จากผลประกอบการปีล่าสุดที่สามารถกลับมาทำกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังได้แผลใหญ่จากการเข้าเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในชื่อช่อง AMARIN 34HD ทำให้ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557 กว่า 90 ล้านบาท จากที่ปีก่อนหน้าบริษัททำกำไรได้เกือบ 300 ล้านบาท โดยเฉพาะในช่วงปี 2558 -2559 ที่ตัวเลขผลกำไรของอมรินทร์ต้องติดลบหนักถึง 417.15 ล้านบาท และ 628.12 ล้านบาท ตามลำดับ
ท็อปฟอร์มรอบ 4 ปี กำไรโต 2 เท่า
จนกระทั่งสามารถห้ามเลือดให้หยุดไหลได้สำเร็จ หลังมีพันธมิตรรายใหญ่ในกลุ่มไทยเบฟฯ อย่าง บริษัท วัฒนภักดี จำกัด เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลัก ทำให้ภาระต้นทุนทางการเงินและดอกเบี้ยลดลงเกือบ 70% ประกอบกับ Performance ของช่องที่ทำได้ดี จนมี Ranking ความนิยมในปีที่ผ่านมา อยู่อันดับ 8 ด้วยตัวเลขเรตติ้ง 0.3% โดยเฉพาะความแข็งแรงของนคอนเทนต์ข่าวและไลฟ์สไตล์ ทำให้ช่องมีคาแร็คเตอร์และกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเมือง ทำให้ภาพรวมปีที่ผ่านมา อมรินทร์สร้างรายได้เติบโตได้กว่า 57% หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1,300 ล้านบาท จาก 2,237.19 ล้านบาท เป็น 3,526.39 ล้านบาท ที่สำคัญคือสามารถทำผลกำไรเติบโตได้มากกว่าเท่าตัว จากปี 2560 ที่ยังติดลบอยู่ 163.94 ล้านบาท กลับมาเป็นสร้างกำไรในสิ้นปี 2561 ได้ถึง 173.90 ล้านบาท หรือมีการเติบโตของกำไรมากกว่า 200% เลยทีเดียว
คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ อมรินทร์ (AMARIN) กล่าวถึงการเติบโตที่ดีและกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งในรอบ 4 ปี นอกจากการห้ามเลือดจากบาดแผลใหญ่ในธุรกิจทีวีดิจิทัลได้สำเร็จ จนธุรกิจทีวีมีอัตราเติบโต 84.72% แล้ว ยังมาจากการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด จากสัดส่วน 19% เป็น 100% ทำให้มีรายได้จากธุรกิจจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์เติมเข้ามาในพอร์ตเพิ่มขึ้นถึง 145.44%
ส่วนธุรกิจอื่นๆ ก็เติบโตเป็นบวกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นรายได้จากกลุ่มสื่อออนไลน์ที่เติบโตกว่า 95% มี Traffic เพิ่มขึ้น 52% จากกลุ่มแบรนด์นิตยสาร Living, ไลฟ์สไตล์และสุขภาพ มียอด Reach ลูกค้าต่อเดือนอยู่ที่ 130 ล้าน ในปีนี้ และตั้งเป้าเพิ่ม Traffic เติบโตขึ้น 100 % รวมทั้งกลุ่มงานแฟร์ที่เติบโตได้กว่า 12% จากการเพิ่ม 3 งานแฟร์ใหม่ ได้แก่ บ้านและสวน Select, กินดีอยู่ดี และ นายอินทร์สนามอ่านเล่น โดยปีนี้แม้จะไม่มีการเพิ่มงานแฟร์ใหม่ แต่จะเน้นการการขยายพื้นที่และเพิ่มความถี่ของงานแฟร์ให้มากขึ้น โดยจะมีการจัดงานทั้งปีรวม 20 งาน
“หากแบ่งสัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่างๆ รายได้ส่วนใหญ่ยังมาจากกลุ่ม Print หรือธุรกิจสิ่งพิมพ์ 48% ตามมาด้วยกลุ่ม TV 27% และสื่ออื่นๆ เช่น งานแฟร์ และสื่อออนไลน์ รวมๆ กันที่ราว 25% ซึ่งในปีนี้นอกจากเลือดจากแผลใหญ่ในธุรกิจทีวีจะหยุดไหลแล้ว ยังเชื่อมั่นว่าทีวีจะเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรให้กับอมรินทร์ได้เป็นครั้งแรกอีกด้วย จากแนวโน้มความนิยมของช่องที่ติดอยู่ในกลุ่ม Top10 และคุณภาพของคอนเทนต์ จนปีที่ผ่านมาสามารถปรับราคาโฆษณาได้ ส่วนในปีนี้จะเพิ่มคอนเทนต์ที่หลากหลายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ารายได้จะขยับจาก 800 ล้านบาท แตะพันล้านบาทได้ในปีนี้”
เร่งเครื่องทุกแพลตฟอร์ม ดันเรตติ้ง -ทราฟฟิก
ส่วนแผนการขยายธุรกิจในแต่ละแพลตฟอร์มทั้ง ON AIR, ON PRINT, ON GROUDN, ONLINE และ ON SHOP ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ภายใต้งบลงทุนรวม 700 ล้านบาท โดยก้อนใหญ่ประมาณ 500 ล้านบาท จะถูกเทลงมาในธุรกิจทีวี เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่ใช้ในปีที่ผ่านมา 200-300 ล้านบาท ทั้งในส่วนของการเติมคอนเทนต์และพัฒนาแพลตฟอร์มที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ส่วนที่เหลือจะกระจายไปใน Business Unit อื่นๆ โดยมีทิศทางการพัฒนาแต่ละแพลตฟอร์มในปีนี้ อาทิ
1. ในกลุ่ม ON AIR จะเติมคอนเทนต์ในช่อง AMARIN 34HD ให้หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Entertainment ทั้งกีฬา ละคร และเกมโชว์ต่างๆ จากที่ก่อนหน้าคอนเทนต์ในช่องจะเป็นข่าวและหมวดไลฟ์สไตล์เป็นหลัก โดยวาง Content Mixed ในช่องเป็นสัดส่วนของข่าวราวๆ 25% หมวดไลฟ์สไตล์และ Factual Lifestyle 30-40% และจะเพิ่มคอนเทนต์ในกลุ่มบันเทิงเติมเข้ามา 30-35%
“ปีนี้เราต้องการเพิ่มเรตติ้งให้ขยับจาก 0.3% ไปอยู่ที่ 0.45% ทำให้ต้องใช้คอนเทนต์ในกลุ่มบันเทิงมาเป็นตัวช่วย เพราะคนดูทีวีต้องการความบันเทิงเป็นหลัก ประกอบกับมีความแข็งแรงในหมวดข่าวและไลฟ์สไตล์อยู่แล้ว จึงต้องการขยายกลุ่มคนดูไปยังทาร์เก็ตใหม่ๆ โดยกลุ่มละครเบื้องต้นได้ว่าจ้าง CHANGE2561 ของพี่ฉอด สายทิพย์ เป็นผู้ผลิต จำนวน 2 เรื่อง เตรียมออนแอร์ช่วงไตรมาส 3 รวมทั้งการเจรจาพูดคุยกับรายอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วนเกมโชว์ จะเป็นทาง Zense Entertainment ของคุณเอ วราวุธ มาช่วยดูแล ซึ่งคาดว่าจะเป็นรายการในแนว Qiuz Show เพื่อให้ตรงกับคาแร็คเตอร์ของช่อง ส่วนคอนเทนต์กีฬา อาทิ มวย หรือฟุตบอล ซึ่งทางกลุ่มผู้ถือหุ้นหลักอย่างไทยเบฟฯ ก็ให้การสนับสนุนกีฬาในหลายประเภท รวมทั้งจะเพิ่มคอนเทนต์แม็กเน็ตใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ Talent Show ต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Pipeline ที่วางแผนไว้ในอนาคตด้วย”
2. นอกจากการเติมคอนเทนต์ในช่องแล้วจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่น “34 HD” เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มใหม่เพื่อให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงรายการต่างๆ ในช่องได้สะดวกมากขึ้น เพื่อเพิ่มฐานคนดูและระยะเวลาในการดูคอนเทนต์ต่างๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มการ Engage ของผู้ชมมากขึ้นด้วยการมีเกมสนุกๆ และของรางวัลต่างๆ แจกภายในแอป ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ยิ่งดูยิ่งได้”
3. กลุ่ม ON Print ซึ่งเป็นสัดส่วนรายได้หลักของอมรินทร์ในขณะนี้ ในฐานะเป็นผู้นำที่แข็งแรงในอุตสาหกรรมด้วยการครองส่วนแบ่งในตลาดถึง 78% จากนิตยสาร 9 เล่ม ได้แก่ บ้านและสวน แพรว สุดสัปดาห์ แพรวเวดดิ้ง ชีวจิต อมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ เนชั่นแนลจีโอกราฟิค รูม และมายโฮม ทำให้ต้องพยายามรักษาและขับเคลื่อนให้ตลาดยังคงเติบโต รวมทั้งการต่อยอดคอนเทนต์ได้แบบ Seamless ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งทางอมรินทร์ได้ตั้งรับและปรับตัวมากว่าสิบปีแล้ว
4.ในส่วนของการสร้าง Engage ให้เพิ่มมากขึ้น จะเทิร์นผู้อ่านมาเป็นผู้เขียนในฐานะ AMARIN Writer เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งเข้ามาเป็น Online Content Creators สามารถส่งคอนเทนต์ที่ครีเอทขึ้นมาให้ทางกองบรรณาธิการของทางอมรินทร์เป็นผู้คัดเลือก และจะมีค่าตอบแทนให้สำหรับผลงานที่นำมาใช้เผยแพร่ โดยจะเริ่มดำเนินการประมาณไตรมาสสองของปีนี้
“การเปิดโอกาสให้กลุ่ม Content Creators ใหม่ๆ จะทำให้ทางอมรินทร์มีคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งยังคาดหวังว่าจะสามารถช่วยเพิ่ม Traffic ให้กับแพลตฟอร์มได้ไม่ต่ำกว่า 20% พร้อมทั้งเปิดโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการสร้างรายได้ หรือชอบงานเขียน เพราะหากเลือกที่จะไปสร้างเพจเองโอกาสเติบโตในระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้งการดูแลเพจให้เป็นที่รู้จักต้องใช้เวลาและเงินลงทุนจำนวนหนึ่ง แต่หากมาอยู่บนแพลตฟอร์มของอมรินทร์ที่มีฐานคนอ่านรองรับและมีการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว ก็จะทำให้มีโอกาสเติบโตได้ง่ายและยั่งยืนมากขึ้น”
5. ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทางอมรินทร์ยังได้เพิ่มแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านสามารถครีเอทคอนเทนต์ได้อย่างอิสระ (UGC : Users Generated Content) ผ่านเว็บไซต์ Mareads.com (มารีดดอทคอม) ซึ่งจะเน้นในกลุ่มนักเขียนนิยาย ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง Communiity ที่เติบโตมีทั้งคนอ่านและคนเข้าไปเขียนในแพลตฟอร์มเหล่านี้เป็นหลักล้านราย โดยความแตกต่างและเหนือกว่ารายอื่นๆ คือ ความเป็นผู้ให้บริการแบบ One Stop เพราะ ผู้เขียนสามารถสั่ง Printed On Demand ผ่านเพลตฟอร์มได้ทันที เนื่องจาก ทางอมรินทร์มีสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง หรือในบางผลงานที่มีการตอบรับที่ดีก็สามารถต่อยอดด้วยการตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มเพื่อจำหน่ายได้เช่นเดียวกัน
6. ประกอบกับการมีอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์เข้ามาเติม ซึ่งจะเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรในธุรกิจมากขึ้น และยังมีแผนทำตลาดหนังสือเล่มเพิ่มเติมโดยเฉพาะในกลุ่มหนังสือแบบเรียน ตั้งเป้ารายได้ 200 ล้านบาท ภายใน 3 ปี พร้อมทั้งการปรับโมเดลธุรกิจร้านนายอินทร์ให้กลายเป็น Smart Store เพื่อรองรับการสั่งซื้อได้ทั้งออนไลน์และหน้าร้าน และเน้นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของสมาชิกให้มากขึ้น เพื่อให้เป็นเดสทิเนชั่นที่ดีที่สุดของนักอ่าน ซึ่งเป็นการเติมเต็มให้ทั้งกับแพลตฟอร์ม ON SHOP ทั้งในแง่ของธุรกิจจัดจำหน่ายและในส่วนของ Retail อีกด้วย
ต่อยุทธศาสตร์ Omni-media สู่ Omni-channel
จากการวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการเป็น Omnimedia ที่เน้นการต่อยอดขยายคอนเทนต์ออกไปสู่แพลตฟอร์มที่หลากหลาย และสามารถเชื่อมโยงกันได้แบบ Seamless ทำให้ที่ผ่านมาอมรินทร์รอดพ้นจากการถูก Disrupted และยังเป็นการสร้างความแข็งแรงให้ Amarin Ecosystem ในการเข้าไปอยู่ในทุกๆ ช่วงเวลาของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงคอนเทนต์หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ในหลากหลายโอกาส
ซึ่งที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามของอมรินทร์ในการเพิ่ม Value ให้กับทั้งคอนเทนต์และมีเดียที่มีอยู่ โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นมากกว่าแค่สื่อทั่วๆ ไปที่สามารถสร้างแค่ Awareness ไปเป็นหนึ่งใน Marketing Tool โดยเฉพาะการเป็นช่องทางที่สามารถปิดการขายได้จริง เพื่อให้ทั้งผู้อ่านและเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ได้รับประโยชน์จากการบริโภคสื่อของอมรินทร์ได้อย่างสูงสุด หรือเป็นการพัฒนาสเตปจากการเป็น Omnimedia ไปสู่การเป็น Omnichannel อย่างชัดเจนมากขึ้น
โดยปีนี้ สิ่งที่อมรินทร์จะเติมเข้ามาเพื่อตอกย้ำความแข็งแรงในฐานะ Omnichannel คือการเพิ่มรายการ AMARIN SHOPPING เพื่อออกอากาศในช่อง AMARIN 34HD รวมทั้งในรูปแบบสปอตสั้นๆ พร้อมพัฒนาระบบรองรับการสั่งซื้อจาก TV Shopping ไม่ว่าจะเป็นทีมคอลเซ็นเตอร์ ที่เตรียมจะใช้ในปีแรกประมาณ 20 คน หรือการคัดเลือกสินค้ามาจำหน่าย ที่จะเน้นในกลุ่มที่อมรินทร์แข็งแรง โดยเฉพาะในกลุ่มไลฟ์สไตล์ หรือการต่อยอดความร่วมมือกับแบรนด์หรือดีไซเนอร์ในการออกแบบหรือผลิตคอลเลคชั่นพิเศษอออกมาทำตลาด
“จุดแข็งของเราคือเราเป็นมากกกว่าแค่โฮมช้อปปิ้งหรือทีวีช้อปปิ้ง แต่เราคือมีเดียคอมเมิร์ซ ทำให้สามารถขายสินค้าได้จากทุกๆ ช่องทางที่เรามี โดยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวีช้อปปิ้ง งานแฟร์ หรือออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มในอนาคต เช่น TV App 34 HD รวมทั้งเรายังมี Amvata.com อีกหนึ่งมีเดียคอมเมิร์ซในรูปแบบมาร์เก็ตเพลสที่สามารถทำให้ผู้ขายและผู้ต้องการสินค้าสามารถเข้าถึงกันได้อย่างแม่นยำบนแพลตฟอร์มของอมรินทร์ รวมทั้งความแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ต้องรอให้ลูกค้าเข้ามาหา แต่ Amvatar.com จะมีระบบที่สามารถประเมินความต้องการสินค้าในแต่ละกลุ่มจาก Journey ของลูกค้าที่ใช้อยู่บน Ecosystem ของอมริทร์ทำให้สมารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างแม่นยำ”
อย่างไรก็ตาม แม้อมรินทร์จะเพิ่มแพลตฟอร์มในรูปแบบ Omnichannel ที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น แต่จุดประสงค์เบื้องต้นยังเน้นที่การตอบโจทย์ผู้ใช้มีเดียให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นหลัก ในฐานะช่องทางสนับสนุนการขาย ทำให้รายได้หลักยังมาจากกลุ่มลูกค้าที่ซื้อมีเดียเป็นหลัก ส่วนการตอบรับการซื้อสินค้ายังต้องประเมินในระยะยาว แต่เบื้องต้นก็ได้วางตัวเลขรายได้จากการเป็น Media Commerce ในช่วง 2-3 ปีแรกนี้ ไว้ที่ประมาณ 10% จากสัดส่วนรายได้รวมทั้งหมด