HomeBrand Move !!ต่อไปเข้าปั๊มปตท. ต้องเห็น “เขียง” ร้านอาหารสตรีทฟู้ดน้องใหม่จาก “ZEN” ที่ไม่เน้นขายเองแต่จะให้แฟรนไชส์ช่วยขาย

ต่อไปเข้าปั๊มปตท. ต้องเห็น “เขียง” ร้านอาหารสตรีทฟู้ดน้องใหม่จาก “ZEN” ที่ไม่เน้นขายเองแต่จะให้แฟรนไชส์ช่วยขาย

แชร์ :

แม้ว่าธุรกิจอาหารจะมีการแข่งขันสูง แต่ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเติบโตขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 4-5% ด้วยมูลค่าตลาดรวมกว่า 8 แสนล้านในปัจจุบัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการอาหาร หรือ “Food Service” อย่างเต็มรูปแบบ ล่าสุดเครือ ZEN ต้องการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยต้องการเจาะตลาด “Street Food” ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อกระจายเมนูอาหาร ให้เข้าถึงผู้บริโภคทุกเซ็กเมนต์

ปัจจุบัน ZEN มีร้านอาหารในเครือที่หลากหลายถึง 12 แบรนด์ ทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารเวียดนาม อาหารไทย และอาหารอีสาน อาทิ ZEN ร้านอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม Musha by ZEN ร้านอาหารญี่ปุ่นแนวใหม่  AKA ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น Testu ร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นแบบพรีเมี่ยม On the Table Tokyo Café ร้านอาหารประเภทไลฟ์สไตล์ เฝอ ร้านก๋วยเตี๋ยวสไตล์เวียดนาม ตำมั่ว ร้านอาหารไทย-อีสาน ลาวญวน ร้านอาหารไทย-อีสานและเวียดนาม เป็นต้น

โดยล่าสุด Zen พร้อมที่จะเดินหน้าขยายธุรกิจเต็มที่ หลังจากที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนและต้นทุนทางการเงินลดลง

ส่งแบรนด์ “เขียง” ชิงแชร์ “สตรีทฟู้ด”

ในบรรดา 12 ร้านอาหารที่มีอยู่ในพอร์ต ในปีนี้ ZEN ต้องการโฟกัสที่แบรนด์ “เขียง” (Khiang) ร้านอาหารไทยตามสั่ง หรืออาหารจานด่วนแนวสตรีทฟู้ด ที่เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางและล่าง ทั้งวัยเริ่มต้นทำงาน ครอบครัว รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และผู้บริโภคที่ต้องการรับประทานอาหารพร้อมเสิร์ฟ

โดย “เขียง” เป็นร้านอาหารตามสั่งแนวสตรีทฟู้ด มีเมนูตั้งแต่ ข้าวผัดกระเพรา ข้าวหมูกระเทียม ผัดซีอิ้ว สุกี้ มีจุดขายอยู่ที่รสชาติจัดจ้าน ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ข้าวหอมมะลิ ผัดแบบครบเครื่อง และได้รสชาติดั้งเดิมทุกครั้งที่ทาน ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 50-150 บาท

คุณบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ZEN กล่าวว่า ปัจจุบัน ร้านเขียง มีอยู่ 9 สาขา โดยในจำนวนนี้มี 1 สาขาเป็นแฟรนไชส์ ซึ่งในปีนี้ ZEN มีแผนที่จะเดินหน้าขยายสาขาในทำเลใหม่ๆ เช่น ภายในสถานีบริการน้ำมัน Community mall เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ในลักษณะ 5 โมเดล ได้แก่

  1. Normal
  • Stand Alone
  • สถานีบริการน้ำมัน PTT Station
  • Community Mall
  1. Double Combo ที่จะเปิดร้านตำมั่ว ร่วมกับร้านเขียง ในพื้นที่เดียวกัน
  2. Delco
  3. Food Court
  4. Metro Mall พื้นที่ค้าปลีกในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT

ปรับโมเดลชู “แฟรนไชส์” กระจายร้านเขียงสู่ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ

ที่ผ่านมา ZEN เป็นผู้พัฒนาแบรนด์ร้านอาหารเอง ทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อแฟรนไชส์จากต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างรายได้จากการขายแฟรนไชส์อีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมา ZEN มีรายได้จากแฟรนไชส์ถึง 1,500 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทไม่ต้องมีต้นทุนด้านการขาย และค่าเช่าพื้นที่ ทำให้การบริหารต้นทุนดีขึ้น

และจากกระแสตอบรับที่น่าพอใจของร้านเขียง ที่สามารถทำยอดขายต่อเดือนได้ถึง 4 แสนบาท ต่อเดือน ต่อสาขา ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 3 แสนบาท ทำให้แผนการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ ZEN ต้องการเปลี่ยนโมเดลใหม่ จากที่บริษัทลงทุนเอง ไปสู่แฟรนไชส์

โดยร่วมมือกับ ปตท. ซึ่งมีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station กว่า 1,700 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปตท. ให้การสนับสนุนพื้นที่เช่าภายในสถานี เพื่อเปิดร้านอาหาร ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ZEN มีแผนที่จะขยายสาขากว่า 70 แห่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในการเลือกพื้นที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม

และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจแบรนด์เขียง สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ โดยคิดค่าธรรมเนียมแรกเข้า (Entrance Free) 3.5 แสนบาท และคิดว่าธรรมเนียมรายเดือน (Loyalty Fee) อัตราคงที่เดือนละ 12,500 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี จากปกติคิดจากส่วนแบ่งรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีค่าก่อสร้าง 1.8 ล้านบาท รวมเงินลงทุนที่ใช้ในการเปิดแฟรนไชส์ 1 สาขา จะอยู่ที่ราวๆ 2.5 ล้านบาท และคาดว่าจะคืนทุนในระยะเวลา 2-3 ปี

“เดิมทีเรามองการขยายสาขาใหม่ไปที่ห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อขยายไปใหญ่ไม่ได้ เราก็จะไปให้เยอะขึ้น พื้นที่ไหนมีก็ไปก่อนเลย ไม่ต้องรอห้างฯเปิดใหม่ เพราะปัจจุบันการเปิดสาขาในห้างก็มีความเสี่ยง เนื่องจากกลุ่มลูกค้าของห้างอยู่ในระดับกลางถึงบน ซึ่งมีพฤติกรรมเดินห้างเฉพาะวันหยุด หรือเสาร์อาทิตย์ ตอนนี้เรามองไปที่ลูกค้ากลุ่มระดับกลางและล่าง โดยทำร้านอาหารที่ไซส์เล็กลง ลงตุนต่ำ เพื่อกระจายความเสี่ยงไปสู่พื้นที่ต่างๆ เพื่อทำให้เข้าถึงโอกาสมากขึ้น”

สำหรับภาพรวมการขยายธุรกิจของ ZEN ในปีนี้ ผู้บริหารบอกว่า ในปีนี้ได้ตั้งงบลงทุนกว่า 230 ล้านบาท ในการเปิดสาขาใหม่รวมแฟรนไชส์ 123 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเมื่อสิ้นปีนี้จะมีสาขาทั้งสิ้น 378 สาขา

ส่วนการขยายสาขาในต่างประเทศ ในปีนี้ได้เตรียมเปิด 3 แบรนด์ ได้แก่ On the Table จะเปิดที่ประเทศเมียนมาร์ AKA จะเปิดที่ประเทศกัมพูชาและเมียนมาร์ และ ตำมั่ว ที่จะเปิดในประเทศลาวและเมียนมาร์

และถ้าหากว่าทุกอย่างดำเนินไปตามแผน ทาง ZEN เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้เติบโตขึ้น 15-20% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,964 ล้านบาท

 


แชร์ :

You may also like