HomeAutomobileเผยโฉมครั้งแรก N526 รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ไปต่อจาก “Dyson”

เผยโฉมครั้งแรก N526 รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ไปต่อจาก “Dyson”

แชร์ :

เซอร์เจมส์ ไดสัน และรถยนต์รุ่นโปรโตไทป์ (ขอบคุณภาพจาก Engadget)

“รถยนต์ไฟฟ้า” เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับการจับตาจากทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมา มีทั้งดาวรุ่งและดาวที่หายไปจากความทรงจำ และค่าย Dyson เองก็อาจเป็นหนึ่งในดาวที่ต้องหายไปจากสารบบ โดยหากใครยังจำได้ เมื่อเดือนตุลาคม 2019 ที่ผ่านมา ค่าย Dyson ได้ประกาศปิดตัวโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท พร้อม ๆ กับเปิดตัวเลขว่าเซอร์เจมส์ ไดสัน (Sir James Dyson) เจ้าของอาณาจักรแห่งนี้ต้องควักเงินส่วนตัวไปมากถึง 500 ล้านปอนด์ในการพัฒนาเลยทีเดียว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้จะต้องหายไปจากสารบบ แต่ดูเหมือนว่ารถยนต์ดังกล่าวที่มาพร้อมโค้ดเนม N526 จะไม่ยอมหายไปจากความทรงจำง่าย ๆ โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์ของ Sunday Times ที่ทำให้หลายคนอยากรู้จักรถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ให้ลึกซึ้งขึ้นกว่าเดิม

โดยจากรูปจะเห็นว่ารถยนต์ดังกล่าวมี 7 ที่นั่ง แต่ความพิเศษของมันก็คือสามารถวิ่งได้เป็นระยะทาง 600 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง (ประมาณ 965 กิโลเมตร) ซึ่งทางบริษัทยกประโยชน์ให้กับแบตเตอรี่แบบ Solid-state ที่บริษัทพัฒนาขึ้น แถม Dyson ยังอ้างว่า เพราะเทคโนโลยีแบตเตอรี่นี้ ทำให้รถยนต์สามารถวิ่งด้วยความเร็ว 70 ไมล์ต่อชั่วโมงบนมอเตอร์เวย์ เปิดฮีทเตอร์ และเปิดเครื่องเสียงได้เต็มประสิทธิภาพในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นเดือนที่มีอากาศหนาวเย็นมาก ๆ ได้เลย

Dyson ยังบอกด้วยว่า ตัวเลข 600 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ยังเป็นสิ่งที่เขาทำได้เหนือกว่ารถยนต์ของ Tesla Model S ที่เคยทำได้แค่ 379 ไมล์ และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับ Model X ที่ทำได้ 314 ไมล์ด้วย (รุ่นนี้มี 7 ที่นั่ง)

สำหรับโครงสร้างของรถยนต์ดังกล่าวทำจากอะลูมิเนียม น้ำหนักรวม 2.6 ตัน และมีขนาดใหญ่กว่ารถประเภทเดียวกันพอสมควร นั่นคือ ยาว 5 เมตร กว้าง 2 เมตร สูง 1.7 เมตร รวมถึงมีขนาดล้อใหญ่กว่ารถยนต์ในท้องตลาดทั่วไปด้วย

แม้จะน้ำหนัก 2.6 ตัน แต่รถยนต์อะลูมิเนียมของ Dyson คันนี้สามารถเร่งสปีดจาก 0 ถึง 62 ไมล์ต่อชั่วโมงได้ภายใน 4.8 วินาที โดยอัตราความเร็วสูงสุดที่รถทำได้คือ 125 ไมล์ต่อชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำได้เนื่องจากบริษัทใส่มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 200kW ลงไป 2 ตัว

ที่สำคัญ เขาได้ทดลองขับเจ้ารถยนต์ไฟฟ้าคันนี้แล้วด้วย

ขอบคุณภาพจาก Engadget

สำหรับการตกแต่งภายในตัวรถ จะเห็นได้ว่าไม่ต่างจากรถต้นแบบที่นำมาโชว์ในงานแสดงรถยนต์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีที่นั่งดีไซน์สวยแปลกตา หรือที่วางศีรษะรูปทรงกลมคล้ายอมยิ้ม ขณะที่ส่วน Dashboard นั้น Times รายงานว่า ออกแบบมาให้ลอยอยู่ตรงหน้าได้เหมือนกับแสดงผลด้วยโฮโลแกรมเลยทีเดียว

บทเรียนจากรถยนต์ไฟฟ้า

แม้เจ้ารถยนต์โค้ดเนม N526 จะไม่ได้ออกวิ่งบนท้องถนนตามที่ฝันไว้ แต่สิ่งที่เขาเผยถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นเรื่องน่าสนใจไม่แพ้กัน โดย Dyson ได้เล่าย้อนไปถึงปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่เขาเริ่มแผนการณ์พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ในปีนั้น เขาบอกว่า ด้วยเทคโนโลยีที่มี เขามั่นใจว่าจะสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงออกมาได้อย่างแน่นอน

ทว่า หลังจากนั้นไม่นาน ค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ก็เริ่มหันมาแข่งขันในตลาดดังกล่าวด้วยเช่นกัน แถมยังเป็นเกมที่ยิ่งแข่งยิ่งขาดทุน

โดย Dyson อธิบายสภาพการแข่งขันของตลาดว่า ค่ายรถยนต์ยี่ห้อดัง ไม่ว่าจะเป็น BMW, Mercedes, Audi ฯลฯ ต่างผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาและยอมขายขาดทุนเพียงเพื่อให้บริษัทของตนเองยังคงปฏิบัติตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป ในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยข้อได้เปรียบของ BMW, Mercedes, Audi ก็คือพวกเขามีธุรกิจรถยนต์แบบดั้งเดิมที่ยังขายได้ และนำเอากำไรส่วนต่างตรงนั้นมาชดเชย

ขณะที่ Dyson ไม่มีธุรกิจรถยนต์ของตัวเอง มันจึงก้ำกึ่งกันระหว่างการขายรถในราคาที่ทำกำไรได้ (ซึ่งด้วยเงินลงทุนของ Dyson นั้นเขาอาจต้องขายรถดังกล่าวในราคาหลักแสนปอนด์) หรือไม่ก็ยอมขายขาดทุนแล้วทำให้ทั้งบริษัทตกอยู่ในความเสี่ยงไปด้วย สุดท้าย Dyson ก็ตัดสินใจแบบที่เราเห็นกัน นั่นคือยุติโครงการดังกล่าว เนื่องจากมองว่าเป็นความเสี่ยงของบริษัทที่จะแข่งต่อไป

การตัดสินใจของ Dyson อาจถูกต้อง เพราะศาสตราจารย์ David Bailey จาก Birmingham Business School ก็ออกมาเผยตัวเลขของ Tesla ว่า แม้จะได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริงก็คือ Tesla เผาเงินนักลงทุนไปกว่า 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ส่วน Dyson เองนั้น เขาได้เปิดเผยว่า ต้องควักเงินส่วนตัวลงทุนไปกับการพัฒนารถยนต์ดังกล่าวถึง 500 ล้านปอนด์เช่นกัน

แต่ไม่ต้องห่วงว่าความมั่งคั่งของเขาและตระกูล Dyson จะสั่นคลอน เพราะในการจัดอันดับจาก Times พบว่า Dyson และครอบครัว ไต่อันดับจากตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 5 ของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2019 มาสู่อันดับหนึ่งในปี 2020 แล้วเรียบร้อย โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 3,600 ล้านปอนด์ในปีเดียว หรือเท่ากับทรัพย์สินรวมทั้งหมด 16,200 ล้านปอนด์ (ประมาณ 628,305 ล้านบาท) ซึ่งหลัก ๆ แล้ว ความมั่งคั่งที่เขาได้รับนั้นมีที่มาจากธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีที่เขาครอบครองนั่นเอง

แนะบริษัทอังกฤษ เปิดใจไปเอเชีย

คำแนะนำของ Dyson ถึงบริษัทอื่น ๆ ในอังกฤษยังไม่จบ โดยเขาบอกว่า การลงทุนในเอเชียเป็นสิ่งที่บริษัทอังกฤษควรพิจารณาหลัง Brexit ซึ่งแน่นอนว่า ตอนนี้สินค้าของ Dyson ทั้งหมดผลิตในเอเชีย (มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์)

อย่างไรก็ดี คำแนะนำดังกล่าวได้ทำให้เกิดดราม่าตามมา เนื่องจากมีหลายคนสงสัยว่า การย้ายการลงทุนไปอยู่ในเอเชียทำให้เขาจ่ายภาษีน้อยลงหรือไม่ ซึ่ง Dyson ปฏิเสธ พร้อมบอกว่า เขาต้องจ่ายภาษีมากขึ้นด้วยซ้ำ เนื่องจากสิงคโปร์มีสนธิสัญญาการค้าแบบทวิภาคีน้อยกว่า จึงมีภาษีบางอย่างที่ไม่สามารถขอคืนได้ ซึ่งในแง่ของ Group company แล้ว จึงถือว่าบริษัทต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน Dyson อยู่ในอันดับ 4 ของบริษัทที่จ่ายภาษีสูงที่สุดในอังกฤษ โดยจ่ายไปถึง 103 ล้านปอนด์ในปี 2018 และเขาบอกว่า ภาษีที่บริษัทจ่ายในปี 2019 ก็มากกว่าภาษีที่จ่ายในปี 2018 ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังได้ฝากถึงคนรุ่นใหม่ในอังกฤษที่หลายคนอาจเป็นฝ่ายซ้าย และโจมตีธุรกิจของเขาว่า หากคนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตขึ้นจะเข้าใจได้เองว่า โลกาภิวัฒน์ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ตอนนี้พวกเขาอาจต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจว่า เราสร้างธุรกิจขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมการส่งออกจึงสำคัญ สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงมาก และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมคุณต้องสามารถขายมันได้ทั่วโลกนั่นเอง

Source

Source


แชร์ :

You may also like