HomeBrand Move !!3 สิ่งที่พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ของไทย “ห้าม” ทำ ถ้าไม่อยากแพ้สงครามออนไลน์กับยักษ์ใหญ่จากจีน

3 สิ่งที่พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ของไทย “ห้าม” ทำ ถ้าไม่อยากแพ้สงครามออนไลน์กับยักษ์ใหญ่จากจีน

แชร์ :

แม้ว่าโลกอีคอมเมิร์ซจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย Statista คาดการณ์ว่า แนวโน้มตลาดการซื้อขายออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซทั่วโลกในปี 2020 นี้ จะอยู่ที่ 75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จากปี 2019 และมีตัวเลขผู้ใช้งานมากถึง 3,468 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.6% จากปีก่อนหน้า แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จจากตลาดดังกล่าว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่สูงมากในภูมิภาคเอเชีย  ที่รายงานดังกล่าวระบุว่า จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 45 ล้านล้านบาท และมีผู้ใช้งานถึง 2,133 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 61.5% ของผู้ใช้งานทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีการเติบโตถึง 44%

โดยประเทศที่ตลาดมีมูลค่าสูงสุดคือ “อินโดนีเซีย” (คนอินโดนีเซียมีการจับจ่ายผ่านอีคอมเมิร์ซสูงที่สุดในภูมิภาคที่ 219 เหรียญสหรัฐ หรือ 6,856 บาทต่อคนต่อปี) รองลงมาคือประเทศไทย ที่มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท (โต 42% จากปีที่แล้ว) และคนมีการจับจ่ายเฉลี่ย 215.67 เหรียญสหรัฐ หรือ 6,752 บาทต่อคนต่อปี อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์ว่าตลาดไทยในปัจจุบันอยู่ในจุดที่ยังมีโอกาสโตอีกมาก เนื่องจากผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยยังมีสัดส่วนต่ำกว่าอินโดนีเซียอยู่มากนั่นเอง

แม้จะมีโอกาสเติบโตอีกมาก แต่เมื่อหันมามองผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าพวกเขากำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากถูกพ่อค้าแม่ค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามารุกถึงในประเทศ แถมยังสามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่าพ่อค้าแม่ค้าไทยหลายเท่าตัว เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านภาษีนำเข้า

มองตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในยุค Covid-19

โดยข้อมูลจาก ETDA พบว่า ช่องทางการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซของผู้บริโภคไทยถูกยึดครองโดย e-Marketplace อย่าง Lazada, Shopee, JD Central ถึง 43% รองลงมาคือ Social Media อย่าง Facebook, Instagram ถึง 25% จากนั้นจึงเป็นแชนแนลของแบรนด์ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นเอง 24% และมีช่องทางน้องใหม่อย่างการ Live Streaming อีก 8%

ส่วนสินค้าในแต่ละหมวดมีการเติบโตเพิ่มขึ้นลดลงอย่างไรนั้น ข้อมูลจาก MyCloudFulfillment ผู้ให้บริการคลังสินค้าออนไลน์ครบวงจร พบว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม – กันยายน 2020 มีการเปลี่ยนแปลงของยอดขายออนไลน์ในหลายอุตสาหกรรม ดังภาพด้านล่าง

โดยจากภาพดังกล่าว สิ่งที่น่าสังเกตคือ

  • สินค้ากลุ่ม Packaged Food & Beverage (เส้นสีน้ำเงิน) และสินค้ากลุ่ม Home Care (เส้นสีแดง) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • สินค้ากลุ่ม Beauty & Personal Care (เส้นสีชมพู) และ Consumer Health (สีฟ้า) เติบโตเพิ่มขึ้นในช่วงที่ Covid-19 ระบาด แต่หลังจากคลายล็อกดาวน์ พบว่ายอดขายออนไลน์เติบโตลดลง แต่ในระยะยาวคาดว่าจะเติบโตได้ต่อไป
  • สินค้ากลุ่มแฟชั่น (เส้นสีเหลือง) ยอดขายออนไลน์ลดลงต่อเนื่อง

คุณนิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้ง MyCloudFulfillment แบรนด์ด้านคลังสินค้าออนไลน์ผู้ให้บริการ Fulfillment อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า การที่สินค้ากลุ่มแฟชั่นเติบโตลดลงต่อเนื่องมีผลมาจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ เมื่อคนไม่ได้เที่ยว การซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็ลดลง

คุณนิธิ สัจจทิพวรรณ กรรมการผู้จัดการ และผู้ร่วมก่อตั้ง MyCloudFulfillment

หรือในสินค้ากลุ่ม Beauty & Personal Care ที่เติบโตสูงในช่วงล็อกดาวน์ เมื่อรัฐบาลคลายการล็อกดาวน์ ผู้บริโภคก็เริ่มกลับมาหาซื้อจากหน้าร้านได้เหมือนเดิม ยอดขายออนไลน์จึงลดลงชั่วขณะหนึ่ง แต่ในระยะยาวคาดการณ์ว่าสินค้าในกลุ่มนี้จะทำยอดขายได้ดีบนออนไลน์ต่อเนื่อง

แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้นคือ การที่คุณนิธิบอกว่า ข้อมูลเหล่านี้กำลังบอกถึง Pattern บางอย่างที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยต้องทำความเข้าใจ และให้ความสำคัญ เพื่อที่จะได้ไม่ยึดติดกับสินค้า แชนแนล หรือเทรนด์มากจนเกินไป

“สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำความเข้าใจกับการค้าบนอีคอมเมิร์ซมี 3 ข้อ นั่นคือ ต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ไม่ใช่การตามเทรนด์ ต้องเข้าใจ Journey ไม่ใช่ยึดติดกับ Channels และสุดท้ายคือการเข้าใจ Pattern ไม่ใช่ตัวเลข” – นิธิ สัจจทิพวรรณ

โลกอีคอมเมิร์ซไม่ใช่การตามเทรนด์

สำหรับข้อแรกที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจในมุมของคุณนิธิคือ การขายสินค้าออนไลน์ไม่ใช่การตามเทรนด์ เนื่องจากเทรนด์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการเข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น แม้เราจะเห็นว่ายอดขายหน้ากากอนามัยเติบโตสูงมากในช่วง Covid-19 ระบาด แต่จริง ๆ แล้ว ผู้บริโภคเป็นกังวลเรื่องเชื้อโรค ต้องการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองและครอบครัว จึงมองหาสินค้าดังกล่าว ซึ่งไลฟ์สไตล์นี้จะไม่เปลี่ยน แต่ความต้องการสินค้าอาจเปลี่ยนไปเป็น น้ำยาฆ่าเชื้อโรค เจลแอลกอฮอล์ ฯลฯ ได้

“ถ้าเรายึดติดที่ตัวสินค้า เราอาจขายดีแค่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถ้าเราเข้าใจปัญหาของลูกค้า ผู้ประกอบการจะสามารถสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง” คุณนิธิกล่าว

เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าก่อนเลือกช่องทาง

“ช่องทางการขายแต่ละชนิดมีคาแรคเตอร์ต่างกัน เช่น พื้นที่อย่าง e-Marketplace เหมาะสำหรับการค้นหาสินค้าใหม่ ๆ ส่วนโซเชียลมีเดีย คนที่ซื้อจะมีความไว้เนื้อเชื้อใจกัน หรือมีการ Refer ถึงกัน ส่วนเว็บไซต์หรือ LINE  เหมาะกับการซื้อซ้ำ เป็นช่องทางที่ผู้บริโภครู้สึกว่าได้สิทธิพิเศษ”

“ถ้าคนขายไม่เข้าใจคาแรคเตอร์ต่าง ๆ เหล่านี้ และทำสลับกันหมดเลย เช่น ไปขายบน Lazada – Shopee แล้วหวังกำไร หรือหวังจะได้ลูกค้าใหม่จากเว็บไซต์ พวกเขาจะพบว่า การขายจะยากขึ้นเรื่อย ๆ มันจึงดีกว่าหากผู้ประกอบการทำความเข้าใจว่าแต่ละช่องทางการขายไม่เหมือนกัน และเราไม่จำเป็นต้องใช้ทุกช่องทาง เพราะสุดท้ายเวลาลูกค้าต้องการซื้อของ เขาไม่ได้มองว่าต้องการช่องทางไหน (ออนไลน์ – ออฟไลน์) เขามองหาแบรนด์ การที่เราให้แบรนด์ไปอยู่ในที่ใกล้ชิดที่สุดเป็นเรื่องที่สำคัญ นั่นคือออมนิแชแนล แต่มันคือการเชื่อมต่อข้อมูล สต็อก เข้าด้วยกัน และปรับให้เข้ากับลูกค้าแต่ละคนให้ได้”

แพทเทิร์น สำคัญกว่าตัวเลข

ความจำเป็นข้อสุดท้ายที่ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยต้องเข้าใจคือเรื่องของแพทเทิร์นของข้อมูล อย่ายึดติดแต่กับตัวเลขที่สูง หรือต่ำอย่างเดียว เพราะตัวเลขบางอันที่สูง ๆ นั้น มันอาจเป็นตัวเลขที่ลดลงจากจุดสูงสุดมาแล้วก็เป็นได้

“สมมติโควิดเกิดระลอกสอง เรารู้เลยว่าแฟชั่นโดนก่อนแน่ ถ้าเราเข้าใจแพทเทิร์นอย่างนี้เราจะปรับตัวได้” คุณนิธิยกตัวอย่างเปรียบเทียบ

“การเข้าใจแพทเทิร์นทำให้เรารู้ว่า หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้เราจะไม่พลาดซ้ำสองอีก ที่สำคัญ บริษัทควรจะแบ่งงานกันทำ จะได้โฟกัสในสิ่งที่ถนัดได้ อย่าถือทุกอย่างไว้ที่ตัวเอง อะไรที่ไม่เก่งอย่าทำ เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร หากเกิดวิกฤติอีกครั้ง เราจะได้ยืดหยุ่นพอที่จะปรับเปลี่ยนได้”

“ที่สำคัญ ต้องระมัดระวังเรื่องการนำเงินไปลงทุน ต้องกระจายความเสี่ยง อย่าเพิ่งลงทุนหวังผลระยะยาวหรือความคุ้มค่า แต่สำหรับยุคนี้ ควรลงทุนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นก่อนดีกว่า” คุณนิธิกล่าวปิดท้าย

โดยปัจจุบัน MyCloudFulfillment เป็นผู้ให้บริการ Fulfillment ที่มาพร้อมกับระบบจัดการออเดอร์ (OMS) ระบบจัดการคลังสินค้า (WMS) ที่สามารถช่วยร้านค้าจัดการ เก็บ แพ็กสินค้า และเชื่อมต่อ API เข้ากับร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Lazada, Shopee ได้อัตโนมัติ รวมถึงสามารถนำข้อมูลการขายมาใช้วิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจได้  ซึ่งบริษัทมีสินค้าในระบบแล้วมากกว่า 100,000 SKUs และในช่วง Covid-19 เคยทำยอดออเดอร์ต่อวันได้สูงสุดถึง 50,000 ออเดอร์ โดยภายในครึ่งปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านคลังกว่า 500 ล้านบาท และล่าสุดบริษัทเพิ่งรับเงินลงทุน Series A ไป 2 ล้านเหรียญสหรัฐจาก SCB 10X, ECG-RESEARCH, Gobi Partners และ NVest Venture


แชร์ :

You may also like