HomeFeaturedในวันที่ฟิล์มยังไม่ตาย แต่กลายเป็นแฟชั่นไอเทม! รู้จัก “LERT’s” จากเส้นทางนักดนตรีสู่ร้านล้างฟิล์ม

ในวันที่ฟิล์มยังไม่ตาย แต่กลายเป็นแฟชั่นไอเทม! รู้จัก “LERT’s” จากเส้นทางนักดนตรีสู่ร้านล้างฟิล์ม

แชร์ :

กระแสนิยมเล่น “กล้องฟิล์ม” กลับมาฮิต นับตั้งแต่เป็นไอเทมที่เข้าไปอยู่กับตัวละครหนึ่งในซีรี่ส์ดังของวัยรุ่น ตามมาด้วยบรรดา “เซเลบดาราชื่อดัง” ที่พากันหันมาพกกล้องฟิล์มตัวโปรดโพสต์ตามโซเชียลต่างๆ โหมปรากฏการณ์ให้แรงขึ้นด้วยกับกล้องฟิล์มใช้แล้วทิ้ง “Kitkat” ทำให้ใครๆ ก็อยากครอบครองจน Sold out หลังวางจำหน่ายได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง จุดประกายการคืนชีพอีกครั้งของกล้องฟิล์ม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในยุคดิจิทัล “ร้านล้างฟิล์ม” ที่เคยหายากราวกับเป็น Hidden Place แต่เมื่อจำนวนคนเล่นกล้องฟิล์มเพิ่มขึ้น ทำให้ร้านล้างฟิล์มยุคเก่าที่ยังเหลืออยู่ถูกค้นพบราวกับชุบชีวิตใหม่ รวมถึงร้านล้างฟิล์มเปิดใหม่ที่เกิดนับสิบหลายร้าน กระจายตัวอยู่ตามย่านฮิตในกรุงเทพฯ หนึ่งในร้านล้างฟิล์มที่ถูกบอกต่อจากบรรดาคนเล่นกล้องฟิล์มมากที่สุดแห่งหนึ่ง ต้องยกให้ ร้าน “LERT’s” ของ “คุณเป้ เลิศเกียรติ จงจิรจิต” อดีตนักดนตรีอาชีพที่ผันตัวมาทำธุรกิจ หลังจากค้นพบว่า “ดนตรีไม่ใช่คำตอบสุดท้าย” ของชีวิตอีกต่อไป

มือข้างหนึ่งถือทรัมเป็ต อีกข้างหนึ่งขอถือกล้อง

ตลอดระยะเวลา 24 ปีของการทำงานดนตรี คุณเลิศเกียรติ เคยเป็นทั้งอาจารย์สอนดนตรีในระดับมหาวิทยาลัย ก่อนจะได้รับโอกาสสำคัญกับการเป็น นักดนตรีทรัมเป็ตประจำวงออร์เคสตร้า Singapore Symphony Orchestra ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นจุดที่นักดนตรีหลายคนใฝ่ฝันอยากก้าวไปให้ถึง แต่หลังจากใช้ชีวิตอยู่กับการซ้อมดนตรีสัปดาห์ละ 5 วัน ท่ามกลางเพื่อนร่วมวงที่ล้วนแต่เป็น Professional คุณเลิศเกียรติ ยอมรับว่า ความเป็น Perfectionism ทำให้ความสุขในการเล่นดนตรีลดน้อยลง

“งานที่สิงคโปร์ผมรู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ที่ตัดสินใจกลับมาประเทศไทย เพราะรู้สึกว่าพ่อแม่เริ่มแก่แล้วต้องกลับมาดูแล และไม่ได้มองเห็นตัวเองตายไปกับการเล่นดนตรี”

ช่วงเวลา 3 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เขาใช้เวลาว่างจากการฝึกซ้อมดนตรี ไปกับการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ นั่งชิลล์ตามร้านกาแฟ และในทุกที่ที่ไปจะ “พกกล้องถ่ายรูปติดตัวด้วยเสมอ” เพราะการถ่ายภาพ เป็นสิ่งที่เขารักไม่น้อยไปกว่าการเล่นดนตรี เพียงแต่ไม่เคยมองการเป็น “ช่างภาพมืออาชีพ” อยู่ในหัวเท่านั้น

“ผมไม่คิดว่าคนชอบถ่ายรูปทุกคนจะเป็นช่างภาพอาชีพได้ เพราะคำว่า Professional มันเป็นคำที่ลึก เหมือนกับที่มีคนเรียกผมว่า Professional Musician ผมเข้าใจคำนี้ เพราะผมเป็น Professional ในสายอาชีพผม แต่การถ่ายภาพให้ลึกจนมีคนเรียกว่า Professional มันไม่ใช่แบบนี้ ผมมีความสุขและสนุกกับการถ่ายเล่น Snap ไปเรื่อยมากกว่า”

คุณเลิศเกียรติ เชื่อว่าช่างภาพมืออาชีพมักมีมุมมองภาพที่แตกต่างจาก “มือสมัครเล่น” แต่มุมมองจากคนชอบถ่ายเล่นๆ ทำให้ครั้งหนึ่งเขาได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็น “ช่างภาพ” ควบคู่ไปกับการเป็นนักดนตรีในวงออร์เคสตร้า

“ทุกคนในวงเห็นว่าเราชอบถ่ายรูป และพกกล้องอยู่ตลอด วันหนึ่ง CEO ของวงเข้ามาถามว่า ช่วยมาถ่ายภาพให้วงเราได้ไหม ในตอนแรกผมลังเลว่าเขาอาจจะอยากได้ภาพแบบ Professional แต่หลังจากพูดคุยกัน ผมคิดว่าจะถ่ายจากมุมมองของนักดนตรีด้วยกัน ในแบบที่ไม่ต้องประดิษฐ์อะไร ก็บอกเขาว่า ทำได้ไม่มีปัญหา แต่คุณต้องเชื่อใจให้เราทำในแบบของเรา ซึ่งหลังจากที่วงประกาศออกไปว่า ตลอดทั้งเดือนนี้ ผมจะถ่ายภาพเพื่อบันทึกบรรยากาศการฝึกซ้อม กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่สนุกมาก เพราะทุกคนคุ้นเคยกับการที่พกกล้องมาตลอดอยู่แล้ว จึงไม่เขินกล้อง แถมยังแต่งตัวกันดีมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าผมจะแอบถ่ายเขาเมื่อไหร่”

นอกจากภาพถ่ายบรรยากาศภายในวงแล้ว ภาพรวมวง Family Photo ที่ถือเป็นสูจิบัตรของวงออร์เคสตร้า คุณเลิศเกียรติ เลือกที่จะถ่ายจากด้านหลังเวทีทำให้คนดูมองเห็นวงออร์เคสตร้าแบบเต็มวง และยังเห็นความสวยงามของด้านหลังฮอลล์ จากปกติที่ช่างภาพมักจะถ่ายจากฝั่งด้านหน้าเวที ผลงานชิ้นนี้กลายเป็นความภูมิใจของทุกคน ที่เขาทิ้งไว้ให้เพื่อนร่วมวงจดจำ

ไม่มีความรู้ธุรกิจ อย่างมากก็ “เจ๊ง” อย่างน้อยได้ “เรียนรู้”

เมื่อกลับมาประเทศไทย ในช่วงจังหวะเวลาเดียวกับที่ YELO House อาร์ตสเปซ สีเหลือง ที่ถูกแปลงจากโกดังเก่าย่านสะพานหัวช้าง จัดงานเปิดตัวพอดี ในฐานะเพื่อนสถาปนิกที่เป็นหุ้นส่วนของที่นี่ คุณเลิศเกียรติได้รับคำเชิญให้มาร่วมงาน ก่อนจะได้พูดคุยและถูกชักชวนให้เข้ามาเปิดร้านล้างฟิล์ม

“ตอนนั้นกลับมาโดยที่ยังไม่มีแผนว่าจะทำงาน พอเพื่อนชวนให้มาเปิดร้านล้างฟิล์ม ผมคิดเลยว่าผมมีเงินเก็บอยู่จากการเป็นนักดนตรี แต่เนื่องจากไม่เคยศึกษาการตลาด หรือการทำธุรกิจเลย จึงเริ่มจากการคิดว่าจะเปิดร้านล้างฟิล์ม ต้องมีอะไรบ้าง ส่วนขั้นตอนการล้างฟิล์มก็รู้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น แต่คิดว่าสามารถศึกษาได้ พอประเมินดูแล้วว่าเป็นความเสี่ยงที่รับได้ วาง Backup Plan คิดว่าแย่ที่สุดคือ ร้านเจ๊ง ก็ยกเลิกสัญญาเช่าร้านไป ขายของทุกอย่าง ได้เงินคืนมาส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมจะได้จากธุรกิจนี้ ผมมองว่าเป็น Business School ที่ดีที่จะได้เรียนรู้ แต่ถ้าธุรกิจพอไปได้ หรืออย่างน้อยเท่าทุนไปเรื่อยๆ ผมก็คิดว่า คงเป็นงานที่สนุกดี”

จากคนที่ชอบถ่ายภาพมาเนิ่นนาน แต่ทำเป็นเพียงงานอดิเรก จึงไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือมีทักษะเรื่อง “การล้างฟิล์ม” มากนัก เมื่อคิดจะเปิดร้าน คุณเลิศเกียรติ จึงเริ่มต้นศึกษาขั้นตอนการล้างฟิล์มอย่างจริงจัง โดยบอกว่า การล้างฟิล์มไม่ใช่เรื่องยาก ใครก็ตามที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ เพราะในกระบวนการล้างฟิล์มมีลำดับขั้นตอนที่จะต้องทำชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอาศัยประสบการณ์เข้ามาช่วยในการทำให้เร็วขึ้น ดีขึ้น และได้ภาพที่สวยขึ้น

ทำสถิติ “19 นาที” ส่งงานถึงลูกค้า

หากการล้างฟิล์มเป็นเพียงเรื่องของวิทยาศาสตร์ ที่แค่มีเงินทุนก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว อะไรทำให้ร้าน “LERT’s” โดดเด่น จนดึงดูดให้คนเล่นกล้องฟิล์มอยากลองมาส่งฟิล์มที่นี่สักครั้ง

“ชื่อเสียงร้านผม เกิดขึ้นมาจากความเร็ว ขณะเดียวกันรูปได้คุณภาพ” 

นอกจากรวบรวมฟิล์มสีและขาวดำ ทั้งยอดนิยมและหายาก มาให้ลูกค้าเลือกมากกว่า 40 แบบแล้ว แน่นอนว่าที่นี่มีบริการ ล้าง สแกน แชร์ไฟล์ รวมถึงบริการพริ้นท์แบบไฟล์อาร์ต เป็นบริการหลักเหมือนกับร้านล้างฟิล์มอื่น แต่ด้วยกระบวนการทำงานแบบ Single Workflow ที่คุณเลิศเกียรติคิดขึ้น เพื่อลดขั้นตอนยุ่งยากในการทำงานของทางร้าน กลับตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็น “วัยรุ่นไม่ชอบรอนาน” ทำให้ร้านประสบความสำเร็จจากการ “ส่งงานเร็ว” จากเดิมที่เมื่อลูกค้าส่งฟิล์มแล้วจะต้องใช้เวลารอภาพอีก 2-3 วัน กลายเป็นรอไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง หรืออย่างสถิติเร็วที่สุดที่ทางร้านเคยทำไว้ ใช้เวลาเพียง 19 นาทีเท่านั้น! 

เริ่มตั้งแต่ลูกค้าก้าวเข้ามาที่ร้าน ยื่นม้วนฟิล์มพร้อมแจ้งอีเมลล์กับพนักงาน จากนั้นก็รอรับรูปผ่าน “Google Drive” โดยไม่ต้องมีใบนัดรับ ไม่ต้องเลือกน้ำยาล้าง ไม่ต้องเลือกเครื่องสแกน รวมถึงไม่ต้องเลือกช่องทางการส่งใดๆ ส่วนที่เหลือปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางร้าน ในการสแกนภาพให้ออกมาได้คุณภาพดีที่สุด

“ร้านล้างฟิล์มบางร้านจะมีน้ำยาให้เลือก บางร้านให้เลือกเครื่องสแกน รวมถึงเลือกว่าจะให้ส่งงานยังไง ทั้งซีดีรอม หรือ USB ผมมองว่าขั้นตอนเหล่านี้มันยุ่งยาก จึงย่อส่วนกระบวนการทุกอย่าง ใช้เครื่องสแกนแบบเดียว มาถึงคุณแค่ให้อีเมลล์ แล้วก็รอรับภาพได้เลย กระบวนการทั้งหมดมันจึงเร็วมาก ทำให้สามารถจบงานทั้งหมดได้ใน 1 วัน”

สิ่งที่ทำให้ร้าน LERT’s เรียกความสนใจได้จากลูกค้า คือ สไตล์การสแกนภาพที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของร้านล้างฟิล์มแต่ละร้าน ที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะของคนล้างฟิล์ม ในการทำหน้าที่เป็น “Colorist” ปรับภาพเพื่อให้ได้ Mood and Tone ของภาพที่ต่อเนื่องไปในทิศทางเดียวกัน

ไม่ใช่แค่ “ฟิล์ม” ยังไม่ตาย แต่กลายเป็น “ไลฟ์สไตล์” ไปแล้ว

แม้ว่าจะเปิดร้านได้ไม่นาน คุณเลิศเกียรติ มองว่า ธุรกิจล้างฟิล์มเติบโตเร็วกว่าที่คิดไว้มาก จากการเข้ามาจับธุรกิจในช่วงเวลาที่คนนิยมเล่นฟิล์มกันมากขึ้น ทำให้ที่ร้านมีงานเข้ามาทุกวัน จากสถิติ พบว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่มียอดเข้ามามากที่สุด จากปริมาณงานที่เข้ามามาก ตามด้วยช่วงปลายปีอย่างเดือนพ.ย.-ธ.ค. และปีใหม่ ม.ค. ที่คนส่วนใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ทำให้มีถ่ายรูปกันเยอะขึ้น

ไม่เพียงเป็นเครื่องมือบันทึกความทรงจำ แต่ด้วยเสน่ห์และคุณสมบัติเฉพาะของกล้องฟิล์มที่ “ต้องลุ้น” เพราะเช็คภาพก่อนไม่ได้ “กระบวนการได้ภาพมา” ที่ใช้เวลานานกว่าดิจิทัล ไปจนถึง “ภาพที่ได้มีสีสันไม่ซ้ำใคร” ตามชนิดของฟิล์ม ทำให้หลายคนอยาก Up Skill การถ่ายภาพ จากสมาร์ทโฟน หรือกล้องดิจิทัลมาเป็นฟิล์มดูสักครั้ง

จากสถิติของร้าน “LERT’s” ยังพบว่า ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-35 ปี และมากกว่า 99% เป็นมือสมัครเล่น ที่เน้นถ่ายภาพบอกเล่าไลฟ์สไตล์

“เดี๋ยวนี้ไปที่ไหนคนก็ถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งหน้าที่ของมันก็คือการอวดไลฟ์สไตล์ ถ้าวันนี้ไม่เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ผมมองว่ากล้องฟิล์มน่าจะตายสนิท เพราะคนไม่มีที่ให้อวดรูปว่า เราไปเที่ยวญี่ปุ่นมานะ ครั้งนี้เราพกกล้องฟิล์มไปถ่ายด้วย ดังนั้นจะเห็นทั้งคนที่ถ่ายฟิล์มจริงจัง มือสมัครเล่นที่สะพายกล้องฟิล์มเป็นแฟชั่น คนที่เอาสมาร์ทโฟนถ่ายกล้องฟิล์มอีกที ถ่ายรูปขนม กาแฟ ที่บนโต๊ะมีกล้องฟิล์มวางอยู่ หรือแม้แต่รูปที่ออกมาจากกล้องฟิล์มแล้วไม่ชัด ก็เอามาโพสต์เล่าได้ว่า ถ่ายแล้วไม่ชัดเลย ล้วนสะท้อนให้เห็นไลฟ์สไตล์ของคนที่ชอบถ่ายภาพทั้งสิ้น”

ดังได้เพราะ “ดารา” ?

เมื่อค้นหาข้อมูลของร้าน “LERT’s” ผ่าน Search Engine นอกจากเจอบทความแนะนำร้านแล้ว จะเห็นว่าบรรดาดาราเซเลป ขวัญใจวัยรุ่นหลายคนนิยมมาใช้บริการล้างฟิล์มที่นี่ด้วย โดยคุณเลิศเกียรติ ยอมรับว่า การที่มี “ดาราและคนดัง” เข้ามาใช้บริการที่ร้าน เป็นส่วนช่วยให้ร้านเป็นที่รู้จักเร็วขึ้น จากการ “โปรโมทหรือทำการตลาดให้” แบบไม่ได้ตั้งใจ

“ตอนที่เปิดร้านช่วงแรก ผมยังไม่ได้ทำการตลาดใดๆ ทั้งสิ้น เพราะอยากได้ลูกค้าที่เป็นออร์แกนิกมากกว่า และอยากให้ลูกค้าจดจำว่างานที่ออกไปจากร้านเราดีจริง แต่วันนั้นร้านจัดเวิร์กช้อปทำหนังกล้อง โอ๊ต ปราโมทย์ ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ดนตรีสมัยสอนที่มหาวิทยาลัยรังสิต เข้ามาที่ร้านพอดี โอ๊ต Live ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของเขา จากที่เป็นร้านลับเฉพาะคนที่ตั้งใจแวะมา ก็กลายเป็นร้านที่มีคนรู้จัก จากนั้นมีกลุ่มดาราที่ชอบถ่ายภาพฟิล์มทยอยมาอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นาย ณภัทร เต ตะวัน มาร์ช จุฑาวุฒิ มะปราง อลิสา โอบ นิธิ ภัทร ฉัตรบริรักษ์ และอื่นๆ ทำให้คนรู้จักร้านเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

ด้วยทำเลที่ตั้งของร้านซึ่งอยู่ใน “YELO House” ใกล้ย่านสยามสแควร์ แลนมาร์คแห่งแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ นอกจากเดินทางด้วย BTS สะดวกแล้ว พื้นที่หลังร้านที่อยู่ติดกับคลองแสนแสบ และชุมชนบ้านครัว เป็นหนึ่งในสถานที่ที่คนนิยมสะพายกล้องมาถ่ายรูป เพราะตลอดสองฝั่งของเส้นทางเดินริมคลอง เต็มไปด้วยงานกราฟฟิตี้เก๋ๆ และมุมถ่ายรูปสวยๆ ที่ซ่อนตัวอยู่เพียบ ทำให้ร้าน “LERT’s” กลายเป็นอีกจุดที่ทำให้คนสนใจถือโอกาสแวะเข้ามาเยี่ยมเยือน

จากนี้ “LERT’s” ไม่ใช่แค่ชื่อร้าน แต่ต้องเป็นแบรนด์ที่คนจดจำ

เมื่อกระแสของฟิล์มกลับมาฮิตขนาดนี้ มีโอกาสไหมที่ฟิล์มจะหายไป ? คำตอบที่ได้รับคือ “เป็นเรื่องที่ตอบได้ค่อนข้างยาก เพราะตอนนี้ถือเป็นจุดพีคของกล้องฟิล์มแล้ว ในแง่ของธุรกิจจะเห็นว่ามีร้านล้างฟิล์ม ร้านขายฟิล์มและกล้องเกิดขึ้นนับหลายสิบร้าน และอย่างที่บอกว่าการเข้าสู่ธุรกิจนี้ไม่ได้ยากนัก”

ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน คุณเลิศเกียรติ จึงโฟกัสไปที่ “การสร้างมาตรฐานการบริการ” โดยฝึกให้น้องๆ ที่ทำงานในร้านทุกคน สามารถทำงานแทนเขาได้ ทั้งในการสื่อสารกับลูกค้า การทำหน้าที่เป็น “Colorist” ปรับสีภาพ รวมถึงวิธีการคิดแก้ไขปัญหา ที่ต้องเหมือนกับ “เจ้าของร้านดูแลเอง”

“การที่ลูกค้าเข้ามาที่ร้านแล้ว เห็นเจ้าของร้านอยู่ ความรู้สึกย่อมไม่เหมือนกับเข้ามาแล้วเห็นแต่ลูกน้อง ผมจึงบอกน้องๆ ที่ทำงานในร้านเสมอว่า ทุกสิ่งที่สื่อสารออกไปล้วนมาจากร้านนะ ไม่ใช่มาจากใครคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าต้องทำตามแบบที่ผมวางไว้ ต้องฝึกให้เขาคิดว่าถ้าเป็นผมจะทำอย่างไร เพราะร้านนี้ใช้ชื่อผม ผมไม่เขินที่เอาตัวเองเป็นแบรนด์​ แต่หมายความว่า ผมมีความเสี่ยง ถ้าได้ก็ได้ แต่ถ้าเจ๊ง ชื่อเสียงก็จะเสียไปด้วย”

จาก “นักดนตรีมาถึงร้านล้างฟิล์ม” อาจเป็นอาชีพที่อยู่คนละเส้นทาง แต่คุณเลิศเกียรติ มองว่าเป็นทักษะการทำงานที่เหมือนกัน เพราะดนตรีเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับเวลา ผ่านไปแล้วผ่านเลย ผิดคือผิด ถ้าเล่นดี ย้อนกลับมามองก็ยังดีอยู่ แต่ถ้าผิดพลาดแล้วก็พังอยู่อย่างนั้น แก้ไขไม่ได้ ก็เหมือนกับการล้างฟิล์ม มันจะผิดเลยไม่ได้ ตั้งแต่การติดสติกเกอร์ การเช็คเทป นำฟิล์มเข้าเครื่องล้างแล้ว เครื่องจะล็อคเปิดไม่ได้ ฉะนั้นจึงต้องใส่ใจตรวจเช็คน้ำยาก่อนล้าง ต้องดูแลความสะอาด เพราะไม่เช่นนั้นพังแล้วพังเลย ความหวังและความทรงจำของลูกค้าจะหายไปด้วย

นี่จึงเป็นเส้นทางนักดนตรีและร้านล้างฟิล์ม ที่มาบรรจบกันที่ “LERT’s”


แชร์ :

You may also like