HomeBrand Move !!เจาะโมเดล “Grab Kitchen x ตลาดสามย่าน” หรือจะเป็นฐานทัพใจกลางเมืองของ GrabFood

เจาะโมเดล “Grab Kitchen x ตลาดสามย่าน” หรือจะเป็นฐานทัพใจกลางเมืองของ GrabFood

แชร์ :

ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจ Food Delivery อันร้อนแรงได้สร้างปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างในเมืองไทย และในขณะเดียวกัน ความฮอตฮิตเหล่านั้นก็ได้สร้างความท้าทายให้เจ้าของแพลตฟอร์ม รวมถึงร้านค้าในระบบได้ขบคิดหาทางแก้ปัญหาร่วมด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยหนึ่งในความท้าทายของการขายอาหารบนแอป Food Delivery ก็คือ การที่ร้านอาหารเหล่านี้ไม่มีที่จอดรถไว้รองรับพนักงานซึ่งมักจะขี่มอเตอร์ไซค์มาซื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การขัดแย้งกับผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นในละแวกนั้นได้ หรือบางร้านตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า (ฟังดูดีมีที่จอดรถแน่นอน) แต่ความยากก็คือ พนักงานส่งอาหารต้องเสียเวลาเดินทางมากขึ้น ในการจอดรถและเข้าไปเดินตามหาว่าร้านอยู่ในจุดใดของห้าง ซึ่งหากไม่ชำนาญเส้นทางก็อาจเสียเวลามากเกินความจำเป็น แถมยังอาจถูกเก็บค่าที่จอดรถได้ด้วย

ในฟากของผู้สั่งอาหารก็เจอความท้าทายเช่นกัน เพราะร้านอาหารบางแห่งตั้งอยู่ชานเมือง ขณะที่คนสั่งอาหารอาจกระจุกตัวอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งอาจทำให้การส่งอาหารล่าช้า อาหารเย็นชืด แถมบิลค่าส่งยังอาจแพงกว่าค่าอาหารได้ ฯลฯ

ผลจากความท้าทายที่กล่าวมานั้น ล่าสุด ทาง Grab เลยแก้ปัญหานี้ด้วยการยกโมเดล “Grab Kitchen” เข้ามาในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และปักหมุดที่ใจกลางเมืองอย่างตลาดสามย่าน ตรงข้ามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสียเลย

โดยรูปแบบของ Grab Kitchen ก็คือธุรกิจ Cloud Kitchen ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้ หรือหากกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือเป็นพื้นที่กลางที่ Grab สร้างขึ้นมา แล้วเชิญร้านอาหารต่าง ๆ เข้ามาปรุงอาหาร และขายผ่านแพลตฟอร์มของ GrabFood นั่นเอง (ที่ผ่านมา ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกที่ได้ทดลองโมเดลนี้ จนปัจจุบัน อินโดนีเซียมี Grab Kitchen กระจายอยู่ในกรุงจาการ์ตา และเมืองบันดุงแล้วถึง 18 จุด ส่วนไทย ถือเป็นประเทศที่สองที่มีการเปิด Grab Kitchen และเวียดนามเป็นประเทศในลำดับที่สาม)

ทำไมเลือกตลาดสามย่าน

สำหรับเหตุผลในการเลือกตลาดสามย่านนั้น คุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ Grab ประเทศไทยเผยว่า มาจากเหตุผลหลัก ๆ 3 ข้อ นั่นคือ

  • มีที่จอดรถกว้างขวาง สามารถรองรับมอเตอร์ไซค์ได้เป็นจำนวนมาก
  • อยู่ใจกลางเมือง สามารถเดินทางไปย่านสำคัญของกรุงเทพฯ เช่น สีลม สาธร สยาม ได้อย่างรวดเร็ว
  • มีพื้นที่เพียง 2 ชั้น ทำให้พนักงานไม่ต้องเสียเวลาเดินทางขึ้นลงเป็นเวลานานเหมือนการเข้าไปรับอาหารในห้างสรรพสินค้า

ร้านอาหารแบบไหนถึงได้อยู่ใน Grab Kitchen

ส่วนการเลือกร้านค้าที่จะมาอยู่ใน Grab Kitchen นั้นจะอิงจาก Data ของลูกค้าที่เคยใช้บริการเป็นหลักว่าในโซนนั้นมีความต้องการ หรือนิยมสั่งอาหารประเภทไหนเป็นพิเศษ โดยในช่วงเริ่มต้น Grab Kitchen มีร้านอาหารให้บริการทั้งสิ้น 12 ร้าน ได้แก่ (7 ร้านแรก) บราวน์คาเฟ่, เอลวิสสุกี้, ป.เจริญชัย ไก่ตอน, ตำป๊อกป๊อก, อองตอง ข้าวซอย, ปูไข่ดองของกู และเคเคบับ

นอกจากนั้น ยังมีร้านอาหารอีก 5 แห่งจากเครือเซ็นทรัล ซึ่งเป็นธุรกิจที่การลงทุนใน Grab ไปด้วยมูลค่า 6,000 ล้านบาทเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เข้ามาอยู่ใน Grab Kitchen นี้ด้วย ได้แก่ เจ๊เกียง โจ๊กกองปราบ, หมูทอดถนนประมวญ, ก๋วยเตี๋ยวต้มยำแปดริ้ว, โตเกียวโบวล์ และตามสั่งสิ้นคิด

(อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เปิดดีล 6 พันล้าน Central ทุ่มซื้อหุ้น Grab เสริม Digital Platform ตั้งเป้า Delivery on Demand ส่งของภายใน 30 นาที)

โดยความน่าสนใจคือแต่ละร้านจะมีสัญญาการใช้พื้นที่แตกต่างกันไป รวมถึงจะได้เห็นภาพของบางครัวที่แชร์กันหลาย ๆ แบรนด์ หรือบางร้านก็อาจได้พื้นที่ของตัวเองเลย ซึ่งทางแอปจะเปิดให้เริ่มสั่งอาหารจากร้านเหล่านี้ได้ระหว่างเวลา 8.00 -22.00 น. (ทุกวันไม่มีวันหยุด)

คุณธรินทร์ กล่าวต่อไปว่า การมี Cloud Kitchenจะช่วยลดเวลาในการจัดส่งอาหารลงได้ และยังช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร สามารถขยายการเติบโตโดยไม่ต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก (ยกตัวอย่างเช่น ไม่ต้องมีหน้าร้านที่อาจต้องเสียค่าเช่าที่แพง ๆ เป็นต้น) ขณะที่ทาง Grab จะคิดเป็นค่าคอมมิชชั่นจากยอดขายแทน

ภายใน Grab Kitchen

บริหารพื้นที่อย่างไรให้ตอบสนองความ “เร็ว”

สำหรับรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่ของ Grab Kitchen นั้น จะสังเกตได้ว่า ด้านหน้าจะมีเคาน์เตอร์สำหรับดูแลเรื่องออเดอร์อาหาร ส่วนภายใน แบ่งออกเป็นห้องครัวของร้านอาหารต่าง ๆ โดยที่หน้าครัวของแต่ละร้านจะมีกริ่งเตรียมเอาไว้ ถ้าทำอาหารตามออเดอร์เสร็จก็จะกดกริ่งนั้นเพื่อเรียกพนักงานที่เคาน์เตอร์เข้ามารับอาหารไปส่งต่อให้กับพนักงานส่งของ

ส่วนในครัวของแต่ละร้านก็จะเป็นอย่างภาพที่ปรากฏ นั่นคือ เป็นครัวปิด ที่มีระบบระบายอากาศป้องกันความอึดอัด และมีน้ำ – ไฟให้พร้อม แต่ละร้านที่เข้ามาต้องเตรียมเพียงภาชนะบรรจุอาหาร วัตถุดิบ ฯลฯ เข้ามา ซึ่งทั้งหมดนี้ เชื่อมกันด้วยทางเดินที่ไม่กว้างไม่แคบ เรียกว่าพอเดินสวนกันสองคนได้สบาย ๆ

ส่วนเงินลงทุนสร้าง Grab Kitchen มีมูลค่าเท่าไรนั้น Grab ประเทศไทยเผยว่าไม่สามารถให้ข้อมูลได้

(ซาย) บรรยากาศภายในครัว (ขวา) ทางเดินที่ค่อนข้างกว้างขวาง

ทิศทางของ Grab หลังเปิด Kitchen

คุณธรินทร์ยังได้เผยถึงเทรนด์ของตลาด Food Delivery ด้วยว่า จะยังเติบโตต่อไปแน่นอน และอาหารที่ได้รับความนิยมมาก ๆ บนแพลตฟอร์มก็ยังหนีไม่พ้นชานมไข่มุก และส้มตำ

แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ การมี Grab Kitchen อาจทำให้บริษัทสามารถทดลองสิ่งใหม่ ๆ ได้รวดเร็วขึ้น เช่น การใช้ถุงกระดาษ หรือบรรจุภัณฑ์กระดาษในการจัดส่งอาหาร หรือการพัฒนาระบบให้สามารถสั่งอาหารได้หลาย ๆ อย่างในออเดอร์เดียว เป็นต้น

คุณธรินทร์ ธนียวัน

นอกจากนี้ ทิศทางของ Grab ที่จะมุ่งต่อไปในธุรกิจ Food Delivery ก็คือเรื่องของการจับตลาดครอบครัวมากขึ้น เนื่องจากตลาดนี้มักจะสั่งอาหารด้วยมูลค่าสูงกว่ากลุ่มที่รับประทานคนเดียว (เช่น คนเดียวอาจสั่งได้อย่างมาก 150 บาท แต่ถ้าเป็นกลุ่มครอบครัวอาจสั่งอาหารเริ่มต้นที่มื้อละ 400++ บาทขึ้นไป) รวมถึงขยายการเติบโตออกไปยังจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 10 จังหวัดทั่วประเทศไทย ให้กลายเป็น 13 – 15 จังหวัดให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

ส่วน Grab Kitchen จะมีโอกาสเปิดในทำเลใหม่ ๆ หรือไม่นั้น คุณธรินทร์ตอบเพียงว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะเจอพื้นที่แบบตลาดสามย่านอีกไหมนั่นเอง


แชร์ :

You may also like