เทรนด์ผู้บริโภคเปรียบเสมือน “เข็มทิศ” ให้กับธุรกิจ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดการพัฒนาสินค้า – บริการ และบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งบริบทแวดล้อม ไม่ว่าจะด้านสังคม เศรษฐกิจ สถานการณ์ตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภค
“Tetra Pak” (เต็ดตรา แพ้ค) เปิดรายงาน “Trendipedia” เป็นการศึกษาเทรนด์ผู้บริโภคปี 2020 – 2021 ซึ่งมีผลต่อการกำหนดทิศทางธุรกิจ การพัฒนาสินค้า และบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะใน “กลุ่มธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่อยู่ในชีวิตประจำวันทุกคน
โดยเทรนด์ของผู้บริโภคฉบับนี้ ชี้ให้เห็นว่าการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนมีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะที่แบรนด์ หรือผู้ผลิตต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ และยังคงต้องการความสะดวกสบายด้วยเช่นกัน
เทรนด์ผู้บริโภคที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ เป็นผลลัพธ์จากปัจจัยมหภาค (Macro Factor) ภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคม และปัจจัยที่ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนความคิด – ค่านิยม (Changing Values)
6 Macro Forces กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ผู้คน กับ 3 ค่านิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ปัจจัยภาพใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน และเกี่ยวเนื่องอย่างแยกไม่ออกกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และธุรกิจ ประกอบด้วย
- สิ่งแวดล้อม และเชื้อชาติ
- ความตึงเครียดระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง และการค้าการลงทุน เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ส่งผลกระทบกับทั้งภาคธุรกิจ และผู้บริโภค
- ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บางประเทศ บางสังคมเกิดความแตกแยก
- Data World ข้อมูลทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากบริษัทใหญ่ เริ่มเอาข้อมูลลูกค้ามาพัฒนาธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ หรือมองหา ยิ่งทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความซับซ้อน และ Fragment มากขึ้น ทำให้ “Data” ยิ่งมีความสำคัญ
- การเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีเร็วขึ้น ก่อนหน้าจะเกิดสถานการณ์ COVID-19 เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว และยิ่งการเกิดขึ้นของ COVID-19 เป็น “ตัวเร่ง” ให้พัฒนาเร็วขึ้นไปอีก ซึ่งคาดว่าอนาคต Speed จะเร็วกว่านี้
- การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในแต่ละประเทศ โดยหลายประเทศเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างประเทศไทยใน 2 ปีข้างหน้า จะเข้าสู่ Aging Society เต็มรูปแบบที่มีประชากรสูงวัย คิดเป็นสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ
ขณะที่ “Changing Values” พบว่าปัจจุบันความคิด และค่านิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปใน 3 ด้านหลักๆ คือ
- ความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้บริโภคยุคนี้มองว่าสิ่งแวดล้อม สิทธิเสรีภาพในการคิด การพูด การออกเสียง คือสิ่งสำคัญ
- ผู้บริโภคมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องการเป็นนายตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการเข้ามาทำงานในองค์กรน้อยลง
- ไม่ค่อยมีการแบ่งแยกเพศ (Ungender) มากเหมือนอย่างในอดีต นี่จึงทำให้หลายสินค้าและบริการ ออกแบบ Unisex ที่ใครก็สามารถใช้ได้ ใส่ได้
จาก 6 Micro Factor และ 3 Changing Values ข้างต้น นำมาสู่ Consumer Trends ปี 2020 – 2021 ใน 7 เทรนด์คือ
1. “การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ” (Responsible Consumption)
เดิมทีผู้บริโภคสนใจด้าน “สุขภาพ” อย่างเดียว แต่ปัจจุบัน และอนาคต ไม่ใช่แค่โฟกัส “สุขภาพ” เท่านั้น หากแต่ต้องเป็น “การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ” คือ การรวมเรื่อง “สุขภาพ” และ “สิ่งแวดล้อม” เป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดทัศนคติใหม่ที่ว่า “สิ่งใดที่ดีสำหรับโลกใบนี้ ย่อมดีสำหรับฉันด้วย”
สถิติข้อมูลปี 2020 พบว่า
- ผู้บริโภคต้องการให้บริษัทใหญ่ เอาจริงเอาจังกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทำให้เห็นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ มากกว่าเป็นเพียงนโยบาย หรือวิสัยทัศน์องค์กร
- 48% ของประชากรสหรัฐฯ บอกว่าเวลาเขาตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าใดๆ ก็ตาม จะพิจารณาด้วยว่าสินค้านั้นส่งผลกระทบเชิงบวกกับสังคมหรือไม่
- 59% ของผู้บริโภคบอกว่า สุขภาพของเขาในวันนี้ เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน สำหรับในเมืองไทย เช่นกรณีฝุ่น PM 2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
โอกาสทางธุรกิจ : ผู้ผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม ควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ต้องตอบโจทย์ทั้งด้าน “สุขภาพ” และ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยผลิตภัณฑ์ต้องมีรูปลักษณ์ และให้ความรู้สึกที่สะอาดปลอดภัย เช่น
- อาหารที่ทำมาจาก Plant-based
- โปรตีนทางเลือก (Alternative proteins)
- อาหาร – เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาล/เกลือน้อย หรือไม่มีน้ำตาล/เกลือ
- อาหาร – เครื่องดื่มประเภท Functional
- เครื่องดื่มที่ตอบโจทย์ดับกระหาย และเพิ่มความสดชื่น
- อาหาร – เครื่องดื่มทำมาจากวัตถุดิบออร์แกนิค
- อาหาร – เครื่องดื่มที่ใช้วัตถุจากธรรมชาติ
รูปแบบแพ็กเกจจิ้ง เช่น
- แพ็กเกจจิ้ง Recycle
- แพ็กเกจจิ้งที่เป็น Bio-based
- แพ็กเกจจิ้งที่มาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
2. “ความสะดวกในรูปแบบใหม่” (Convenience Reborn)
ทุกวันนี้ความสะดวกเป็นปัจจัยพื้นฐานไปแล้ว แต่ต่อไปจะเกิดเทรนด์ “ความสะดวกรูปแบบใหม่” คือ นอกจากเรื่องความสะดวกแล้ว ต้องมีอีก 1 ปัจจัย หรือมากกว่านั้นเพิ่มเข้ามาด้วย เช่น ความสะดวกที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และความสะดวกที่ดูแลสุขภาพไปพร้อมๆ กันได้
อย่างกรณีการเกิดขึ้นของ COVID-19 ทำให้ธุรกิจ Food Delivery เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะตอบโจทย์ความสะดวก แต่สิ่งที่ตามมาคือ ปัญหาขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น ซึ่งก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่ทำให้ต้องประกาศมาตรการ Lockdown ได้มีการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก
ในช่วงแรกที่เกิด COVID-19 ได้เกิดการขยายตัวของ Demand ที่ Food Delivery อย่างรวดเร็ว เวลานั้นร้านอาหารที่ให้บริการ Food Delivery ยังปรับตัวด้านแพ็กเกจจิ้งไม่ทัน ทำให้ใช้บรรจุภัณฑ์กล่องพลาสติก แต่หลังจากนั้นผ่านไป 2 – 3 เดือน ร้านอาหารได้เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษ แทนพลาสติก
ดังนั้นต่อไปร้านไหนที่ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบโจทย์ความสะดวกได้ด้วย จะได้เปรียบทางการแข่งขันต่อธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มนั้นๆ
สถิติที่สะท้อนว่า “ความสะดวกสบาย” คือพื้นฐานของชีวิตประจำวันไปแล้ว
- 20% ของคนอเมริกัน สั่งอาหารผ่าน Food Delivery จากหลากหลายร้านอาหาร
- ปี 2018 – 2019 ผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุในอังกฤษ มีรายได้เติบโต 12% แตะอยู่ที่ระดับ 12.6 พันล้านปอนด์
- คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบ Food to go ในอังกฤษ จะเติบโต 4.7% ในปี 2024
โอกาสทางธุรกิจ : ทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์ง่ายยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์อาหารต้องสามารถหาซื้อ ระบุชนิด และทำความเข้าใจได้ง่าย บรรจุภัณฑ์ต้องได้รับการออกแบบมาเพื่อดึงดูดนักช้อปออนไลน์ โดยต้องพิจารณาถึงการแสดงผลบนจอของสมาร์ทโฟนทั่วไปด้วย เช่น
- ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Ready to Drink ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ
- บริการจัดส่ง Meal kits Home Delivery
- ขายสินค้ารูปแบบ Direct to consumer (D2C) คือ จากผู้ผลิตส่งตรงถึงลูกค้า โดยไม่ผ่านคนกลาง
- โมเดล Subscription
รูปแบบแพ็กเกจจิ้ง เช่น
- หลอดกระดาษ
- แพ็กเกจจิ้งที่มีขนาดพอเหมาะกับความสะดวกในการพกพาไปไหนมาไหน
- แพ็กเกจจิ้ง Universal Design
3.“ต้นกำเนิดและแหล่งที่มา” (Heritage and Provenance)
เพราะอาหารถือเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมของมนุษย์มาโดยตลอด อีกทั้งเป็นสื่อถ่ายทอดสาระสำคัญเชิงวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง ปัจจุบันกระแสโลกาภิวัฒน์กำลังก่อให้เกิดแรงกระตุ้นอันทรงพลังในการออกสำรวจวัฒนธรรม และต้นกำเนิดในแหล่งต่าง ๆ
สำหรับสินค้าใหม่ที่ต้องการประสบความสำเร็จในหมวดผลิตภัณฑ์นี้ ผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องประสานคุณลักษณะของวัตถุดิบดั้งเดิมและคุณภาพ ให้สอดคล้องกับสูตรการผลิตและการนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม รวมถึงอาจต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบรับกับความนิยมในรสชาติที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและของกลุ่มประชากรแต่ละแห่งในโลกด้วย
สถิติข้อมูลพบว่า
- 70% ของคนอิตาลีบอกว่า ถ้าบรรจุภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่มสามารถบอกแหล่งที่มาของวัตถุดิบ จะสร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น
- 79% ของคนกลุ่ม Millennials เห็นด้วยว่าตัวเขาเองสนุกกับการได้รับประสบการณ์ใหม่จากการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากวัฒนธรรม และประเทศที่แตกต่างกัน
- 27% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก บอกว่าเขาชอบที่จะซื้อสินค้ากับร้านค้าท้องถิ่นมากกว่า
- 36% ของคนอเมริกันวัยผู้ใหญ่ เลือกบริโภคผักที่ปลูกในประเทศ และในท้องถิ่นนั้นๆ มากกว่า
- 85% ของการผลิตในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม เป็นการผลิตภายในประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของ Local Consumer ประเทศนั้นๆ
โอกาสทางธุรกิจ : ผู้ผลิตอาหาร และเครื่องดื่มต้องประสานคุณลักษณะของวัตถุดิบดั้งเดิม และคุณภาพ ให้สอดคล้องกับสูตรการผลิต และการนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม
รวมถึงอาจต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตอบรับกับความนิยมในรสชาติที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและของกลุ่มประชากรแต่ละแห่งในโลกด้วย เช่น
- อาหาร – เครื่องดื่มที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เช่น น้ำสมุนไพร
- สินค้าที่สื่อสารถึง Heritage ความเป็นท้องถิ่น
- สินค้าที่นำสูตรโบราณดั้งเดิม ฟื้นกลับมาให้เป็นที่น่าสนใจ และน่าดึงดูดผู้บริโภค
รูปแบบแพ็กเกจจิ้ง เช่น
- ออกแบบแพ็กเกจจิ้งที่ผสาน Heritage
- แพ็กเกจจิ้งที่ใช้วัสดุท้องถิ่น
- แพ็กเกจจิ้งที่มี QR Code เพื่อให้ผู้บริโภคได้สแกน ดูวัตถุดิบ และความเป็นมาของสูตร หรือสินค้านั้นๆ
4. “การเชื่อมความสัมพันธ์” (Reconnect)
ทุกวันนี้โลกหมุนไปเร็วอย่างมาก ขณะเดียวกันไลฟ์สไตล์ของคนมีแต่ความเร่งรีบ ทำให้บางครั้งผู้บริโภคแสวงหา “การเชื่อมความสัมพันธ์” ที่เป็นแบบ Real Connection เชิงกายภาพ ไม่ใช่บนดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว หรือกับคนสนิท และอยากใช้ชีวิตแบบ Slow Life เพื่อทำให้ตัวเขาเองได้ผ่อนคลายจากความเครียดในชีวิตประจำวัน และได้เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
สถิติข้อมูลพบว่า
- 86% ของชาวอังกฤษ ประสบปัญหาความเครียด จากการทำงานหนักขึ้น และเผชิญภาวะกดดัน
- 42% ของชาวอังกฤษ สนใจผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่ช่วยให้เขารู้สึก “ดี”
- 51% ของชาวอิตาลี ใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะโทรคุย หรือส่งข้อความไปยังครอบครัว หรือเพื่อนในระหว่างมื้ออาหาร
- 33% ของชาวจีน ที่อายุ 20 – 49 ปี บริโภคขนมขบเคี้ยวเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด
- 42% ของผู้ใหญ่ในบราซิล สนใจอาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยให้เขาลดความเครียด
โอกาสทางธุรกิจ : สินค้าและบริการที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้ผ่อนคลายจากภาวะความเครียด และตอบโจทย์ด้านการสร้างความสัมพันธ์ เช่น สินค้าที่มีคุณลักษณะเข้าไปอยู่ในโมเมนต์ Sharing เช่น
- ผลิตภัณฑ์มีเบเนฟิตช่วยผ่อนคลาย และสร้างสมดุล เช่น
- สปา, เครื่องดื่ม
- ผลิตภัณฑ์ทำมาจากธรรมชาติ
- ผลิตภัณฑ์สมุนไพร
- ผลิตภัณฑ์ที่ช่วย Detox
รูปแบบแพ็กเกจจิ้ง เช่น
- แพ็กเกจจิ้งดีไซน์เรียบง่าย
- แพ็กเกจจิ้งที่ง่ายต่อการเปิดใช้งาน
- แพ็กเกจจิ้งขนาดครอบครัว เพื่อตอบโจทย์ Sharing ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เพื่อน
5. “ความดื่มด่ำที่ตั้งใจ” (Intentional Indulgence)
ผู้บริโภคตั้งใจเลือก โดยรู้ว่าสิ่งที่เลือกนั้น จะสร้างโมเมนต์ความสุขให้กับตัวเอง และไม่ได้รู้สึกผิดเมื่อได้ตัดสินใจเลือก หรือลงมือทำสิ่งนั้น
เช่น ได้กินช็อคโกแลต หรือไอศกรีมที่ชื่นชอบ แม้จะรู้ว่าจะมีผลอะไรตามมา เช่น แคลอรี่ ปริมาณน้ำตาล หรือแม้แต่การซื้อสินค้าพรีเมียม หรือสินค้า Luxury ให้เป็นรางวัลกับตัวเอง เป็นการสร้างความสุขทางใจ
สถิติข้อมูลพบว่า
- ในประเทศอังกฤษ “ช็อคโกแลต” เป็น Category ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีมูลค่า 183.5 ล้านปอนด์ ซึ่งข้อมูลนี้สามารถเชื่อมโยงได้ว่าในปัจจุบันคนมีความเครียด และได้รับแรงกดดันมากขึ้น จึงต้องการสินค้าที่มาช่วยสร้างโมเมนต์ความสุข หรือความดื่มด่ำให้กับตัวเขาเอง
- คนทั่วโลกมี Mindset ขอมีความสุขในวันนี้ เพิ่มขึ้นจาก 50% ในปี 2013 เป็น 59% ในปี 2019
โอกาสทางธุรกิจ : สินค้าที่ตอบโจทย์ Emotional Value เพื่อสร้าง “โมเมนต์ความสุข” ให้กับผู้บริโภค เช่น ไอศกรีม ขนมหวาน ของกินอร่อยๆ หรือโปรตีนเชค ที่ตอบโจทย์สุขภาพ
รูปแบบแพ็กเกจจิ้ง เช่น
- แพ็กเกจจิ้งที่เน้นความเป็น Premiumness เพราะผู้บริโคที่อยู่ในโมเมนต์นี้ ยินดีจ่ายเงิน เพื่อตอบสนอง Need ของตัวเอง
- แพ็กเกจจิ้งที่ดูสนุก
- แพ็กเกจจิ้งที่มี่ขนาดใหญ่ เช่น ขนาดครอบครัว เพื่อให้อยู่ในโมเมนต์ Sharing
6. “ข้อมูลส่วนบุคคล” (Personal Data)
บริษัทใหญ่เริ่มเอาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า (Personal Data) มาพัฒนาสินค้า และบริการ โดยที่ผู้บริโภคยินยอมให้บริษัทนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในการพัฒนาสินค้า และบริการ เพราะผู้บริโภคเข้าใจ และมองว่าหากบริษัทมีข้อมูลที่จะทำให้รู้จัก และเข้าใจพฤติกรรม ความชอบ ความสนใจของผู้บริโภค จะทำให้สินค้า และบริการที่พัฒนาออกมานั้น สามารถตอบสนองได้แบบ Personalization
สถิติข้อมูลพบว่า
- 64% ของผู้บริโภคจีน ยินดีให้ข้อมูลส่วนตัวกับบริษัท เพื่อให้บริษัทนำไปพัฒนา Personalized Product & Service
- 68% ของสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ มองว่าระบบ Automation จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต
โอกาสทางธุรกิจ : ผู้บริโภคพร้อมให้ข้อมูลกับบริษัท แต่บริษัทนั้น ต้องเชื่อถือได้ มีความโปร่งใส และทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่นำข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคไปจำหน่ายจ่ายแจก ดังนั้น ความเชื่อใจ คำมั่นสัญญา แบรนด์ดิ้ง และความปลอดภัย มีความสำคัญสำหรับผู้บริโภค
รูปแบบแพ็กเกจจิ้ง เช่น
- แพ็กเกจจิ้งที่นำเทคโนโลยี เช่น QR Code เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง นำเทคโนโลยี NFC (Near Field Communication) มาใช้กับบรรจุภัณฑ์
7. “ประสบการณ์เต็มรูปแบบ” (Experience Matured)
ผู้บริโภคมองหาประสบการณ์การบริโภคที่ลึกไปกว่าแค่ผลิตภัณฑ์ที่เขาเห็นอยู่ตรงหน้า แต่มองถึงโมเมนต์ ตั้งแต่ก่อนซื้อ ระหว่างซื้อ ขณะที่กำลังบริโภค และหลังบริโภคเสร็จ เช่น บรรจุภัณฑ์นี้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ดีไหม
เพราะฉะนั้นเทรนด์การพัฒนาสินค้าต่อไป แบรนด์ต้องไม่มองแค่ว่าเมื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ นำไปสู่การตัดสินใจซื้อ เมื่อซื้อแล้วจบ แต่แบรนด์ต้องสร้างประสบการณ์เต็มรูปแบบตลอดทั้ง Customer Journey ของผู้บริโภคที่สัมผัสกับแบรนด์ ตั้งแต่ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือใช้บริการ กระทั่งตัดสินใจ และเป็นลูกค้าซื้อสินค้านั้นๆ ไปแล้ว ได้บริโภคสินค้านั้น เช่น ในธุรกิจร้านอาหาร แบรนด์ต้องสร้างประสบการณ์ตั้งแต่หน้าร้าน จนเข้ามาใช้บริการภายในร้าน เพื่อสร้างประสบการณ์ให้เป็นมากกว่าการมารับประทานอาหารในมื้อหนึ่งๆ
สถิติข้อมูลพบว่า
- 78% ของผู้บริโภคกลุ่ม Millennials บอกว่าเลือกที่จะใช้จ่ายเงิน ไปกับแบรนด์ที่สร้างประสบการณ์ความพึงพอใจ
โอกาสธุรกิจ : นำเสนอ Multi-sensorial สินค้าที่เป็น Limited Edition มีวัตถุดิบ หรือใช้ส่วนผสมใหม่ๆ รสชาติใหม่ และนำ 2 Category มาพัฒนาเป็นสินค้า 1 ตัว เช่น เครื่องดื่ม Hybrid ทั้งหลายที่ผสานกันระหว่าง 2 Category
รูปแบบแพ็กเกจจิ้ง เช่น
- ใช้วัสดุรูปแบบใหม่ เพื่อออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้มีความน่าสนใจ
- ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง Limited Edition
- เป็นแพ็กเกจจิ้งที่นำ Sensory มาใช้ในการนำเสนอ
ทั้งนี้ ผลกระทบหลัง COVID-19 ทั้ง 7 เทรนด์นี้ยังคงสำคัญ และยังเป็นตัวเร่งให้ปรากฏขึ้นชัดเจน และเข้มข้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
– ผู้บริโภคมองหาสินค้า และต้องเป็นสินค้าที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายด้วย
– e-Grocery และ Food Delivery สำคัญมากขึ้น และขยายฐานผู้ใช้งานสั่งสินค้าออนไลน์กว้างขึ้น เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ
– ผู้บริโภคพิจารณาการเลือกซื้อสินค้าอาหาร และเครื่องดื่มที่มีข้อมูลบอกรายละเอียด ทั้งวัตถุดิบ แหล่งผลิตชัดเจน ตรวจสอบได้
– ในช่วง Lockdown ทำให้คนใช้ชีวิตบนออนไลน์มากขึ้น ทำให้เมื่อปลด Lockdown ผู้บริโภคอยากกลับมาสร้างความสัมพันธ์ (Reconnect) มากขึ้น โดยยังคงรักษาระยะห่าง และใส่หน้ากากอนามัย
– ต่อไป Personal Data ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
จับตา “QR Code Packaging” ให้ลูกค้าสแกน ร่วมกิจกรรมการตลาด ไปจนถึงดูข้อมูล Supply Chain ของสินค้า
ปัจจุบันจะเริ่มเห็นแพ็กเกจจิ้งที่มี QR Code เพื่อให้ลูกค้าสแกน ตอบโจทย์ทั้งในมุมแบรนด์ หรือผู้ผลิต กับมุมผู้บริโภค
ในมุมผู้บริโภค เมื่อสแกน QR Code จะมีข้อมูลวัตถุดิบที่นำมาทำ และ Supply Chain แหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตอาหาร หรือเครื่องดื่ม เช่น ผลิตภัณฑ์นม เมื่อลูกค้าสแกน จะรู้ที่มาของโปรดักต์ตัวนั้น มาจากฟาร์มไหน และข้อมูลวัตถุดิบ
ขณะที่ฝั่งแบรนด์ หรือผู้ผลิตใช้แพ็กเกิจจิ้งที่มี QR Code ตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์ที่แตกต่างกันไป เช่น ใช้เพื่อทำกิจกรรมการตลาดกับผู้บริโภค หรือเพื่อให้ลูกค้าสแกน ได้รับรู้ข้อมูลของสินค้านั้นๆ
นอกจากนี้ QR Code Packaging ยังเป็นช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคได้มาร่วมทำกิจกรรมการตลาด และช่วยให้แบรนด์ Collect Data ของผู้บริโภค เพื่อนำไปวิเคราะห์ และต่อยอดออกมาเป็นสินค้าที่เข้าใจผู้บริโภค และตอบโจทย์ความต้องการได้แบบ Personalization