HomeDigitalส่องแนวโน้มและ Landscape ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย พร้อมประเมินความเสี่ยงสำคัญที่ต้องรีบแก้

ส่องแนวโน้มและ Landscape ธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย พร้อมประเมินความเสี่ยงสำคัญที่ต้องรีบแก้

แชร์ :

มองเห็นการตื่นตัวช่วงเทศกาล One Day Sale ที่ยิ่งใหญ่ได้ไม่แพ้พื้นที่ใดของโลก กับการตอบรับในเทศกาล 11.11 ที่ถือกำเนิดขึ้นจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนอย่างอาลีบาบาเมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ด้วยการจัดโปรโมชั่นพิเศษเพื่อเอาใจคนโสดในวัน Single’s Day หรือ 11.11  ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักช้อปอย่างล้นหลาม จนได้รับความนิยมต่อเนื่องและขยายการให้บริการไปสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ จนกลายเป็น Signature Campaign ของออนไลน์ช้อปปิ้งที่ผู้คนต่างรอคอย 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มองเห็นการตื่นตัวกับการมาของเทศกาล 11.11 เพราะผู้ประกอบการในธุรกิจ Retail  ไม่ว่าจะออนไลน์ ออฟไลน์ รายเล็ก รายใหญ่ ต่างออกโปรโมชั่นมาดึงดูดนักช้อปอย่างคึกคัก รวมทั้งมีแคมเปญกระตุ้นยอดขายที่ใกล้เคียงกันมากระตุ้นนักช้อป ไม่ว่าจะเป็น 8.8, 9.9,10.10 หรือแม้แต่ End Year Sale ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทศกาลจับจ่ายสำคัญของธุรกิจที่คึกคักอยู่แล้ว ก็ยังใช้ตัวเลขในลักษณะเดียวกันอย่าง 12.12 มาเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นเช่นกัน

ประกอบกับการเติบโตที่ดีของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ที่มีตัวเลขการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาทุกปี  ทำให้มีแบรนด์ใหญ่ระดับโลกเข้ามาทำตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าและชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ของคนไทยที่สูงกว่าทุกประเทศในอาเซียน สะท้อนความเชื่อมั่นในการกล้าใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้โอกาสของธุรกิจอีคอมเมร์ซในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ส่องอีคอมเมิร์ซไทยปัจจัยบวกเพียบ

ดร.ไซมอน แบพทิสต์ Global Chief Economist, Managing Director The Economist Intelligence Unit (EIU) Asia หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก หน่วยข้อมูลของ The Economist คาดการณ์ทิศทางแนวโน้มธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยว่า มีโอกาสเติบโตได้สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนที่คาดว่าจะยังคงเติบโตเพิ่มขึ้น 4.7% ในปี 2019 และ 4.4% ในปี 2020 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนาม กัมพูชา และพม่า ที่จะเติบโตได้สูงกว่า 6% ขณะที่ประเทศไทยเม้จะเติบโตได้น้อยกว่าที่ราวๆ เกือบ 4% แต่ยังคงเห็นสัญญาณการเติบโตที่ดีได้เช่นกัน

โดยเฉพาะแนวโน้มการบริโภคของภาคเอกชนที่ยังคงมีดีมานด์อยู่ โดยการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศจะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.1% รวมทั้งการมีมาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชนที่จะมีออกมาเป็นระยะๆ  ทำให้แนวโน้มการบริโภคของภาคเอกชนไทยใน 5 ปีจากนี้อยู่ในทิศทางขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 18,902 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 620,000 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2030 จากปี 2017 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 8,790 เหรียญ หรือกว่า 2.88 แสนบาทต่อครัวเรือน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญให้คนไทยมีความสามารถในการจับจ่ายได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

“แม้ทิศทางการเติบโตของประเทศไทยจะไม่ได้เติบโตสูงมากเหมือนประเทศอื่นๆ เพราะมีพื้นฐานการเติบโตอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว แต่ลักษณะการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะพัฒนาไปในมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น เช่น การเข้าใจและเรียนรู้ตลาดได้ดีมากขึ้น ทั้งความสามารถในการเข้าใจและติดตามเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทำให้มีความเข้าใจที่จะเรียนรู้และสามารถตอบสนองผู้บริโภคได้ดีเพิ่มมากยิ่งขึ้นในอนาคต”

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศไทยเองก็เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย อาทิ นโยบายของรัฐบาลในการผลักดันประเทศไปสู่การเป็น Thailand 4.0 ทำให้ความสามารถในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกระจายไปในวงกว้าง การก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดหรือ Cashless Society การตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นเกตเวย์สู่เอเชียแปซิฟิก รวมทั้งการเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยรองรับการเปิดใช้บริการ 5G ได้ภายในปี 2020 ซึ่งคาดว่าจะทำให้เพิ่มการใช้บรอดแบนด์บนมือถือได้ถึง 133%

คนไทยเชื่อมั่นอีคอมเมิร์ซสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก

EIU ยังได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับความไว้วางใจในระบบ Security และ Privacy พบว่า คนไทยมีความมั่นใจในระบบความปลอดภัยของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมีค่าเฉลี่ยความมั่นใจทั้งในเรื่องของความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวสูงถึง 70% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลกรวมทั้งสูงกว่าในสิงคโปร์ และถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่จะผลักดันให้อีคอมเมิร์ซในไทยยังเติบโตต่อไปได้ โดยพบว่า 51% ของผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ในประเทศไทยได้ซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย และมีความคุ้นเคยกับการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ ทำให้ในปีที่ผ่านมามีคนไทยเกือบครึ่งหรือ 43% มีการใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัล

และแม้ว่า Digital Payment ในรูปแบบต่างๆ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่รูปแบบการเก็บเงินปลายทางหรือ Cash on Delivery (COD) ก็ยังคงเป็นช่องทางชำระเงินที่ได้รับความนิยมอย่างมากอยู่ โดยมีเพียง 17% และ 12% ที่เชื่อว่าข้อมูลการชำระเงินของพวกเขาจะได้รับการปกป้องหากมีกรณีถูกโจกรรมข้อมูล เมื่อใช้บริการ M-commerce หรือ E-commerce สะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างความมั่นใจและไว้วางใจให้กับระบบ Digital Payment โดยภาพรวม

อีกหนึ่งจุดเด่นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย คือ การเปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมให้ผู้หญิงซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่มีบทบาทในการผลักดันการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ให้สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มได้อย่างเสรีทั้งในฐานะของผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้หญิงไทยมีอัตราในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ไม่ต่างจากผู้ชาย และยังมีสัดส่วนในการเป็นผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้นสูงกว่าผู้ชาย ขณะที่ในแวดวงธุรกิจก็มีผู้หญิงที่เป็นนักธุรกิจสูงถึง 47% ขณะที่ข้อมูลจากการศึกษาของ MasterCard Worldwide พบว่า มีผู้หญิงที่เป็นเจ้าของ SME ในประเทศไทยสัดส่วนประมาณ 38% ที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อน GDP ให้กับประเทศ”

จะเป็นผู้นำอีคอมเมิร์ซโครงสร้างพื้นฐานต้องแข็งแกร่ง    

การเติบโตของอีคอมเมิร์ซไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ตลาดในประเทศ เพราะปัจจุบันเมื่อ Users ไม่มีพรมแดน สามารถเข้าถึงทุกตลาดได้จากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้เราจะเห็นนักช้อปเริ่มสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น นักช้อปชาวไทยจะเริ่มสั่งออนไลน์จากแพลตฟอร์มต่างประเทศ ส่วนนักช้อปต่างประเทศก็เลือกมาสั่งสินค้าจากแพลตฟอร์มของไทยอยู่บ่อยๆ การพัฒนาระบบในการขนส่งสินค้าข้ามประเทศจึงมีความสำคัญและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ผู้บริโภคพึงพอใจและเข้ามาสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

“เรื่องของโลเคชันที่ดีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่ตรงกลางของภูมิภาคทำให้สามารถขนส่งไปยังประเทศต่างๆ ได้โดยสะดวกก็เป็นอีกหนึ่งข้อได้เปรียบของคนไทย แต่ศักยภาพในการบริหารจัดการเกี่ยวกับขั้นตอนศุลกากรและระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ของไทยยังทำได้ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับสิงคโปร์ ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการในการส่งออกสินค้าในเวลาเพียงราวๆ 10  ชั่วโมง ส่วนกระบวนการในการนำเข้าอยู่ที่ราวๆ 35 ชั่วโมง ขณะที่ประเทศไทยต้องใช้ระยะเวลาในการส่งออกถึง 52 ชั่วโมงและในการนำเข้า 50 ชั่วโมง ซึ่งนอกจากทำให้การขนส่งค่อนข้างล่าช้าแล้ว ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนอีกด้วย”

ดังนั้น หากต้องการให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้มากขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพราะแม้ปัจจุบันจะมีการลงทุนค่อนข้างสูงแล้ว แต่ยังพบว่ามีปัญหาในเรื่องของการติดขัดที่คอขวด ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงอยู่ โดยเฉพาะการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพฯ รวมทั้งการเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ๆ และกับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุง

ทั้งนี้ EIU ได้ประเมินความเสี่ยงจากแต่ละปัจจัยในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางไม่ว่าจะเป็นทางด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยรวม สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของท่าเรือและสนามบิน เครือข่ายทางถนน รวมทั้งเครือข่ายในระบบค้าปลีกและการกระจายสินค้า ซึ่งยังเป็นรองหลายๆ ประเทศ อาทิ มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นความโดดเด่นและเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง คือ ความมั่นใจของผู้ใช้งานคนไทยที่มีต่อแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งสูงมากที่สุดในภูมิภาค มีมุมมองเป็นบวกและมั่นใจต่อธุรกิจการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยในอีก 5 ปีนับจากนี้ เติบโตได้สูงขึ้นและมีการพัฒนาได้มากขึ้นอย่างแน่นอน ที่สำคัญคือการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เข้ามารองรับการเติบโตของธุรกิจให้เป็นไปได้อย่างสอดคล้องกันนั่นเอง


แชร์ :

You may also like