HomeBig Featured4 ความท้าทาย “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” จากธุรกิจครอบครัว สู่องค์กร “มหาชน” ขึ้นแท่นแบรนด์พรีเมียม และขาย ชาไข่มุก

4 ความท้าทาย “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” จากธุรกิจครอบครัว สู่องค์กร “มหาชน” ขึ้นแท่นแบรนด์พรีเมียม และขาย ชาไข่มุก

แชร์ :


ถ้าพูดถึงบะหมี่ ชื่อแรกที่คนไทยทั้งประเทศนึกถึง คงเป็นแบรนด์ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” ก๋วยเตี๋ยวรถเข็นที่เห็นชินตาอยู่ตามตรอก ซอก ซอยต่างๆ โดยเฉพาะหน้าร้าน 7-11 และมีอายุธุรกิจยาวนานอยู่คู่คนไทยมาถึง 24 ปีแล้ว จากการปลุกปั้นแบรนด์ของ “พันธ์รบ กำลา” ชายหนุ่มจากจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้จบการศึกษาแค่ระดับป.4 ที่วันนี้นำพาธุรกิจแฟรนไชส์บะหมี่ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” เดินทางมาไกลมาก ชนิดมีสาขาทั่วประเทศ และไปไกลถึงประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีสาขารวมกว่า 4,300 สาขาแล้ว

ในวัย 56 ปี “พันธ์รบ กำลา” ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำกัด เล่าถึงแผนธุรกิจเพื่อสานต่อและผลักดันให้แบรนด์ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” ก้าวไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ กับแผนการขยายธุรกิจ “ครอบครัว” ไปสู่ความเป็น “มหาชน” แบรนด์ “โลคัล” สู่ “อินเตอร์” แม้แต่การก้าวพ้นจากแบรนด์ “สตรีท ฟู้ด” สู่แบรนด์ร้านอาหารระดับ “พรีเมียม” เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าขับรถเบนซ์ ที่อยากจะกินบะหมี่ แต่อาจจะไม่สะดวกหากต้องมานั่งริมถนน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ระดมทุนในตลาดสกัดปัญหา “ศึกสายเลือด”

ในปี 2564 เป็นเป้าหมายในการนำบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อหวังสร้างอาณาจักร “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” ให้ยิ่งใหญ่เป็นบริษัทมียอดขายขนาด “หมื่นล้าน” ภายหลังจดทะเบียนได้สำเร็จ ภายในไตรมาสที่ 2 นี้ที่ปรึกษาด้านการเงินเตรียมเข้ามาให้คำปรึกษา และเตรียมตัวเข้ายื่นไฟลิ่งกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ส่วนปีที่เข้าจดทะเบียนคาดว่าจะมีรายได้ 1,400 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไว้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบบัญชี ระบบการเงิน และระบบการขาย รวมถึงการดึงมืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารงาน อาทิ ผู้บริหารจากธุรกิจค้าปลีกชั้นนำ มาดูแลฝ่ายจัดซื้อ ผู้บริหารจากสื่อทีวี มาดูเรื่องการตลาดและสร้างแบรนด์​ ผู้บริหารจากธุรกิจอาหารดูแลด้านการตลาด และบริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ

เป้าหมายสำคัญของการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ครั้งนี้ มี 4 โจทย์สำคัญ คือ

1.การระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต

2.การให้คนไทยระดับรากหญ้า สามารถเป็นเจ้าของแบรนด์ “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” ได้

3.ไม่ต้องการให้เกิด “ศึกสายเลือด” ภายในตระกูล “กำลา” เพราะปัจจุบันคุณพันธ์รบ มีทายาท 3 คนที่จะเป็นผู้รับช่วงธุรกิจ เมื่อถึงวันเข้าจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว จะแบ่งหุ้นให้กับลูกๆ ทั้งหมดในสัดส่วนที่เท่ากัน หรืออาจจะมีหนึ่งคนที่ได้มากสุดเพื่อบริหารงาน ปัจจุบันมีลูกสาวที่ศึกษาจบระดับปริญญาตรีด้านการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตเข้ามาช่วยงานแล้วหนึ่งคน

4.จะมีผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาช่วยงาน เพราะปัจจุบันเป็นบริษัทที่บริหารงานด้วยระบบ “ครอบครัว” ทำให้มืออาชีพยังไม่เข้ามาทำงาน

“เคยฟังคำพูดนักการตลาดคนหนึ่ง บอกว่า SME ถ้าอยากเป็นอินทรี ต้องเข้าตลาด” คุณพันธ์รบเล่า

จาก “สตรีทฟู้ด” สู่แบรนด์ร้านอาหาร “พรีเมี่ยม”

เป็นที่รู้กันดีว่า “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวข้างทาง หรือ “สตรีท ฟู้ด” ขายราคา 35 บาท ซึ่งคนทุกกลุ่มทุกระดับเข้าถึงและซื้อกินได้ แต่ที่ผ่านมากลุ่มคนมีเงินหรือคนรวย ขับรถเบนซ์ ต้องการมานั่งกินอาจจะไม่สะดวกกับการกินอาหารข้างทาง ประกอบกับคุณพันธ์รบ ต้องการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความเป็นพรีเมียม เข้าถึงกลุ่มคนมีรายได้สูง จึงได้ผุดโมเดลร้าน “CHYSEE FACTORY” ร้านก๋วยเตี๋ยวรูปแบบ Stand alone ที่มีความพรีเมียม ด้วยคุณภาพอาหารและราคา เริ่มต้นเมนูละ 49 บาทจนถึงประมาณ​ 200 บาท  สาขาต้นแบบอยู่บริเวณด้านหน้าบริษัทที่คลองหก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีเมนูภายในร้านมีความหลากหลายมากขึ้น

แนวคิดสำคัญของการผุดร้าน “CHYSEE FACTORY” คือ

1.ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง และไม่ให้ธุรกิจหยุดนิ่งในการพัฒนา โดยโมเดลรูปแบบใหม่จะเป็นร้านในลักษณะ Stand alone ใช้พื้นที่ประมาณ​100 ตารางเมตร หรือ 10×10 เมตร

2.ต้องการตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายชนชั้นกลางขึ้นไป ที่ต้องการเข้าถึงแบรนด์ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว

3.ต้องการวางระบบการบริหารจัดการร้านให้ทันสมัย ซึ่งถือเป็นสาขาแรกที่บริษัทลงทุนเองทั้งหมด

เมื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ได้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้สามารถขยายสาขาได้เร็วและมากขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายใน 4-5 ปีข้างหน้าน่าจะมีสาขาเติบโตเท่าตัว หรือ 8,600 สาขา หรืออาจจะถึง 10,000 สาขา เป้าหมายดังกล่าวจะมีโมเดลธุรกิจใหม่เข้ามาช่วยต่อเติมและเร่งสปีดการขยายสาขาให้ได้อย่างที่หวังไว้เร็วขึ้น ที่สำคัญขณะนี้ได้มีการเจรจากับ 3 แบรนด์ปั๊มน้ำมันสำคัญ​ ไม่ว่าจะเป็น ปตท. พีที หรือบางจาก เพื่อขยายสาขาเข้าไปในปั๊มน้ำมัน โดยรูปแบบการเข้าไปมีทั้ง 3 โมเดล ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ร้าน Stand alone รถเข็น หรือ Kiosk

“เราอยากเดินตามซีพี ออลล์ เจ้าของร้าน 7-11 โดยในอนาคตอยากมีสาขาระดับหมื่นสาขา สินค้าเราเหมือนร้าน 7-11 ที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค เป้าหมายหมื่นสาขา คิดดีกว่าไม่คิด ฝันดีกว่าไม่ฝัน”

ลุยตลาดต่างประเทศปักหมุด CLMV

นอกจากตลาดภายในประเทศ 10 ปีที่ผ่านมาได้ขายแฟรนไชส์ไปให้กับนักลงทุนในสปป.ลาว เพื่อขยายร้านบะหมี่ ปัจจุบันมีจำนวนสาขาในสปป.ลาวแล้ว 70 สาขา ในอีก 2 ปีตั้งเป้าจะเพิ่มสาขาเป็นเท่าตัว พร้อมกับเตรียมเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตเส้นบะหมี่โดยเฉพาะ ด้วยงบลงทุน 20 ล้านบาท แต่ที่จะลงทุนและบุกตลาดอย่างจริงๆจังๆ ในปีนี้ คือ ประเทศกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ได้ซื้อที่ดินแล้ว 6 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานผลิตบะหมี่เช่นกัน เหตุผลสำคัญเป็นเพราะ มีกลุ่มนักลงทุนเข้าไปขยายธุรกิจในประเทศดังกล่าวจำนวนมาก เศรษฐกิจกำลังเติบโตเฟื่องฟู ซึ่งมั่นใจว่าประเทศกัมพูชามีศักยภาพขยายสาขาได้ถึง 500 สาขา แม้ว่าปัจจุบันจะมีสาขาเพียง 2-3 สาขาเท่านั้นก็ตาม

“ปัจจุบันประเทศไทยใช้แรงงานต่างชาติจาก 3 ประเทศ คือ เมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว คนที่มาทำงานได้กินบะหมี่ เวลาเอาแบรนด์ชายสี่ไปทำตลาด ก็ไม่ต้องทำตลาดมาก เพราะรู้จักอยู่แล้ว ในประเทศเมียนมาก็กำลังจะเข้าไปเช่นกัน ในสปป.ลาวถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะเริ่มมีคนเลียนแบบแบรนด์เราแล้ว”

“ชายสี่” ไม่ได้มีดีแค่ “บะหมี่”

คนส่วนใหญ่รับรู้ว่า ชายสี่ขาย “บะหมี่-เกี๊ยว” แต่ความจริงไม่ได้มีแค่นั้น แบรนด์ชายสี่ มีสินค้ามากมาย หากเป็นอาหารรถเข็นตอนนี้ มีทั้ง ชายสี่ข้าวมันไก่ 100 สาขา ชายสี่โจ๊ก 20 สาขา ชายสี่พันปีหมี่เป็ดย่าง 40 สาขา ชายสี่อาลี หมี่ฮาลาล 20 สาขา ชายสี่ ลูกชิ้นเนื้อ 30 สาขา ไม่จบแค่แฟรนไชส์อาหารรถเข็น แต่ยังมีสินค้าสำเร็จรูป ขายให้คนทั่วไปซื้อไปกินที่บ้านได้อีกกว่า 50 รายการ อาทิ ผงปรุง ข้าวสาร น้ำปลา บะหมี่ เป็นต้น และยังมีโมเดลธุรกิจใหม่ ฟู้ดทรัค “EASY MEAL” ซึ่งเป็นโมเดลทดลองในการไปให้บริการตามงานอีเวนต์ต่างๆ

“วิชั่นของแบรนด์ชายสี่ มี 4 เรื่อง คือ เป็นเจ้าแห่งเส้น รถเข็นสากล ครัวของทุกบ้าน และอาหารของทุกคน จึงทำให้พัฒนาสินค้าอาหารออกมาอย่างต่อเนื่อง ที่ขายแล้วก็มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พร้อมทาน และตอนนี้กำลังพัฒนาเส้นชาโคล และเส้นจากวัตถุดิบอื่นๆ ออกมาทำตลาดภายใต้แบรนด์ชายสี่”

นอกจากกลุ่มอาหาร แบรนด์ชายสี่ ยังไปต่อ กับการพัฒนากลุ่มสินค้าเครื่องดื่ม ประเดิมกับการลุยตลาด “ชานมไข่มุก” เหตุผลนอกเหนือจากการเพิ่มพอร์ตสินค้าสนับสนุนธุรกิจหลัก และสร้างการเติบโตแล้ว ธุรกิจนี้กำลังไปได้สวย ตลาดมีขนาดใหญ่ การบริหารจัดการไม่ได้ยุ่งยาก แถมทำกำไรได้ดีอีกต่างหาก จึงได้เริ่มทดลองทำตลาดกับร้านชานมไข่มุกเล็ก ภายใต้แบรนด์ทรีชา ที่อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง  ในระยะแรกของการทดลองทำยอดขายได้ดีพอสมควร กับยอดขายวันละ 200 แก้ว ในราคาขายเริ่มต้นแก้วละ 19 บาท

ปัจจุบันคุณพันธ์รบ ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าใช้แบรนด์ชาอะไรดี เพราะคิดเอาไว้ 3 แบรนด์ คือ 1.ชายัง ซึ่งหมายถึงดื่มชาหรือยัง 2.ทรีชา หมายถึง ชา 3 ชนิด และ 3.ชายสี่ ในเบื้องต้นหวังว่าจะขยายสาขาในปีแรกให้ได้สัก 100 สาขา มีความเป็นไปได้ทั้งรูปแบบร้าน Stand alone รถเข็น และ Kiosk เริ่มต้นแฟรนไชส์ไม่เกิน 60,000 บาทพร้อมขายสินค้าได้เลย

“ชานมไข่มุกเข้าตลาดมาเป็น 10 ปี คนขายกำไรดี ไม่ยุ่งยาก และที่ผ่านมาไม่มีสินค้าเครื่องดื่ม”

แม้ว่าการดำเนินธุรกิจ “บะหมี่” เป็นธุรกิจอาหารที่ ยังไม่มีสินค้าอะไรเข้ามาทดแทนอาหารได้ แต่โจทย์ท้าทายในการดำเนินธุรกิจก็เติมไปหมด เพราะเป้าหมายของผู้ชายที่ชื่อ “พันธ์รบ” นั้น มีแต่เรื่องใหญ่ๆ ทั้งนั้นที่ต้องผลักดัน และต้องไปให้ถึง  และนี่คงเป็น 4 ความท้าทายชายที่ชื่อ “พันธ์รบ กำลา” ไม่ว่าจะเป็น 1.การขยายสาขาให้ได้เป็นเท่าตัว 2.การสร้างรายได้จากยอดขายหลัก 100 ล้านบาท ไปสู่หลัก 10,000 ล้านบาท 3. การผลักดันแบรนด์สู่ความเป็น “พรีเมี่ยม” และ 4. การเดินทางไปสู่ตลาดอินเตอร์ ในสุดท้ายคงต้องลุ้นต่อไป


แชร์ :

You may also like