HomeInsight6 เทรนด์ผู้บริโภค 2020 ยอมจ่ายสินค้าราคาแพง หากเป็นแบรนด์ “รักษ์โลก”

6 เทรนด์ผู้บริโภค 2020 ยอมจ่ายสินค้าราคาแพง หากเป็นแบรนด์ “รักษ์โลก”

แชร์ :

วันนี้ต้องบอกว่าปัญหา “ขยะล้นโลก” ในหลายประเทศ รวมทั้งไทย เริ่มอยู่ในขั้นวิกฤติที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยสร้างขยะ 27.82 ล้านตันต่อปี หรือ 76,219 ตันต่อวัน เฉลี่ยคนไทยก่อขยะ 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน อีกทั้งยังมีชื่อติดอันดับ 6 ของโลกกับตัวเลขปริมาณ “ขยะล้นทะเล”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ต้องถือเป็นสัญญาณที่ดี เมื่อทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาขยะ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ร้านค้าปลีกจะ “เลิก” ใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single – Use Plastic) ที่เคยใส่ของให้กับลูกค้า ขณะที่กระบวนการ “รีไซเคิล” และ Circular Economy  ลดปัญหาขยะ กลายเป็นวาระสำคัญที่ผู้ประกอบการ “แบรนด์” ต่างๆ หยิบยกมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

เทรนด์ดูแล “สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” มาแรง

ผลวิจัย เต็ดตรา แพ้ค อินเด็กซ์ (Tetra Pak Index) ที่ดำเนินการมา 12 ปีต่อเนื่อง  รายงานฉบับล่าสุดประจำปี 2019  ที่จัดทำร่วมกับบริษัท อิปซอสส์ (Ipsos) ชี้เทรนด์ความต้องการผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญ  2 ประเด็น ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ  หาก “แบรนด์” ต่างๆ หยิบยก 2 เรื่องนี้มาใช้ จะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ  โดยเฉพาะกลุ่ม “อาหารและเครื่องดื่ม” ในการวางแผนการตลาดสินค้าในปี 2020

จากผลสำรวจผู้บริโภคเชื่อว่าตนเองเป็น “ผู้รับผิดชอบอันดับแรก” ทั้งต่อสุขภาพตัวเองและสิ่งแวดล้อม และรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาโดยเฉพาะ “ขยะ”  เพื่ออนาคตของกลุ่ม New Gen

82% ของผู้บริโภคคิดว่าการดำเนินชีวิตแบบบใส่ใจสุขภาพนั้นมีความสำคัญเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี

47% เชื่อว่าการเลือกซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพของตัวเอง มีผลต่อสิ่งแวดล้อม โดยคิดว่าการผลิตอาหารและขยะบรรจุภัณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม

59% เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพในอนาคต

จึงเป็นที่มาของเทรนด์ผู้บริโภคปี 2020 ที่จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการดูแลสุขภาพไปพร้อมกัน

สำหรับประเทศไทยเองแม้ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เรื่องการใช้ขยะพลาสติก แต่เห็นความตื่นตัวของผู้บริโภคในการลดใช้ถุงพลาสติก ที่ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการดูแลสิ่งแวดล้อม

คุณสุภนัฐ รัตนทิพ

ผู้บริโภคยอมจ่ายแพง “แบรนด์” รักษ์โลก

คุณสุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าผลวิจัย Tetra Pak Index 2019  ที่สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคทุกภูมิภาครวมทั้งเอเชีย  ได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค 2020 ที่ไม่ติดยึดกับแบรนด์ใหญ่  แต่มองหาแบรนด์ที่สร้างประโยชน์ให้สิ่งแวดล้อม

ขณะที่เทรนด์การดูแลสิ่งแวดล้อม  ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับ แพ็คเกจจิ้ง หรือ “บรรจุภัณฑ์” มากที่สุด  โดยเฉพาะความสามารถในการ “รีไซเคิล”  มาเป็นอันดับแรก  พบว่าเกือบ 4 ใน 5 หรือ 80%  ของผู้บริโภคทั่วโลกยอมจ่ายเงินมากขึ้น  เพื่อแพ็คเกจจิ้งอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ขณะที่เกือบ 2 ใน 5 ยินดีจ่ายเงินสูงกว่าให้กับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

“ผู้บริโภค 2020 มีพฤติกรรมต่อต้านการใช้พลาสติกมากขึ้น เกือบ 2 ใน 3 ของผู้บริโภค เชื่อว่าคนที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม จะหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก และ 1 ใน 3 มีแผนจะใช้พลาสติกน้อยลง”

จากแนวโน้มผู้บริโภคที่มองหาแพ็คเกจจิ้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหาก แบรนด์ใดที่ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จะเป็นแบรนด์ที่มี “คุณค่า” ที่เป็นตัวเลือกของผู้บริโภค

“วันนี้แบรนด์อยู่รอดและเติบโตได้ การทำกำไรอย่างเดียวไม่พอ แต่แบรนด์ต้องมีบทบาทที่ชัดเจนเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม การคืนประโยชน์กลับสู่สังคม และจะกลายเป็นแบรนด์ที่มีคุณค่าและผู้บริโภคเลือก”

เปิด 6 เทรนด์ผู้บริโภครักษ์โลก-ดูแลสุขภาพ  

รายงาน Tetra Pak Index 2019  ยังระบุถึง ผู้บริโภค  6 กลุ่มที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ละกลุ่มมีลักษณะแตกต่างกัน ทั้งความเชื่อและค่านิยม รวมทั้งแรงผลักดันและความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง

1 Active Ambassadors นำเทรนด์  สัดส่วน 8%  จัดเป็นกลุ่มผู้นำสังคมที่ลุกขึ้นมาจุดกระแส  การทำกิจกรรมเรื่องดูแลสิ่งแวดล้อม เก็บขยะ แยกขยะ รีไซเคิล เรียกว่าเป็นกลุ่มรักษ์โลกตัวจริงเสียงจริง

2 Planet Friends รักษ์โลก สัดส่วน 14% เป็นกลุ่มที่พร้อมสนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่าทำแล้วดีต่อโลกและสังคมที่อยู่อาศัย แต่กลุ่มนี้ยังไม่ถึงขั้นลุกขึ้นมาจุดกระแสนำเทรนด์แต่พร้อมทำตามเทรนด์รักษ์โลก

3 Health Conscious ใส่ใจสุขภาพ สัดส่วน 10% ให้ความสำคัญกับอาหารสุขภาพ โดยเฉพาะเทรนด์ “ออร์แกนิก”  ที่จะเป็น Big Word ทำให้เกิด Brand Value ในกลุ่มผู้บริโภคสายเฮลท์ตี้

4 Followers  ตามเทรนด์  สัดส่วน 31%  เป็นกลุ่มที่รับรู้ (Awareness) ประเด็นการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่ไม่แอคทีฟเท่ากับกลุ่มที่นำเทรนด์และกลุ่มรักษ์โลก แต่ก็พร้อมปฏิบัติตาม

5 Sceptics เฉพาะกลุ่ม สัดส่วน 18% มองเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นแค่กระแส จึงไม่คิดที่จะทำตาม ใช้ชีวิตบริโภคเหมือนเดิม และมีความคิดเชิงลบต่อกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม

6 Laggards  เปลี่ยนอย่างช้าๆ สัดส่วน 18%  เป็นกลุ่มที่อยู่ในอาการมึน งง กับประเด็นการดูแลสิ่งแวดล้อม แม้จะรับรู้เรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ทำตาม แต่หากต้องการให้กลุ่มนี้ทำตาม จะต้องมาจากถูกกดดันทางสังคม หรือมีกฎหมายบังคับให้ปฏิบัติ

จากเทรนด์ผู้บริโภค 2020  “แบรนด์” ที่ประสบความสำเร็จในอนาคต จะต้องสามารถแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายและการมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและตอบโจทย์สุขภาพ นอกจากการนำเสนอสินค้าและบริการที่ดี


แชร์ :

You may also like