก  ขยายสาขาทั้งในปั๊มน้ำมันและนอกปั๊ม นอกจากนี้ เมื่อเดือน ธ.ค.2562  OR ได้ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เพื่อดำเนินธุรกิจกาแฟ Café Amazon ในเวียดนาม

นอกจากนี้ OR ได้ลงทุนสร้างโรงงานเบเกอรี่ โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม ศูนย์กระจายสินค้าแบบอัตโนมัติ เพื่อดูแลการผลิตและปริมาณให้เพียงพอ ตลอดซัพพลายเชนของธุรกิจ Café Amazon และเพิ่มมูลค่าการซื้อต่อครั้ง (Ticket Size) ในร้าน

Pacamara cafe amazon cover

อีกทั้งเพื่อสร้างความหลากหลายของสินค้าในธุรกิจกาแฟมูลค่า 50,000 ล้านบาท ปลายปีก่อน OR ได้เข้าซื้อหุ้น 65% ใน “พีเบอร์รี่ ไทย” มูลค่า 172 ล้านบาท ซึ่งประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟครบวงจรในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

โดยเป็นผู้จัดหา ผลิต จัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟ และอุปกรณ์สำหรับการเปิดร้านกาแฟ รวมทั้งให้บริการดูแลรักษาเครื่องชงกาแฟให้กับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ และเป็นเจ้าของร้านกาแฟประเภท Specialty Coffee ภายใต้แบรนด์ Pacamara  ทำให้ OR สามารถขยาย Brand Portfolio ร้านกาแฟได้เพิ่มขึ้นนอกจากตลาดแมส ในอนาคตยังมองโอกาสและเปิดกว้างการร่วมทุนในธุรกิจใหม่ๆ

ต่อสัญญา “เซเว่นอีเลฟเว่น”   

ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก หรือ Non-Oil นอกจากร้าน Café Amazon แล้ว OR ยังได้รับสิทธิแฟรนไชส์ร้านค้าอื่นๆ  อย่าง ไก่ทอด Taxas Chicken  มีแผนขยายปีละ 20 สาขา ทั้งลงทุนเองและเปิดให้แฟรนไชส์ ร้านติ่มซำ ฮั่วเซ่งฮง  ร้านเครื่องดื่ม Pearly Tea  และบริการจัดการพื้นที่ให้เช่าในสถานีบริการน้ำมัน

อีกธุรกิจสำคัญคือร้านสะดวกซื้อ โดยได้ทำสัญญาความร่วมมือกับ “ซีพี ออลล์” เพื่อเปิดร้าน 7-Eleven”  ในปั๊ม ปตท. ตั้งแต่ ปี 2546 จากนั้น ปี 2550 ปตท.ได้ซื้อสถานีบริการน้ำมัน JET และร้านสะดวกซื้อ Jiffy ปัจจุบันมีร้าน 7-Eleven ในปั๊ม ปตท. และแบรนด์ Jiffy” รวมกัน 1,960 สาขาในประเทศไทย และ 86 สาขาในต่างประเทศ

or 7 eleven

โดยทำสัญญากับร้านเซเว่นฯ ไปแล้ว 2 รอบ รอบละ 10 ปี ขณะนี้อยู่ในรอบที่ 2 เหลืออีก 2 ปีก่อนครบสัญญา ซึ่ง OR ได้พูดคุยกับ ซีพี ออลล์ เพื่อต่อสัญญากันแล้ว เพราะถือเป็นพันธมิตรส่งเสริมกันและกัน ช่วยดึงคนเข้ามาในปั๊มน้ำมัน และจับจ่ายผ่านร้านค้าปลีกต่างๆ เพิ่มขึ้น

พระเอก Non-Oil กำไรดีกว่าน้ำมัน  

ปัจจุบัน OR มีรายได้หลักมาจากธุรกิจน้ำมัน  รายได้ 9 เดือน ปี 2563 อยู่ที่ 319,308 ล้านบาท  มาจากธุรกิจน้ำมัน 291,764 ล้านบาท สัดส่วน 91.38% ค้าปลีก (Non-Oil) 11,690 ล้านบาท สัดส่วน 3.66%  ธุรกิจต่างประเทศ 15,845 ล้านบาท สัดส่วน 4.96%

or ebida

แต่หากดูตัวเลข EBITDA (กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม) อยู่ที่ 12,523 ล้านบาท มาจากธุรกิจน้ำมัน 8,607 ล้านบาท สัดส่วน 68.7% ค้าปลีก (Non-Oil) 3,138 ล้านบาท สัดส่วน 25.1% ธุรกิจต่างประเทศ 730 ล้านบาท สัดส่วน  5.8%  และอื่นๆ 51 ล้านบาท สัดส่วน 0.4%

เห็นได้ว่าธุรกิจค้าปลีก ร้านกาแฟ Café Amazon มีอัตราทำกำไรได้ดีกว่าธุรกิจน้ำมันที่ถือว่ามาร์จิ้น “บางมาก” อยู่ที่ราว 2.2% เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561

แต่ OR ก็ยังคงเดินหน้าขยายสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในประเทศไทย เพิ่มปีละ 100 แห่ง โดยปี 2568 วางเป้าหมายเพิ่มเป็น 2,500 แห่ง สัดส่วนดีลเลอร์ลงทุน 80% อีก 20% OR ลงทุน เพราะปั๊มน้ำมันจะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญต่อยอดธุรกิจ Non-Oil ให้เติบโต

การลงทุนสร้างฐานรายได้ใหม่ๆ จากค้าปลีกจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทำกำไรในธุรกิจ Non-Oil ซึ่งมีกำไรสูงกว่าการจำหน่ายน้ำมันมาก โดยมี Café Amazon เป็นเรือธง


แชร์ :

You may also like