HomeDesign3 ผู้สร้างญี่ปุ่นยุคใหม่ – 3 สิ่งค้ำจุนประเทศ ภาพสะท้อนธนบัตรใหม่ยุคเรวะ

3 ผู้สร้างญี่ปุ่นยุคใหม่ – 3 สิ่งค้ำจุนประเทศ ภาพสะท้อนธนบัตรใหม่ยุคเรวะ

แชร์ :

ธนบัตรญี่ปุ่นที่หลายคนคุ้นเคยกำลังจะเปลี่ยนไป โดยรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปรับโฉม 3 ธนบัตรของประเทศคือธนบัตรมูลค่า 10,000 เยน 5,000 เยน และ 1,000 เยน รวมถึงเหรียญมูลค่า 500 เยน และได้นำภาพของบุคคลสำคัญผู้มีคุณูปการต่อญี่ปุ่นยุคใหม่มาจัดพิมพ์ได้แก่ Eiichi Shibusawa, Umeko Tsuda และ Shibasaburo Kitasato ไม่เพียงเท่านั้น ธนบัตรดังกล่าวยังนำเทคโนโลยี 3D Hologram มาใช้ป้องกันการปลอมแปลงเป็นครั้งแรกของโลกด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

3 บุคคลแห่งแรงบันดาลใจ เบื้องหลังธนบัตรใหม่ “ยุคเรวะ”

นอกจากการประกาศปรับโฉมธนบัตรแล้ว สิ่งที่หลายคนจับตาก็คือภาพบุคคลสำคัญผู้อยู่บนหน้าธนบัตรญี่ปุ่นรุ่นใหม่ว่าจะเป็นใคร โดยบุคคลสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกใช้บนธนบัตร 10,000 เยนนั้นได้แก่ Eiichi Shibusawa ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ของญี่ปุ่น โดยประวัติของ Eiichi Shibusawa นั้นระบุว่าเขาเกิดในครอบครัวเกษตรกร ในจังหวัดไซตามะ ก่อนจะผันตัวเข้าสู่โลกธุรกิจในวัย 23 ปี

ธนบัตรใหม่ญี่ปุ่น กับภาพของ Eiichi Shibusawa บิดาของเศรษฐกิจยุคใหม่ เคียงคู่มากับสถานีรถไฟโตเกียว

ต่อมาในวัย 27 ปี Shibusawa มีโอกาสเดินทางร่วมกับคณะผู้แทนของญี่ปุ่นไปเยือนฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศในยุโรป ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ทำให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในซีกโลกตะวันตก และนำไปสู่การเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมกระทรวงการคลังญี่ปุ่นในเวลาต่อมา โดยเขาเป็นผู้วางรากฐานการทำธุรกิจยุคใหม่มาสู่ญี่ปุ่น ทั้งรูปแบบการเงินการธนาคาร การจดทะเบียนบริษัท ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว หอการค้าโตเกียว รวมถึงมีบทบาทในการสนับสนุนธุรกิจของญี่ปุ่นหลายร้อยรายจนกลายเป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจของโลกอย่างทุกวันนี้

Umeka Tsuda ผู้บุกเบิกการศึกษาสำหรับสตรีญี่ปุ่น และดอกวิสทีเรีย สัญลักษณ์แห่งความโชคดี

บุคคลสำคัญรายต่อมาซึ่งอยู่บนธนบัตร 5,000 เยนคือ Umeko Tsuda บุตรสาวของ Tsuda Sen เกษตรกรหัวก้าวหน้า และเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์ และการนับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ Tsuda Umeko ในฐานะบุตรสาวของ Tsuda Sen ได้รับการสนับสนุนจาก Kuroda Kiyotake ซึ่งต้องการให้สตรีชาวญี่ปุ่นได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมไม่ต่างจากผู้ชาย ทำให้เธอได้มีโอกาสได้รับทุนและเดินทางไปศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ  และกลายเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาให้กับสตรีชาวญี่ปุ่นในเวลาต่อมา โดยเธอได้ก่อตั้งวิทยาลัยสตรี Tsuda ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาระดับสูงที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ

Shibasaburo Kitasato ผู้นำด้านการแพทย์ยุคใหม่และโรคติดเชื้อ กับภาพของคลื่นยักษ์ ผลงานศิลปินดังของญี่ปุ่นอย่าง Katsushika Hokusai

บุคคลสำคัญคนสุดท้ายบนธนบัตร 1,000 เยนคือ Shibasaburo Kitasato นายแพทย์ชาวคุมาโมโตะที่มีความสนใจในโรคติดเชื้อ และแบคทีเรียวิทยา โดยนายแพทย์ Kitasato เคยทำวิจัยร่วมกับ  Emil von Behring นายแพทย์ชาวเยอรมัน และค้นพบเซรุ่มรักษาโรคคอตีบได้สำเร็จ ซึ่งทำให้ทั้งสองคนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลจากผลงานดังกล่าว และ  Emil von Behring ได้รับรางวัลโนเบลไป ส่วน Kitasato ไม่ไดัรับ

สำหรับประเทศญี่ปุ่น Kitasato เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันโรคติดเชื้อ และมีส่วนสำคัญในการสาเหตุของโรคระบาดในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงเคยได้รับการร้องขอจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้เดินทางไปช่วยเหลือเกาะฮ่องกงที่กาฬโรคกำลังระบาด อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมามีการควบรวมสถาบันโรคติดเชื้อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Tokyo Imperial University เขาจึงลาออกและก่อตั้ง Kitasato Institute ขึ้นมาแทน ปัจจุบันสถาบันดังกล่าวตั้งอยู่ข้าง ๆ Kitasato University มหาวิทยาลัยที่ตั้งตามชื่อของ Shibasaburo Kitasato นั่นเอง

แม้ Kitasato จะพลาดรางวัลโนเบลไปในช่วงชีวิตของเขา แต่เมื่อปี 2015 ชื่อของ Kitasato ก็กลับมาที่เวทีโนเบลอีกครั้ง เมื่อมีนักชีวเคมีอย่าง Satoshi Omura จาก Kitasato University สามารถคว้ารางวัลโนเบลด้านการแพทย์ร่วมกับ William C. Campbell และ Tu Youyou ในผลงานการค้นพบการติดเชื้อที่เกิดจากพยาธิตัวกลม ได้เป็นผลสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงถือว่าบุคคลสำคัญทั้ง 3 ท่านนี้มีคุณูปการต่อประเทศอย่างมาก และนำไปสู่การจัดพิมพ์ภาพของทั้ง 3 ท่านบนธนบัตรรุ่นใหม่ที่มีกำหนดพิมพ์ใช้งานในปี 2024

เบื้องหน้าคือผู้สร้างประเทศ เบื้องหลังคือสิ่งค้ำจุนความเป็นญี่ปุ่น

แต่นอกจากบุคคลสำคัญทั้ง 3 ท่านแล้ว ภาพด้านหลังของธนบัตรก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยภาพด้านหลังของธนบัตรทั้ง 3 แบบคือ ภาพของสถานีรถไฟโตเกียว ดอกวิสทีเรีย และผลงานศิลปะอันโด่งดังในชื่อ คลื่นยักษ์นอกชายฝั่งคานากาว่า ผลงานของ Katsushika Hokusai ศิลปินเอกของญี่ปุ่น

สำหรับความสำคัญของสถานีโตเกียวนั้น อาจหมายถึงสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมรถไฟที่สร้างให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเจริญรุ่งเรืองเหมือนเช่นทุกวันนี้ โดยสถานีโตเกียวเป็นสถานีรถไฟที่มีการคมนาคมขนส่งหนาแน่นที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นศูนย์รวมของรถไฟรูปแบบต่าง ๆ ทั้งรถไฟชินคันเซนของ JR East และ JR Central, รถไฟใต้ดินของ Tokyo Metro และรถไฟทั่วไป นอกจากนั้นสถานีรถไฟโตเกียวยังเป็นท่ารถบัสขนาดใหญ่ที่มีรถบัสให้บริการไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของญี่ปุ่น เช่น คันไซ โทโฮคุ รวมถึงเมืองต่าง ๆ ของภูมิภาคคันโตด้วย

ส่วนดอกวิสทีเรีย อีกหนึ่งดอกไม้ที่มีความสำคัญไม่แพ้ดอกซากุระ โดยดอกวิสทีเรียจะบานในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมทั่วประเทศญี่ปุ่น และความสวยงามของดอกวิสทีเรียทำให้มันมีบทบาทในละครโบราณคาบูกิด้วย ซึ่งความหมายของดอกวิสทีเรียคือ ความโชคดี ขณะที่ในบางวัฒนธรรม ความหมายของดอกวิสทีเรียคือการเป็นอมตะด้วย

สุดท้ายคือภาพศิลปะกับคลื่นยักษ์นอกชายฝั่งคานากาว่า ผลงานของ Katsushika Hokusai ศิลปินเอกของญี่ปุ่น โดยภาพนี้เป็นหนึ่งในชุดผลงานศิลปะที่มีชื่อว่า ทัศนียภาพ 36 มุมของภูเขาฟูจิ ที่ Katsushika Hokusai สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1826 – 1833 และเป็นภาพที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

การเลือกภาพสถานที่สำคัญ ภาพความงดงามของธรรมชาติ และผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงมาปรากฏอยู่บนธนบัตรรุ่นใหม่จึงอาจเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสามสิ่งนี้คือสิ่งที่ค้ำจุนความเป็นญี่ปุ่นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

3D Hologram เทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงธนบัตรครั้งแรกของโลก

การมีภาพบุคคลสำคัญ และภาพของสิ่งค้ำจุนความเป็นญี่ปุ่นปรากฏอยู่บนธนบัตรรุ่นใหม่อาจไม่เพียงพอ เพราะแต่ไหนแต่ไร ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยี 3D Hologram เข้ามาปรับใช้บนธนบัตรเป็นครั้งแรกของโลกจึงเป็นการสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นในด้านเทคโนโลยีได้ดี

โดยเทคโนโลยี 3D Hologram นี้จะพิมพ์ลงบนธนบัตร และหากมีการเปลี่ยนองศาในการมอง ภาพที่มองเห็นก็จะเปลี่ยนไปตามองศานั้น ๆ โดยหลังการเผยโฉมธนบัตรใหม่ทั้ง 3 รุ่นนี้ ประเทศญี่ปุ่นก็จะเริ่มเข้าสู่การนับถอยหลัง เพื่อเตรียมการบังคับใช้ธนบัตรดังกล่าวที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณความเป็นญี่ปุ่น ซึ่งภายใน 5 ปีก่อนจะถึงปี 2024 สิ่งที่ญี่ปุ่นต้องทำก็คือเตรียมความพร้อมให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศให้รองรับธนบัตรใหม่ได้ เช่น ตู้ Vending Machine ที่ต้องได้รับการอัพเดทข้อมูล ฯลฯ นั่นเอง

ธนบัตรใหม่ของญี่ปุ่นที่เพิ่งประกาศเปลี่ยนเพื่อรับยุคเรวะ จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจที่ส่งผ่านไปสู่เด็กรุ่นใหม่ รากเหง้าทางวัฒนธรรม และเทคโนโลยีโฮโลแกรมแบบล้ำๆ ไปเลย….และเมื่อผสมผสานกัน ก็เป็น “ธนบัตร” ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรประเทศ

Source

Source

Source

Source

Source

 


แชร์ :

You may also like