ต้องบอกว่า ข่าวการถอนตัวออกจากธุรกิจคอมพิวเตอร์พีซีของ Toshiba โดยขายหุ้นในกิจการที่เหลือทั้งหมดให้กับบริษัท Sharp ที่มีการเผยแพร่กันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนใจหายไม่น้อย โดยเฉพาะบรรดาแฟน ๆ ที่เคยประทับใจกับความอึด ถึก ทนของโน้ตบุ๊ก Toshiba มาก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น การถอนตัวออกจากธุรกิจสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของแบรนด์ญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีนี้ ยังทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงเส้นทางของพวกเขาว่าจะไปอยู่ที่จุดไหนของตลาดโลก ซึ่งคำตอบอาจต้องไปดูจากสิ่งที่พวกเขาควักเงินลงทุนก็เป็นได้
ตั้งศูนย์วิจัย AI ด้วยงบ 34,000 ล้านเยน
โดยเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีข่าวการลงทุนของ Toshiba ที่น่าสนใจปรากฏอยู่ นั่นคือการทุ่มงบ 34,000 ล้านเยน (ราว 9,985 ล้านบาท) ในการพัฒนาศูนย์วิจัย AI และเทคโนโลยี Quantum Cryptography โดยเฉพาะ
สำหรับที่ตั้งของศูนย์ดังกล่าวอยู่ในเมืองคาวาซากิ ใกล้ ๆ กับกรุงโตเกียว และคาดว่าเมื่อสร้างเสร็จจะเป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ประมาณ 3,000 คน โดยบริษัทมีแผนจะเปิดตัวในปี 2023 นี้
ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2019 ข้อมูลของ The World Intellectual Property Organization ยังระบุว่า Toshiba ติด 1 ใน 5 ของบริษัทที่มีการจดสิทธิบัตรด้าน AI มากที่สุดในโลกด้วย (บริษัทที่ติดโผทั้งหมดได้แก่ IBM, Microsoft, Samsung, NEC และ Toshiba)
บุกตลาดพลังงานสะอาด
การเติบโตของ Toshiba ยังก้าวไปในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงอีกหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากไฮโดรเจนสำหรับใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ในชื่อ H2Rex โดยระบบดังกล่าวได้ติดตั้งแล้วและเริ่มเดินเครื่องแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ณ Azuma Sports Park และ J-Village National Training Center ในฟุกุชิมะ
โดยความสามารถของ H2Rex ทั้งสองเครื่องคือการเป็นแหล่งพลังงานสะอาด เพราะไม่มีการปล่อย CO2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดฟุกุชิมะ ที่ปัจจุบันต้องการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของให้จังหวัดไปสู่การเป็น The New Energy Society แทนภาพลักษณ์ก่อนหน้าของเมืองที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์จนเกิดเหตุการณ์เศร้าสลดเมื่อปี 2011
นอกจาก H2Rex แล้ว Toshiba ยังมี H2One อีกหนึ่งแหล่งพลังงานสะอาดจากไฮโดรเจนที่สามารถจ่ายไฟให้กับบ้านเรือนได้พร้อมกันนับพันหลัง หรือจะจ่ายไฟให้กับโรงงาน – โรงพยาบาล ก็ได้ด้วย
LiDAR เซนเซอร์อัจฉริยะที่โลกอนาคตต้องมี
อีกหนึ่งตลาดที่ Toshiba จะก้าวไปก็น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือการพัฒนาเซนเซอร์ LiDAR ที่ถือเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับโลกอนาคต
โดยปัจจุบันมีการนำเซนเซอร์ LiDAR ไปใช้อย่างหลากหลาย เช่น ช่วยเกษตรกรวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูก และวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน ช่วยวิเคราะห์สภาพเมฆฝน – มลพิษในอากาศ ซึ่งการใช้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ ช่วยให้เกษตรกรสามารถสร้างแบบจำลองและคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เรามักได้ยินชื่อของเซนเซอร์ LiDAR อยู่บ่อยครั้งก็คือตลาดยานยนต์อัจฉริยะ (Autonomous Vehicles) ซึ่งเซนเซอร์ LiDAR มีบทบาทอย่างมากในระบบนำทาง เนื่องจากความสามารถของเซนเซอร์จะช่วยสแกนวัตถุรอบ ๆ ขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ การมีเซนเซอร์ที่แม่นยำและสแกนวัตถุได้ในระยะไกลสามารถช่วยให้รถยนต์อัจฉริยะตัดสินใจหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้อย่างทันท่วงที
สำหรับธุรกิจเซนเซอร์ LiDAR ของ Toshiba พวกเขามีสิทธิบัตรด้าน Silicon Photo-Multiplier (SiPM) ของตัวเอง ทำให้บริษัทสามารถสร้างเซนเซอร์ LiDAR ในขนาดเล็กลง สามารถติดตั้งได้โดยไม่เปลืองพื้นที่ อีกทั้งยังประหยัดต้นทุนมากกว่าด้วยเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด (ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบตัวโปรโตไทป์)
พัฒนาอัลกอริธึมใหม่ช่วยธุรกิจขนาดใหญ่
เทคโนโลยีตัวสุดท้ายที่ถือว่าน่าสนใจสำหรับก้าวต่อไปของ Toshiba คือสิ่งที่เรียกว่า Simulated Bifurcation Algorithm ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยของบริษัทชื่อ Hayato Goto เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีขนาดใหญ่ หรือมีตัวแปรเกี่ยวข้องมาก ๆ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่น
- การหาเส้นทางให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่ประหยัดต้นทุนที่สุด
- การบริหารระบบจราจรในเมืองใหญ่ให้รถไม่ติดขัด
- การบริหารพอร์ตการเงินให้ได้รับผลตอบแทนสูง ๆ แต่มีความเสี่ยงต่ำ
ซึ่งการสร้างโมเดลสำหรับแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยทั่วไปแล้วไม่สามารถทำได้บนคอมพิวเตอร์ธรรมดา ๆ แต่อาจต้องขึ้นไปทำงานบนซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากได้
แนวคิดของ Simulated Bifurcation Algorithm จึงมีการจำลองความสามารถของ Quantum Computer เข้าช่วยในการประมวลผล ซึ่ง Toshiba บอกว่า ด้วยอัลกอริธึมดังกล่าว มันสามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้นและทำงานได้แม้บนคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป ซึ่งตลาดเป้าหมายของ Simulated Bifurcation Algorithm นี้เป็นกลุ่มสถาบันการเงิน, โรงงานอุตสาหกรรม, ธุรกิจบริการสาธารณะ เป็นต้น
บริษัทญี่ปุ่นลงทุนเทคโนโลยีเพิ่ม
ไม่เฉพาะ Toshiba ที่ลงทุนใน DeepTech มากมาย เพราะข้อมูลจาก Nikkei Asian Review ยังเผยให้เห็นว่า บริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคยกันดีนั้นมีการลงทุนในดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น Seven & i Holdings เจ้าของธุรกิจ 7-Eleven ที่มีแผนจะลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่ม 19.9% โดยหนึ่งในเป้าหมายของบริษัทคือการตั้งราคาสินค้าแบบยืดหยุ่น (Dynamic Pricing) สำหรับบริการเดลิเวอรี่สินค้าถึงบ้าน
นอกจากนั้นยังมีบริษัท Taisei ในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีแผนจะลงทุนเพิ่ม 17% ในระบบตรวจสอบควบคุมงานก่อสร้างแบบระยะไกล ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้บริการประหยัดต้นทุนด้านพนักงานลงได้
หรือบริษัท Kubota ก็มีการจับมือกับ Microsoft ลงทุนเพิ่ม 20,800 ล้านเยนในเทคโนโลยีสำหรับการเกษตร (เพิ่มขึ้นจากเดิม 140% เลยทีเดียว) เช่นเดียวกับ Fujitsu ที่พบว่ามีการลงทุนสร้าง Data Center แห่งใหม่สำหรับรองรับธุรกิจในอนาคตของบริษัทเช่นกัน
โดย Nikkei Asian Review พบว่าใน 765 บริษัทญี่ปุ่นที่มีการสำรวจนั้น ตั้งงบประมาณสำหรับลงทุนด้านเทคโนโลยีเอาไว้ถึง 471,800 ล้านเยน โดยธุรกิจด้าน Manufacturing นั้นมีการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 20.3% ส่วนธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับ Manufactuing โดยตรงนั้นมีแผนลงทุนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 13.1%
ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นอีกภาพหนึ่งว่า ในวันที่เราเห็นการถอนตัวจากตลาดดั้งเดิมอย่างสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของแบรนด์ญี่ปุ่นเป็นเรื่องน่าเสียดาย หรือเป็นเรื่องของการพ่ายแพ้ บางทีพวกเขาอาจกำลังเตรียมปรากฏตัวครั้งใหม่ใน “ตลาดที่เรายังมองไม่เห็น” เรียบร้อยแล้วก็เป็นได้