HomeBrand Move !!ส่องแนวคิดเมืองแห่งอนาคต “Toyota” ผุด Woven City เมืองใหม่ที่ใช้โรโบติกส์และ AI นำทาง

ส่องแนวคิดเมืองแห่งอนาคต “Toyota” ผุด Woven City เมืองใหม่ที่ใช้โรโบติกส์และ AI นำทาง

แชร์ :

ด้วยเทคโนโลยีในยุค 2020 คำว่า City of the Future หรือเมืองที่เต็มไปด้วยแนวคิดแห่งอนาคตที่เราเคยเห็นกันตามหนัง Sci-fi ดูจะไม่ไกลเกินจริงอีกต่อไป เพราะล่าสุดค่ายโตโยต้ากำลังเดินหน้าสร้างเมืองดังกล่าวภายใต้ชื่อที่บริษัทตั้งว่า “Woven City” บนพื้นที่ขนาด 175 เอเคอร์ หรือราว 0.7 ตารางกิโลเมตรใกล้กับภูเขาไฟฟูจิให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะตัวจริงเสียงจริงกันแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การประกาศว่าจะสร้างเมืองดังกล่าวมีขึ้นในงาน CES2020 ที่ลาสเวกัส เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยโตโยต้าระบุว่า เมืองอัจฉริยะนี้จะมีประชากรเริ่มต้นราว 2,000 คน ส่วนหนึ่งคือพนักงานของโตโยต้าและครอบครัว นอกจากนั้นก็จะมีกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว กลุ่มธุรกิจค้าปลีก และนักวิทยาศาสตร์อีกจำนวนหนึ่งเข้ามาอยู่ร่วมด้วย

อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างจากไม้ ขอบคุณภาพจากโตโยต้า

สำหรับความพิเศษของการได้อยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้คือ “บ้าน” เพราะบ้านที่ออกแบบมาเพื่อชาวเมือง Woven City นั้นจะทำจากไม้และวัสดุธรรมชาติเป็นหลัก แถมยังมีหุ่นยนต์และ AI คอยให้บริการ รวมถึงคอยช่วยมอนิเตอร์สุขภาพให้

นอกจากนั้น โตโยต้ายังออกแบบถนนในเมืองใหม่เป็น 3 แบบตามการใช้งานจริง ได้แก่ ถนนสำหรับรถที่ต้องใช้ความเร็วสูง ถนนสำหรับใช้ร่วมกันระหว่างรถความเร็วต่ำและผู้คน สุดท้ายคือถนนคนเดินที่ห้ามรถราออกวิ่ง รถราที่วิ่งในเมืองดังกล่าวต้องเป็นรถอัจฉริยะไร้คนขับ (Self-driving car) และต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย (รถประเภทอื่นห้ามวิ่งในเมืองดังกล่าวเด็ดขาด) ซึ่งการมีถนนเช่นนี้ ทำให้โตโยต้าสามารถนำรถไร้คนขับ e-Palette ของตนเองออกมาทดสอบการรับส่งผู้คนในเมืองได้อีกด้วย

รถ e-Palette ของโตโยต้า

ด้านการใช้ชีวิตในเมือง โตโยต้าเผยว่าจะออกแบบให้มีสวนสาธารณะกระจายตัวอยู่หลายจุด รวมถึงมีพลาซ่าให้เป็นศูนย์รวมของคนในเมืองออกมาช้อปปิ้งกันด้วย

ขอบคุณภาพจากโตโยต้า

Bjarke Ingels สถาปนิกผู้สร้างเมือง “ยั่งยืน”

สำหรับผู้ออกแบบผังเมืองแห่งนี้คือ Bjarke Ingels สถาปนิกชาวเดนมาร์กเจ้าของผลงานการออกแบบตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์และสำนักงานใหญ่ของ Google ที่แคลิฟอร์เนียกับกรุงลอนดอน โดย Ingels ระบุว่า การออกแบบ Woven city นี้ เขาต้องการให้เป็นเมืองที่เติบโตได้อย่างยั่งยืนไม่ต่างไปจากผลงานก่อนหน้าของเขา

ขณะที่เป้าหมายของเมืองอัจฉริยะดังกล่าวก็คือการนำเทคโนโลยีเช่น หุ่นยนต์, AI และ IoT ใส่เข้าไปในบ้านเรือนและพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้เป็นพื้นที่ศึกษาเทคโนโลยีเหล่านั้นไปในตัว ซึ่งทำให้โตโยต้ามองว่า การสร้างเมืองใหม่จากศูนย์น่าจะทำให้บริษัทสามารถผสานเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้าไปได้สะดวกกว่า

ขอบคุณภาพจากโตโยต้า

โดยประธานของโตโยต้าอย่างคุณอากิโอะ โทโยดะกล่าวว่า “การที่ผู้คน อาคาร และยานพาหนะเชื่อมต่อเข้ากับระบบทั้งหมด ทำให้เราสามารถทดสอบการทำงานของเทคโนโลยี AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ การก่อสร้าง Woven City จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 2021 และโตโยต้าวางแผนว่าจะให้ชาวเมืองย้ายเข้าไปอยู่อาศัยได้ภายใน 5 ปีนับจากนี้

Source

 


แชร์ :

You may also like